17 พ.ค. 2020 เวลา 13:35 • ปรัชญา
ญี่ปุ่นกับปรัชญาเซน ฉบับย่อ (A very short introduction of Zen)
หากกล่าวถึงญี่ปุ่น ประเทศในดวงใจสำหรับการเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนของใครหลายๆคน เราคงนึกถึงเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ต่างๆมากมายที่ดึงดูดเราให้ต้องกลับไปเยี่ยมเยือนอย่างไม่รู้เบื่อ และหากถามว่าอะไรคือเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ที่ชัดเจนของประเทศญี่ปุ่น และชาวญี่ปุ่น คำตอบที่ได้จากผู้คนมากมายคงไม่แตกต่างกันมากนัก ไม่ว่าจะเป็นทัศนียภาพที่สวยงาม อาหารการกินที่หลากหลายน่าประทับใจ ระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่ครบครันสะดวกสบาย บ้านเมืองสะอาดสะอ้าน ผู้คนที่มีระเบียบวินัยและอ่อนโยน สถาปัตยกรรมที่โดดเด่น ล่วงเลยไปจนถึงค่านิยม กิจกรรม พิธีกรรม เครื่องแต่งกาย งานออกแบบสร้างสรรค์ วิธีคิด ความคิดอันลึกซึ้ง ความเชื่อ วิถีชีวิตที่มีแบบแผนอันงดงามตั้งแต่อดีต และอื่นๆอีกมากมายที่ไม่สามารถกล่าวถึงได้หมดในบทความชิ้นนี้ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันวิถีการดำเนินชีวิตของชาวญี่ปุ่นจะเปลี่ยนไปบ้างตามกาลเวลาที่หมุนผ่าน แต่กลิ่นอายของความงามอันมีอัตลักษณ์ของชาวญี่ปุ่นยังคงอาบไล้ไปทั่วทุกอณู ผู้เขียนให้คำนิยามใน “ความงาม” เหล่านี้ว่าคือศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่น หรือ “สุนทรียภาพแบบญี่ปุ่น”
ภาพมุมสูงมหานครโตเกียว ถ่ายจากชั้นที่ 52, Tokyo City View & Sky Deck, ที่มา: บดี บุดดา, 2019
หากกล่าวว่าศิลปวัฒนธรรมและสุนทรียภาพแบบญี่ปุ่นที่คนทั่วโลกประทับใจนั้นส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลจากปรัชญาเซนก็คงไม่เกินเลยไปนัก ผู้คนทั่วไปอาจไม่ได้นึกถึงที่มาของความงามอันเป็นเอกลักษณ์ดังกล่าว ผู้เขียนเชื่อว่าเราในฐานะนักท่องเที่ยวหากได้รับรู้ถึงรากฐานทางวัฒนธรรมอันส่งผลต่อสภาพแวดล้อม และบริบททางสังคมญี่ปุ่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันในภาพกว้างๆ จะทำให้การเดินทางท่องเที่ยวของเราต่อจากนี้นั้นคงได้สัมผัสถึงความงามที่ลึกซึ้งกว่าเดิม รวมไปถึงการทำความเข้าใจเชิงปรัชญานี้อาจตอบคำถามของใครหลายคนเมื่อต้องเจอกับความแตกต่างทางวัฒนธรรม คำถามเช่นว่าทำไมเขาถึงต้องทำแบบนั้น? ทำไมเขาถึงรู้สึกแบบนี้? ทำไมสิ่งๆหนึ่งตอบสนองต่ออีกสิ่งหนึ่งด้วยวิธีการเช่นนี้? ลองให้แนวคิดเชิงปรัชญานี้นำทางเราไปสู่การมองญี่ปุ่นในทัศนคติที่แตกต่างไปจากเดิมกันครับ
1
โตเกียวเมืองที่เต็มไปด้วยทางม้าลาย ที่มา: บดี บุดดา, 2018
ปรัชญาเซน หรือบางกรณีอาจเรียกลัทธิเซน นิกายเซน สุดแล้วแต่วัตถุประสงค์ในการสื่อสาร ผู้เขียนมีมุมมองต่อ “เซน” ในฐานะของแนวคิด หลักคิดในการดำเนินชีวิตที่ส่งผลต่อทัศนคติส่วนตน วิถีการดำเนินชีวิต ณ ปัจจุบัน และตรรกะเหตุผลในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ประเด็นทางสังคมต่างๆ ที่ไม่ได้หมายรวมถึงความเชื่อความศรัทธาทางศาสนา เช่นนี้แล้วในบทความชิ้นนี้จึงมุ่งเน้นไปที่การทำความเข้าใจในหลักคิดที่ส่งผลต่อสภาพสังคมที่ผลักดันให้ญี่ปุ่นเป็นญี่ปุ่นที่น่าหลงใหลของใครหลายๆคนที่ได้ผ่านมาพบบทความชิ้นนี้
โตเกียวช่วงเวลาพักเที่ยงในวันธรรมดา ที่มา: บดี บุดดา, 2018
เซน (Zen) เป็นภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่า “ฌาน” (Chan) ในภาษาบาลี ทางทฤษฎี “เซน” ถือเป็นนิกายแขนงหนึ่งที่แตกกิ่งก้านออกมาจาก “ศาสนาพุทธนิกายมหายาน” ด้วยเพราะมีคำสอนที่พิเศษแตกต่างจากพุทธศาสนานิกายอื่น ในสาระสำคัญคือ เซนปฏิเสธ “ภาษาและถ้อยคำ” เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ขวางกั้นบุคคลนั้นออกจาก “ความเป็นจริง” เช่นนี้แล้วการให้คำนิยามเซนผ่านถ้อยคำหรือระบบภาษาจึงเป็นเรื่องยาก คำอธิบายเกี่ยวกับเซนส่วนใหญ่ที่เราค้นพบจากการศึกษาจึงเป็นไปในลักษณะของ “เป้าหมายและวิธีการเข้าถึงความจริง”
ไดเซทสุ ไททาโระ ซูซุกิ (Daisetsu Teitaro Suzuki) ผู้เชี่ยวชาญด้านนิกายเซนให้คำนิยามว่า เซนไม่มีลัทธิคำสอนหรือปรัชญาพิเศษใดๆ ไม่มีมโนภาพ ไม่มีสิ่งใดเลยนอกจาก “ความพยายามหลุดพ้นจากทุกข์ โดยอาศัยการเข้าใจผ่านทางประสบการณ์เฉพาะตนเท่านั้น”
คึกฤทธิ์ ปราโมช ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ กล่าวว่า เซนคือลัทธิที่อ้างว่าบุคคลสามารถเข้าถึงปัญญาความรู้ได้โดยจิต ชีวิตจะวุ่นวายเมื่อปล่อยจิตให้วุ่นวาย เซนสอนให้เราสมดุล ปล่อยกายปล่อยใจอย่างพอดี เสมือนคนที่จ้องมองใบหน้าตนเองจะเงาสะท้อนของผิวน้ำ ต้องมองดูด้วยท่าทางวางเฉย หากนำมือไปจุ่มน้ำภาพก็จะบิดเบือน มองไม่เห็นเงาสะท้อนตามความเป็นจริง “การรู้จักตนเองตามความเป็นจริงนั่นคือปัญญาความรู้ของเซน”
ท่านพุทธทาสภิกขุ กล่าวว่า เซนเป็นกระบวนการศึกษาที่ใช้วิธีพิเศษ คือการผสานรวมภาคทฤษฎีเข้ากับการปฏิบัติ ผสานรวมการฝึกสมาธิเข้ากับการฝึกปัญญา ด้วยวิธีการที่ชาญฉลาดและรวดเร็วนี้ทำให้บรรลุผลทั้ง “รู้ธรรม มีสติ และมีปัญญา” ซึ่งให้ผลเดียวกับวิธีการแห่งพุทธศาสนาแท้ดั้งเดิม
ช่วงบ่าย ระหว่างทางเดินไปสู่ตลาด Yanaka Ginza, ที่มา: บดี บุดดา, 2018
กล่าวโดยย่อถึงพัฒนาการทางความคิด เซนคือผลผลิตทางจิตใจจากประเทศจีนที่รับเอาความคิดจากอินเดียมาอีกต่อหนึ่งเมื่อช่วงปี พ.ศ. 500-600 ในฐานะสื่อกลางแห่งคำสอนทางพุทธศาสนา ซึ่งด้านอภิปรัชญา (ปัญญาความรู้สูงสุดนอกเหนือจากที่สัมผัสได้ด้วยรูปรสกลิ่นเสียงที่สามารถทำความเข้าใจได้ด้วยตรรกะเหตุผล) เซนได้รับอิทธิพลจากลัทธิเต๋า แต่ในทางปฏิบัติแล้วเซนไม่ได้ต้องการสละเรื่องทางโลกแบบเต๋า และไม่ได้ต้องการเหินห่างออกจากสังคมแบบอินเดีย สิ่งที่พระภิกษุในนิกายเซนปฏิบัติมีทั้งการทำงานหนัก การฟังเทศน์อันสั้นกระชับและร่วมวงถามตอบประเด็นปัญหาต่างๆ
โดยสรุปแล้วจุดร่วมสำคัญของเซนคือการเข้าถึงปัญญาความรู้โดยตรงที่เรียกว่า “ซาโตริ” (Satori) คือการยึดถือประสบการณ์ส่วนตนเป็นแก่นสาระสำคัญ พระสูตร คำสอนต่างๆเป็นเพียงเปลือกนอก เช่น เซนเชื่อว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดคือถ้อยแถลง คำอธิบายถึงประสบการณ์ส่วนตนอันลึกซึ้ง เซนใช้หลักการผุดออกมาจากข้างในมากกว่าการรับจากภายนอก ไม่ยึดติดกับความคิดหรือแบบแผนประเพณีใดๆ และแสดงออกมาให้เห็นอย่างอิสรเสรี ด้วยถ้อยคำและความคิดอย่างสร้างสรรค์ เราสามารถเข้าใจและเข้าถึงเซนได้ด้วยวิถีทางที่แตกต่างกัน ซึ่งทุกๆทางที่มีอยู่นั้นเพื่อเข้าถึงปัญญาความรู้ แก่นสารสาระแห่งชีวิตอันเป็นเป้าหมายสูงสุด คำอธิบายคุณลักษณะและอุดมคติของเซนที่ได้รับการยอมรับมีอยู่ด้วยกัน 4 ประเด็นคือ
1. เน้นการถ่ายทอดนอกตำรา เซนไม่เชื่อว่าบุคคลจะเข้าถึงปัญญาความรู้ได้ด้วยการศึกษาพระสูตรอย่างนักวิชาการ เพราะเป็นปัญญาความรู้ที่เต็มไปด้วยเงื่อนไขและขีดจำกัด จะทำให้เข้าใจผิดได้ง่ายว่าประสบการณ์ที่ถ่ายทอดออกมานั้นเป็นสิ่งจริงแท้ จนทำให้ประสบการณ์ที่แท้จริงถูกหลงลืมไป อย่ายึดมั่นกับตัวอักษรที่เป็นเพียงบันทึกเท่านั้น และ “ตำราคำสอนกับธรรมที่แท้จริงเป็นคนละส่วนกัน”
2. ไม่ยึดติดกับตัวอักษร ภาษานำไปสู่การแบ่งแยก สิ่งที่เซนให้ความสำคัญคือ “ประสบการณ์และความเป็นจริง” ตัวอักษรเป็นเพียงเงาแห่งความคิดเกี่ยวกับความเป็นจริงเท่านั้น เซนยืนยันแนวคิด “การสัมผัสถึงความจริงโดยตรง” ถ้อยคำที่แสดงออกจึงมีความสำคัญรองลงมา
3. จากประสบการณ์ตรงเข้าสู่จิตใจ หากเราต้องการเข้าถึงความเป็นจริง จะต้องขจัดความคิดเชิงแบ่งแยก เปรียบเทียบ หรือที่เรียกว่า “ทวิลักษณะ” (Dualistic Intellect) ออกไปก่อน การขจัดความคิดอันเป็นเงื่อนไข ขอบเขตที่จำกัด เพื่อเผชิญกับความเป็นจริงโดยไม่ต้องอาศัยสื่อกลางใดๆ
4. เข้าถึงปัญญารู้แจ้งโดยการมองดูธรรมชาติแห่งตน หมายถึง การมองสิ่งๆหนึ่งอย่างที่สิ่งนั้นเป็น นั่นคือภาวะของความจริงแท้ การเข้าถึงธรรมชาติแห่งตนโดยอาศัยข้อเท็จจริงผ่านประสบการณ์ เซนต้องการให้เราตระหนักรู้ถึงความไม่แตกต่างของสิ่งที่ดำรงอยู่ทั้งปวง สุดท้ายแล้วคือ “ความว่าง” (Emptiness) ปลดปล่อยตัวตนจากการยึดมั่นถือมั่น การมีอยู่หรือไม่มีอยู่ไม่ใช่สิ่งสำคัญ และการให้คุณค่าต่อ “ความจริงแห่งประสบการณ์”
ชุมชนที่พักอาศัยในเขต Taito-ku อันเงียบสงบ เดินห่างออกมาจากย่าน Ueno อันแสนวุนวายเพียงไม่กี่นาที, ที่มา: บดี บุดดา, 2018
ตามข้อมูลพงศาวดารญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ.1263 กล่าวว่าจักรวรรดิญี่ปุ่นได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ 50 ปีก่อนพุทธศักราช แต่ตามประวัติศาสตร์จีนมีการกล่าวถึงประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกประมาณปี พ.ศ.600 ซึ่งในขณะนั้นญี่ปุ่นยังประกอบไปด้วยกลุ่มชนเผ่านับร้อยกระจัดกระจายอยู่บนเกาะอันกว้างใหญ่ และได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากจีนแผ่นดินใหญ่ผ่านมาทางเกาหลี ด้วยทัศนียภาพอันสวยงามเป็นเอกลักษณ์ ญี่ปุ่นจึงผูกพันกับธรรมชาติผ่านพิธีกรรมต่างๆมาตั้งแต่ครั้งอดีตที่ให้ความสำคัญกับน้ำ ภูเขา และบูชาดวงอาทิตย์
ญี่ปุ่นเป็นชาติที่ฉลาดและมีความอดทนตั้งแต่อดีต หากเห็นสิ่งใดที่มีประโยชน์ของคนอื่นก็จะยอมรับสิ่งนั้นมาพัฒนาปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพสังคมของตนเอง ในยุคสมัยโบราณญี่ปุ่นมีความสามารถในการเลียนแบบวัตถุข้าวของเครื่องใช้ของชนชาติอื่นที่มีอยู่แล้วนำมาดัดแปลงให้เป็นของตนด้วยสติปัญญาและความมุมานะอดทน ซึ่งตั้งอยู่บนฐานคิดที่ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาจีนและเกาหลี 3 ส่วนด้วยกันคือ “ชินโต” (Shinto) “มิกาโด” (Mikado) และ “บุตสุโด” (Butsudo)
1
1. “ชินโต” ถือกำเนิดขึ้นจากความพยายามกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนระหว่างความเชื่อท้องถิ่นดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่นกับพุทธศาสนา ขงจื้อ และเต๋าที่รับมาจากจีน ซึ่งชินโตก้าวเข้ามามีบทบาททางสังคมตั้งแต่ยุคสมัย “โตกุกาว่า” (Tokugawa) มีลักษณะที่เห็นเด่นชัดคือ
ชินโตไม่มีศาสดา ไม่มีผู้ก่อตั้งศาสนา
ชินโตไม่มีพระคัมภีร์ทางศาสนาที่สมบูรณ์
ชินโตไม่มีหลักปฏิบัติที่ตายตัว
นักบวชชินโตไม่เคร่งครัดในเรื่องวิถีปฏิบัติ
ชินโตเน้นสิ่งที่เป็นธรรมชาติ
เมื่อผ่านยุคสมัยเรื่อยมาชินโตก็มีพัฒนาการที่เป็นระบบแบบแผนมากขึ้นผ่านโครงสร้างต่างๆเช่น การสร้างตำนานเทพเจ้า การสร้างวิหารเพื่อขอพรและประกอบพิธีการทางศาสนา มีพระภิกษุที่มีขอบเขตหน้าที่ชัดเจนเฉพาะในพิธีกรรมทางศาสนา เช่น พิธีบวงสรวงเทพเจ้า พิธีแต่งงาน พิธีชำระจิตใจ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคำสอนของชินโตที่กลายเป็นค่านิยมของชาวญี่ปุ่นมาจนถึงปัจจุบัน นั่นคือการเคารพต่อเทพเจ้าที่มีอยู่มากมายทุกหนทุกแห่ง อันมีส่วนที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นเป็นคนที่ยืดหยุ่นและเปิดรับสิ่งใหม่อยู่เสมอ การให้ความสำคัญกับธรรมชาติและความเรียบง่าย เนื่องจากชินโตนับถือธรรมชาติ เช่น น้ำ ภูเขา ก้อนหิน ต้นไม้ และพระอาทิตย์ ไปจนถึงการเคารพบูชาบรรพบุรุษ และพลังของความสามัคคี การชำระล้างจิตใจให้บริสุทธิ์ อันเป็นผลพวงมาจากพิธีบวงสรวงเทพเจ้าที่มักจัดขึ้นในทุกๆหมู่บ้านที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมของผู้คนในชุมชน และสุดท้ายการยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต และความจริงใจ
ศาลเจ้าชินโต Fushimi-Inari-Taisha Shrine ในเมืองเกียวโต ที่มา: insidekyoto.com, 2020
ปรัชญาชินโตคือการทำความเข้าใจชีวิตแบบเป็นองค์รวม เชื่อมั่นในความกลมกลืนและเกี่ยวเนื่องกันของทุกสรรพสิ่งระหว่างมนุษย์และธรรมชาติรอบตัว ความเชื่อที่สำคัญที่สุดของชินโตคือ “ทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติ มีชีวิต” ความเชื่อในปรัชญาชินโตนั้นทำให้จิตใจของชาวญี่ปุ่นเต็มไปด้วยความรัก คือความรักในธรรมชาติ รักประเทศชาติ รักองค์จักรพรรดิ รักความสะอาด รักในความคิดสร้างสรรค์และความมีชีวิตชีวา
2. “มิกาโด” หมายถึงจักรพรรดิญี่ปุ่น อันเป็นฐานของชนชาติตามความรู้สึกของชาวญี่ปุ่น ทรงมีฐานะเป็นทั้งสวรรค์และพระเจ้า ดังนั้นระบบการนับถือจักรพรรดิก็ส่งอิทธิพลต่อระบบทางสังคม ไปจนถึงระบบภายในครอบครัวอันมีวิถีปฏิบัติที่มั่นคงและยากที่จะหาบรรยากาศเช่นนี้ได้ในสังคมชนชาติอื่น มิกาโดประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญคือ ภักดีต่อบรรพบุรุษ ภักดีต่อครอบครัว และภักดีต่อสังคมประเทศชาติ หากให้พูดถึงรายละเอียดทั้งหมดคงต้องใช้เวลายืดเยื้อมาก ผู้เขียนจะสรุปประเด็นสำคัญให้ได้ติดตามกันในบทความต่อๆไป
3. บุตสุโด ที่แปลว่า “ที่ทางของพระพุทธเจ้า” ชาวญี่ปุ่นยินยอมปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา การซาบซึ้งในคำสอนกลายเป็นปรัชญาในชีวิตประจำวันที่พวกเขาปฏิบัติด้วยความภักดีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความภักดีต่อบรรพบุรุษ ต่อครอบครัว และมิกาโดตามที่ได้กล่าวไปแล้วนั่นเอง
วัฒนธรรมทางความคิดของชาวญี่ปุ่นเป็นผลผลิตจากความเชื่อและความศรัทธาในศาสนา 3 กลุ่มหลักคือ “ขงจื้อ” ที่รับเอามาจากจีนโดยตรง “พุทธศาสนา” ที่มีรากฐานจากอินเดียแต่ได้รับการผสมผสานกับปรัชญาเต๋าในจีนก่อนที่จะเผยแพร่มาถึงญี่ปุ่น และ”ชินโต”ที่ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอันถือกำเนิดขึ้นในดินแดนญี่ปุ่นเอง ญี่ปุ่นรับเอาวัฒนธรรมมาจากจีนเป็นสำคัญและนำมาผสมรวมกับความเชื่อดั้งเดิมในประเทศของตนจนพัฒนามาเป็นแก่นสำคัญทางวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่อวิถีการดำเนินชีวิตและพิธีกรรมต่างๆของชาวญี่ปุ่นจนถึงปัจจุบัน
Ueno Park, Tokyo, ที่มา: บดี บุดดา, 2018
“เซน” เข้ามาในญี่ปุ่นตั้งแต่ยุคสมัย “คะมะคุระ” (Kamakura, 1185-1333) ปัจจุบันสำนักเซนมีอยู่ด้วยกัน 3 สำนัก คือ “โซโต” (Soto) “โอบาคุ” (Obaku) และ “รินไซ” (Rinzai) ซึ่งผู้ที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดปรัชญาเซนในญี่ปุ่นมีอยู่ด้วยกัน 2 ท่านคือ เมียวอัน อิไซ (Myoan Eisai, 1141-1215) ผู้นำนิกายเซนคนแรก และเป็นผู้ก่อตั้งสำนักรินไซเซน ซึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากพุทธศาสนานิกายหลินฉีจากจีนในยุคสมัยราชวงศ์ถัง ที่ให้ความสำคัญกับช่วงเวลาแห่งการถามตอบและขบคิดปริศนาธรรมระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ อีกท่านหนึ่งคือ โดเงน (Dogen Kigen, 1200-1253) ผู้ก่อตั้งสำนักโซโตเซนที่ได้รับอิทธิพลจากนิกายเฉาต้งในประเทศจีนเช่นเดียวกันซึ่งมีแนวคิดมุ่งหมายให้ลูกศิษย์ฝึกปฏิบัติทางจิตด้วยการนั่งสมาธิและการทำงานหนักในชีวิตประจำวัน
Myoan Eisai, 1141-1215, ที่มา: timetoast.com, 2020
Dogen Kigen, 1200-1253, ที่มา: goodreads.com, 2020
เหตุเพราะ “เซน” ยืนยันตนเองว่า การตรัสรู้หรือการเข้าถึงปัญญาความรู้สามารถเกิดขึ้นได้จากกิจกรรมต่างๆมากมายในชีวิตประจำวัน จึงประยุกต์หลักปฏิบัติการทำสมาธิมาใช้เป็นแนวทางในการทำกิจกรรม เช่นงานศิลปะต่างๆ งานจิตรกรรม การประดิษฐ์ตัวอักษร เครื่องปั้นดินเผา การจัดสวน การจัดดอกไม้ ละครเวที ศิลปะการต่อสู้ และพิธีชงชา รวมไปถึงสถาปัตยกรรมต่างๆ ฯลฯ อันเรียกว่า “โด” (Do) หรือหนทางแห่งการเข้าถึงปัญญาความรู้ที่เน้นประสบการณ์ตรงของผู้ปฏิบัติที่ไม่อาจอธิบายได้ด้วยภาษาหรือตัวอักษร
เราอาจสรุปได้ว่าพัฒนาการทางความคิดความเชื่อของศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่นเติบโตอยู่บนรากฐานทางศาสนา ฉะนั้นแล้วการที่เราซึ่งเป็นคนนอกและต้องการที่จะทำความเข้าใจชาวญี่ปุ่นให้ถ่องแท้คงต้องทำความเข้าใจแก่นแท้ของ “เซน” เสียก่อน เพราะเซนนั้นสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับศิลปวัฒนธรรมและสุนทรียภาพแบบญี่ปุ่นอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้
ทางเดินริมบึงน้ำ Shinobazunoike ติดกับสวนสาธาณะ Ueno, Tokyo ที่มา: บดี บุดดา, 2019
ศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่นนั้นเต็มเปี่ยมและแฝงไปด้วยแนวคิดแห่งปรัชญาเซนอันเต็มไปด้วยการให้ความสำคัญกับธรรมชาติ นัยยะอันซับซ้อน ความเงียบสงบ ไปจนถึงความโดดเดี่ยว การเข้าถึงสมาธิและทำจิตใจให้ว่าง ในทัศนะของเซนนั้นมนุษย์สามารถเข้าสู่ซาโตริได้ในวิถีชีวิตประจำวัน การเรียนรู้หรือแสวงหาความรู้จากกิจกรรม การกินอยู่ การดื่ม การใช้ชีวิต และหน้าที่การงานต่างๆ
เรื่องราวทางด้านศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่นยังมีอีกมากมายที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจทั้งยังมีความซับซ้อนยากที่จะสรุปประเด็นให้สั้นกระชับ ซึ่งผู้เขียนจะพยายามพัฒนาทักษะการเขียนและการสรุปเนื้อหาสำคัญให้สั้นกระชับเหมาะแก่การเผยแพร่บนพื้นที่แห่งนี้ต่อไป มาร่วมเดินทาง พัฒนาทักษะการคิด การเขียน และการอ่านไปด้วยกันผ่านบทความชิ้นแรกนี้นะครับ
ผู้เขียนหวังให้พื้นที่แห่งนี้เป็นการพัฒนาความรู้ร่วมกันระหว่างผู้เขียนและผู้อ่าน หากมีข้อเสนอแนะ คำติชม ข้อคิดเห็น จะยินดีมากๆครับ ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามครับ
เขต Taito-ku, Tokyo, ที่มา: บดี บุดดา, 2018
เอกสารอ้างอิง
คึกฤทธิ์ ปราโมช. (2544). นิกายเซน (พิมพ์ครั้งที่2). กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า.
โจเซฟ แกร์. (2522). “ชินโต : กามิ-โน-มิชิ” ในศาสนาทั้งหลายนับถืออะไร. แปลโดย ฟื้นดอกบัว. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ไดเซตซ์ ที. สุสุกิ. (2518). เซนกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น. แปลโดย จำนงค์ ทองประเสริฐ. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน
เซนไค ชิบายามะ. (2526). ดอกไม้ไม่จำนรรค์ (พิมพ์ครั้งที่2). แปลโดย พจนา จันทรสันติ. กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย
เพ็ญศรี กาญจโนมัย บรรณาธิการ. (2522). ประวัติศาสตร์และอารยธรรมญี่ปุ่น. กรุงเทพฯ: วรวุฒิการพิมพ์.
วนัสนันท์ ขุนพล. (2553). แนวคิดเรื่อง วะบิ-ซะบิ ในปรัชญาเซน. (ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต), มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่.
วิลเลี่ยม เธียวดอร์ บารี. (2545). บ่อเกิดลัทธิประเพณีญี่ปุ่น ภาค 1-4 (พิมพ์ครั้งที่2). แปลโดย จำนงค์ ทองประเสริฐ. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน.
สุวรรณา สถาอานันท์. (2543). ภูมิปัญญาวิชาเซน : บทวิเคราะห์คำสอนปรมาจารย์โดเก็น. กรุงเทพฯ: ศยาม.
อิสระ ตรีปัญญา. (2551). สุนทรียทัศน์ในงานจิตรกรรมแบบเซน. (ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต), มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่.
เจมส์ ดับเบิลยู บอยด์ และเท็ตสึยะ นิชิมารุ. (2550). คติความเชื่อลัทธิชินโตในการ์ตูนแอนิเมชั่นของมิยาซากิ เรื่อง Spirit Away. แปลโดย อันธิฌา ทัศคร. สงขลา: มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
โฆษณา