21 พ.ค. 2020 เวลา 02:40 • ธุรกิจ
ฝันร้าย ธุรกิจเติมน้ำมันเครื่องบิน ของ BAFS
 
ธุรกิจสายการบินทั่วโลก ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายการบินหลายแห่งเสี่ยงต่อการล้มละลาย เนื่องจากไม่สามารถทำการบินได้
เมื่อสายการบินไม่บินหรือบินน้อยลง ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเติมน้ำมันบ่อยเหมือนช่วงเวลาปกติ
และเรื่องนี้กำลังสร้างฝันร้ายให้กับธุรกิจให้บริการเติมน้ำมันให้สายการบิน
ซึ่งหนึ่งในนั้นคือบริษัทไทยชื่อ BAFS
เรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ถ้าถามว่า ธุรกิจให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานในประเทศไทยมีการแข่งขันกันสูงหรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่
ทั้งนี้เนื่องจากธรรมชาติของธุรกิจที่ต้องมีการใช้เงินลงทุนสูง ที่สำคัญยังต้องได้รับสัมปทานหรือได้รับอนุญาตจากท่าอากาศยาน
1
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงทำให้ธุรกิจนี้มีการแข่งขันกันน้อยเนื่องจากอุปสรรคที่มากในการเข้าสู่ธุรกิจของผู้ให้บริการรายใหม่
ปัจจุบัน ในประเทศไทยผู้ให้บริการรายใหญ่ที่สุดในธุรกิจเติมน้ำมันแก่สายการบินคือ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS
โดยโครงสร้างรายได้หลักๆ ของบริษัทประกอบไปด้วย
1) รายได้ค่าบริการ การให้บริการเติมน้ำมันเครื่องบิน 78%
2) รายได้การให้บริการ การขนส่งน้ำมันทางท่อ 21%
3) รายได้อื่น 1%
เมื่อดูแบบนี้จะเห็นว่าธุรกิจหลักของ BAFS ก็คือ การให้บริการเติมน้ำมันเครื่องบิน
แล้วตอนนี้ BAFS ให้บริการเติมน้ำมันเครื่องบินที่สนามบินไหนบ้าง?
ปัจจุบัน บริษัทเป็นผู้ลงทุนและดำเนินงานการให้บริการเติมนํ้ามันแก่สายการบินในสนามบินทั้งหมด 5 แห่ง คือ สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง สนามบินสมุย สนามบินสุโขทัย และสนามบินตราด
โดยที่สนามบินสุวรรณภูมิ มีผู้ได้รับสัมปทานการให้บริการนํ้ามันแก่สายการบินเพียง 2 ราย
โดย BAFS มีส่วนแบ่งตลาด 89%
ขณะที่สนามบินที่เหลืออีก 4 แห่งนั้น BAFS เป็นผู้ให้บริการเติมน้ำมันเครื่องบินแต่เพียงรายเดียว หรือมีส่วนแบ่งตลาด 100%
Cr. BAFS
ซึ่งนี่คือ จุดเด่นของบริษัท และทำให้ BAFS นั้นคือ ผู้ครองส่วนแบ่งของธุรกิจเติมน้ำมันแก่สายการบินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ซึ่งปริมาณการเดินทางเข้ามาในสนามบินของเครื่องบินต่างๆ นั้น มีผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ของบริษัท
ถ้าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเติบโตดี บริษัทก็จะมีลูกค้า ซึ่งก็คือสายการบินมาใช้บริการ
แต่ถ้าไม่ สิ่งที่เกิดขึ้นก็จะเป็นฝันร้ายของบริษัท เหมือนอย่างที่กำลังเกิดขึ้น ณ ตอนนี้
1
รัฐบาลในหลายประเทศต้องประกาศไม่ให้มีการเดินทางเข้า-ออก ระหว่างประเทศด้วยเครื่องบินเป็นการชั่วคราว
เรื่องนี้ จึงทำให้จำนวนผู้โดยสารและจำนวนเที่ยวบินที่ BAFS ให้บริการเติมน้ำมัน ณ สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองลดลง
ไตรมาสที่ 1/2562 จำนวนผู้โดยสาร 28.4 ล้านคน จำนวนเที่ยวบิน 79,535 เที่ยว
ไตรมาสที่ 1/2563 จำนวนผู้โดยสาร 19.6 ล้านคน จำนวนเที่ยวบิน 64,613 เที่ยว
Cr. Thairath
เมื่อจำนวนเที่ยวบินที่มาใช้บริการเติมน้ำมันลดลง จึงไม่แปลกที่ทำให้ทั้งรายได้และกำไรของ BAFS ปรับตัวลดลงอย่างหนัก
ไตรมาสที่ 1/2562 รายได้ 1,025 ล้านบาท กำไร 368 ล้านบาท
ไตรมาสที่ 1/2563 รายได้ 867 ล้านบาท กำไร 153 ล้านบาท
รายได้ลดลงไป 15% ขณะที่กำไรลดลง 58%
เรียกได้ว่า ธุรกิจให้บริการเติมน้ำมันก็กำลังบอบช้ำไม่แพ้ธุรกิจสายการบินและธุรกิจสนามบิน
และอย่างที่ทุกคนทราบ ไตรมาสที่ 2 ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบินจะกระทบหนักกว่าไตรมาสที่ 1 เสียอีก
แต่ BAFS นั้นมีสถานะการเงินค่อนข้างดี ต่างจากสายการบินที่มีหนี้เป็นจำนวนมาก ก็น่าจะทำให้บริษัทนี้สามารถฝ่าฟันวิกฤติในครั้งนี้ไปได้หลังจากเหตุการณ์นี้คลี่คลายลง
อย่างไรก็ตาม
เรื่องนี้อาจบอกเราว่า แม้ธุรกิจที่ดูเหมือนผูกขาด และแทบจะนอนมาแบบไม่มีคู่แข่ง ก็สามารถเกิดวิกฤติไม่คาดฝันได้ตลอดเวลาอย่างที่ BAFS กำลังเจออยู่ในตอนนี้
1
ซึ่งก็คงคล้ายประโยคคุ้นหูที่หลายคนคงเคยได้ยินนั่นก็คือ “ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน” ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเรื่องทั้งเรื่องการทำงาน การใช้ชีวิต และเรื่องของการลงทุน..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
รู้หรือไม่ว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ BAFS ก็คือบริษัทสายการบิน สนามบิน และบริษัทน้ำมันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เอสโซ่, ปตท., เชลล์, เชฟรอน, ท่าอากาศยานไทย, การบินกรุงเทพ และหลายคนอาจไม่รู้ว่า ผู้ถือหุ้นที่ใหญ่สุดของ BAFS ก็คือ “การบินไทย” ซึ่งถือหุ้นมากถึง 22.59% ของบริษัทนี้..
Cr. Thai Airways
References
-แบบฟอร์ม 56-1 ปี 2562 บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
-คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ไตรมาสที่ 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 2563 บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
โฆษณา