16 พ.ค. 2020 เวลา 05:30 • ธุรกิจ
ทางรอดการบินไทย
จากประสบการณ์การทำงานกับบริษัทยักษ์หลายบริษัท และบางบริษัท “ยุคใหม่ฯ” ก็เคยบอกว่าหากยังเป็นเช่นนี้อยู่อีกไม่นานบริษัทก็ต้องขายให้ผู้ถือหุ้นรายอื่นหรืออาจจะต้องหยุดกิจการ ข่าวดีก็คือกิจการที่เคยบอกไปยังดำเนินการต่อ ณ ปัจจุบัน บริษัทแรกเป็นยักษ์ใหญ่ด้านสินค้าอาหารแช่แข็ง รายนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยเจ้าหนี้ให้คนของตัวเองเข้ามาบริหารแทน ส่วนรายต่อมาต้องขายกิจการ
ทั้งหมดทั้งมวลล้วนแล้วแต่มีสัญญาณที่เหมือนๆกัน คือ ขั้นตอนการทำงานซับซ้อน กว่าจะทำอะไรแต่ละอย่างต้องใช้เวลานานไม่ทันเวลาที่เหมาะสม มีตำแหน่งระดับหัวหน้ามากขึ้น มีคนมากกว่างาน วิธีคิดของคนในองค์กรที่ให้ทำตามกฎระเบียบ และสุดท้ายคือผู้บริหารเลือกฟังความเห็นจากคนที่ชอบหรือไม่รับฟังความเห็นต่าง
ในวันที่เคยพยากรณ์ไว้ล่วงหน้ากับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน ทุกคนบอกว่า “ยุคใหม่ฯ” คิดผิดเพราะเขาทำธุรกิจมานานหลายสิบปี ธุรกิจก็มีความมั่นคง มีทรัพย์สินมากมาย ผู้บริหารก็เป็นคนมีฝีมือ บางคนมาจากองค์กรใหญ่ๆระดับโลก มีประสบการณ์ที่ทำงานใหญ่ๆ ไม่เชื่อว่าจะมีอะไรทำให้องค์กรที่ทำอยู่ต้องเป็นในแบบที่ “ยุคใหม่ฯ” กล่าวไว้
แต่ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับทั้ง 2 ราย หลังจากที่ระยะเวลาผ่านไป 4-5 ปีแล้ว รายแรกหนักหน่อยตรงที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์จากเจ้าหนี้ หรือพูดง่ายๆว่าถูกยึดบริษัททั้งหมด รายที่ 2 พึ่งขายกิจการให้คนไทยไปเมื่อปลายปีที่แล้ว เพราะมองไม่เห็นโอกาสการทำกำไรจากกิจการที่ทำอยู่
เมื่อได้ทำการเทียบเคียงกับข้อมูลของการบินไทย ที่เป็นองค์กรที่มีศักยภาพเช่นเดียวกัน มีรายได้มหาศาลเช่นเดียวกัน และสิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นแบบเดียวกันกับ 2 องค์กรข้างต้น เรื่องนี้เคยได้ยินผ่านสื่อมาหลายปีแล้วในรายละเอียดภายใน แต่ภาพรวมใหญ่ๆแล้วมีสาเหตุมาจากสิ่งที่เหมือนกัน ที่จะพูดว่าเหมือนกันแบบที่จำลองมาแบบไม่มีผิดเพี้ยนเลย จึงไม่แปลกใจที่การบินไทยที่สุดท้ายแล้วจะต้องเดินทางสู่เส้นทางเดียวกัน คิดเหมือนทำเหมือนผลลัพธ์ก็ต้องเหมือนกัน
เคยลงเรื่องการบินไทยไว้เรื่องสาเหตุอะไรที่ทำให้การบินไทยขาดทุน ที่ได้ทำการรวบรวมข้อมูลจากสื่อต่างๆในเรื่องของสิ่งที่ทำให้เกิดการขาดทุน และ “ยุคใหม่ฯ” ก็ได้นำเสนอหัวข้อที่ต้องจัดการกับปัญหานี้ไว้ 3 อย่างคือ เพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย และการทำสิ่งที่ต่างออกไป ซึ่งมั่นใจว่าหากทำ 3 ข้อนี้ได้ ทางรอดเกิดขึ้นแน่นอน
เรื่องนี้สามารถใช้เครื่องมือแบบง่ายๆไม่ซับช้อนในการจัดการปัญหานี้ และเชื่อมั่นว่าใช้เวลาไม่นานที่จะทำให้การบินไทยฟื้นตัวกลับมาได้ด้วย แม้ว่าอุตสาหกรรมการบินจะเป็นธุรกิจท้ายๆที่จะฟื้นตัวได้หลังภาวะโควิดก็ตาม เพราะการบินไทยมีจุดแข็งจุดดีมากมายที่ไม่ได้นำออกมาใช้ในช่วงที่ผ่านมา
เครื่องมือหลักที่ใช้จัดการกับเรื่องนี้อย่างได้ผล คือ
1.ผู้บริหารต้องมีนโยบายแนวคิดที่ยึดหลักการชนะ/ชนะ หรือ Win/Win
2.ใช้กฎ 80/20 หรือ หลักการพาเรโต
3.ลดขั้นตอนความยุ่งยากซับซ้อน
4.เน้นการพัฒนาจุดแข็ง
ทั้ง 4 ข้อมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำตามลำดับ เพราะหากไม่มีข้อแรก ข้อต่อมาแม้จะทำได้แต่ประสิทธิภาพก็ไม่ได้บางครั้งอาจจะทำให้การดำเนินการล้มเหลวเลยก็ได้ เพราะมีข้อแรกจึงมีข้อ 2 แล้วจึงมีข้อ 3 และ 4 ตามมา เรื่องนี้ขอไม่ลงลึกมาเพราะยาวมาก อาจนำไปเสนอเฉพาะตอนนี้ตอนเดียวในโอกาสต่อไป
Win/Win ที่มา https://www.gotoknow.org/posts/580886
ในส่วนข้อที่ 2 หลักการ 80/20 จะทำให้งานง่ายขึ้น ใช้เวลาน้อยลงและได้ประสิทธิภาพสูง การบินไทยต้องมาจัดลำดับดูว่า 80% แรกของค่าใช้จ่ายคืออะไร 80%แรกของรายได้คืออะไร อย่างที่ 3 คือ 80% แรกของผลกำไรมาจากส่วนไหน เมื่อทราบอย่างนี้แล้วก็มุ่งไปจัดการในส่วนนั้น ที่บอกว่าต้องใช้เวลาหลายปีจึงจะฟื้นฟูได้ หากทำได้ 2 หัวข้อแรกได้ ก็ล่นระยะเวลามาเหลือเป็นหลักเดือนได้แล้ว ปัญหามันเยอะเพราะเราไม่ได้จัดกลุ่มและจัดลำดับความสำคัญของมันต่างหาก (เรื่องนี้ก็เกิดขึ้นได้กับการใช้ชีวิตเช่นกัน)
Credit: Medium.con
ต่อมาคือการลดขั้นตอนความยุ่งยาก ทำอย่างไรให้ขั้นตอนกระชับสุดเร็วสุดและมีประสิทธิภาพสูงสุด นี่คือโจทย์ที่ต้องทำ ยกตัวอย่างเช่น การจัดซื้อวัตถุดิบใช้ในครัวการบิน (ยุคใหม่ฯเคยมีโอกาสได้ส่งวัตถุดิบอาหารให้ครัวการบินแต่เป็นสายการบินแห่งชาติของเยอรมัน) โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าทำอย่างไรให้สินค้าที่รับมาต้องมีคุณภาพดีที่สุด(มีความสดสูง) มีความปลอดภัย ในต้นทุนที่คุ้มค่า มาจากจากแหล่งที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม ในระยะเวลาอันรวดเร็ว เป็นต้น
ซึ่งเรื่องนี้คิดได้ง่ายๆเลยว่าปลายทางคือผู้บริโภคคนสุดท้ายจะได้รับอะไร ราคาเท่าไร และเขารับได้ไหม แล้วค่อยคิดกลับมาที่ละขั้นตอน เราก็จะได้วิธีการที่ตอบโจทย์คนที่จ่ายเงินให้เราตัวจริง เท่านี้ก็ลดขั้นตอนลดระยะเวลาได้หลายเท่าตัวแล้วที่จะฟื้นตัวกลับคืนมาได้
ท่านสามารถติดตามเรื่องการลดขั้นตอนความยุ่งยากได้จากข้อมูลใน YouTube ที่“ยุคใหม่ฯ” ได้นำเสนอเรื่องนี้ไว้ 2 ตอน ในเรื่องการลดขั้นตอนความยุ่งยาก
ขั้นตอนสุดท้ายที่แม้ว่าธุรกิจการบินภาพรวมจะยังไม่ฟื้นตัว เพราะจำนวนผู้โดยสารลดลง จากความกังวลการแพร่กระจายของเชื้อที่ยังคงอยู่และ New Normal ที่จะเกิดขึ้นคือการเว้นระยะห่าง ที่ทำให้ปริมาณผู้โดยสารต่อลำลดลงได้อย่างชัดเจนก็ตาม และจุดอ่อนที่การบินไทยมีก็อาจจะไม่สามารถสร้างผลกำไรจากจุดนี้ได้
เรื่องจุดอ่อนขอให้ลืมมันไปหรือทิ้งไปก่อน ทุกกิจการที่สำเร็จขึ้นมาล้วนแล้วแต่เดินไปในทิศทางเดียวกัน เราสามารถศึกษาประวัติบุคคลสำคัญหรือกิจการใหญ่ๆได้ ทั้งหมดแล้วมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาจุดแข็งที่ตนเองมี ไม่ได้ให้ความสนใจกับการปิดจุดอ่อนมากนัก
จากประสบการณ์ที่มองเห็นจุดแข็งของการบินไทย ภาพที่ออกมาคือ
1.การบินไทยมีการบริการที่ใส่ใจมากกว่าชาติอื่นๆ
2.ความยืดหยุ่นของคนไทยโดยเฉพาะคนของการบินไทย พนักงานการบินไทยสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ให้คำตอบกับผู้โดยสารได้อย่างประทับใจมากเมื่อเทียบกับสายการบินอื่น (อาจจะมีบ้างที่เราไม่ชอบ)
3.ครัวการบินที่นึกถึงอาหารบนเครื่องโดยเฉพาะคนไทยเราจะนึกถึงเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกๆเลย
4.ภาพลักษณ์ของเรื่องคุณภาพของการใช้บริการการบินไทย ผู้คนส่วนใหญ่ยอมรับว่าดีกว่าสายการบินอื่นๆ
ทั้งจุดแข็ง 4 เรื่องข้องต้น ซึ่งน่าจะมีมากกว่านี้ การบินไทยสามารถต่อยอดจุดแข็งที่ใครๆก็ปฏิเสธไม่ได้ เช่น อาจจะทำการนำเสนอการเช่าหมาลำเพื่อเดินทางไปยังจุดหมายต่างๆทั่วโลกให้กับกลุ่มผู้โดยสาร ขยายการบินภายในประเทศ เพราะหลังภาวะโควิดสายการบินราคาประหยัดไม่ใช่การตอบโจทย์ผู้โดยสารแล้ว ต้องเป็นสายการบินที่ปลอดภัยทั้งการเดินทางและการปลอดเชื้อ เรื่องนี้การบินไทยทำได้ดีกว่าคู่แข่งแน่นอน
ส่วนจุดแข็งที่น่าสนใจมากๆและอาจจะทำให้พลิกฟื้นกลับมาได้รวดเร็วที่สุด คือครัวการบิน ที่บอกได้เลยว่าไม่ใช่แค่เพียงคนไทยที่มีภาพความเชื่อมั่นต่อครัวการบินไทย ชาวต่างชาติต่างให้การยอมรับสูงมาก โดยเฉพาะสายการบินที่ต้องพึ่งพาครัวการบินไทย (เรื่องนี้มาจากประสบการณ์ตรงที่เคยคลุกคลีกับครัวการบิน)
บริเวณครัวการบินไทย ที่มา: MGRonline
การบินไทยสามารถขยายเรื่องนี้โดยการแตกแขนงออกไปสู่ธุรกิจบริการด้านอาหารได้ เช่น ธุรกิจจัดเลี้ยง ธุรกิจการส่งอาหารให้กับพนักงาน การเป็นผู้ออกใบรับรองคุณภาพด้านการปรุงอาหาร และอีกมากมายที่จะต่อยอดไปได้อีกมากมาย
หากบริหารจัดการได้ทั้ง 4 ข้อหลักข้างต้น “ยุคใหม่การตลาดของไทย” เชื่อมั่นว่าการบินไทยจะกลับมาเป็นผู้นำด้านการบินและธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้อีกครั้ง ในระดับต้นๆของโลกได้
ข้อมูลมุมมองการตลาดที่ทันสมัยจากประสบการณ์จริง อ่านได้ใน Blockdit ยุคใหม่การตลาดของไทย
สามารถติดตามข้อมูลแนวคิดทางการตลาดยุคใหม่ได้ที่
YouTube Channel: Modernization marketing (ยุคใหม่การตลาดของไทย) ตอนล่าสุด
โฆษณา