15 พ.ค. 2020 เวลา 11:14 • กีฬา
เชื่อว่าผู้ที่เคยเล่นหมากรุกสากลจะหวงแหน “ควีน” เป็นพิเศษ
ด้วยความสามารถของควีนที่เหนือกว่าหมากตัวอื่นอย่างเห็นได้ชัด
ถ้าเปรียบกับวงการฟุตบอลก็เหมือนกับ ทีมไหนมี “ซีดาน” ย่อมหวงแหนเป็นพิเศษเช่นกัน
ในปี 1956 มีการแข่งขันหมากรุกสากลระหว่าง Bobby Fischer กับ Donald Byrne
เป็นการแข่งขันที่ถูกยกย่องให้เป็น “the game of the century”
มาย้อนอดีตชมช็อตการแข่งขันที่เลื่องลือในวันนั้นกัน
เมื่อต่างฝ่ายเปิดเกมมาได้ระยะหนึ่งจนได้ตำแหน่งหมากดังรูป
ในตาถัดไปจะเป็นขาวเริ่มเดิน โดยมีทางเลือกที่หลากหลาย
สุดท้ายขาวตัดสินใจ ขยับ bishop จาก E7 มา C5 เพื่อท้าท้ายควีนดำ
bishop ถูกนำมาโจมตีควีนดำ
ดำดึงจังหวะด้วยการนำ rook มา E8 ขอ check ขาว สักทีนึงก่อน
ตรงนี้มีทางเลือกไม่มากนัก ขาวจึงตัดสินใจหลบคิงเข้า F1
ในตาถัดไป ดำจะได้เดิน
อย่าลืมครับว่า “ควีน” ดำ ถูกจ่อกินโดย bishop ขาวอยู่
น่าจะไม่มีอะไรมาก ดำคงเดินควีนหลบการท้าทายของ bishop ขาว
แต่มันไม่ใช่แบบนั้นครับ
เพราะนี่เป็น “the game of the century”
การเดินหมากก็สมควรได้รับยกย่องให้เป็น “the move of century” ด้วยเช่นกัน
เมื่อดำเดินแต้มที่ “โคตรของโคตรเซียน” ด้วยการขยับ bishop จาก G4 มาตำแหน่ง E6
แต้มขายควีน
“the move of century” เกิดขึ้นแล้ว
ความหมายถูกสื่อออกมาก็คือ ดำไม่สนใจควีนตัวเองแม้แต่น้อย และเลือกที่จะขายควีนทิ้งไปเลย
อยู่ที่ขาวจะซื้อควีนตัวนี้ไหม?
ขาวเห็นดังนั้นจึงตัดสินใจทำลายอาวุธหนักของฝั่งตรงข้ามไปก่อน ด้วยการนำ bishop กินควีนดำ ณ ตำแหน่ง B6
เสมือนเสียบ “ซีดาน” ให้เจ็บออกจากสนามไปก่อน
เมื่อขาวกินควีนสำเร็จ ทำให้ขาวได้เปรียบตัวหมากขึ้นมาทันที
ดำตอบโต้ด้วยการกิน bishop ที่ตำแหน่ง C4 แถมด้วยการ check คิงขาว
ดำเสียควีนไป แต่ได้เปิดการโจมตีก่อน
ดูเหมือนดำจะได้เปรียบจังหวะการเข้าโจมตีก่อน โดยตำแหน่งหมากที่ดีกว่า
และเป็นการโจมตีต่อเนื่อง จับตาดูให้ดีนะครับ
คิงขาวไม่มีทางเลือกจำใจต้องโดนบีบเข้าตำแหน่ง G1
ดำตามไป check ซ้ำด้วยม้าที่ E2
ขอ check ซ้ำด้วยม้า
คิงขาวเหลือตาเดินเดียว ต้องกลับมาที่ F1
ดำเปิดม้าไปกิน pawn ที่ D4 พร้อม check อย่างอัตโนมัติโดย bishop ที่รออยู่แล้ว ณ ตำแหน่ง C4
ขาวหลบคิงไปที่เดิม ณ ตำแหน่ง G1
ดำกลับมา check ด้วยม้าตัวเดิมที่ E2
ขาวขยับคิงมา F1
ดำโยนม้าไป C3 เพื่อโจมตี rook ขาว ซึ่งขาวโดน check อย่างอัตโนมัติโดย bishop เช่นเคย
ขาวจำใจต้องหลบคิงไป G1 ที่ตำเแหน่งเดิม
จังหวะโจมตีต่อเนื่องของดำ (จากซ้ายไปขวา)
ดำตัดสินใจกิน bishop ที่ B6 ก่อน ทั้งยังได้เปิดทางให้ rook โจมตีควีนขาว
ขาวขยับควีนมา B4 โจมตี bishop ดำ
ดำนำ rook มาตีหน้าควีนขาวที่ A4 พร้อมทั้งผูก bishop ไปในตัว
ขาวขยับควีนหนีไปกิน pawn ที่ B6
ดำโดดม้าไปกิน rook ที่ D1
จะเห็นว่าตอนนี้ดำเสียควีนไปหนึ่งตัว pawn 1 ตัว
ขาวเสีย bishop 2 ตัว rook 1 ตัว pawn 1 ตัว
การโจมตีต่อเนื่องของดำ ทำให้ขาวเสียกำลังรบไปมากมาย แม้ว่าขาวจะกำจัดแม่ทัพใหญ่อย่างควีนดำได้ก็ตาม
ขาวเริ่มเห็นสถานการณ์ที่ย่ำแย่ของตัวเอง เนื่องด้วยคิงถูกบีบให้อยู่ในที่แคบ จึงเหลือที่ให้เดินน้อยเหลือเกิน
จึงตัดสินใจเดิน pawn ไป H3 หวังจะเปิดที่ให้คิงขยับไป H2 และเปิดทางให้ rook ที่อยู่นิ่งมานาน ออกสู่สนามรบบ้าง
ดำนำ rook ไปกินของฟรีที่ A2
ขาวขยับคิงไป H2 สมดังที่หวังไว้
ดำเห็นของฟรีอีก ก็นำม้าโดดไปกินฟรีที่ F2
ขาวดึง rook มาที่ E1 ออกสู่สนามรบครั้งแรกด้วยการขอแลก rook ดำ ณ ตำแหน่ง E8 ทิ้งไปเลย
เพราะ rook ที่ E8 ยืนตำแหน่งดีเหลือเกิน
ขาวนำ rook มาขอแลก
ดำจะตัดสินใจอย่างไร
หมากเกมนี้จะลงเอยอย่างไร
สุดท้ายดำจะได้รับชัยชนะหรือไม่
ได้รับชัยชนะให้สมกับการเดินหมากที่ถูกยกย่องเป็น “the move of century”
ลองไปหาบันทึกเกมการแข่งขันชมต่อนะครับ
มาถึงตรงนี้คุณอาจสงสัยสัยว่าใครเป็นใคร
เพราะเนื้อเรื่องมีแต่ ดำ ดำ ขาว ขาว จนเริ่มงงไปหมด
ฝ่ายดำก็คือ Bobby Fischer ผู้ทะยานสู่อันดับ 1 ของวงการหมากรุกสากลในเวลาต่อมา
Bobby Fischer ผู้เป็นตำนานของวงการหมากรุกสากลในเวลาต่อมา
Bobby Fischer ผู้ที่ถูกนำเรื่องราวในชีวิตไปทำเป็นภาพยนต์ Pawn Sacrifice ในเวลาต่อมา
ทำไมผมใช้คำว่า “ในเวลาต่อมา” ทราบไหมครับ
เพราะช่วงเวลาที่ Fischer กำลังเดินหมากสีดำใน “the game of century” อยู่นั้น
เขามีอายุเพียง 13 ปี!!!!
อ้างอิง
บันทึกเกม “the game of century” จาก https://www.chessgames.com/perl/chessgame?gid=1008361
ขอบคุณภาพประกอบจาก chessify แอปที่นำมาใช้เดินหมากตามบันทึกเกมครับ
โฆษณา