16 พ.ค. 2020 เวลา 10:51 • สุขภาพ
COVID-19 จะหายไปจากโลกหรือจะอยู่กับเราไปตลอดกาล
เป็นคำถามที่ทุกคนคงอยากรู้คำตอบ
ที่จริงหลายโรคที่เรารู้จักได้หายไปจากโลกนี้ (อย่างน้อยก็หลายๆ ปี) หรือยังมีอยู่แต่ไม่ได้ระบาดจนเป็นปัญหา ยกตัวอย่าง เช่น กาฬโรค ไข้ทรพิษ โปลิโอ คอตีบ ไอกรน ฯลฯ ที่เป็นเช่นนั้น เพราะคนส่วนหนึ่งซึ่งมักจะเป็นส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกัน เรียกว่าภูมิคุ้มกันกลุ่ม หรือ herd immunity บางโรคภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นจากการติดเชื้อโดยธรรมชาติ แต่บางโรคเกิดจากการให้วัคซีน ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะเพิ่ม herd immunity ได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย
ในช่วงราวสิบปีที่ผ่านมา ก็จะมีโรคติดต่อที่เกิดขึ้นใหม่อยู่จำนวนหนึ่งที่ดูเหมือนจะหายไป เช่น โรคซาร์ส เมอร์ส เป็นต้น แน่นอนว่าโรคใหม่เหล่านี้ยังไม่มีวัคซีนใช้ และยังไม่มียารักษา แต่ที่มนุษย์สามารถควบคุมจนโรคหายไปได้ ก็ด้วยมาตรการของการจำกัดวง คือกำจัดหรือลดการติดต่อระหว่างผู้ป่วยกับผู้อื่นให้มากที่สุด และเนื่องจากผู้ป่วยมักมีอาการหนัก และมีอัตราตายสูงทำให้ลดโอกาสไปแพร่เชื้อให้ผู้อื่นโดยปริยาย ทำให้ทุกประเทศที่โรคนี้ระบาดไปถึง สามารถควบคุมให้อัตราแพร่เชื้อเท่ากับ 0 คือไม่มีผู้ป่วยใหม่ นานพอที่จะทำให้โรคหายไปจากโลกได้
แต่ด้วยคุณสมบัติของเชื้อ COVID-19 ที่แม้จะรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตได้ แต่ก็มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่อาการไม่รุนแรงหรือแม้กระทั่งไม่มีอาการเลย ทำให้การแพร่ระบาดเป็นไปอย่างกว้างขวางทั่วโลก
แล้วถ้าอย่างนั้น กรณีที่ไม่มีวัคซีน โรคจะระบาดไปถึงเมื่อไหร่
ถ้าไม่มีมาตรการที่เหมาะสม ผู้คนยังเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างเมือง ระหว่างประเทศ ก็คงต้องรอจนกว่าประชากรจำนวนหนึ่งติดเชื้อและมีภูมิคุ้มกันจนถึงระดับที่ทำให้เกิด herd immunity มีผู้ศึกษาไว้ว่าราว 65%
อย่างไรก็ตาม ตัวเลข 65% นั้น คำนวณจากโมเดลของการไม่ทำอะไรเลย แต่ถ้ามีมาตรการอื่นร่วมด้วย เช่น social distancing, การใส่หน้ากาก, การล้างมือ ฯลฯ ตัวเลขนี้ น่าจะน้อยลง มีข่าวว่าญี่ปุ่นเริ่มทำการสำรวจแล้วว่ามีผู้ที่ติดเชื้อแล้วเป็นสัดส่วนเท่าใดของประชากร ซึ่งตัวเลขนี้น่าจะมีประโยชน์ในการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมต่อไป
เช่น ถ้าสมมติว่าในประชากรมี immunity 20% จะต้องมีมาตรการเสริมแค่ไหน จึงจะพอที่จะควบคุมโรคได้ แต่ละประเทศคงไม่เหมือนกัน เพราะมีปัจจัยต่างกัน
ส่วนคำถามว่า COVID-19 จะมีโอกาสหายไปจากโลกหรือไม่ ในทางทฤษฎีคงต้องตอบว่ามี เพราะเชื้อที่ใกล้เคียง เช่น ซาร์ส และ เมอร์ส ก็หายไปเช่นกัน แต่ตอนนั้นการระบาดยังไม่กว้างขวางขนาดนี้ สำหรับ COVID-19 คงต้องรอจนกว่าจะมีวัคซีนที่ได้ผลออกมา หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกประเทศ ในการบังคับใช้มาตรการที่เหมาะสมพร้อมๆ กัน เพราะหากยังมีที่ใดระบาดอยู่ ก็ไม่มีทางที่จะกำจัดโรคนี้ไปได้ ยังไงก็คงวนเวียนไปประเทศอื่นอยู่ดี
ส่วนในโลกความจริง ก็เห็นกันอยู่ว่าโลกใบนี้มีความร่วมมือกันมากน้อยแค่ไหน
และถึงแม้ COVID-19 หายไปได้ ก็ยังอาจจะมีโรคในตระกูลเดียวกัน COVID-22, COVID-26.... มาระบาดใหม่ได้อีก ถ้าเรายังหาต้นเหตุของการที่เชื้อจากค้างคาวมาแพร่สู่คนไม่ได้ และยังไม่รู้วิธีที่จะป้องกัน
วิถีชีวิตแนวใหม่ social distancing ใส่หน้ากากเวลาออกจากบ้าน พกแอลกอฮอล์เจล หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด หรือ แหล่งมั่วสุม
คงต้องอยู่กับเราไปอีกสักพัก (ใหญ่)
สุดท้ายก็คือ ตอนนี้ผมชักไม่แน่ใจว่า จำนวนประชากรมนุษย์ในปัจจุบัน กับ จำนวนเชื้อ COVID-19 อันไหนจะมากกว่ากัน ใครพอจะตอบได้บ้าง
โฆษณา