19 พ.ค. 2020 เวลา 15:39 • ท่องเที่ยว
เที่ยวบ้านหัวทุ่ง...ชมความงามธรรมชาติตีนดอยหลวงเชียงดาว
เมื่อเอ่ยถึง ‘เชียงดาว’ หลายคนรู้จักกันดีในมุมมองหลากหลาย เช่น เป็นเมืองชายแดน ต้นกำเนิดแม่น้ำปิงถ้ำเชียงดาว ดอยหลวงเชียงดาว ฯลฯแต่เสน่ห์เชียงดาวยังมีอีกอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ นั่นคือ ความเป็นชุมชนท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์วิถีชีวิตอยู่ร่วมสอดคล้องกับธรรมชาติกันมาช้านานได้ช่วยดึงดูดให้นักท่องเที่ยว นักเดินทางทั้งชาวไทยและต่างชาติแวะเวียนมาเยือนอย่างไม่ขาดสาย บ้างถึงขั้นหยุดชีวิต พักหัวใจเอาไว้ ปักหลักสร้างบ้านเรือนอยู่ที่เชียงดาวอย่างถาวรกันเลยทีเดียว
บ้านหัวทุ่ง เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่ผมถือว่าโดดเด่นในความเป็นท้องถิ่นตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอไปตามทางแยกถนนสายเลี่ยงเมืองไปไม่กี่กิโลเมตร จะเจอทางแยกซ้ายมือ ตัดผ่านบ้านทุ่งละคร เข้าไปก็จะพบชุมชนบ้านหัวทุ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ ตีนดอยหลวงเชียงดาวกับดอยนางพื้นที่ตรงนี้ มีลำห้วยแม่ลุซึ่งไหลมาจากป่าต้นน้ำ น้ำแม่ลุ มีความสำคัญผู้คนแถบนี้มากเนื่องจากเป็นลำน้ำที่ไหลไปหล่อเลี้ยงชีวิตเกษตรกรผู้ใช้น้ำถึง 5 หมู่บ้าน ก่อนจะไหลลงไปรวมกับแม่น้ำปิงแถวบ้านวังจ๊อมของเชียงดาว
จุดเด่นของชุมชนบ้านหัวทุ่ง ก็คือเป็นชุมชนของการอยู่ร่วมดูแลฐานทรัพยากรธรรมชาติกันมาอย่างยาวนานนั่นเอง จึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไม ชุมชนเล็กๆ นี้ ถึงได้รับรางวัลมากมาย โดยเฉพาะในปี 2555 ที่ผ่านมา ก็ได้รับรางวัลหมู่บ้านปลอดการเผา ปี 2555 จาก กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและกรมควบคุมมลพิษ หรือรางวัลชนะเลิศหมู่บ้านปลอดการเผา “ชุมชนสีเขียว” ระดับจังหวัด เป็นต้น นอกจากนั้น บ้านหัวทุ่ง ยังได้รับรางวัลหมู่บ้านท่องเที่ยวต้นแบบเชิงนิเวศ จากสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ อีกด้วย ซึ่งรางวัลเหล่านี้ ถือว่าได้สร้างขวัญกำลังใจให้คนในชุมชนเป็นอย่างมาก
เมื่อพูดสถานที่ท่องเที่ยวของบ้านหัวทุ่ง สิ่งแรกที่อยากแนะนำให้ไปเยือน ก็คือ ‘น้ำออกฮู’ หรือน้ำออกรู ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องแปลกแต่งดงาม เมื่อจู่ๆ ก็มีน้ำใสๆ ได้ไหลทะลักออกจากซอกรู โตรกผา ของตีนดอยหลวงเชียงดาว ทั้งที่เป็นภูเขาหินปูน
น้ำออกรู
แม่หล้า ศรีบุญยัง ปราชญ์ชุมชนบ้านหัวทุ่ง ได้บอกเล่าถึงตำนานเรื่องเล่าของน้ำออกรู เอาไว้ว่า “คนเฒ่าคนแก่ เล่าว่า ตามตำนานบนดอยหลวงเชียงดาว นั้นมีเจ้าพ่อหลวงคำแดงกับแม่นางอินเหลา ตอนหลังแม่นางอินเหลาเขามาเปลี่ยนชื่อเป็นแม่นางคำเขียว ที่รักษาหัวน้ำฮูแห่งนี้ ที่ทุกคนคิดว่าแปลก ก็คือ ลักษณะทั่วไปของดอยหลวงเชียงดาวนั้นเป็นเทือกเขาหินปูน ซึ่งถ้าพูดในเชิงวิชาการ เขาว่าเขาหินปูน มันเก็บน้ำไม่ได้ แต่ทำไมถึงมีน้ำออกรูให้ชาวบ้านหัวทุ่งได้ใช้กันจนถึงทุกวันนี้ ถ้าตอบแบบชาวบ้าน ก็คือเพราะความศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง”
แม่หล้า บอกอีกว่า ชาวบ้านที่นี่มีความเชื่อกันว่า ที่น้ำออกรูแบบนี้ เขาว่ากันว่า ผีปันกิน คือผีเจ้าป่าเจ้าเขาได้แบ่งให้กิน
“คือถ้าเราไปยืนดู ไปเห็นขุนน้ำ มันจะลาดเอียงไปทางบ้านถ้ำ น้ำมันน่าจะไหลไปทางบ้านถ้ำ แต่นี่ทำไมน้ำถึงไหลลงมายังฝั่งบ้านหัวทุ่ง ซึ่งเราดูด้วยสายตาก็รู้ เพราะดอยหลวงกับดอยนางมันคู่กัน ดอยหลวงคือเจ้าพ่อหลวงคำแดง ส่วนดอยนางคือเจ้าแม่นางคำเขียว คล้ายกับปั๋นเมียเปิ้นมาเลี้ยงลูกหลานทางนี้”
ที่น่าสนใจ ก็คือ น้ำออกรู จะไม่ไหลตลอดปี แต่จะแห้งหายไปในหน้าหนาว หน้าแล้ง กระนั้นยังเหลือเป็นบึงน้ำซับขนาดใหญ่ไว้หล่อเลี้ยงผู้คนได้ไม่เคยขาดแคลน
“ใช่แล้ว พอถึงช่วงหน้าหนาว เดือนพฤศจิกา ปลายธันวา มันจะแห้ง ถึงแม้ว่าฝนจะตกลงมากี่ห่า มันก็ไม่ออกมาแล้ว แต่ว่ามันจะซับน้ำเอาไว้อยู่ จนกลายเป็นบึงน้ำซับกลายเป็นอ่างใหญ่ เขาเรียกว่าลุ่มน้ำลุ มันซับออกมาเลี้ยง 5 หมู่บ้านได้ใช้กันอย่างพอเพียง”
ผมถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติได้สรรสร้างเอาไว้ให้กับมวลมนุษย์
นอกจากนั้น บ้านหัวทุ่ง ยังมีกิจกรรมอีกหลากหลายรูปแบบ เช่น การตั้งกลุ่มสมุนไพร การปลูกไผ่เศรษฐกิจ ชุมชนปลอดขยะ ชุมชนปลอดจากการเผา กิจกรรมสร้างสรรค์เหล่านี้ ได้ทำให้ชุมชนบ้านหัวทุ่ง กลายมาเป็น “การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ”ซึ่งสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน ได้เข้ามาหนุนเสริม ว่ากันว่า ที่ผ่านมา มีทั้งผู้นำชุมชนนักศึกษา ประชาชน รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศได้เข้ามาเที่ยวชมและศึกษาดูงานกันอย่างต่อเนื่อง
ทุกวันนี้ ชุมชนบ้านหัวทุ่ง นอกจากดำรงวิถีชีวิตไปตามปกติสุขแล้ว ชุมชนยังรองรับการท่องเที่ยวไปพร้อมๆ กันด้วย ชาวบ้านมีการจัดบ้านพักโฮมสเตย์เอาไว้ รองรับนักท่องเที่ยว ในห้วงเวลา 1 คืน 2 วัน หลายคนอาจมองว่าห้วงเวลาสั้นไป แต่ชาวบ้านบอกว่าถ้ามาเยือนแล้ว รับรองได้อะไรกลับไปเยอะแน่นอน
“ชาวบ้านจะรอต้อนรับนักท่องเที่ยวแล้วก็พาเข้าบ้านพัก ตกเย็นก็จะพาเดินดูวิถีชีวิตของชุมชนบ้านหัวทุ่ง ว่าอยู่กันอย่างไร จากนั้น วันรุ่งเช้า เราก็จะพาเข้าไปเที่ยวในป่าชุมชน ไปศึกษาดูว่าป่ามันฟื้นอย่างไร ในป่าก็จะมีจุดการศึกษา โดยจะมีมัคคุเทศก์ของหมู่บ้านคอยให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยว หลังจากนั้น เราก็จะทานข้าวเที่ยงร่วมกัน ก่อนแยกย้ายกันกลับไป”
“ป่ามันคือชีวิต น้ำก็คือชีวิต ป่านี่เป็นปัจจัยสี่ ที่คนควรจะเข้าไปเอาใจใส่ดูแลมัน ทุกวันนี้ เราเข้าไปในป่า เราไม่มีเงินซักบาท เราก็ยังได้กิน เหมือนกับเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของคนจน หรือเจ็บป่วยเราเข้าไปยาอันไหนดีมีที่นั่นเยอะแยะ แล้วก็มองเห็นว่าป่ามันมีชีวิตจริงๆ”ผมชอบนั่งฟังแม่หล้า ศรีบุญยัง บอกเล่าเรื่องคนอยู่กับป่าให้ผมฟังไม่รู้เบื่อ
ที่สำคัญ แม่หล้า ฝากบอกผ่านผมมาว่า“อยากฝากไปถึงคนที่อยู่ในเมืองคนทั่วประเทศ คนที่ไม่มีป่าด้วยว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านหัวทุ่งได้ช่วยกันดูแลป่านั้น ก็ไม่ใช่เพื่อชาวหัวทุ่งเท่านั้น เพราะอากาศบริสุทธิ์ มันก็ลอยไปทั่วประเทศ ทั่วโลก ขนาดเขาอยู่ต่างประเทศเขายังจะมาซื้ออากาศบ้านเรา เราในฐานะที่เป็นคนบ้านหัวทุ่งที่ดูแลป่ามาได้กว่า 20 ปีแล้ว ก็อยากจะเชิญชวนไปถึงทุกคนว่าถึงแม้คุณไม่มีป่า อยู่ในเมือง ก็ขอส่งกำลังใจให้คนที่ดูแลรักษาป่าบ้างก็ยังดี” ผู้นำธรรมชาติแห่งบ้านหัวทุ่ง บอกอย่างนั้น
ใช่ครับ ทุกวันนี้คนบ้านหัวทุ่งยังคงร่วมกันดูแลผืนดิน ผืนป่า น้ำ ฟ้า อากาศและผืนโลก อยู่อย่างนั้น เหมือนไม่มีวันจบสิ้น
ที่น่าสนใจก็คือ ที่ผ่านมา คนบ้านหัวทุ่งยังได้ร่วมกันนำเสนองานวิจัยชุมชนเรื่อง การปรับตัววิถีพึ่งตนเองบนฐานทรัพยากรของชุมชนที่ชาวบ้านได้ร่วมกันทำขึ้นมาด้วยตนเอง แล้วให้ทางสกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นพี่เลี้ยงอยู่ห่างๆ ใช่แล้ว งานวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นงานวิจัยเพื่อชุมชน โดยคนในชุมชนอย่างแท้จริงภายในงาน ผมนั่งฟัง การสืบสานการทำงานของชุมชน การสืบสานรากเหง้า จากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างน่าชื่นชม
จำได้ว่า บนเวทีวันนั้น จิราวรรณ คำซาว เธอเป็นแกนนำเยาวชนชุมชนบ้านหัวทุ่งได้เอ่ยย้ำความตั้งใจเอาไว้ว่า“เราอยากจะให้บ้านหัวทุ่งนั้นมี 6 ดี ด้วยกัน คือ ป่าดี น้ำดี ดินดี อากาศดี อาหารดี และคนดี ซึ่ง ณ เวลานี้เราก็มีครบทุกอย่างแล้ว” ตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่บ้านหัวทุ่ง บอกเล่าให้ฟัง
แน่ละ หลายคนที่มาร่วมงานในวันนั้น อย่างน้อยคงได้หันกลับไปมองชุมชนของตนอย่างสนใจใคร่ครวญอีกครั้งว่าจริงๆ แล้ว การดูแลรักษาโลกให้น่าอยู่ไม่ต้องทำอะไรที่เอิกเกริกใหญ่โตมโหฬาร เพียงแค่เราเริ่มต้นที่บ้านและชุมชนของตนเองก่อน ก็ถือว่าเรามีส่วนในการรักษ์โลกแล้ว.
โฆษณา