15 พ.ค. 2020 เวลา 12:52 • ประวัติศาสตร์
คุณสมบัติการเป็นขุนนางไทยในอุดมคติ
ในสมัยโบราณ การที่พระมหากษัตริย์จะตั้งข้าราชการมาสนองงานต่างพระเนตรพระกรรณได้จะต้องมีหลักเกณฑ์และขนบธรรมเนียมในการคัดเลือกผู้ที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวง
ธรรมเนียมการตั้งข้าราชการนี้มีปรากฏมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุทธยา ปรากฏอยู่พระราชกำหนดเก่าฉบับที่ ๕๐ จุลศักราช ๑๑๐๒ (พ.ศ.๒๒๘๓) รัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยระบุว่าผู้ที่จะรับราชการเป็นข้าราชการในบรรดาศักดิ์พระหลวงขุนหมื่นผู้รักษาเมืองกรมการเมือง จะต้องมีคุณานุรูปอันสมควร และประกอบด้วย วุฒิ ๔ อธิบดี ๔
จิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
คุณานุรูป คือ เป็นผู้มีบุคลิกลักษณะดี เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย และเป็นที่เคารพของไพร่ฟ้า
1
วุฒิ ๔ ได้แก่
- ชาติวุฒิ คือ เป็นเชื้อสายตระกูลอัครมหาเสนาบดีสืบต่อกันมา
- วัยวุฒิ คือ มีอายุ ๓๑ ปีขึ้นไป
- คุณวุฒิ คือ มีความรู้ชำนิชำนาญทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน
- ปัญญาวุฒิ คือ เจริญด้วยปัญญา ฉลาดในที่จะตอบแทนแก้ไขอรรถคดีปริศนาประเทศกรุงอื่น และคิดอ่านให้ชอบด้วยโลกียราชธรรมทั้งปวง
อธิบดี ๔ ประยุกต์มาจากหลักอิทธิบาท ๔ ของพระพุทธศาสนาได้แก่
-ฉันทาธิบดี คือ ถวายสิ่งที่พระเจ้าแผ่นดินประสงค์
-วิริยาธิบดี คือ มีความเพียรในราชการ
-จิตตาธิบดี คือ มีกล้าหาญในศึกสงคราม
-วิมังสาธิบดี คือ ฉลาดการพิพากษาคดีความและอุบายในราชการต่างๆ
1
ถ้ามีคุณสมบัติเหมาะสม จึงให้สมุหนายก สมุหพระกลาโหม จตุสดมภ์ ปรึกษพร้อมกัน แล้วนำขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงพระกรุณาตั้งผู้มีคุณสมบัติเป็นที่พระหลวงขุนหมื่นตามสมควร
ภาพขุนนางสยามในหนังสือ Du Royaume de Siam ของ ซิมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de la Loubère) ราชทูตฝรั่งเศสที่เดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยามใน ค.ศ. ๑๖๘๗ (พ.ศ. ๒๒๓๐)
คุณสมบัติเหล่านี้ยังสืบทอดต่อมาถึงในสมัยรัตนโกสินทร์ ปรากฏอยู่ในวรรณคดีขุนช้างขุนแผน ตอนที่นางทองประศรีให้โอวาทกับขุนแผนที่จะไปรับราชการในวัง ความว่า
เจ้าอุตส่าห์อดเปรี้ยวไว้กินหวาน...ฝึกหัดราชการให้จงได้
ถ้าได้ดีมียศปรากฏไป..................เหมือนแทนคุณขุนไกรผู้บิดา
แต่ทว่าราชการงานเมือง..............จะสามารถปราดเปรื่องยากหนักหนา
โบราณท่านจึงตั้งคติมา...............ว่าวุฒิมีสี่ประการ
หนึ่งเป็นผู้ดีมีเชื้อชาติ..................กิริยามารยาทส่งสัณฐาน
หนึ่งได้ศึกษาวิชาชาญ................เป็นแก่นสารคือคุณอุดหนุนตัว
หนึ่งว่าอายุเจริญวัย....................เข้าใจผิดชอบประกอบทั่ว
หนึ่งปัญญาว่องไวไม่มึนมัว.........จึงจะรู้ดีชั่วในทางงาน
ท่านว่าผู้เป็นข้าฝ่าธุลี.................วุฒิต้องมีทั้งสี่สถาน
เจ้านี้ดูก็มีทุกประการ..................จะสู่โพธิสมภารก็ควรแล้ว
แต่ทว่าอย่าทะนงองอาจ.............โดยประมาทถือว่าข้ากล้าแกล้ว
ถ้าประมาทราชภัยมักไม่แคล้ว......ลูกแก้วจงจำคำมารดา
แต่ในทางปฏิบัตินั้นยากจะได้ผู้ที่มีคุณสมบัติตามที่ระบุไว้ทุกประการ ในพระราชกำหนดจึงมีการผ่อนผันในเรื่องวุฒิ ๔ ประการว่า “แม้นแต่สองประการสามประการก็ภอจะเอาเปนที่พระหลวงขุนหมื่นตามสมควร”
1
ถ้าผู้ใดไม่มีวุฒิ ๔ และอธิบดี ๔ เลยแม้แต่ประการเดียว แม้ว่าจะมีคุณานุรูปสมควร ก็ห้ามเสนอขึ้นมาเป็นข้าราชการ
“ถึงคุณาสมควรก็ดี อย่าให้สมุหกลาโหมสมุหนายกจัตุสดมกราบทูลพระกรุณาแต่งตั้งผู้นั้นเปนพระหลวงขุนหมื่นเปนอันขาดทีเดียว”
ธรรมเนียมเหล่านี้ในทางปฏิบัติใช้ไม่ได้ผลอย่างแท้จริง เพราะก็ยังปรากฏการใช้สินบนหรือเส้นสายความใกล้ชิดกับมูลนายเพื่อจะมีตำแหน่งทางราชการได้ บางคนทำการค้าเปิดซ่องโสเภณี นายซ่องก็นายได้ยศเป็นขุนนางได้โดยต้องจ่ายภาษีให้กับส่วนกลาง
คุณสมบัติที่ใช้ได้จริงในทางปฏิบัติและชี้วัดได้ง่ายที่สุดคือ "ชาติวุฒิ" เพราะตำแหน่งราชการระดับสูงมักจะถูกผูกขาดโดยตระกูลขุนนางที่สั่งสมอำนาจบารมีมาหลายชั่วคน มักปรากฏการส่งเสริมให้เครือญาติได้มีอำนาจในการปกครองและได้รับสิทธิประโยชน์วงศ์ตระกูลต่อไป ทั้งนี้พบว่าวิชาความรู้ในราชการมักถ่ายทอดในวงศ์ตระกูล ทำให้เครือญาติมักได้รับราชการอยู่ในกรมเดียวกัน
1
ภาพพิมพ์ ออกพระวิสุทสุนธร (ปาน) หรือ "โกษาปาน" ราชทูตที่เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ใน พ.ศ. ๒๒๒๙ ผลงานของ โยฮันน์ ไฮเซลมาน (Johann Hainzelman) จิตรกรชาวเยอรมันที่พำนักในประเทศฝรั่งเศส โกษาปานเป็นผู้มี "ชาติวุฒิ" คือสืบเชื้อสายมาจากขุนนางชาวมอญที่ตามเสด็จสมเด็จพระนเรศวรมาจากเมืองหงสาวดี มารดาของโกษาปานคือเจ้าแม่วัดดุสิต (บางแห่งอ้างว่าเป็นหม่อมเจ้า) พระนมของสมเด็จพระนารายณ์ ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาได้เลื่อนขึ้นเป็น เจ้าพระยาศรีธรรมราช เสนาบดีกรมพระคลัง เชื้อสายของโกษาปานในรุ่นหลังได้รับราชการสืบต่อมาจนเสียกรุงศรีอยุทธยา
ช่องทางหลักสู่การเป็นขุนนาง คือการถวายบุตรหลานให้เป็นมหาดเล็ก
ตำแหน่งมหาดเล็กนั้นมีความสำคัญอยู่ในฐานที่ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดิน เป็นที่ไว้วางพระทัยต่างพระเนตรพระกรรณได้ และถ้าจะพ้นตำแหน่งมหาดเล็กไปก็มักโปรดไว้ให้รับราชการในตำแหน่งสำคัญเสมอ ซึ่งก็สมดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงมีพระราชนิพนธ์ไว้ว่า
2
"กรมมหาดเล็กนี้เปนกรมสำคัญยิ่งกว่ากรมอื่น ๆ ถึงตัวนายที่ได้รับสัญญาบัตรจะมีศักดินาน้อย ก็เปนที่ยำเกรงนับถือของคนทั้งปวงมาก กว่าขุนนางซึ่งมีศักดินาสูง ๆ กรมอื่น ๆ ด้วยเปนเหตุที่เปนบุตรขุนนางมีตระกูลประการหนึ่ง ไม่รู้ว่าจะเปนอย่างไรต่อไปประการหนึ่ง เปนผู้ใกล้เคียงได้ฟังกระแสพระราชดำรัสแน่แท้ประการหนึ่ง เปนผู้เพดทูลได้ง่ายประการหนึ่ง จึงได้มีเกียรติยศเปนที่นับถือมาก"
เมื่อมหาดเล็กรับราชการอยู่ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดิน "ก็ได้ยินได้ฟังราชการขุนนางเจ้าพนักงานมากราบทูล แลเจ้าแผ่นดินรับสั่งไปเปนการเรียนราชการอยู่เสมอ เมื่อเจ้าแผ่นดินเห็นว่าผู้นั้นคุ้นเคยในราชการเข้าบ้างแล้ว ก็ใช้ให้ไปตรวจราชการต่างๆ นำความมากราบทูลแลใช้ให้ไปสั่งเสียด้วยราชการต่าง ๆ บ้าง มหาดเล็กผู้นั้นต้องคิดเรียบเรียงถ้อยคำที่จะกราบทูลด้วยปากบ้าง ด้วยหนังสือบ้างเปนเหมือนหนึ่งเอเซ จนเจ้าแผ่นดินเห็นว่าผู้นั้นสมควรจะมีตำแหน่งราชการ ก็ค่อยเลื่อนยศขึ้นไปทีละน้อย ๆ ตามลำดับ ไม่ว่าบุตรขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยแล้วแต่พระเจ้าแผ่นดินจะโปรดองค์เดียว เพราะธรรมเนียมเปนดังนี้ ถ้าขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยผู้ใดที่มีบุตรดีที่ได้ทดลองแล้ว พระเจ้าแผ่นดินเห็นสมควรที่จะได้รับราชการสืบตระกูลบิดาได้ ก็ให้เลื่อนยศให้สืบตระกูลบิดาไปบ้าง แต่ที่ไม่ได้สืบตระกูลบิดาเสียนั้นโดยมาก เพราะบุตรไม่ดีเหมือนบิดา"
3
.
ชาติวุฒิ ถือเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับชนชั้นใต้ปกครองได้แก่ไพร่และทาส ซึ่งถูกนับว่ามีชาติตระกูลต่ำหรือ "หินะชาติ" ไม่มีความรู้ธรรมเนียมราชการ จึงถูกห้ามมิให้เป็นมหาดเล็กถวายงานใกล้ชิดอย่างเด็ดขาด ดังที่พระราชกำหนดเก่าระบุไว้ว่า
5
“อนึ่งถ้าผู้ใดหากระกูลมีได้ เปนหินะชาติเปนทาษผู้มีชื่อใช้สอยอยู่แล้ว ครั้นเล่นเบี้ยได้ก็ดี จะได้เงินแห่งใดมาเสียแก่เจ้าเงินมาเสียแก่เจ้าเงินแล้ว ๆ มาติดสอยบนบานฃอเปนมหาดเลกชาวที่นั้น อย่าให้รับเอาบังคมทูลพระกรุณาถวายให้เปนอันขาดทีเดียว เหดุว่ามิได้เคยสู่พระราชสถาน ด้วยว่าพระราชสถานนั้นกอปรด้วยเครื่องประดับประดาอลังการทังปวงเปนที่ห้ามแหนบุคละจะได้เหนเปนอันยาก
3
อนึ่งพระสุระเสียงแลองคพระมหากระษัตรเจ้านั้นยากที่บุคลจะได้ยินเหน ครั้นเปนคนหินะชาดิได้เหนพระราชสถานแลองค์สมเดจ์พระมหากระษัตรเจ้าและได้ฟังพระสุระเสียง อันมิควรจะได้เหนได้ฟังนั้น ก็มีใจกำเริบมัวเมาไป ก็สำคัญว่าอาตมาจะได้เปนใหญ่ ครั้นออกจากพระราชสถานแล้ว ก็จะนำเอาการในเปนการนอก แลทนงองอาจ์อวดอ้างว่าเฝ้าแหนพิดทูลได้ ก็ย่ำยีเบียดเบียนราษฎร ๆ จะได้ความแค้น”
1
ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ ๔ ถึงต้นรัชกาลที่ ๕ ผู้เป็นมูลนายนั่งบนเปลคานหาม มีไพร่เดินแห่แหนติดตาม
สังคมในสมัยกรุงศรีอยุทธยาถึงก่อนสมัยรัชกาลที่ ๕ ไม่มีชนชั้นกลาง ไม่มีการสอบเป็นข้าราชการเหมือนกับระบบเคอจวี่ (科舉) ของจีน ชนชั้นใต้ปกครองคือไพร่และทาสจึงยากที่จะดึงตนเองไปสู่ตำแหน่งราชการระดับสูง ต้องเริ่มจากตำแหน่งระดับล่างเช่น หมื่น พัน จ่า เสมียน นอกจากได้ทำความดีความชอบ เช่น ถวายสิ่งของต้องประสงค์ มีผลงานในราชการสงคราม หรือเป็นข้ารับใช้ใกล้ชิดของมูลนายเป็นต้น
คุณสมบัติในอุดมคติเหล่านี้สมดังที่จิตร ภูมิศักดิ์วิจารณ์ไว้ว่า "พวกไพร่หน้าไหนผ่านไปได้ก็เหลือเดา"
เอกสารอ้างอิง
- กฎหมายตรา ๓ ดวง เล่ม ๑. (๒๕๔๘). กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ.
- กฎหมายตรา ๓ ดวง เล่ม ๒. (๒๕๔๘). กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ.
- กฎหมายตรา ๓ ดวง เล่ม ๓. (๒๕๔๘). กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ.
- จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (๒๔๖๕). พระบรมราชาธิบายในพระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าด้วยยศเจ้าต่างกรม แลยศขุนนาง. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, ๒๕๕๓.
- สมสมัย ศรีศูทรพรรณ. (๒๕๕๐). โฉมหน้าศักดินาไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. นนทบุรี: ศรีปัญญา.
- Bowring, J. (1857). The Kingdom and People of Siam, Vol I. London: John W. Parker and Son, West Strand.
2
หมายเหตุ : บทความทั้งหมดเรียบเรียงโดยผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ ผู้ดูแลเพจขอสงวนสิทธิไม่อนุญาตให้นำข้อมูลที่เผยแพร่ในเพจไปแก้ไข คัดลอก ดัดแปลง ทำซ้ำ เผยแพร่ต่อ และห้ามนำไปแสวงหาผลกำไรทางพาณิชย์โดยเด็ดขาด หากมีความประสงค์จะขอบทความของเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ไปเผยแพร่ต่อด้วยวิธีการใดๆ ก็ตามต้องได้รับการยินยอมจากผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ในทุกกรณี ยกเว้นแต่การแชร์ (share) ที่สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
โฆษณา