Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ลงทุนในความรู้
•
ติดตาม
16 พ.ค. 2020 เวลา 12:36 • ธุรกิจ
ทำความเข้าใจกับดิจิทัลหยวนกับการอัพเกรดระบบการเงินจีนครั้งใหญ่
..
1
หลังจากที่โควิด-19 ของจีนสงบไป ชีวิตของประชาชนและการพัฒนาประเทศต้องเดินต่อไป ช่วงนี้สำนักข่าวของจีนเริ่มเสนอข่าวด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและนโยบายต่าง ๆ ของประเทศ ผู้เขียนพบว่าอีกข่าวหนึ่งที่ได้รับความสนใจมากทีเดียวเลยคือเรื่องของดิจิทัลหยวนของจีน สำหรับคนจีนเองนั้น ผู้เขียนก็ได้สอบถามเพื่อนรอบตัวต่างก็ทราบข่าวนี้กันแล้ว แต่คิดว่าคงต้องเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งเลยทีเดียว กว่าที่จะปล่อยใช้ทั่วประเทศ
เงินหยวนที่ใช้ในปัจจุบัน หรือ เหรินหมินปี้ (人民币 หมายถึง "เงินตราของประชาชน") เป็นเงินตราอย่างเป็นทางการของสาธารณรัฐประชาชนจีน ออกโดยธนาคารประชาชนจีน เป็นธนาคารกลางของสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้เป็นหน่วยงานทางด้านเงินตราของ จีนแผ่นดินใหญ่ โดยเริ่มประกาศใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ธ.ค. 1948 จนมาถึงวันนี้ 72 ปีผ่านไป เงินหยวนกระดาษก็มีการปรับเปลี่ยนเวอร์ชั่นมากมายและเงินกระดาษที่ใช้อยู่ไม่เคยหายไปจากชีวิตประชาชน มาจนถึงวันนี้การเริ่มที่จะวิจัยและพัฒนาเงินดิจิทัลหยวนที่มีรัฐบาลจีนเป็นประกันและมีกฎหมายคุ้มครองเหมือนเงินกระดาษทุกประการ ทำให้ประชาชนจีนทั่วไปจับตากับข่าวนี้มากขึ้น
ระบบของดิจิทัลหยวน ธนาคารกลางจีนได้จัดตั้งทีมและเริ่มทำการวิจัยและพัฒนาตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันก็ร่วม 6 ปีมาแล้ว โดยธนาคารกลางจีนได้จัดตั้งสถาบันวิจัยเงินดิจิทัล (Digital currency Institute) ขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ในเดือนนี้มีการประกาศเริ่มใช้เงินดิจิทัลหยวนแต่ว่าอยู่ในช่วงทดลองเท่านั้นและจะครอบคลุมเพียง 4 เมืองทั่วประเทศคือ เซินเจิ้น ซูโจว สยงอัน เฉิงตู และเพิ่มอีกหนึ่งสถานที่ทดลองคือใช้ในบริเวณงานกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 2022 ที่จะถึงนี้
เงินดิจิทัลหยวนที่รัฐบาลจีนจะนำออกมาใช้นี้มีคุณสมบัติเหมือนกับเงินกระดาษทุกประการ โดยมีชื่อย่อภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการว่า DC/EP (Digital Currency Electronic Payment) เป็นชื่อที่ใช้ในทางเทคนิคและในระหว่างการทดลองนี้จีนใช้คำว่าทดลองแบบปิดหรือ“封闭式测试”(อ่านว่า เฟิงปี้ชื่อเช้อชื่อ) และจะพัฒนาให้สมบูรณ์แบบที่สุดก่อนที่จะออกใช้จริงทั่วประเทศ
อาจจะมีคนเข้าใจผิดว่าเงินดิจิทัลหยวนจะเป็นแบบบิทคอยน์ ซึ่งต่างกันสิ้นเชิง เงินดิจิทัลหยวนถูกต้องตามกฎหมายทุกประการและเงินดิจิทัล 1 หยวนก็มีค่าเท่ากับเงิน 1 หยวนจริง ๆ และในมุมของผู้ใช้งานคือประชาชนก็มีความสะดวกรวดเร็วสามารถใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ทั่วไป โดยที่ไม่ต้องผูกบัตรธนาคารกับ Alipay หรือ Wechat pay สามารถที่จะใช้จ่ายตรงได้เลย และถึงแม้ว่าจะอยู่ในสถานที่ที่ไม่มีอินเตอร์เน็ตหรือสัญญามือถือก็ยังสามารถใช้จ่ายได้ปกติ ซึ่งเทียบกับปัจจุบัน ผู้เขียนเห็นว่าจีนได้เข้าสู่ยุค “Cash-less society” แล้ว แต่การใช้จ่ายของประชาชนผ่านมือถือ ถูกผูกขาดโดย Alipay และ Wechat pay โดยผู้ใช้ต้องนำบัตรธนาคารเดบิตหรือบัตรเครดิตผูกกับบัญชี Alipay และ Wechat ก่อนถึงจะเปิดบริการใช้งานซื้อจ่ายออนไลน์ผ่านมือถือได้
จริง ๆ แล้ว แอปพลิเคชัน Alipay และ Wechat pay ส่งผลกระทบต่อการธนาคารต่าง ๆ ของจีนอยู่ไม่น้อย เพราะเปลี่ยนพฤติกรรมวิธีการใช้จ่ายของประชาชนเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงเลยทีเดียว
ก่อนที่ Alipay และ Wechat pay จะถูกเอามาใช้อย่างกว้างขวาง ประชาชนใช้เงินสดและบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิตรูดซื้อของเป็นหลัก มาถึงปัจจุบัน“Cash-less society” ที่เกิดขึ้น กลายเป็นว่าประชาชนใช้ Alipay และ Wechat pay เป็นตัวกลางในการใช้จ่ายแทน อีกทั้งประชาชนก็ยังมีการรับและโอนเงินภายใน Alipay และ Wechat เงินใช้จ่ายของคนทั่วไปจำนวนไม่มาก เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันก็ตกค้างในแอปพลิเคชันผู้บริการพวกนี้ ต่อมาทั้ง Alipay และ Wechat เองก็มีการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากออนไลน์ดอกเบี้ยสูงกว่าธนาคารและมีขายผลิตภัณฑ์กองทุนต่างๆออนไลน์ออกมา ซึ่งก็ได้รับความนิยมจากประชาชนมากพอสมควรเลยทีเดียว
เรื่องเงินดิจิทัลหยวนนี้ว่ามีความคิดเห็นอย่างไร อาจารย์ท่านได้วิเคราะห์โดยกล่าวสั้น ๆ แต่ได้ใจความว่า “政府想要回来主导权”(อ่านว่า เจิ้งฟู่เสี่ยงเย้าหุยไหลจู่เต่าฉวน หมายถึง รัฐบาลต้องการเอาสถานะผู้นำกลับมา) ก็คือว่าการให้บริษัทเอกชนเข้ามาผูกขาดและเป็นเจ้าตลาดในด้านของการใช้เงินสดออนไลน์ของจีน ดูจะไม่ยั่งยืนและมีความเสี่ยงสูง อีกทั้งเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทั้งประเทศยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างอ่อนไหวอีกด้วย และแน่นอนว่าหากดิจิทัลหยวนโดยธนาคารกลางจีนถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางแล้วก็ผลกระทบกับ Alipay และ Wechat pay คงมีอยู่ไม่น้อยเพราะเงินกลายเป็นดิจิทัลไปหมดแล้ว ไม่ต้องมีตัวกลางมาเชื่อมต่อในการใช้เงินออนไลน์อีกต่อไป
ทั้งนี้การนำเงินดิจิทัลเข้ามาใช้งานจะทำให้ธนาคารกลางจีนสามารถติดตามการไปมาของตัวเงินได้ทุกรหัส ตั้งแต่ถูกปล่อยออกจากธนาคารกลางไปจนถึงการเปลี่ยนมือ ตรงนี้จะเพิ่มความโปร่งใสให้กับระบบการเงินได้อีกมาก อีกทั้งยังสามารถป้องกันการฟอกเงินและการโอนถ่ายเงินในทางผิดกฎหมายอีกด้วย ถือเป็นการยกระดับการตรวจสอบทางการเงินและการธนาคาร
อีกด้านหนึ่งคือมุมของธุรกิจผู้ประกอบการ ในอนาคตเงินดิจิทัล ทำให้การทำธุรกรรมการเงินระหว่างธุรกิจและธนาคารมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ธนาคารสามารถที่จะรู้และตรวจสอบผลประกอบการและสถานการณ์การดำเนินธุรกิจ เงินเข้า-ออกได้แบบหมดไส้หมดพุงเลยทีเดียว การพิจารณาการปล่อยเงินกู้ของธนาคารจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและจะลดสถานการณ์ภาวะหนี้เสียของธนาคารลงเพราะธนาคารจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที สรุปง่าย ๆ คือ เงินดิจิทัลหยวนในอนาคตจะทำให้ความลับทางด้านการเงินไม่มีอีกต่อไปและจะลดปัญหาการตกแต่งบัญชีของภาคธุรกิจด้วย
อนาคต DC/EP จะถูกนำมาใช้ทดแทน ฐานเงิน (M0) ซึ่งประกอบด้วยธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ (เงินสด) ที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ โดยมีการคาดการณ์ว่า 3 ปีหลังจากนี้เงินดิจิทัลหยวนจะถูกนำเข้ามาใช้ทดแทนเงินกระดาษในสัดส่วนร้อยละ 50 การออกเงินดิจิทัลหยวนยังทำให้ลดต้นทุนการผลิตเงินกระดาษและยังป้องกันการเกิดเงินเฟ้อในตลาดเงินอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางจีนออกมายืนยันแล้วว่า เงินกระดาษก็ยังจะคงมีอยู่ในระบบ ไม่ได้หมดไปซะทีเดียวเพราะต้องพิจารณาและคำนึงถึงกลุ่มคนใช้งานสภาพแวดล้อมปัจจัยด้วย
ทั้งนี้ก็ยังมีคนที่เป็นห่วงว่าหากธนาคารกลางจะเอาดิจิทัลหยวนเข้ามาใช้เป็นหลักแทนเงินกระดาษ ด้านความปลอดภัยของระบบต้องอยู่ในขั้นสูงสุด เพราะหากเกิดการโจมตีทางระบบจะสร้างความเสียหายให้ประเทศและประชาชนอย่างมหาศาลเลยทีเดียว
ทั้งนี้ผู้เขียนเชื่อว่าด้านความปลอดภัยของการใช้เงินดิจิทัลทางการจีนยังต้องทดสอบกันอยู่มากทีเดียวและต้องใช้เวลาในการปรับปรุงระบบให้สมบูรณ์แบบที่สุด มีความปลอดภัยสูงสุดจึงจะสามารถปล่อยให้ใช้กันในวงกว้างได้
หากผู้อ่านชื่นชอบบทความ อย่าลืม กด like กด Share เพื่อเป็นกำลังใจดีๆสำหรับผู้เขียนด้วยนะครับ สามารถ Comments แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้เลย
14 บันทึก
85
16
19
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
New China Update
การเงินและการลงทุนอัปเดตทั่วโลก
14
85
16
19
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย