17 พ.ค. 2020 เวลา 10:16 • การศึกษา
ออมเงินเป็นเห็นทางรวย ยกสถานะเป็นเศรษฐีใหม่
ใคร ๆ ก็อยากเป็นเศรษฐี คำว่า เศรษฐี หลายคนก็หลายนิยาม แต่รู้หรือไม่ว่าเศรษฐีในวันนี้ล้วนมีจุดเริ่มต้นเดียวกัน ก็คือ “การออมเงิน” บทความนี้จะบอกเล่าเรื่องราวของการออมเงินเป็นเห็นทางรวย ยกสถานะเป็นเศรษฐีใหม่ ทำอย่างไรจึงจะออมเงินได้ ออมเงินเป็น และจะยกฐานะเราได้อย่างไร ติดตามกันเลยอย่าได้ช้า
ประการแรก “ต้องเก็บก่อนใช้ มิใช่ใช้ก่อนเก็บ”
“เหลือเก็บค่อยนำมาใช้ เหลือจ่ายค่อยนำมาเก็บ” เคล็ดไม่ลับนี้เป็นจุดเริ่มต้นของเศรษฐีมากมายหลายคน แต่มีน้อยคนที่จะเก็บไปทำ นำไปใช้ให้เกิดผลเป็นรูปเป็นร่าง เป็นความสำเร็จที่จับต้องได้ วิธีการออมเงินที่แสนจะคลาสสิกก็คือ เมื่อเรามีรายได้มาให้แบ่งเก็บไว้ก่อน ที่เหลือค่อยนำไปจับจ่าย แต่เราควรเก็บไว้เท่าไรจึงจะดี มีสองทางให้เลือกดังนี้
ตั้งเป้าเก็บไว้ 10-20% ของรายรับทันทีที่มีเงินเข้ามาแต่ละเดือน ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น หากเรามีเงินเดือน 20,000 บาทต่อเดือน ก็ควรเก็บออมไว้ก่อน 2,000-4,000 บาท ที่เหลือจึงนำไปจับจ่าย วิธีนี้ค่อนข้างจะเข้มงวด แต่จะทำให้เราเก็บเงินได้เร็ว และมากในเวลาไม่นานนัก
วิธีการต่อมาก็คือ การตั้งเป้าเก็บเงินโดยพิจารณาถึงรายจ่ายเป็นสำคัญ วิธีการนี้ทำได้โดยเราต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเสียก่อน ยกตัวอย่างเช่น เรามีเงินเดือน 20,000 บาทต่อเดือน แต่เราต้องมีค่าใช้จ่ายจิปาถะราว 19,000 บาท แบบนี้เราจะสามารถเก็บเงินได้เพียง 1,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น เมื่อเงินเดือนเข้าบัญชีก็ควรดึงเงิน 1,000 บาทมาเก็บไว้ก่อนที่จะนำไปใช้ แต่ถ้าเราทำแบบวิธีแรก คือ ไม่สนใจว่าจะมีค่าใช้จ่ายแค่ไหน ขอเพียงเก็บไว้ตามเป้าก่อน เราก็อาจจะช็อตทีหลังได้ เป็นวิธีที่อะลุ่มอล่วยหน่อยนั่นเอง
ประการที่สอง “ต้องรู้จักวิธีสร้างฐานะ ทำเงินให้งอกเงย”
1
การออมนั้นเป็นเพียงพื้นฐานของความสำเร็จ มันไม่ใช่ทั้งหมด ถ้าจะให้น้ำหนักเรื่องการออมเพื่อให้เราร่ำรวยเป็นเศรษฐีได้นั้น ผมคงให้เพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งของความสำเร็จก็คือ การที่เราต้องรู้จักวิธีสร้างฐานะ ทำเงินให้งอกเงย โดยวิธีการต่าง ๆ มีให้เลือกดังนี้
นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อ: วิธีการนี้เหมาะสำหรับคนที่มีเงินเริ่มต้นน้อย ก็สามารถนำเงินไปต่อยอดให้งอกเงยได้ การลงทุนในสินทรัพย์อันได้แก่ กองทุนรวม หุ้นสามัญ ฯลฯ นั้นจะดีกว่าการฝากเงินไว้กับธนาคารอย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยสถิติของผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้น และกองทุนรวมสามารถให้ผลตอบแทนได้ราว 5-10% ต่อปี มันดีกว่าฝากเงินกับธนาคารกินดอกเบี้ยแน่นอน
นำเงินไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์: สำหรับอสังหาริมทรัพย์เราต้องมีเงินมากหน่อย แถมยังต้องกู้ หรือขอสินเชื่อกับทางสถานบันการเงิน เมื่อซื้อทรัพย์ได้แล้วก็นำมาปล่อยเช่าสร้างผลตอบแทนรายเดือนได้เช่นกัน อสังหาริมทรัพย์ที่น่าลงทุนก็มีหลากหลาย ตั้งแต่ทาวน์เฮ้าส์ หรือคอนโดมิเนียมก็ไม่เลว
นำเงินไปทำธุรกิจส่วนตัว: ทางเลือกของการทำธุรกิจส่วนตัวเราต้องใช้ทักษะมากหน่อย เพราะการทำธุรกิจส่วนตัวนั้นไม่ง่าย และต้องมีไอเดียดี ๆ ต้องเป็นไอเดียที่อุดช่องว่างที่เกิดขึ้นในตลาด และตอบโจทย์ความสะดวกสบายของลูกค้า สามารถขยับขยายกิจการต่อไปได้เรื่อย ๆ ทางเลือกนี้ถ้าเราทำเป็นก็จะสามารถหลุดพ้นจากการเป็นมนุษย์เงินเดือนได้เลย ถือเป็นทางเลือกที่ไม่เลว มันไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเราทำไม่ได้
ประการที่สาม “แบ่งเงินฉุกเฉิน”
เพื่อความไม่ประมาทเราไม่ควรคิดแต่จะเก็บเงินโดยไม่คำนึงถึงเรื่องอื่น ๆ เรื่องฉุกเฉินที่เราคาดไม่ถึง บางครั้งอาจเกิดเหตุการณ์ที่เราไม่คาดคิด เช่น เจ็บป่วยไม่สบาย หรือมีเหตุที่ต้องใช้เงินก้อนใหญ่ การเก็บเงินไว้เผื่อฉุกเฉินจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม โดยเงินก้อนนี้ควรมีอย่างน้อย 20% ของรายรับทั้งปี ถ้าเรามีเงินเดือนรวมทั้งปีแล้ว 400,000 บาทต่อปี ก็ควรมีเงินกันสำรองฉุกเฉินไว้ 80,000 บาท เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเราไม่ประมาทก็จะผ่านพ้นเรื่องร้าย ๆ ไปได้ ด้วยการวางแผนทางการเงินอย่างมีระบบนั่นเอง
ประการสุดท้าย “ทำบัญชีรายรับ รายจ่าย”
แม้เราจะมีวินัยทางการเงินแค่ไหน ถ้าเราไม่ทำบัญชีรายรับ รายจ่าย เราจะมองไม่เห็นภาพรวมของการใช้เงิน หรือการบริหารจัดการเงินส่วนตัวของเราได้เลย การทำบัญชีรายรับ รายจ่ายจะช่วยให้เรามองเห็นภาพรวมเหล่านั้น และอุดช่องว่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น และที่สำคัญเราจะรู้ว่าตอนนี้เราได้นำเงินไปลงทุนให้งอกเงยในสัดส่วนเท่าไรบ้าง และถ้าเราวางแผนการเงินเก่งขึ้น เราจะสามารถทำนายอนาคตทางการเงินของเราจากการทำบัญชีรายรับ รายจ่ายได้ไม่ยากเลย มันจะทำให้เราเห็นภาพอนาคต เห็นทางออกไปสู่การเป็นคนมีเงิน มีความมั่งคั่ง และเป็นเศรษฐี
โฆษณา