19 พ.ค. 2020 เวลา 10:08 • ประวัติศาสตร์
สภาลับพระนารายณ์
โดยปกติเมื่อพระมหากษัตริย์ในสมัยโบราณทรงบริหารบ้านเมืองก็ย่อมต้องมีการเสด็จออกว่าราชการแผ่นดิน ให้เสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลข้อราชการต่างๆ แล้วจึงทรงมีพระราชวินิจฉัย
นอกเหนือจากการว่าราชการโดยปกติ พระมหากษัตริย์ยังทรงมีสภาที่ปรึกษาราชการส่วนพระองค์ ที่ประกอบด้วยบุคคลสำคัญระดับสูงในราชสำนักเพียงไม่กี่คนที่ถวายคำแนะนำในราชการสำคัญอันเป็นการลับ ปรากฏในหลักฐานต่างประเทศเรียกสภาดังกล่าวว่า “สภาลับ” (Secret Council) มีความเดียวกับคำว่า Privy Council โดยคำว่า privy หมายถึง ความลับ หรือ ส่วนตัว ในปัจจุบันก็คือสภาองคมนตรี
การประชุมสภาลับดังกล่าวนี้ เป็นหนึ่งในพระราชานุกิจของพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่ในวัฒนธรรมอินเดียโบราณ ปรากฏในกฎหมายมนูธรรมศาสตร์ระบุว่าพระมหากษัตริย์ทรงปรึกษาราชการลับกับอำมาตย์มนตรี และดำรัสสั่งราชการในเวลา ๐๓.๐๐ น.
พระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนารายณ์ตามจินตนาการของชาวฝรั่งเศส สมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘
ชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามายังสยามในสมัยกรุงศรีอยุทธยาได้บันทึกถึง “สภาลับ” ของพระมหากษัตริย์บางรัชกาลไว้ เช่น จดหมายเหตุของ เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias Van Vliet) หัวหน้าสถานีการค้าบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (Vereenigde Oostindische Compagnie; VOC) ประจำสยามในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง บันทึกว่า พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาทรงปรึกษาราชการสำคัญกับเหล่าเสนาบดีที่ทรงอิทธิพลที่สุดใน “สภาลับ” โดยเสนาบดีเหล่านี้จะนำข้อราชการมาพิจารณาให้สอดคล้องกับกฎหมายขนบธรรมเนียมโบราณ ประกอบการสอบถามความคิดเห็นจากข้าราชการผู้น้อยใต้บังคับบัญชาด้วย จากนั้นจึงนำข้อสรุปขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชวินิจฉัย พระมหากษัตริย์จะทรงยอมรับ แก้ไข หรือปฏิเสธคำแนะนำของสภาลับก็ได้หากทรงมีพระราชดำริว่าเป็นประโยชน์ต่อแผ่นดิน
อย่างไรก็ตาม ฟาน ฟลีต วิจารณ์ว่า ในความเป็นจริงก็ทรงมีพระราชวินิจฉัยตามที่ทรงพอพระทัย และไม่มีผู้ใดกล้าแสดงความไม่พอใจต่อพระราชวินิจฉัย เพราะเกรงว่าจะเป็นภัยต่อชีวิตและตำแหน่งของตนเอง
รายละเอียดของสภาลับในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองไม่ปรากฏชัดเจน ทราบแต่ว่ามี “ออกญาวัง” (Oya Awangh) คือ ออกญาธรรมาธิบดี จตุสดมภ์กรมวัง เป็นประธานสภาลับ และสมเด็จพระเจ้าปราสาททองจะทรงปรึกษาราชการกับสภาลับในเวลากลางวัน แล้วจึงเสด็จออกขุนนางตามปกติในเวลาเย็น
ภาพพิมพ์สมเด็จพระนารายณ์เสด็จออกว่าราชการแผ่นดิน
ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ มีบันทึกเรื่อง “สภาลับ” อย่างละเอียดในจดหมายเหตุรายวันการเดินทางไปสู่ประเทศสยาม (Journal du voyage de Siam fait en 1685 et 1686) ของ พระอธิการ เดอ ชีวซีย์ (François Timoléon, abbé de Choisy) ผู้เดินทางเข้ามาในสยามพร้อมคณะทูตฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. ๑๖๘๕ (พ.ศ. ๒๒๒๘) ซึ่งเข้าใจว่าชัวซีย์ได้ข้อมูลมาจาก คอนสแตนซ์ ฟอลคอน (Constance Phaulkon) เสนาบดีชาวกรีกอีกต่อหนึ่ง
ชัวซีย์บันทึกพระราชานุกิจของสมเด็จพระนารายณ์ในช่วงค่ำว่า ในเวลา ๑๘.๐๐ น. ถึง ๒๑.๐๐ น. จะทรงเสด็จออกให้ขุนนางผู้ใหญ่ (grands Mandarins) เข้าเฝ้า ในเวลานี้จะโปรดให้ขุนนางผู้ใหญ่แห่งราชบัลลังก์ (grands officier de la Couronne หมายถึงเสนาบดีระดับสูงสุดของราชสำนักฝรั่งเศส) ถวายฎีกาขอเข้าเฝ้า สมเด็จพระนารายณ์จะโปรดให้เข้าเฝ้าเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง มิฉะนั้นจะไม่สามารถเข้าพระราชวังได้
หลังจากนั้นในเวลา ๒๒.๐๐ น. ถึง ๐๒.๐๐ น. จะเป็นเวลาประชุมสภาลับ (Conʃeil ʃecret) ซึ่งใช้เวลานานกว่าการเสด็จออกขุนนางปกติ แสดงให้เห็นว่าสภาลับนี้น่าจะความสำคัญต่อการบริหารบ้านเมืองมากยิ่งกว่าการเสด็จออกขุนนางทั่วไปเสียอีก
.
สภาลับประกอบด้วยสมาชิก ๕ คนได้แก่
- พระอภิบาลหรือพระอาจารย์ของสมเด็จพระนารายณ์ (tuteur du Roi) ผู้มีอายุ ๘๐ ปีแล้ว หูตึง แต่ยังมีสติปัญญาความคิดดีอยู่ สันนิษฐานว่าคือ พระมหาราชครู เจ้ากรมลูกขุน ผู้แต่งฉันท์สรรเสริญพระเกียรติพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททอง สมุทรโฆษคำฉันท์ และเสือโคคำฉันท์ เดิมในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเป็นที่พระมหาราชครูมเหธร ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ได้เลื่อนเป็นที่พระมหาราชครู พระบอโรหิต จึงเข้าใจได้ว่าเป็นพราหมณ์อาวุโสในราชสำนักตั้งแต่สมัยพระเจ้าปราสาททอง
- สมุหมณเฑียรบาล (grand Chambellan) เข้าใจว่าคือ ออกญาวัง พิจารณาจากจดหมายเหตุของฟาน ฟลีต ที่ระบุว่าออกญาวังเป็นประธานในสภาลับ
- ผู้พิพากษาศาลอาญาซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาหมอหลวง (Juge criminel, qui a auʃʃi la ʃurintendance des médecins) สันนิษฐานว่าคือ พระศรีมโหสถ เจ้ากรมแพทยาหน้า ทำหน้าที่พิจารณาคดีความของศาลกระทรวงแพทยา ได้แก่การฟ้องร้องกันว่าเป็นฉนบ จะกละ กระสือ กระหัง การกระทำกฤติยาคมที่ไม่ถึงตาย และคดีความเกี่ยวกับพราหมณ์โยคีนักบวชต่างๆ พระศรีมโหสถเป็นกวีเอกในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ มีผลงานนิพนธ์ได้แก่ โคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โคลงนิราศนครสวรรค์ กาพย์ห่อโคลง โคลงอักษรสาม
- ชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์ (d'un jeune homme que le Roi aime) ได้เข้าที่ประชุมสภาเพื่อตะโกนกรอกหูพระอภิบาลถึงสิ่งที่ถูกพูดถึงในที่ประชุม สันนิษฐานว่าคือ หม่อมปีย์ พระราชบุตรบุญธรรมของสมเด็จพระนารายณ์
- ฟอลคอน (ในเวลานั้นมีบรรดาศักดิ์เป็น ‘ออกพระฤทธิกำแหงภักดี’) ซึ่งเป็นหัวใจของที่ประชุม เพราะเขามีอำนาจบังคับบัญชาราชการภายนอกทุกอย่าง แม้แต่เสนาบดีผู้ใหญ่ในราชสำนักยังต้องรับคำสั่งจากเขา (อำนาจของฟอลคอนในที่นี้น่าจะจริงเพียงบางส่วน)
.
ไม่มีคนนอกสามารถเข้าไปในที่ประชุมสภาลับได้นอกจากหัวหน้าหมอหลวง (premier médecin เข้าใจว่าเป็นคนละคนกับผู้บังคับบัญชาหมอหลวงที่กล่าวไว้ก่อนหน้า) ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกของสภาลับ แต่เข้าไปบางครั้งเพื่อกราบทูลให้สมเด็จพระนารายณ์เสด็จเข้าบรรทม โดยปกติจะประจำอยู่ที่พระทวารห้องพระบรรทม และมีหน้าที่ตรวจสอบพระกระยาหารทุกอย่างที่นำขึ้นเทียบโต๊ะเสวย โดยจะยอมปล่อยผ่านเฉพาะสิ่งที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อพระพลานามัยเท่านั้น
แต่ถ้าสมเด็จพระนารายณ์เสด็จไปประทับที่เมืองลพบุรี ก็ไม่ค่อยมีการประชุมมากเท่าไหร่นัก มีเวลาให้เสด็จประพาสล่าสัตว์ได้มาก พระองค์จึงพอพระทัยที่จะประทับอยู่ที่นั้นนานถึงปีละแปดเดือน
พระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุทธยารัชกาลอื่นคงมีการประชุม “สภาลับ” ในรูปแบบใกล้เคียงกัน แต่ยังไม่พบหลักฐานกล่าวถึงอย่างชัดเจนเหมือนกับรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์
บรรณานุกรม
- กฎหมายตรา ๓ ดวง เล่ม ๑. (๒๕๔๘). กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ.
- กรมศิลปากร. (๒๕๔๓). คำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททอง. กรุงเทพฯ: กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.
- กรมศิลปากร. (๒๕๐๒). บทกวีนิพนธ์ของพระศรีมโหสถ. พระนคร: กรมศิลปากร.
- กรมศิลปากร. (๒๔๘๙). เรื่องพระราชานุกิจ. พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์.
- เดอ ชัวซีย์, บาทหลวง. (๒๕๕๐). จดหมายเหตุรายวันการเดินทางไปสู่ประเทศสยาม ในปี ค.ศ. ๑๖๘๕ และ ๑๖๘๖. (สันต์ ท. โกมลบุตร, ผู้แปล). พิมพ์ครั้งที่ ๒. นนทบุรี: ศรีปัญญา.
- Baker, C., Dhiravat na Pombejra, Kraan, A. van der and Wyatt, D. K. (Eds). (2005). Van Vliet's Siam. Chiang Mai: Silkworm Books.
- Choisy, F.T. abbé de. (1687). Journal du Voyage de Siam fait en 1685 & 1686. Paris: Chez Sebastien Mabre-Cramoisy.
หมายเหตุ : บทความทั้งหมดเรียบเรียงโดยผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ ผู้ดูแลเพจขอสงวนสิทธิไม่อนุญาตให้นำข้อมูลที่เผยแพร่ในเพจไปแก้ไข ตัดทอน ดัดแปลง คัดลอก ทำซ้ำ หรือเผยแพร่ต่อด้วยวิธีการใดๆ ทั้งสิ้น และห้ามนำไปแสวงหาผลกำไรทางพาณิชย์โดยเด็ดขาด หากมีความประสงค์จะขอบทความของเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ไปเผยแพร่ต่อด้วยวิธีการใดๆ ก็ตามต้องได้รับการยินยอมจากผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ในทุกกรณี ยกเว้นแต่การ "แชร์ (share)" ที่สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
โฆษณา