19 พ.ค. 2020 เวลา 12:04 • ธุรกิจ
[Update] Libra 2.0 vs หยวนดิจิทัล มีอะไรใหม่กันแล้วบ้าง และ มีอะไรที่แตกต่างกัน ??
นับจากเดือนเมษายนแห่งวิกฤตการณ์ COVID-19 ที่ส่งกระทบกับทุกภาคส่วนจนถึงปัจจุบันนั้น ยังมีความเคลื่อนไหวที่สำคัญของสองฟากฝั่งในโลกแห่งการเงินดิจิทัลที่อาจเรียกได้ว่าอยู่บนหลักการต่างขั้วกัน ทว่าอาจมีจุดร่วมของเป้าประสงค์เดียวกันที่มุ่งผลักดันระบบการเงินดิจิทัล “โลก” ให้รุดหน้าไปเร็วกว่าที่ใครจะคาดคิด
1
ด้านหนึ่งคือความเคลื่อนไหวของสกุลเงินดิจิทัล Libra โดยองค์กรเอกชนอย่าง Libra Association ที่มีสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันสำคัญ ที่แม้ดูเหมือนจะต้องปรับกระบวนท่า โดยถอยกลับไปตั้งหลักในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่ก็ได้อัพเดทข้อมูลใน whitepaper ฉบับใหม่ หรือเรียกกันว่า “Libra 2.0” ซึ่งมีปรับเปลี่ยนสาระสำคัญหลายประการ อาทิ จากเดิมที่มีความพยายามมีบทบาทในการสร้างสกุลเงินและระบบเศรษฐกิจใหม่ มาเป็นการสร้างแพลตฟอร์มและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการชำระเงินดิจิทัลที่เอื้อต่อการเชื่อมโยงกับธนาคารกลางแต่ละประเทศ
ตัวอย่างเช่น การเปิดทางให้สามารถสร้าง Stable Coin หรือสกุลเงินดิจิทัลที่มีมูลค่าอ้างอิงคงที่กับสกุลเงินจริง (fiat currency) ของแต่ละประเทศนั้น ๆ บนแพลตฟอร์มของ Libra (โดยความร่วมมือกับธนาคารกลางของแต่ละประเทศ) และต้องสำรองเงิน สกุลดังกล่าวในอัตราส่วน 1:1 เสมอ (เช่น ถ้าจะสร้าง 10 ล้าน LibraUSD ก็จะต้องสำรองเงิน 10 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในบัญชีธนาคารของ Libra เป็นต้น) หรืออาจรองรับการเชื่อมโยงกับสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางเอง (Central Bank Digital Currency : CBDC) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ถือว่าเป็นการปรับกลยุทธ์และรูปลักษณ์ใหม่ ที่มีความเป็นไปได้และมีโอกาสที่จะได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภาครัฐในนานาประเทศมากกว่าแนวทางเดิม
1
ขณะเดียวกัน สกุลเงินกลางที่จะเรียกว่า Global Libra ก็จะยังคงอยู่ในระบบของ Libra โดยเปลี่ยนการค้ำประกัน จากเดิมที่ระบุให้ค้ำประกันด้วยสินทรัพย์หลากหลายรูปแบบโดยไม่มีรายละเอียดการประเมินมูลค่าและองค์ประกอบที่ชัดเจน มาเป็นค้ำประกันด้วย stable coin ทั้งหลายที่สร้างขึ้นบนแพลตฟอร์มของ Libra เอง โดยมีมูลค่าอิงตามค่าเฉลี่ยของทุกสกุลเงินที่รวมอยู่ใน “ตะกร้า” ของ Global Libra นั้น (ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับ SDR หรือ Special Drawing Rights ของ IMF) นอกจากนี้ ใน whitepaper ฉบับใหม่ยังระบุด้วยว่า Libra Association กำลังอยู่ระหว่างกระบวนการขอใบอนุญาตระบบการชำระเงินจาก FINMA ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของประเทศสวิสเซอร์แลนด์
1
รวมถึงการระบุข้อกำหนดเกี่ยวกับผู้ที่เป็นตัวแทนผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนภายใต้แพลตฟอร์มของ Libra ควรต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูและในแต่ละประเทศ และต้องผ่านการตรวจสอบและเห็นชอบจาก Libra Association ในการดำเนินกิจการบนแพลตฟอร์มของ Libra อีกด้วย มากกว่านั้น Libra Association เองก็สร้างแรงกระเพื่อมอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นข่าวการแต่งตั้ง CEO คนแรกอย่างนาย Stuart A. Levey อดีตปลัดกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่ดูแลด้านการก่อการร้ายและข่าวกรองทางการเงิน หรือข่าวใหม่สด ๆ ร้อน ๆ เกี่ยวการต้อนรับสมาชิกใหม่ล่าสุดอย่างเทมาเส็กที่มีกระทรวงการคลังสิงคโปร์เป็นผู้ถือหุ้นหลัก นับว่า “เล่นใหญ่” ไม่ใช่น้อยทีเดียว
อีกด้านหนึ่ง ธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (People’s Bank of China หรือ PBoC) ได้ออกมายืนยันข่าวความคืบหน้าในการออกสกุลเงินดิจิทัลของประเทศจีนหรือ Digital Currency Electronic Payment (DC/EP) ที่ธนาคารกลางจีนเริ่มทำการศึกษาวิจัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 นั้น ว่ายังคงอยู่ในช่วงของการทดสอบระบบการใช้งานเป็นการภายใน โดยทดสอบในสภาพแวดล้อมจำกัดใน 4 เมือง ได้แก่ เซินเจิ้น ซูโจว สงอัน และเฉิงตู ซึ่งโจทย์การทดสอบอาจแตกต่างกันในแต่ละเมือง อาทิ กรณีของซูโจวเป็นการทดสอบการจ่ายเงินช่วยเหลือการเดินทางผ่านระบบขนส่งมวลชนสำหรับเจ้าหน้าที่ทางการจีนเป็น DC/EP ขณะที่กรณีของสงอันเป็นการทดสอบเกี่ยวกับกิจการค้าปลีก เป็นต้น โดยการทดสอบ อาจกินเวลานาน 6-12 เดือน ทั้งนี้ ธนาคารกลางจีนยังไม่ได้มีการกำหนดเวลาที่จะเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ มีเพียงแผนที่จะทำการทดสอบภายในเพิ่มเติมอีกครั้งระหว่างการจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว ในปี พ.ศ. 2565
แม้การแถลงอย่างเป็นทางการของธนาคารกลางจีนไม่ได้มีรายละเอียดที่ชัดเจนมากนัก แต่ข่าวลือต่าง ๆ ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงภาพข่าวตัวอย่างหน้าจอและ link สำหรับดาวน์โหลดแอปพลิเคชันซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์และสกุลเงินดิจิทัลที่ธนาคารกลางจีนจะทำการทดสอบดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้า ในระดับที่ใกล้จะถึงจุดที่จะเปิดใช้งานจริง ทั้งนี้ มีรายงานข่าวระบุว่า มีอย่างน้อย 19 แบรนด์ร้านอาหารและร้านค้าปลีก ยอดนิยม อาทิ JD Supermarket, Subway และ McDonald’s เป็นต้น ที่จะเข้าร่วมการทดสอบสกุลดิจิทัลดังกล่าว รวมถึง มีการตั้งข้อสังเกตด้วยว่า Tencent และ Ant Financial ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นยักษ์ใหญ่ในจีนก็น่าจะเข้าร่วมด้วยเช่นเดียวกัน
เมื่อเปรียบ DC/EP กับสกุลเงินดิจิทัลที่มีเป้าหมายในระดับ Global Scale อย่าง Libra นั้น จะมีข้อแตกต่างกันหลายในประการ เช่น
1. ระบบชำระเงินสกุลดิจิทัล (DC/EP) ของธนาคารกลางจีนนั้น ออกและควบคุมโดยรัฐบาลจีน ในขณะ Libra ออกและควบคุมโดยภาคเอกชนในรูปของ Libra Association (กลุ่มบริษัทเอกชนชั้นนำต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงเฟซบุ๊กเองด้วย)
2. DC/EP มีสภาพเป็นสกุลเงินเดียวโดยใช้เงินหยวนค้ำประกันในอัตราส่วน 1 : 1 อย่างตรงไปตรงมา ในขณะที่ Libra 2.0 มีแผนจะสร้าง Stable Coin ขึ้นหลายสกุล โดยที่แต่ละสกุลย่อย ๆ จะค้ำประกันด้วย Reserve ที่เป็นสกุลเงินนั้น ๆ เพียงสกุลเดียว อาทิ LibraUSD, LibraEUR, LibraGBP หรือ LibraSGD ส่วนสกุลเงินกลางของ Libra ก็จะเปลี่ยนเป็นการค้ำประกันด้วย Stable Coin หลาย ๆ สกุลเหล่านั้นแทน (เป็นที่สังเกตและคาดได้ว่าไม่น่าจะมีสกุลเงินหยวนรวมอยู่ในนั้น)
3. กลไกการทำงานของ Libra ยังคงอยู่บนพื้นฐานของระบบบล็อกเชนเป็นหลัก ในขณะที่ DC/EP นั้น ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าเป็นเทคโนโลยีบล็อกเชนหรือมีการผสมผสานกับเทคโนโลยีอื่น แต่มีแนวโน้มที่เป็นลักษณะรวมศูนย์ (Centralized) และอยู่ในการควบคุมของรัฐบาลมากกว่า
4. Libra ดูเหมือนมีเจตนาที่จะประกาศตัวเองเป็นสกุลเงินใหม่อย่างชัดแจ้ง ซึ่งรวมไปถึงการสร้าง ecosystem ของระบบการใช้งานและผู้ให้บริการชำระเงินใหม่ทั้งหมด ในขณะที่ DC/EP ของรัฐบาลจีนนั้น ไม่ได้เป็นการสร้างสกุลเงินใหม่และลบล้างสกุลเงินหยวนเดิม แต่ดูเหมือนมีเจตนาที่จะเปลี่ยนผ่านจากการใช้เงินสดเป็นการใช้จ่ายด้วยระบบดิจิทัลเป็นหลัก และไม่ได้เป็นสร้างขึ้นมาเพื่อแทนที่การให้บริการ Electronic Payment ที่มีการใช้งานอยู่แล้วเดิมอย่าง WeChat Pay หรือ AliPay แต่เพื่อเป็นการเชื่อมโยงให้ระบบชำระเงินเหล่านี้เปลี่ยนมาอ้างอิงกับเงินดิจิทัลแทนเงินสดในรูปแบบเดิม
หากมองจากปัจจุบัน คงยังไม่มีข้อสรุปว่าระหว่าง Libra 2.0 ของภาคเอกชน หรือ DC/EP ของรัฐบาลจีน ใครจะก้าวไปถึงการใช้งานจริงและเป็นที่แพร่หลายมากกว่ากัน แต่สิ่งที่ทั้ง 2 ฟากฝั่งเล็งเป้าหมายไว้ มีอย่างน้อยหนึ่งประเด็นที่น่าจะเป็นจุดร่วมที่เหมือนกัน คือการผลักดันเศรษฐกิจและสังคมโลกไปสู่การขับเคลื่อนด้วยสกุลเงินดิจิทัลเต็มรูปแบบ การประกาศความคืบหน้าของทั้งสองขั้วดูจะกลายเป็น New Normal ในภาวะที่โลกยังเผชิญวิกฤต ซึ่งระบบการเงินดิจิทัลเป็นที่ต้องการเพื่อทดแทนการใช้จ่ายทางกายภาพ และน่าจะเป็นตัวเร่งให้หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของนานาประเทศต้องปรับตัวให้ทันกับการมาของเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ก่อนที่จะ “ตกขบวน” และถูกกลืนหายไปจากระบบการเงิน “โลก” ในที่สุด
โฆษณา