19 พ.ค. 2020 เวลา 14:06 • ประวัติศาสตร์
ปกิณกะวันสำคัญ
๑๙ พฤษภาคม วันอาภากร
หลายๆท่านคงจะรู้จักพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือเสด็จเตี่ยกันอยู่แล้ว เนื่องจากวันนี้เป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์ท่าน ทางเพจปกิณกะจึงอยากจะเขียนเรื่องราวบางอย่างที่ไม่ใคร่จะมีคนทราบมากนักเกี่ยวกับเสด็จเตี่ยให้ได้อ่านกัน
หลายๆท่านคงทราบดีแล้วว่ากรมหลวงชุมพรฯนั้นทรงเป็นองค์บิดาของทหารเรือไทย นอกจากนี้ยังทรงเป็นหมอที่มีชื่อเสียงที่คนรู้จักในนามหมอพร เพราะทรงศึกษาหาความรู้ทั้งแพทย์แผนไทยและแพทย์ตะวันตกถึงขนาดที่ว่าสามารถออกรักษาโรคให้ชาวบ้านได้ และสิ่งหนึ่งที่เป็นภาพจำที่ทุกคนจะต้องนึกถึงคือความเป็นผู้สนพระทัยในวิชาไสยศาสตร์ที่ทราบกันดีว่าทรงเป็นศิษย์ของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่านั่นเอง
แต่ที่น้อยคนจะทราบคือ ทรงมีความสนพระทัยในทางธรรมชาติวิทยาอีกด้วย โดยหม่อมเจ้าครรชิตพล พระโอรสของพระองค์ได้บันทึกไว้ว่า
"...เสด็จพ่อทรงเล่นแร่แปรธาตุ ก็ทรงเรียนไปด้วย เคยจับผีเสื้อและแมลงมาสตัฟไว้เป็นหีบๆ ตอนหลังได้ส่งไปเป็นสมบัติของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ..."
ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๕๔๘ ดร.องุ่น ลิ่ววานิช นักกีฏวิทยาอาวุโสเดินทางไปที่กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ เพื่อนำตัวอย่างหิ่งห้อยจากประเทศไทยไปศึกษาเปรียบเทียบกับหิ่งห้อยต้นแบบ ซึ่งเมื่อสำรวจพบว่ามีหิ่งห้อยตัวอย่างที่มาจากประเทศไทยสองตัว และเมื่อสืบค้นที่มาก็พบว่าตัวอย่างหิ่งห้อยที่ส่งมาที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา กรุงลอนดอนนั้นมาจากกรมหลวงชุมพรฯ
การค้นพบดังกล่าวถึงกับเปลี่ยนความรับรู้ทางประวัติศาสตร์วงการกีฏวิทยาของไทย เนื่องจากหลักฐานแรกระบุว่าการศึกษาหิ่งห้อยในไทยนั้น ได้นำตัวอย่างหิ่งห้อยครั้งแรกมาจากพันตรีดับเบิลยู. อาร์. เอส. ลาเดลล์เมื่อปี ๒๔๗๒ แต่จากที่ค้นพบใหม่พบว่ากรมหลวงชุมพรฯนั้นส่งตัวอย่างหิ่งห้อยจากสยามไปให้พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา กรุงลอนดอน ศึกษาจำแนกชนิดมาแล้วตั้งแต่ปี ๒๔๖๔ ก่อนหน้าพันตรีลาเดลล์ถึงแปดปี
ถือว่าเป็นการค้นพบที่ทำให้เราได้ทราบถึงพระปรีชาญาณอีกด้านหนึ่งของกรมหลวงชุมพรฯที่น้อยคนจะทราบ
ข้อมูลจากหนังสือ ให้โลกทั้งหลายเขาลือ : เสด็จเตี่ย กรมหลวงชุมพรฯ ของคุณศรัณย์ ทองปาน
โฆษณา