16 พ.ค. 2020 เวลา 02:00 • ศิลปะ & ออกแบบ
ธรรมรักษาผู้ประพฤติธรรม
ธรรมแล ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม …
ช่วงเวลานี้ เป็นเวลาที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะเราจะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสัจธรรมนำพาชีวิตให้เข้าถึงความสุข หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งมวล ปัจจุบันนี้มนุษย์ส่วนใหญ่ยังไม่รู้เลยว่าเกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต เมื่อไม่ได้ฟังธรรมของพระพุทธองค์ ชีวิตจึงต้องเวียนวนอยู่ในกระแสแห่งความทุกข์ระทม เหมือนถูกตรึงด้วยเครื่องพันธนาการร้อยรัด แต่เมื่อได้ฟังพระสัทธรรม จึงจะเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต แล้วมุ่งแสวงหาสาระอันแท้จริง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุด คือ พระนิพพาน
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า
“ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ
 
ธรรมแล ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม”
 
    เคยมีนักปราชญ์ทางด้านภาษา ค้นคว้าเกี่ยวกับความหมายของคำว่า ธรรมะ ในพระไตรปิฎกมีอย่างน้อย ๕๐ ความหมาย สุดแต่ว่าเราจะหยิบยกเอาตอนไหนออกมาใช้ แต่ส่วนใหญ่แล้วเรามักจะได้ยินได้ฟังกันมาว่า ธรรมะ คือ ความถูกต้อง ความดีงาม ความบริสุทธิ์ ความสะอาดผ่องใส ความสงบ ความเย็นกายเย็นใจ หรือความสุขกายสุขใจ
ส่วนในทางปฏิบัติ พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ท่านได้สละชีวิต ทำใจหยุดนิ่งกลับเข้าไปสู่ภายใน แล้วท่านเข้าไปค้นพบว่า ตัวตนเนื้อหนังที่แท้จริงของธรรมะนั้น อยู่ภายในตัวของเรานี่เอง ที่ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด เหนือสะดือขึ้นมาสองนิ้วมือ เป็นดวงใสๆ กลมรอบตัว ใสยิ่งกว่าเพชร สวยงามมาก มีความสว่างไสวมีความรู้ภายใน ปัญญาภายในบอกท่านว่า นี่เรียกว่า มนุษยธรรม คือ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์ แล้วท่านค้นพบต่อไปอีกว่า ดวงธรรมนี้มีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคนในโลก ถ้ามนุษย์ไม่มีดวงธรรมดวงนี้ จะดำรงชีวิตอยู่ไม่ได้ ถ้าเมื่อไรที่ดวงธรรมดวงนี้ดับลง กายมนุษย์ต้องพลอยแตกดับไปด้วย เพราะฉะนั้นดวงธรรมจึงเป็นสิ่งที่ทรงรักษากายมนุษย์ไว้
การที่เราจะเข้าถึงดวงธรรมหรือธรรมะได้นั้น จะต้องอาศัยการประพฤติธรรม คือ การรักษากาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ ปฏิบัติตามหลักกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อไร้สาระ ไม่โลภอยากได้ของเขา ไม่พยาบาทปองร้ายใคร เห็นชอบตามคลองธรรม การจะรักษาสิ่งเหล่านี้ได้ จะต้องนำใจมาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด เพราะเมื่อใจเราหยุดอยู่ที่ตรงนี้ ความบริสุทธิ์จะเกิดขึ้น ทั้งความคิด คำพูดและการกระทำ ก็บริสุทธิ์หมด
เมื่อใจของเราหยุดถูกส่วนดีแล้ว จะเห็นดวงธรรม หรือดวงปฐมมรรค ซึ่งเป็นหนทางเบื้องต้นที่จะนำเราไปสู่พระนิพพาน ดวงธรรมนี้แหละ จะเป็นที่พึ่งที่ระลึกให้กับตัวของเรา ที่ว่าเป็นที่พึ่ง หมายถึง เวลาที่เรามีความทุกข์ พอเอาใจหยุดเข้าไปสู่ภายใน เข้าถึงดวงธรรมแล้ว ความทุกข์ทั้งหลายที่มีอยู่ในใจ จะละลายหายสูญไปหมด ที่ว่าเป็นที่ระลึกคือ เมื่อเรามีความสุขแล้ว ถ้าหากเอาใจของเราหยุดเข้าไปสู่ภายใน จะเพิ่มเติมความสุขให้แก่ตัวของเราเองยิ่งขึ้น
ดวงธรรมดวงนี้แหละ จะรักษาเราให้รอดพ้นจากบ่วงแห่งมาร จะปิดประตูอบายภูมิ บาปกรรมต่างๆ หยุดหมด ยังไม่ให้ผล ความบริสุทธิ์ของใจที่เป็นดวงสว่างจะให้ผลก่อน และให้ผลดียิ่งๆขึ้นไปตามลำดับ ดังเช่น พระมิลกเถระ
*พระมิลกเถระ ในสมัยที่ยังเป็นคฤหัสถ์ ท่านเป็นนายพราน หาเลี้ยงชีพด้วยการทำปาณาติบาต ทำบาปทำกรรมมามาก วันหนึ่งหลังจากที่ท่านบริโภคเนื้อย่างแล้ว ได้ไปยังที่ดักบ่วง ระหว่างทางรู้สึกกระหายน้ำมาก จึงแวะเข้าไปเปิดหม้อน้ำที่ตั้งอยู่ในวัดของพระเถระรูปหนึ่ง ซึ่งกำลังเดินจงกรมอยู่ แต่พอเปิดหม้อน้ำ กลับไม่เห็นมีน้ำเลย จึงรู้สึกโกรธ เลยร้องตะโกนใส่พระเถระว่า "ท่านบริโภคอาหารของชาวบ้านแล้ว ทำไมมัวแต่นอน ไม่ยอมตักน้ำดื่มไว้ในหม้อบ้างเลย"
 
    พระเถระได้ยินดังนั้น จึงเดินไปตรวจดู เห็นมีน้ำอยู่เต็มหม้อ จึงเอาขันตักน้ำจนเต็ม ส่งให้นายพรานดื่ม เมื่อนายพรานดื่มน้ำแก้กระหายแล้ว เกิดสังเวชใจขึ้นมาว่า เรานี่บาปหนักแท้ๆ หม้อน้ำมีน้ำเต็มอยู่ แต่เรากลับมองไม่เห็นน้ำ นี่ถ้าเราละจากโลกนี้ไปแล้วจะเป็นอย่างไรหนอ ด้วยความที่กลัวว่าผลของบาปจะตามมาทัน นายพรานขอบวชกับพระเถระ
เมื่อบวชแล้ว ท่านได้ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรม เจริญภาวนาเป็นอย่างดี แต่ในระยะแรก ท่านไม่สามารถฝึกใจให้หยุดให้นิ่งได้เลย เพราะท่านทำปาณาติบาตมามาก พอจะทำใจให้หยุด ภาพที่เคยฆ่าเนื้อฆ่าสุกรก็ปรากฏขึ้นมาในใจ เห็นกิริยาอาการของสัตว์ที่แสดงความเจ็บปวด ความทรมานในขณะที่ถูกฆ่า ภาพต่างๆ เหล่านี้ปรากฏขึ้นมาในใจของท่าน คอยหลอกหลอนให้ใจของท่านเร่าร้อนกระวนกระวาย ไม่สามารถจะหยุดนิ่งได้ พอปฏิบัติธรรมไม่ได้ผล ท่านเกิดเริ่มรู้สึกท้อแท้ถึงกับคิดจะลาสิกขา จึงไปปรึกษาพระเถระ
พระเถระฟังแล้ว จึงให้พระมิลกะไปตัดไม้สดมาทำเป็นกองใหญ่ และบอกให้เอาไฟเผา ท่านก็ปฏิบัติตาม แต่แม้จะก่อไฟจากทิศทางไหน ก็ไม่สามารถจะเผากองไม้สดนั้นให้ไหม้ได้ พระอุปัชฌาย์จึงเข้าฌานสมาบัติ อธิษฐานให้แผ่นดินแยกออกจากกัน แล้วนำไฟจากอเวจีมหานรกมาเพียงเล็กน้อย แค่เท่าแสงหิ่งห้อย มาใส่ที่กองไม้นั้น เพียงชั่วพริบตา กองไม้สดนั้นก็มอดไหม้หมด เหมือนจุดไฟเผาใบไม้แห้ง ฉะนั้น
 
    เมื่อพระอุปัชฌาย์ แสดงความร้อนของไฟในนรกให้ท่านเห็นแล้ว จึงบอกว่า ถ้าหากท่านสึกออกไป วิบากกรรมที่เคยทำปาณาติบาตมาตลอดชีวิต จะทำให้ท่านต้องไปหมกไหม้ในนรกอเวจีที่ร้อนแรงขนาดนี้ ท่านมิลกะฟังแล้วก็เกิดความสลดสังเวชใจ กลัวภัยในนรก จึงเลิกล้มความตั้งใจที่จะสึก แล้วหันมาบำเพ็ญสมณธรรมอย่างเต็มที่
พอใจของท่านปล่อยวางหมด ไม่นึกถึงบาปอกุศลกรรมต่างๆ ที่เป็นอดีต ไม่ว่าจะมีภาพอะไรเกิดขึ้นมาหลอกหลอนก็ไม่สนใจ ไม่ไปยึดมั่นถือมั่น ท่านถือเสียว่า เมื่อพลาดพลั้งไปแล้ว ก็จะตั้งต้นใหม่ ตั้งแต่นี้ต่อไปจะทำแต่ความดี ท่านตั้งใจปฏิบัติธรรมด้วยความเพียรที่ต่อเนื่อง เมื่อไรที่เกิดความง่วงเหงาหาวนอน ท่านจะแก้ง่วงด้วยการวางฟางที่ชุ่มน้ำไว้บนศีรษะ หรือนั่งหย่อนเท้าทั้งสองลงไปในแอ่งน้ำ ท่านเพียรพยายามอยู่อย่างนี้ด้วยความอดทนอย่างยิ่ง
ในที่สุดท่านก็สมหวัง ใจหยุดถูกส่วนที่ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด พอถูกส่วน ดวงธรรมจึงสว่างโพลงขึ้นมา สว่างยิ่งกว่าดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวัน ลบภาพบาปอกุศลกรรมต่างๆ ให้เลือนหายไปหมด กุศลกรรมที่เคยทำในอดีตมาส่งผลในทันที เคยทำความดีไว้มากมายเท่าไร ก็มาส่งผลในตอนนี้ เพราะว่าเมื่อใจหยุดแล้ว ดวงสว่างเกิดขึ้น จึงจะเชื่อมโยงบุญเก่าที่ตนเคยทำมา กับบุญใหม่ที่ทำในปัจจุบัน สนับสนุนให้ใจของท่านหยุดนิ่งเข้าไปอีก จนเข้าถึงกายธรรมพระอนาคามี สามารถตัดสังโยชน์เบื้องต่ำทั้งห้าได้ ในขณะที่กำลังเดินจงกรมอยู่นั่นเอง
เราจะเห็นว่า ทั้งๆ ที่พระมิลกะเคยสร้างบาปสร้างกรรมมามากมาย ทำปาณาติบาตมาตลอดชีวิต แต่ในภายหลังท่านก็สามารถหลุดพ้นจากกระแสกรรม พ้นจากอบายได้อย่างเด็ดขาดด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรม ทำใจให้หยุดให้นิ่ง หากพวกเราอยากจะหลุดพ้นจากบาปอกุศลทั้งหลาย ที่เคยทำมา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งที่เจตนาและที่ไม่เจตนา ทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง ซึ่งทุกคนเคยพลาดพลั้งกันมาแล้วทั้งนั้น ถ้าไม่อยากไปสู่อบายภูมิ อยากจะหลุดพ้นจากกระแสกรรมทั้งหลาย อยากไปสู่อายตนนิพพาน ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด มีหนทางเดียว คือ ต้องทำใจของเราให้หยุดนิ่ง ให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ สิ่งนี้จะยกชีวิตของเราให้ขึ้นมาสู่เกาะแห่งธรรม ให้พ้นจากบาปกรรมทั้งปวง ไปสู่ภพอันวิเศษได้ในที่สุด
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. พระมิลกเถระ เล่ม ๒๗ หน้า ๑๑๗

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา