19 พ.ค. 2020 เวลา 05:01 • การศึกษา
ตีแผ่ชีวิตเด็กสายอาร์ต ที่มันไม่อาร์ตอย่างที่คุณคิด
เกริ่นก่อนเลยว่าประสบการณ์ที่เล่ามาจาก คนที่เรียนศิลปะในมหาวิทยาลัยศิลปะลำดับต้นๆของไทย ซึ่งพูดแบบนี้แล้วมันอาจดูอวยมหาลัยตัวเอง(ฮา) แต่จุดมุ่งหมายที่เราอยากจะทำบทความนี้ขึ้นมาก็เพราะตอนนั้นเราก็เป็นคนหนึ่ง ที่เคยนั่งหาข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตของคนเรียนศิลป์ต่างๆนานา มันกลับมีน้อยมาก น้อยเท่าหางอึ่งเลยก็ว่าได้ แล้วเราก็เคยคิดมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนเข้ามหาลัยว่าถ้าเราจบไปแล้วเราจะเขียนเรื่องราวของตัวเองขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของการแชร์ประสบการณ์เล็กๆ(ซึ่งไม่รู้จะช่วยได้มากน้อยแค่ไหน) สำหรับใครที่สนใจจะเรียนด้านสายอาร์ต อะไรที่เขาต้องเจอบ้าง ต้องเตรียมตัวเตรียมใจและเตรียมตังค์เท่าไหร่ถึงจะพอ เพราะชีวิตเด็กสายอาร์ตจริงๆมันต่างจากในซีรี่ย์เยอะ(มาก)
1. เวลา
เรียกได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญอันดับ 1 เลยก็ว่าได้ เพราะสิ่งนี้แหละที่จะตัดสินว่าใครจะติดหรือไม่ติด ที่พูดงี้เพราะเราผ่านจุดนี้มาแล้ว และมันช่างเจ็บปวด(มาก) เวลาที่เราไม่ได้คณะอย่างที่ฝันไว้ ย้อนไปปี 2557 คณะสีส้มของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งมีการแข่งขันที่สูงลิ่วเลยก็ว่าได้ ตอนนั้นเหมือนจะฮิตเรื่องพวกภาพประกอบไรงี้กัน ทำให้คนแห่มาสอบเยอะมาก การเตรียมตัวของเรา ณ ตอนนั้นคือ ติวศิลปะทุกวัน(ยกเว้นตอนป่วย) ตอนเปิดเทอมและปิดเทอมด้วย ซึ่งวันหยุดกับปิดเทอมจะติวหนักหน่อย รวมเวลาติวประมาณ 2 ปีครึ่ง เรียกได้ว่าหามรุ่งหามค่ำเลยก็ว่าได้และมีการบ้านต่ออีก(เกลียดมาก) ซึ่งตอนนั้นอะไรดลจิตดลใจให้อยากเข้าขนาดนั้นก็ไม่รู้เหมือนกัน ไฟนี่ลุกฮือ
ด้านล่างคือนี่คือตารางเวลาของเราในแต่ละวันในช่วงเปิดเทอม
ตารางเปิดเทอม
2. เงิน: ปัญหาโลกแตกของเด็กสายนี้
"เงิน" เป็นสิ่งที่รู้สึกแปลกเวลาพูดหัวข้อนี้เหมือนกัน แต่เอาจริง เรื่องเงินเป็นปัจจัยในลักษณะสิ่งของที่จับต้องได้ที่สำคัญเป็นอันดับ 1 ไม่แพ้เวลาเลย ซึ่งสมัยที่ติวนั้น ค่าเรียน 3,000 บาท/10 ครั้ง ครั้งนึงเรียน 3 ชม.ตกชม.ละ100 บาท ซึ่งไม่แพงเลย แต่มันไม่ได้หมดแค่นั้นน่ะสิ อย่างที่บอกว่าช่วงติว คือติวทุกวัน เท่ากับว่าเราเสียเดือนละ 9,000 บาท ติว 2 ปีครึ่ง หมดเงินไป 270,000 บาท มีบางช่วงที่มีการจ่ายแบบเหมา ก็จะเหลือประมาณ 200,000 บาท ยังไม่รวมกับค่าอุปกรณ์ที่ต้องเสียไป(เยอะมาก) คิดว่ารวมๆแล้วน่าจะหมดไปเกือบแสน ซึ่งที่อุปกรณ์ศิลปะบ้านเรามีราคาแพงก็เพราะว่าภาษีนำเข้าเทียบเท่ากับพวกเคาน์เตอร์แบรนด์เครื่องสำอางเลย เพราะอุปกรณ์ศิลปะที่คุณภาพดีก็เหมือนกับ Chanel, Louis vuitton ดูเหมือนโม้ แต่มันคือเรื่องจริง คงไม่ต้องแปลกใจว่าปากกา Copic ทำไมด้ามละร้อย สีน้ำคุณภาพดีทำไมถึงแพง แต่ก็มีที่ติวหลายที่เหมือนกันที่ไม่เก็บเงินของเด็กที่มีปัญหาด้านการเงินเลย ซึ่งกรณีนี้ก็จะแล้วแต่คนและโชคด้วย แต่ถึงยังไงค่าอุปกรณ์ส่วนมากก็ต้องออกเองอยู่ดีในระยะยาว ถ้าใครมีใจรักด้านนี้จริงๆก็ต้องทำใจยอมรับด้านไม่สวยงามของศิลปะด้วยเช่นกัน เพราะทุกๆอย่างมันคือการลงทุน ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความชอบกับกำลังทรัพย์ให้ดี ว่ามันไปด้วยกันได้มั้ย เพราะบอกเลยว่าเรื่องติวนี่คือแค่น้ำจิ้มก่อนลงสนามจริงตอนอยู่มหาลัย อุปกรณ์ของเด็กคณะอาร์ตหลายๆคนรวมกันนี่เหมือนกับพกรถยนต์คันนึงมาเรียนเลยก็ว่าได้ เรียกได้ว่าถ้าเสียทีนี่ มีวูบเป็นลมได้เหมือนกัน แต่เดี๋ยวก่อน ไม่ใช่เรื่องนี้จะถึงทางตันเสมอไป เพราะมันก็มีร้านที่ขายอุปกรณ์ศิลปะที่ราคาย่อมเยาว์เป็นมิตรแก่ทั้งเด็กติวและนักศึกษาได้เหมือนกันก็มี อย่าง สโมของมหาวิทยาลัย, นานาพันธ์, สมใจ รวมถึง istudio ในบางมหาลัยที่มีส่วนลดให้กับนักศึกษาโดยเฉพาะ ข้อเสียคือ ร้านเหล่านี้มีน้อย บางทีต้องเดินทางไกลเพื่อมาซื้อของถูก ค่ารถ ค่าน้ำมันบางทีก็ไม่คุ้มเที่ยวเหมือนกันถ้ามาคนเดียว
ภาพผู้หญิงกับหมูออมสิน
3. ความถึก
"ความถึกเอย...สำคัญไฉน" ถ้าใครคิดว่าการเรียนศิลปะคือการนั่งวาดรูป มันจะต้องใช้ความทึกยังไง? เพราะว่ามันไม่ได้มีแค่การวาดรูปไง ปัดโธ่! ตรงนี้ของแบ่งเป็น 2 พาร์ท เพื่อไม่เป็นการสับสน
3.1.ช่วงติวก่อนเข้ามหาลัย: จากข้อ 1 เรื่องเวลา หลายคนคงจะเห็นแล้วว่าเราทุ่มขนาดไหน
ช่วงปิดเทอมจะเป็นช่วงติวที่หฤโหดมาก ต้องถึกทั้งร่างกายและจิตใจ 1 วันของการติวคือยาวมาก บางวันก็โต้รุ่ง รอบการติวของเราที่เคยติวมาจะมี 3 รอบต่อ 1 วัน เริ่ม 09.00-12.00 น. พัก 1 ชม. / รอบที่ 2 13.00-16.00 น. พัก 1 ชม./ รอบที่ 3 17.00-20.00 น. พอเสร็จรอบที่ 3 จะมีการเก็บของ ทำความสะอาด ปัดถูที่ติวร่วมกันกับเพื่อนติวคนอื่น ประมาณ 30 นาที ต่อด้วยการวิจารณ์งานของรอบที่ 1-3 รวมกัน ซึ่งทุกคนที่ติวก็จะวางงานเรียงกันเป็นกระดาน ความกดดันก็จะบังเกิดละทีนี้ ซึ่งเวลาวิจารณ์ก็ประมาณอีก 1 ชม. ซึ่งกว่าจะเสร็จก็ 21.30 น. และมีการบ้านต่อ ซึ่งบางวันเยอะบางวันก็น้อย วันไหนโดนเยอะก็ต้องโต้รุ่งถึงเช้า และก็เรียนต่อเลย วนลูปเหมือนเดิมในทุกๆวัน ออฟฟิศซินโดมนี่คือถามหาแน่ๆ อีกด้านนึงคือความถึกของสภาพจิตใจ มันไม่ง่ายเลย เพราะในช่วงที่วันสอบใกล้เข้ามาเรื่อยๆ จิตคือทิ้งลงเหวมาก ร้องไห้ทุกวันเวลาติวเสร็จ บางวันก็ร้องไห้ไปทำการบ้านไป ไม่ว่าสภาพจิตจะเป็นยังไง วันรุ่งขึ้นเวลา 09.00 ปุ๊ปคือติวต่อ
การวิจารณ์งานในช่วงติว ขึ้นอยู่กับเนื้องานจริงๆ วันไหนงานดีก็รอดไป วันไหนงานแย่ และยิ่งเป็นงานที่เคยทำได้ดีมาก่อนแล้ววันนึงแย่เนี่ย บอกเลยว่านรกมาเยือน เพราะคำวิจารณ์จะเชือดเฉือนมาก ใครจิตไม่แข็ง ก็ต้องน้ำตาตกในไปทุกครั้ง ซึ่งเท่าที่จำความได้ได้รับคำชมน่าจะประมาณ 10 ครั้งได้ จากที่ติวมา 2 ปีครึ่ง(ฮา)
ภาพชูกำปั้น
สามารถติดตามอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://emergencywrite.blogspot.com/
โฆษณา