19 พ.ค. 2020 เวลา 03:41 • ความคิดเห็น
ปัญหาการเรียนออนไลน์กับความเหลื่อมล้ำของการศึกษาไทย
'เทพไท' ยกปัญหา 8 ข้อ หลังเรียนออนไลน์วันแรก ชี้ตอกย้ำปัญหาความเหลื่อมล้ำของการศึกษาไทย เสนอให้เตรียมความพร้อม และเร่งรัดให้มีการเรียนการสอนในห้องเรียนของโรงเรียนให้เร็วที่สุด โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของทุกฝ่าย
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสเฟสบุ๊คส่วนตัว กล่าวถึง กรณีการเปิดเรียนทางออนไลน์ของนักเรียนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า จากการติดตามข้อมูล และได้รับข้อร้องเรียนจากผู้ปกครองของนักเรียนในหลายพื้นที่ พบว่าเกิดปัญหา และอุปสรรคมากมาย ที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องตระหนัก และนำปัญหาที่เกิดขึ้นไปแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศที่เกิดขึ้นมาช้านาน เด็กนักเรียนในชนบท จะเสียเปรียบนักเรียนในสังคมเมือง ทั้งด้านข้อมูลข่าวสาร ตำราเรียน ครูอาจารย์ที่มีความชำนาญในการสอน และโอกาสในการเรียนพิเศษ หรือสถาบันกวดวิชา
1
เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนโรงเรียนไม่สามารถจะเปิดเรียนได้ตามปกติ ทำให้กระทรวงศึกษาธิการ ต้องมีนโยบายให้เปิดเรียนทางออนไลน์ และระบบดาวเทียม ตั้งแต่เมื่อวานนี้(18 พ.ค.)เป็นวันแรก พบว่ามีปัญหาอุปสรรคที่ตนได้รับการร้องเรียน ซึ่งสามารถรวบรวมได้ดังนี้ คือ
1.มีนักเรียนบางส่วน ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอน เช่นโทรศัพท์มือถือ แท็บเลต โทรทัศน์
2.ในพื้นที่ชนบทบางแห่ง ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ไม่สามารถเรียนทางออนไลน์ได้ และไม่มีจานดาวเทียม หรือจานดาวเทียมรับสัญญานไม่ได้
3.ในพื้นที่ที่มีสัญญานอินเตอร์เน็ต ก็เกิดสภาพสัญญานล่ม และสัญญานอินเตอร์เน็ตไม่เสถียร ต้องจ้างช่างมาปรับจูนสัญญานใหม่
4.เด็กนักเรียนยังขาดความพร้อมในการเรียนทางออนไลน์ ไม่มีสมาธิในการเรียน ไม่สามารถเรียนด้วยตนเองได้ ขาดแรงจูงใจ เพราะไม่มีครูคอยกระตุ้นเตือนเหมือนในห้องเรียน
5.ในครอบครัวที่มีพี่น้องกำลังเรียนหนังสือหลายคน แต่มีโทรทัศน์เพียงเครื่องเดียว ทำให้ไม่สามารถเรียนได้ครบทุกคน
6.เกิดปัญหาปมด้อยของนักเรียน มีการเปรียบกับเพื่อนๆที่มีอุปกรณ์ในการเรียนที่ดีกว่า ทันสมัยกว่า มีความพร้อมมากกว่า
7.เป็นภาระการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในการซื้ออุปกรณ์ในการเรียนออนไลน์ และการเรียนผ่านดาวเทียมเพิ่มขึ้นอีกในยามที่กำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจเช่นนี้
8.ผู้ปกครองนักเรียนต้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยควบคุมให้ลูกนั่งเรียนผ่านออนไลน์ ทำให้เสียเวลาในการทำงาน หรือประกอบอาชีพในการทำมาหากินของแต่ละวันได้
จึงขอเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการได้เตรียมความพร้อม และเร่งรัดให้มีการเรียนการสอนในห้องเรียนของโรงเรียนให้เร็วที่สุด โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็ก ครู ผู้ปกครอง และบุคลากรทางการศึกษา เพราะการเรียนในห้องเรียน ย่อมมีประสิทธิภาพ และผลสัมฤทธิ์มากกว่า การเรียนผ่านระบบออนไลน์หรือดาวเทียม และเป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ระหว่างนักเรียนในเมืองกับในชนบท ที่มีความไม่เท่าเทียมทางการศึกษามาเป็นเวลายาวนานด้วย
โฆษณา