19 พ.ค. 2020 เวลา 05:05 • สุขภาพ
เปิดผลสำรวจเจาะลึกความคิดผู้บริโภคหลังวิกฤต COVID-19 เผย “มุมมอง” และ “ความเข้าใจ” ของผู้คนที่มีต่อโลกเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
ช่วงนี้เรียกได้ว่าเป็นช่วงขาลงสำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งรวมถึงในประเทศไทยที่หลายธุรกิจเริ่มกลับมาเปิดให้บริการบ้างแล้ว
อย่างไรก็ตามความกังวลก่อนหน้านี้เกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้คนที่จะเปลี่ยนแปลงไปก็เป็นเรื่องที่หลายคนยังรอลุ้นอยู่ว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน วันนี้ Autostation จึงนำบทความเกี่ยวกับมุมมองของผู้บริโภคทั่วโลกต่อการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่อาจส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนการรับรู้ พฤติกรรม ค่านิยมและสังคม จัดทำโดย “เฟลชแมน ฮิลลาร์ด” หน่วยงานด้านการวิจัยพฤติกรรมของธุรกิจและผู้บริโภค โดยสรุปคร่าว ๆ มาให้ลองอ่านดูครับ
ในช่วงระหว่างวันที่ 30 มีนาคม ถึง 3 เมษายน 2563 “เฟลชแมน ฮิลลาร์ด” ได้จัดทำการสำรวจกับผู้คนกว่า 6,566 คน พร้อมกันใน 6 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, จีน, เยอรมนี, อิตาลี, เกาหลีใต้ และสหราชอาณาจักร ซึ่งทำให้เราได้เข้าใจถึงประสบการณ์ร่วมกันบางอย่างของผู้คน โดยสามารถนำมาเสนอในประเด็นต่างๆ ดังนี้
วิกฤตการณ์ในครั้งนี้ส่งผลให้ผู้คนรู้จักวางแผนในระยะยาวมาขึ้น โดยการกลับไปใช้ชีวิตในแบบ “ปกติ” นั้น ได้ถูกนิยามแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยมีเรื่องของเวลาเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้กลับเข้าสู่โหมดการใช้ชีวิตแบบเดิม ผู้คนมากกว่า 1 ใน 5 ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าอาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 5 เดือน ถึง 2 ปี กว่าสถานการณ์ทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ในส่วนความคิดเห็นที่มีต่อนายจ้างนั้น พบว่าลูกจ้างส่วนใหญ่ยังคงมีทัศนคติที่ดีต่อนายจ้างอยู่ โดยมีความเข้าใจในเรื่องการพักงานและเลิกจ้างในสถานการณ์เช่นนี้ และผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ยังคงคาดหวังให้ทางนายจ้างดำเนินมาตรการป้องกันความปลอดภัยให้แก่พนักงาน เช่น จัดหาอุปกรณ์ป้องกันและเจลทำความสะอาดมือ
จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสในครั้งนี้ทำให้ผู้คนต้องยกเลิกกิจกรรมหรือแผนการต่าง ๆ และได้มีโอกาสหันมาลองทำสิ่งใหม่ ๆ มากขึ้น หลายคนหันมาห่วงสุขภาพของตนเอง รวมถึงเริ่มกังวลถึงสถานการณ์ด้านการเงินมากกว่าปกติ
และถึงแม้การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสจะลดลง ผู้บริโภคก็ยังคงวางแผนใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังมากขึ้น ตั้งแต่เรื่องพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยและพฤติกรรมการออมเงิน รวมถึงยังคาดหวังให้ผู้ให้บริการออกมาตราการป้องกันทางกายภาพและการเว้นระยะทางสังคมมาปรับใช้เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสอีกด้วย
หลายคนอาจสงสัยว่าการสำรวจดังกล่าวไม่ได้ใช้กลุ่มตัวอย่างจากประเทศไทย จะใช้ได้ผลกับประเทศไทยหรือไม่?
ในส่วนนี้ คุณโสพิส เกษมสหสิน, รองประธานอาวุโส พาร์ตเนอร์และผู้จัดการทั่วไป เฟลชแมน ฮิลลาร์ด ประเทศไทย ได้ให้ความเห็นไว้ว่าเราสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาประกอบใช้กับประเทศไทยได้ ทั้งในเรื่องของ การให้คำแนะนำแก่บริษัทเพื่อรณรงค์การเว้นระยะห่างทางสังคม การตระหนักถึงความปลอดภัยของทั้งพนักงานและลูกค้า และการสร้างความคาดหวังเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้แก่พนักงานผ่านการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง
หลังจากที่ “เฟลชแมน ฮิลลาร์ด” ได้จัดการข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามก็ได้จัดตั้งหน่วยงานพิเศษ ที่ให้คำปรึกษาและออกแบบการสื่อสาร ในการฟื้นฟูธุรกิจภายหลังภาวะวิกฤต (FleishmanHillard’s Recovery and Resurgence practice) โดยการใช้ข้อมูลและอินไซต์จากการสำรวจเพื่อให้คำแนะนำด้านการสื่อสารแก่องค์กรต่างๆ ให้สามารถก้าวข้ามสถานการณ์ที่ยากลำบากในปัจจุบันไปได้ และวางแผนเพื่อให้สามารถกลับมาดำเนินงานได้อย่างปกติ
สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมของบทความนี้ สามารถคลิกลิงค์ด้านล่างเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้เลยครับ
ขอขอบคุณบทความดี ๆ จากทาง เฟลชแมนฮิลลาร์ด ประเทศไทย ด้วยครับ
โฆษณา