Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
wake up your mind by a story
•
ติดตาม
17 พ.ค. 2020 เวลา 08:16 • ปรัชญา
ยิ่งดิ้นยิ่งจม แต่ปล่อยให้จมทำไมกลับรอด
แนวคิดดีดี จาก Mark Manson
การพยายามอย่างหนักเพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรัก ความเคารพ และความสุข บ่อยครั้งที่ให้ผลลัพธ์ตรงกันข้าม สุดท้ายกลับต้องโดดเดี่ยวเหงา เศร้า และไร้ความสุข
สิ่งที่พูดถึงข้างต้น เป็นประสบการณ์ส่วนหนึ่งของการฝึกอบรมของหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ (NAVY SEAL) ที่เรียกวิธีการฝึกนี้ว่า Drown Proofing (การเอาตัวรอดจากการจมน้ำ แม้ว่ายน้ำไม่เป็น) ซึ่งพวกเขาจะถูกผูกมือไว้ด้านหลัง และมัดเท้าเข้าด้วยกัน จากนั้นก็ให้กระโดดลงในสระน้ำลึก 9 ฟุต
เป้าหมายของภารกิจ คือ ต้องรอดภายในเวลาห้านาที
เช่นเดียวกับการฝึกอบรมของหน่วยซีลส่วนใหญ่ ย่อมมีผู้ฝึกจำนวนหนึ่งปฏิบัติภารกิจล้มเหลว เมื่อถูกโยนลงไปในน้ำพวกเขาหลายคนตกใจและร้องขอความช่วยเหลือ เพราะไม่อยากจมน้ำตาย บางคนดิ้นจนจมลงไปใต้น้ำ หมดสติ และถูกช่วยชีวิต แต่ต้องถูกถอนตัวออกจากภารกิจนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีผู้เข้ารับการฝึกซ้อมจำนวนหนึ่งเสียชีวิตไปในระหว่างการฝึก
Drown proofing
แต่บางคนทำได้สำเร็จ พวกเขาพยายามทำภารกิจให้สำเร็จ เพราะเข้าใจถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงของการฝึก
บทเรียนแรกของ drown-proofing คือ
ความขัดแย้ง (paradoxical)
ยิ่งคุณพยายามดิ้นรน เพื่อให้หัวของคุณอยู่เหนือน้ำมากขึ้นเท่าไร ยิ่งทำให้มีแนวโน้มที่จะจมลงมากขึ้นเท่านั้น
เมื่อแขนและขาของคุณถูกผูกไว้ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะประคองตัวคุณไว้ที่พื้นผิวน้ำตลอดห้านาที ยิ่งไปกว่านั้นความพยายามที่จัดการร่างกายให้ลอยอยู่ ยิ่งจะทำให้คุณจมเร็วขึ้นเท่านั้น
Drown proofing
เคล็ดลับการฝึก drown-proofing คือ
การปล่อยให้ตัวเองจมลงสู่ก้นสระ จากนั้นคุณดันตัวเองขึ้นจากพื้นสระเบา ๆ แล้วปล่อยให้โมเมนตัมพาคุณกลับไปที่พื้นผิวน้ำ เมื่อถึงผิวน้ำคุณสามารถสูดลมหายใจอย่างรวดเร็วและเริ่มกระบวนการทั้งหมดใหม่ได้อีกครั้ง
เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ ว่าในการจะรอดพ้นจากฝึกปฏิบัติการ drown-proofing นั้นกลับไม่จำเป็นต้องมีพละกำลังมากมาย หรือ ต้องใช้ความอดทนเหนือมนุษย์
คุณไม่จำเป็นต้องรู้วิธีว่ายน้ำด้วยซ้ำ ในทางตรงกันข้าม การฝึก drown-proofing กลับต้องการความสามารถในการว่ายน้ำไม่ได้
การต่อต้านร่างกายอาจจะฆ่าคุณได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นคุณต้องยอมจำนนกับร่างกาย และใช้มันเพื่อช่วยชีวิตคุณเอง
🏊🏊🏊🏊🏊🏊🏊🏊🏊🏊🏊🏊🏊🏊🏊🏊
บทเรียนที่สองของการฝึก drown-proofing ค่อนข้างชัดเจนขึ้น แต่ก็ยังเป็นเรื่องของความขัดแย้งกัน คือ
ยิ่งคุณตื่นตระหนกมากเท่าไหร่คุณออกซิเจนก็ยิ่งถูกเผาผลาญมากขึ้นเท่านั้น และยิ่งมีแนวโน้มว่าคุณจะหมดสติและจมน้ำตายได้
การฝึกนี้เป็นการต่อต้านสัญชาตญาณการเอาชีวิตรอด
ยิ่งคุณปรารถนาการหายใจมากเท่าไหร่คุณก็จะหายใจได้น้อยลง ความตั้งใจของคุณที่จะรอดชีวิตที่รุนแรงมากขึ้นเท่าใดโอกาสที่คุณจะตายก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
จุดประสงค์ในการฝึก drown-proofing มันเป็นมากกว่าการทดสอบทางกายภาพ แต่ มันคือบททดสอบการควบคุมสภาวะทางอารมณ์ เมื่อคุณต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด
คุณสามารถควบคุมแรงกระตุ้นของตัวเองได้หรือไม่?
คุณสามารถผ่อนคลายเมื่อเผชิญกับความตายที่อาจเกิดขึ้นได้หรือไม่?
คุณเต็มใจเสี่ยงชีวิตของตัวเองในการรับใช้คุณค่าหรือเป้าหมายที่สูงขึ้นบ้างไหม?
ทักษะเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญมากยิ่งกว่าความสามารถในการว่ายน้ำ การทดสอบความยืดหยุ่นของร่างกาย ความทนทานทางร่างกาย ความทะเยอทะยาน ความรู้สึกที่อยากดูดี ซึ่งเป็นความสามารถทางกายภาพทั้งนั้น
แต่ทักษะการเอาตัวรอดนี้คือ การรู้จักวิธีปลดปล่อยความสามารถออกมา ในยามเราต้องการมันมากที่สุด
และเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญที่สุดที่ทุกคนสามารถพัฒนาได้ ซึ่งไม่ใช่แค่กับการฝึกเฉพาะสำหรับทหารหน่วย SEAL เท่านั้น แต่มันจำเป็นอย่างมากสำหรับการใช้ชีวิต
keep your head above water
คนส่วนใหญ่มักสันนิษฐานว่า ความสัมพันธ์ระหว่างความพยายามและผลตอบแทนเป็นแบบหนึ่งต่อหนึ่ง หมายความว่า หากเรายิ่งพยายามเท่าไรผลตอบแทนก็จะกลับมาเท่ากัน
ยกตัวอย่างเช่น เรามักสันนิษฐานว่า การทำงานเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ก็จะให้ผลลัพธ์สองเท่าเช่นกัน การเอาใจใส่เกี่ยวกับความสัมพันธ์เป็นสองเท่าก็จะทำให้ได้รับความรักเป็นสองเท่ากลับมา การตะโกนสองครั้งให้ดังเท่าที่คุณจะทำได้ก็จะมีเสียงสะท้อนกลับมาสองครั้งเช่นกัน
คนเราส่วนใหญ่คิดเช่นนี้
จากข้อสันนิษฐานดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า เรื่องราวส่วนใหญ่ของชีวิต น่าจะขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์เชิงเส้น ที่มีอัตราส่วนแบบหนึ่งต่อหนึ่งระหว่างความพยายามกับผลตอบแทนที่จะได้รับกลับมา
ความสัมพันธ์เชิงเส้น (A linear relationship)
สิ่งต่างๆที่เกิดบนโลกส่วนใหญ่มักไม่เป็นไปตามความสัมพันธ์เชิงเส้นในทางบวกเสมอไป การนำทฤษฎีนี้มาอธิบาย มันใช้ได้สำหรับเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องใช้เหตุผลในการกระทำ เช่นการท่องจำ การทำอะไรซ้ำๆ เป็นต้น เช่นการขับรถ การเติมกระดาษสำหรับถ่ายเอกสาร การทำความสะอาดห้องน้ำ เป็นต้น
การกระทำที่กล่าวมาข้างต้น หากทำเพิ่มจากหนึ่งชั่วโมง เป็นสองชั่วโมง ก็จะทำให้ได้ผลลัพธ์เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า มันเป็นแบบนั้นเพราะว่าการทำสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ใช้ความคิด หรือเหตุผล เข้ามาเกี่ยวข้อง ในการกระทำนั่นเอง
A linear relationship
กิจกรรมต่างๆในชีวิตส่วนใหญ่ ไม่ได้เป็นไปตามทฤษฎีเส้นโค้งของความสัมพันธ์ระหว่างความพยายามและผลตอบแทนที่ได้รับ
เพราะว่ากิจกรรมส่วนใหญ่มีความซับซ้อน และมีเรื่องของสภาวะด้านจิตใจและอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ และจำเป็นต้องมีการปรับเพื่อให้เกิดความพอเหมาะพอดีกัน
การกระทำสิ่งต่างๆ ก็มักจะทำให้เกิด ลักษณะของกราฟเส้นโค้งในแบบที่เรียกว่า A diminishing returns curve
A diminishing returns curve
(กฎผลตอบแทนลดน้อยถอยลง หรือ กฎการลดน้อยถอยลง)
A diminishing returns curve
โดย Law of Diminishing Returns จะแสดงให้เห็นว่า เมื่อผู้ผลิตเพิ่มปัจจัยการผลิตไปจนถึงจุดหนึ่ง ผลผลิตที่ได้จะลดลงแทนที่จะเพิ่มขึ้น ) หรือกล่าวได้ว่า เมื่อเรายิ่งทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากขึ้นเรื่อยๆ ผลตอบรับหรือผลตอบแทนกลับยิ่งลดลง
อธิบายได้อย่างง่ายๆ ยกตัวอย่างเช่น เรืองของเงิน ความแตกต่างระหว่างการมีรายได้ 20,000 เหรียญกับ 40,000 เหรียญ นั้นมันแตกต่างกันอย่างมหาศาล และทำให้ชีวิตคุณเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างมากเช่นกัน
ความแตกต่างระหว่างการมีรายได้ 120,000 เหรียญกับ 140,000 เหรียญ นั้นหมายความว่า รถของคุณจะมึเบาะและเครื่องทำความร้อนที่ดีขึ้นกว่าเดิมเพียงเล็กน้อย
และความแตกต่างระหว่างการมีรายได้ 127,020,000 เหรียญกับ 127,040,000 เหรียญ นั้นหมายถึงความผิดพลาดในการปัดเศษของเงินภาษีคืน เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง
ยิ่งตัวเลขความแตกต่างเงินยิ่งสูงแต่คุณค่าของเงินกลับลดลง
แนวคิดของการลดทอนผลตอบแทน(diminishing returns) ใช้กับประสบการณ์ส่วนใหญ่ที่มีความซับซ้อนและเป็นเรื่องใหม่ๆ เช่น จำนวนครั้งของการอาบน้ำในแต่ละวัน จำนวนปีกไก่ที่คุณได้สูดดมกลิ่นหอมยั่วใจของมันในชั่วโมงอันแสนสุข จำนวนครั้งการเดินทางไปเยี่ยมแม่ในหนึ่งปี นี่คือประสบการณ์ทั้งหมดที่เริ่มต้นมีค่าสูง ในตอนแรก แต่จากนั้นเมื่อทำบ่อยๆ ซ้ำๆ คุณค่านั้นกลับลดลง
อธิบายได้ดังนี้คือ เมื่อคุณอาบน้ำในตอนแรกๆของวันคุณจะรู้สึกสดชื่นอย่างมาก แต่เมื่อคุณต้องอาบบ่อยๆ คุณกลับรู้สึกว่าแค่ต้องอาบแต่อาจไม่ได้สดชื่นหรือมีความสุขอยู่กับการอาบน้ำเหมือนครั้งแรกๆ
การสูดดมกลิ่นหอมของปีกไก่ มันช่างเย้ายวนชวนกินมากเมื่อคุณเพิ่งเริ่มได้กินมัน เมื่อคุณกินไปหลายๆปีกจนอิ่ม แล้วยังกินต่อไป คุณจะรู้สึกยิ่งแย่เพราะกินอิ่มเต็มที่แล้ว คุณกลับมีความต้องการปีกไก่น้อยลงกว่าเมื่อตอนเริ่มกินใหม่ๆ
หรือนานๆครั้งที่คุณได้กลับไปเยี่ยมแม่ คุณจะรู้สึกเวลานั้นช่างมีคุณค่ามากมาย แต่เมื่อคุณไปเยี่ยมแม่บ่อยขึ้นๆ มากกว่าเดิม ถี่ขึ้นกว่าเดิม คุณจะเริ่มรู้สึกเป็นความเคยชิน ความโหยหาที่อยากกลับไปเยี่ยมแม่จะไม่รุนแรงเท่าเมื่อครั้งนานๆไปเยี่ยม
อีกตัวอย่างหนึ่งได้แก่ การศึกษาประสิทธิภาพการทำงานแสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพการทำงานที่ดีมักเกิดขึ้นใน 4-5 ชั่วโมงแรกของ แต่ละวัน แต่หลังจากนั้นทุกการกระทำจะมีผลตอบแทนหรือผลลัพธ์ลดลงอย่างน่าใจหาย
และเมื่อถึงจุดของกราฟที่12-16 ชั่วโมงของการทำงานจะพบว่ามันแทบไม่ได้ผลลัพธ์หรือผลตอบแทนกลับมาเลย (ไม่รวมช่วงการนอน)
A diminishing returns curve
การนำทฤษฎีการนี้มาใช้อธิบายกับมิตรภาพ อธิบายได้ในทำนองเดียวกันคือ
การมีเพื่อนเพียงหนึ่งคนคือความหมายของการมีชีวิต
การมีเพื่อนสองคนย่อมดีกว่ามีเพียงหนึ่ง
การมีเพื่อนเพิ่มขึ้นจาก 9 คนเป็น 10 คน ทำให้ชีวิตคุณมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก
และการมีเพื่อน เพิ่มขึ้นจาก 20 คน เป็น 21 คนนั้น เป็นแค่ความยากของการจำชื่อคนเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งคนแค่นั้นเอง
ในเรื่องเพศสัมพันธ์ เช่นกัน เหมือนกับการกิน การนอน การดื่ม การออกกำลังกาย การอ่านหนังสือ การใช้เวลาสำหรับการพักผ่อน การจ้างงาน การบริโภคคาเฟอีน การออมเงินเพื่อการเกษียณ การจัดตารางการประชุม การเรียนเพื่อการสอบ การเล่นวีดีโอเกมส์ และตัวอย่างอื่นๆอีกมากมาย
ทั้งหมดที่กล่าวมา ยิ่งคุณทำมากหรือพยายามมากเท่าไรมันกลับให้ผลตอบแทนที่ลดลง
แต่มีอีกเส้นโค้งอีกแบบหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นแบบที่คุณไม่เคยเห็นหรือได้ยินมาก่อน และมันเป็นเรื่องที่สำคัญมากเช่นกัน เพราะมันทำให้เกิดเรื่องเสียหายได้มากมายไม่ต่างกัน นั่นก็คือ
Inverted curve (เส้นโค้งกลับหัว)
เส้นโค้งกลับหัว(Inverted curve)
คือ เส้นโค้งที่มี “Twilight Zone”ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่แปลกประหลาด ระหว่างความพยายามและรางวัลหรือผลตอบแทนมีความสัมพันธ์เป็นลบ นั่นหมายความว่า ยิ่งคุณพยายามทำอะไรบางอย่างมากแค่ไหนคุณก็ยิ่งจะล้มเหลวมากเท่านั้น
เส้นโค้งกลับหัว(Inverted curve)
การฝึก Drown-proofing ก็เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นแบบ เส้นโค้งกลับหัว โดยได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการขั้นสู่ผิวน้ำมากเท่าไร คุณยิ่งมีโอกาสที่จะจมลงมากเท่านั้น ในทำนองเดียวกันยิ่งคุณต้องการหายใจมากเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้หายใจลำบากมากขึ้นเท่านั้น
มันเป็นเรื่องจริงที่สิ่งเล็กน้อยบางอย่างในชีวิต ทำหน้าที่เสมือนเป็นเส้นโค้งกลับหัว และสิ่งเล็กน้อยนั้นกลับทำให้เกิดผลท่ีมหาศาลมากต่อชีวิต ประสบการณ์และเป้าหมายที่สำคัญที่สุดในชีวิตล้วนมีอยู่ในโค้งกลับหัว
ความพยายามและผลตอบแทนมีความสัมพันธ์เชิงเส้นเป็นบวก ( linear relationship )เมื่อการกระทำนั้นเป็นเรื่องง่ายๆและไม่ต้องใช้เหตุผลเข้ามาเกี่ยวข้อง
ความพยายามและผลตอบแทนมีความสัมพันธ์จะมีความสัมพันธ์ในทางย้อนกลับ (diminishing returns relationship) เมื่อการกระทำนั้นซับซ้อนและมีหลายตัวแปร
แต่เมื่อการกระทำกลายเป็นเรื่องของจิตใจล้วนๆ ซึ่งหมายถึงประสบการณ์ที่เกิดจากจิตสำนึกของเรา ความสัมพันธ์ระหว่างความพยายามและผลตอบแทนจะเป็นไปในแบบของเส้นโค้งกลับหัว(Inverted curve)
การแสวงหาความสุขจะนำคุณออกไปจากความสุข
ความพยายามอย่างมากในการควบคุมอารมณ์มันเกิดผลเพียงแค่ลบเราออกจากอารมณ์นั้น
ความปรารถนาอย่างแรงกล้าเพื่ออิสระภาพบ่อยครั้งมักเป็นสาเหตุที่ทำให้เรารู้สึกถึงการติดกับดัก
การอยากเป็นที่รักและการต้องการการยอมรับทำให้เราไม่สามารถรักและยอมรับตัวเอง ได้
Aldous Huxley เคยเขียนไว้ว่า ."ยิ่งเราตั้งใจใช้ความพยายามอย่างหนักหน่วงมากเท่าไรเพื่อที่จะทำบางสิ่งให้ประสบความสำเร็จ เราก็จะยิ่งประสบความสำเร็จน้อยลง"
"ประสิทธิผลและผลลัพธ์ที่ดีนั้น จะเกิดกับผู้ที่เข้าใจถึงศิลปะของความขัดแย้งในการทำและไม่ทำ หรือการเข้าใจถึงการผสมผสานการผ่อนคลายให้เข้ากันได้ดีกับกิจกรรมในชีวิต ”
ความขัดแย้งคือองค์ประกอบพื้นฐานส่วนใหญ่ของจิตใจของเรา ก็เพราะว่าเมื่อเราใช้จิตสำนึกในการพยายามที่จะปรุงแต่งจิตใจของเรา ความปรารถนาของจิตใจกลับสร้างสภาวะที่แตกต่างและมักจะตรงกันข้ามกับสิ่งที่เรากำลังพยายามสร้าง
นี่คือ “ กฏการย้อนกลับ” ที่ Mark Manson ได้อธิบายไว้ในบทความเรื่อง The Subtle Art of Not Giving a Fuck ซึ่งกล่าวไว้ว่า “ การปรารถนาประสบการณ์เชิงบวกคือประสบการณ์เชิงลบ การยอมรับประสบการณ์เชิงลบคือประสบการณ์เชิงบวก “
การควบคุม
ยิ่งเราพยายามควบคุมความรู้สึกและแรงกระตุ้นของเราเองมากเท่าไรเราก็ยิ่งรู้สึกไร้พลังมากขึ้น สภาวะทางอารมณ์ของเรามันจะมีความดื้อดึงและบ่อยครั้งที่ไม่สามารถควบคุมได้ และเมื่อเรายิ่งมีความปรารถนาที่จะควบคุมมันเท่าไรยิ่งกลับทำให้ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก
ในทางกลับกันยิ่งเรายอมรับความรู้สึกและแรงกระตุ้นของเรามากเท่าไหร่เราก็ยิ่งสามารถควบคุมและจัดการมันได้ดีมากขึ้นเท่านั้น
อิสระภาพ
ยิ่งเราปรารถนาอิสระภาพมากเท่าไร มันกลับน่าประหลาดใจที่ว่ามันยิ่งทำให้เราพบหนทางน้อยลง
ความสุข
การพยายามมีความสุขทำให้เรามีความสุขน้อยลง การยอมรับความทุกข์ทำให้เรามีความสุขมากขึ้น
ความปลอดภัย
ในการพยายามเพื่อทำให้ตัวเราเองรู้สึกปลอดภัยที่สุดกลับยิ่งสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยยิ่งกว่าเดิม จงทำตัวอย่างสบายอยู่กับความไม่แน่นอน จะทำให้เรารู้สึกถึงความปลอดภัยยิ่งขึ้น
ความรัก
ยิ่งเราพยายามทำให้คนอื่นรักและยอมรับเรามากเท่าไหร่พวกเขาก็จะยิ่งไม่รักและยอมรับเราน้อยลงและที่สำคัญกว่านั้นคือเราจะยิ่งรักตัวเองน้อยลง และยอมรับตัวเองน้อยลงเช่นกัน
ความเคารพ
ยิ่งเราต้องการความเคารพจากผู้อื่นมากเท่าใดพวกเขาก็จะเคารพเราน้อยลง ยิ่งเราเคารพผู้อื่นมากเท่าไหร่พวกเขาก็จะเคารพเรามากขึ้นเท่านั้น
ความน่าเชื่อถือ
ยิ่งเราพยายามทำให้ผู้คนเชื่อใจเรามากเท่าไหร่พวกเขาก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะเชื่อถือเราน้อยลงเท่านั้น ยิ่งเราไว้ใจคนอื่นมากเท่าไหร่พวกเขาก็จะเชื่อใจเรากลับมา
ความมั่นใจ
ยิ่งเราพยายามรู้สึกมั่นใจมากเท่าใดความไม่มั่นคงและความกังวลก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น และเมื่อยิ่งเรายอมรับความผิดพลาดของตัวเองได้มากเท่าไหร่เราก็ยิ่งรู้สึกถึงความสบายที่แผ่ซ่านไปทุกรูขุมขน
ความเปลี่ยนแปลง
ยิ่งเราต้องการเปลี่ยนตนเองมากขนาดไหนเราก็กลับยิ่งรู้สึกว่ามันไม่เคยพออยู่ตลอด ในขณะที่ยิ่งเรายอมรับตัวเองมากเท่าไหร่เราก็ยิ่งเติบโตและมีพัฒนาการมากขึ้นเท่านั้นเพราะเราจะยุ่งเกินไปที่จะสนใจทำเรื่องไร้สาระ
ความหมาย
ยิ่งเราไล่ตามหาความหมายที่ลึกซึ้ง หรือเป้าหมายในชีวิต ของเรามากเท่าไหร่เราก็ยิ่งหมกมุ่นและและทำให้ความคิดตื้นเขินมากขึ้นเท่านั้น จนไม่สามารถค้นหาความหมายหรือเป้าหมายของชีวิตได้
ยิ่งเราพยายามอย่างมากเพื่อหาความหมายให้กับชีวิตของผู้อื่นมากเท่าไหร่เราจะยิ่งรู้สึกถึงผลกระทบที่ย้อนกลับมาที่เรา
ประสบการณ์ภายในจิตใจเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่ในเส้นโค้งกลับหัว (inverted curve) เพราะการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน
เส้นโค้งกลับหัว (inverted curve)
เมื่อมองเข้าไปในจิตใจของเรา ยามใดเมื่อเราปรารถนาถึงความสุข ความสุขที่ปรารถนาและการตั้งเป้าหมายเพื่อให้ได้ความสุขนั้นมักจะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันภายใจจิตใจของเรา
และเมื่อเราคิดว่าเราได้ดำเนินมาถึงจุดสูงสุด ที่มีความเป็นนามธรรมมากขึ้น และถึงเป้าหมายของการมีชีวิตแล้ว จิตใจของเราก็เปรียบเสมือนสุนัขตัวหนึ่ง ซึ่งหลังจากที่มันประสบความสำเร็จจากการไล่ล่าสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยจำนวนหนึ่ง มันก็ได้หันกลับมามองและตัดสินใจที่จะใช้กลยุทธ์เดียวกันนี้ในการจัดการกับหางของตัวเอง
สำหรับสุนัขแล้วมันดูสมเหตุสมผล การไล่ล่าทำให้มันสามารถจับสัตว์อื่นได้อีกมากมายตลอดทั้งชีวิตของมัน แล้วทำไมมันจึงจัดการกับหางของตัวเองไม่ได้เช่นเดียวกับการที่มันจัดการกับสัตว์อื่นๆล่ะ ?
สุนัขไม่สามารถไล่ล่าหางของตัวเองได้ ยิ่งมันไล่ตามหางของตัวเองเท่าไรก็ยิ่งดูเหมือนหางของวันจะวิ่งหนีไปไม่เคยตามจับได้สักที นั่นเป็นเพราะสุนัขไม่มีมุมมองที่จะตระหนักได้ว่ามันและหางของมันเป็นสิ่งเดียวกัน
เป้าหมายเพื่อการรู้จักเท่าทันความคิดของตัวเอง
จากเรื่องของสุนัขบอกให้เห็นว่า สิ่งมหัศจรรย์จะเกิดกับชีวิตของมันได้นั้น มันต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ที่จะไล่ล่าสัตวฺต่างๆในชีวิตอีกหลายชนิด และสอนให้ตัวเองรู้จักที่จะหยุดไล่ตามหางของมันเอง
การหยุดไล่ล่า หมายถึงอิสระและความสุขเพราะสองสิ่งนี้มันพร้อมเสมอที่จะหนีห่างเราหากเรายิ่งดิ้นรนแสวงหามัน ดังนั้นการบรรลุถึงสิ่งที่ปรารถนา จึงควรสละสิ่งที่ต้องการ
วิธีการเดียวที่จะได้อิสระและความสุข คือการปล่อยวาง
และเราจะทำสิ่งนี้ได้อย่างไร?
โดยการปล่อยให้มันเป็นไป หรือ โดยการยอมแพ้ การทำแบบนี้ไม่ใช่เพราะเราอ่อนแอ แต่เป็นการให้ความเคารพว่าโลกอยู่เหนือความเข้าใจของเรา ด้วยการตระหนักว่าเรามีความเปราะบางและมีขีดจำกัด และเป็นเพียงแค่จุดๆหนึ่ง ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวของห้วงเวลาที่ไม่มีที่สิ้นสุด
เราทำได้โดยยกเลิกการควบคุม
ไม่ใช่เพราะเรารู้สึกไร้พลัง แต่เพราะเรามีพลัง เพราะเราตัดสินใจที่จะปล่อยวางสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของตนเอง
เราต้องกล้าหาญที่จะยอมรับว่าบางครั้งผู้คนจะไม่ชอบเรา บ่อยครั้งที่เราจะล้มเหลว และทุกสิ่งที่เรากระทำต้องเป็นไปอย่างเปิดเผย ไร้เงื่อนงำ
เมื่อใดก็ตามที่เราจมดิ่งไปกับความกลัวและความไม่แน่นอน แค่เพียงคิดว่าเรากำลังจะจมน้ำตาย แล้วลองปล่อยให้ตัวเองจมลงไปลงจุดต่ำที่สุด เชื่อเถอะว่าสุดท้ายมันจะนำคุณกลับไปสู่ทางรอดได้ในที่สุด
จงปล่อยวาง แล้วอิสระ จะกลับมา
แหล่งอ้างอิง
https://markmanson.net/why-the-best-things-in-life-are-all-backwards
http://litaboonrasi.blogspot.com/2011/01/vroom.html?m=1
http://fuangfah.econ.cmu.ac.th/teacher/kansinee/751101/ppt7-13/Micro.8.pdf
http://mba.sorrawut.com/wiki/บทที่_5_การวิเคราะห์การผลิต
https://www.investopedia.com/terms/l/linearrelationship.asp
https://www.asianefficiency.com/mindsets/diminishing-returns-working-more-does-not-mean-getting-more-done/
แปลและเรียบเรียงโดย
บทความและเรื่องสั้นน่าอ่าน by พริกไทย
2 บันทึก
3
9
2
3
9
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย