20 พ.ค. 2020 เวลา 09:36 • ประวัติศาสตร์
พระราชโองการสุดท้ายของพระนเรศ
จดหมายเหตุเรื่อง “Cort Verhael van’t naturel eijnde der volbrachter tijt ende successive de Coningen van Siam, voor sooveel daer bij d’oude historien bekent sijn” หรือ พงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาฉบับย่อ ของ เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias Van Vliet) หัวหน้าสถานีการค้าบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (Vereenigde Oostindische Compagnie; VOC) ประจำกรุงสยาม เรียบเรียงขึ้นใน ค.ศ. ๑๖๔๐ (พ.ศ. ๒๑๘๓) รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศไว้หลายประการ
จดหมายเหตุฉบับนี้แต่งขึ้นหลังสมเด็จพระนเรศสวรรคตไปแล้วประมาณ ๓๕ ปี เข้าใจว่า ฟาน ฟลีต อาจได้ข้อมูลจากพระราชพงศาวดารหรือเอกสารอื่นๆ ของราชสำนัก ประกอบกับ “มุขปาฐะ” หรือคำบอกเล่าของชาวอยุทธยาที่มีชีวิตในเวลานั้นมาด้วย ทำให้มีเนื้อหาหลายส่วนที่ไม่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาค้นพบในปัจจุบัน
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทุ่งภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
หนึ่งในเรื่องที่น่าสนใจคือ พระราชโองการสุดท้ายของสมเด็จพระนเรศ ที่ฟาน ฟลีตบันทึกว่า
“ในปีสุดท้ายของรัชกาล พระองค์ยกทัพไปเมืองหางอีกครั้งหนึ่งเพื่อโจมตีเมืองตองอู เมื่อถึงเมืองนั้น ทรงประชวร และสิ้นพระชนม์หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อพระชนมายุได้ ๕๕ พรรษา เสวยราชย์อยู่ ๒๐ ปี แต่ไม่ได้ประทับอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาเกิน ๒ ปี เลย เวลาที่เหลืออีก ๑๘ ปี ทรงใช้ในการทำสงคราม และประทับอยู่ในสถานที่ดังกล่าวมาแล้ว
ในรัชสมัยของพระองค์ ประเทศเจริญรุ่งเรืองและประสบแต่โชคชัย
ก่อนจะสิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงต้องการให้พระเชษฐา [ที่ถูกควรเป็นพระอนุชา] (ซึ่งร่วมทำสงครามกับพระองค์) สาบานว่าจะไม่ไปจากเมืองตองอูจนกว่าจะได้รับชัยชนะ และอย่าถวายพระเพลิงพระองค์ และเมื่อรบชนะตองอูแล้ว ให้มัดพระศพกับหัวช้างและจูงเข้าเมืองไป เพื่อพระองค์จะได้ประสบความสำเร็จตามที่ได้ตั้งปณิธานไว้
อย่างไรก็ดี พระอนุชาก็ไม่ได้ทรงรักษาคำมั่นเหล่าสัญญานั้น (ซึ่งพระองค์ควรจะรักษา) เมื่อทรงเห็นพระเชษฐาสิ้นพระชนม์ ก็ทรงเลิกทัพยกกลับกรุงศรีอยุธยา ทรงนำพระศพสมเด็จพระนเรศกลับมาถวายพระเพลิงตามประเพณีของแผ่นดิน”
.
ฟาน ฟลีต ระบุว่าสมเด็จพระนเรศทรงมีพระราชประสงค์จะเสด็จไปตีเมืองตองอู ต่างจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาพงศาวดารพม่า และโคลงมังทรารบเชียงใหม่ที่ระบุว่าสมเด็จพระนเรศสวรรคตระหว่างทรงยกทัพเสด็จไปตีเมืองอังวะ โดยพระระพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาระบุว่าทรงมีพระราชพระสงค์ที่จะตอบโต้อังวะที่ขยายอำนาจมารุกรานเมืองนายและแสนหวีที่เป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุทธยาในเวลานั้น
อย่างไรก็ตาม หากเชื่อว่าสิ่งที่ ฟาน ฟลีต บันทึกเป็นความจริง ก็มีความเป็นไปได้ที่สมเด็จพระนเรศจะทรงมีพระราชประสงค์ที่จะขยายอำนาจไปถึงเมืองตองอูในสงครามครั้งนี้ด้วย
แผนที่แสดงดินแดนที่อยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรหงสาวดี ในรัชสมัยพระเจ้าบุเรงนอง
ในอดีต เมื่อสมเด็จพระนเรศทรงยกทัพตีกรุงหงสาวดีใน พ.ศ. ๒๑๔๑-๒๑๔๒ พระเจ้าตองอูมังรายสีหสู (မင်းရဲသီဟသူ) ได้ยอมถวายบรรณาการอ่อนน้อมต่อกรุงศรีอยุทธยาและจะให้ยกกองทัพมาช่วยเหลือตีกรุงหงสาวดี
แต่ในระหว่างที่กองทัพกรุงศรีอยุทธยายังมาไม่ถึง พระเจ้าตองอูทรงร่วมมือกับกษัตริย์แห่งยะไข่ (อาระกัน) ยึดครองกรุงหงสาวดีได้สำเร็จ พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง (နန္ဒဘုရင်) ต้องสละราชสมบัติให้พระเจ้าตองอู ฝ่ายพระเจ้าตองอูได้ข่าวว่าสมเด็จพระนเรศกำลังยกกองทัพมาจึงกวาดต้อนพระราชวงศ์และราษฎร รวบถึงทรัพย์สินของมีค่าทั้งหลายไปยังเมืองตองอู ทิ้งกรุงหงสาวดีให้ยะไข่ดูแลแทน ภายหลังพวกยะไข่ได้จุดไฟเผากรุงหงสาวดีจนพินาศ
สมเด็จพระนเรศทรงจึงเสด็จยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองตองอูอยู่ประมาณ ๒ เดือน แต่เนื่องจากขาดเสบียงอาหารอย่างหนักจึงต้องทรงถอยทัพกลับในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๑๔๓
ฟาน ฟลีต บันทึกถึงสมเด็จพระนเรศไว้ว่า “ในระหว่างทางจากเมืองตองอู ทรงให้สัตย์ปฏิญาณว่าจะไม่ทรงเข้ากรุงศรีอยุธยา จนกว่าจะได้ชัยชนะ และเข้าเมืองตองอูเสียก่อน”
.
สมเด็จพระนเรศไม่ได้ทรงล้มเลิกความคิดที่จะตีเมืองตองอูเลย เพราะปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาว่าสงครามครั้งสุดท้ายของพระองค์เดิมมีเป้าหมายคือเมืองตองอู แต่เนื่องจากได้ข่าวว่าอังวะกำลังยกทัพไปตีเมืองแสนหวี จึงทรงเปลี่ยนเป้าหมายไปอังวะก่อน
“เดือน ๑๒ พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ก็มีพระราชโองการตรัสให้บำรุงช้างม้ารี้พลทั้งปวงไว้สรรพ จะยกทัพหลวงเสด็จไปเอาเมืองตองอู จึงมีข่าวมาว่าพระยาอังวะยกมาเอาเมืองนายแลได้เมืองนายแล้ว และพระยาอังวะจะยกไปเอาเมืองแสนหวีเล่า พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ก็มีพระราชโองการตรัสว่า เมืองนายและเมืองแสนหวีไซร้ ได้เป็นขันฑสีมาฝ่ายกรุงพระนครศรีอยุธยาแล้ว และซึ่งพระยาอังวะมาเอาเมือง นายแลเมืองแสนหวีดังนี้ ควรเรายกทัพหลวงไปเมืองอังวะ จึงมีพระราชกำหนดแก่ท้าวพระยาสามนตราช เสนาบดีมนตรีทั้งปวง ให้ตรวจเครื่องสรรพาวุธช้างม้ารี้พลทั้งปวงจงสรรพ และจะยกทัพหลวงเสด็จไปเอาเมืองอังวะ” – พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
.
การขยายอำนาจของสมเด็จพระนเรศไม่ได้มีจุดประสงค์แค่การคุ้มกันเมืองแสนหวี แต่เป็นการพิชิตอังวะที่เป็นภัยคุกคามโดยตรง
เป็นไปได้ที่สงครามครั้งนั้นพระองค์ไม่ได้มีเป้าหมายอยู่เพียงเมืองอังวะเท่านั้น แต่อาจมีจุดประสงค์ที่จะขยายอำนาจไปไกลสุดถึงเมืองตองอูที่เป็นเป้าหมายเดิมของพระองค์
ทั้งนี้หากกรุงศรีอยุทธยาต้องการตีเมืองตองอูโดยเคลื่อนทัพผ่านทางหัวเมืองล้านนาที่เป็นประเทศราขของตน จำเป็นต้องตีเมืองอังวะรวมถึงหัวเมืองไทใหญ่ที่อยู่ทางเหนือของเมืองตองอูให้ได้เสียก่อน โดยกรุงศรีอยุทธยาอาจอาศัยแสนหวีที่เป็นประเทศราชของตนให้ช่วยเป็นกำลังสนับสนุนอีกทางหนึ่ง ดังที่ปรากฏในหลักฐานฝ่ายพม่าว่าแสนหวีสนับสนุนให้เมืองพะโม (ဗန်းမော်) ที่เป็นประเทศราชของอังวะแข็งเมืองในต้น พ.ศ. ๒๑๔๘
แต่ทั้งนี้อังวะภายใต้การปกครองของพระเจ้าสีหสูรมหาธรรมราชา (သီဟသူရ မဟာဓမ္မရာဇာ) โอรสของพระเจ้าบุเรงนอง กำลังเข้มแข็ง เนื่องจากสามารถขยายอำนาจครอบครองหัวเมืองในดินแดนพม่าตอนบนรวมถึงหัวเมืองไทใหญ่สำคัญในรัฐชานเกือบทั้งหมดแล้ว จึงยากที่จะสรุปได้ว่ากรุงศรีอยุทธยาจะสามรถเอาชนะอังวะแล้วขยายอำนาจไปถึงตองอูได้หรือไม่ หากสมเด็จพระนเรศไม่เสด็จสวรรคตไปเสียก่อน
พิจารณาจากพระราชโองการสุดท้ายที่ทรงมีแก่สมเด็จพระเอกาทศรถตามที่เมืองหางตามที่ ฟาน ฟลีต บันทึกไว้ ทำให้น่าเชื่อว่า ในสงครามครั้งสุดท้าย พระองค์มีพระราชประสงค์จะพิชิตทั้งอังวะและตองอูไว้ในพระราชอำนาจให้ได้ และถึงแม้ว่าพระองค์จะสวรรคตไปก่อนก็ทรงคาดหวังให้สมเด็จพระเอกาทศรถสานต่อพระราชปณิธานขยายอำนาจไปถึงเมืองตองอูให้สำเร็จ “และเมื่อรบชนะตองอูแล้ว ให้มัดพระศพกับหัวช้างและจูงเข้าเมืองไป เพื่อพระองค์จะได้ประสบความสำเร็จตามที่ได้ตั้งปณิธานไว้”
แต่เมื่อสมเด็จพระนเรศวรประชวรจนเสด็จสวรรคตในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๑๔๘ สมเด็จพระเอกาทศรถทรงยุติการทำสงคราม มีพระราชโองการให้เรียกกองทัพทั้งหมดกลับ แล้วอัญเชิญพระบรมศพของพระเชษฐาธิราชกลับไปถวายพระเพลิงที่กรุงศรีอยุทธยา ปฏิบัติการทางทหารที่วางไว้จึงถูกล้มเลิกไป ในขณะที่พระเจ้าอังวะทรงสามารถพิชิตเมืองแสนหวีและหัวเมืองไทใหญ่ที่เหลืออยู่ได้ทั้งสิ้น
จิตรกรรมฝาผนังพระวิหาร วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แสดงภาพการอัญเชิญพระบรมศพสมเด็จพระนเรศกลับกรุงศรีอยุทธยา ผลงานของ มหาเสวกตรี พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร)
แต่ถึงกระนั้น ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาว่าในปีที่สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จขึ้นครองราชย์ ตองอูได้ถวายบรรณาการยอมเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุทธยา
“ณ เดือนยี่ พระยาตองอูก็แต่งราชทูต อุปทูต ตรีทูต ถือพระราชสาส์นคุมช้างม้าเครื่องราชบรรณาการมาถวาย แด่พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนาถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงพระนครศรีอยุธยา ขอพึ่งพระราชสมภารสืบไป...ในปีมะเส็งเดือน ๓ นั้น ข้าหลวงผู้รั้งเมืองเมาะลำเลิง ได้พระยาพะโรและมอญกบฏทั้งปวงอยู่ริมฝั่งสะโตงนั้นมาถวาย และเม็งมอญอันอยู่ในเมืองเมาะลำเลิง แลเมืองเมาะตะมะนั้น ก็ราบคาบไปจนเมืองตองอู” – พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
สอดคล้องกับหลักฐานร่วมสมัยคือจดหมายถึง วิคเตอร์ สปริงค์เกล (Victor Sprinckel) ลงวันที่ ๑๓ กันยายน ค.ศ. ๑๖๐๙ (พ.ศ. ๒๑๕๒) ระบุว่า
“วันที่ ๑๐ สิงหาคม คณะทูตจากพระเจ้าแผ่นดินเมืองตองอู (Tangou) เดินทางมาถึง ได้นำทับทิมเม็ดใหญ่มาถวายพระเจ้าแผ่นดินสยามเป็นเครื่องราชบรรณาการสำหรับความช่วยเหลือต่าง ๆ…”
แสดงว่าในเวลานั้นตองอูยอมสวามิภักดิ์กรุงศรีอยุทธยาแล้ว และได้รับการสนับสนุนจากสมเด็จพระเอกาทศรถ
.
สาเหตุที่ตองอูยอมอ่อนน้อมเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุทธยาไม่ปรากฏชัดเจน สันนิษฐานว่าตองอูอาจตระหนักถึงอิทธิพลของกรุงศรีอยุทธยาที่กลายเป็นมหาอำนาจของภูมิภาคในเวลานั้น ในขณะที่ตองอูอยู่ในสภาวะไม่มั่นคงเนื่องจากมีเมืองอังวะทางเหนือ เมืองแปรทางตะวันตก และ ฟีลีปึ ดึ บรีตู อี นีโกตึ (Filipe de Brito e Nicote) เจ้าเมืองสิเรียมที่มีอำนาจปกครองหัวเมืองมอญทางใต้โดยได้รับการสนับสนุนจากโปรตุเกสที่เป็นหอกข้างแคร่
อีกประการหนึ่ง ตองอูอาจประเมินแล้วว่าพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาพระองค์ใหม่ไม่ได้ทรงมีท่าทีแข็งกร้าวต่อตองอูเหมือนสมเด็จพระนเรศ จึงเลือกยอมอ่อนน้อมต่อกรุงศรีอยุทธยาเสียก่อนเพื่อหลีกเลี่ยงการเปิดศึกหลายด้าน โดยอาจมีจุดประสงค์ได้รับความช่วยเหลือจากกรุงศรีอยุทธยาในการต้านทานเมืองแปรและเมืองอังวะด้วย
5
กรุงศรีอยุทธยาจึงสามารถผนวกตองอูมารวมในปริมณฑลอำนาจได้ตามที่สมเด็จพระนเรศทรงตั้งปณิธานไว้ โดยไม่ต้องทำสงครามรุกรานโดยตรง
บรรณานุกรม
- กรมศิลปากร. (๒๕๑๓). เอกสารของฮอลันดาสมัยกรุงศรีอยุธยา (นันทา สุตกุล, ผู้แปล). พระนคร: กรุงศิลปากร.
- นราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. (๒๕๕๐). พระราชพงศาวดารพม่า. พิมพ์ครั้งที่ ๒. นนทบุรี: ศรีปัญญา.
- พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เรื่องลำดับศักราชสมัยกรุงศรีอยุธยา (พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ). (ม.ป.ป.). [หนังสือสมุดไทยดำ]. (เลขที่ ๓๐ หมวดจดหมายเหตุ กรุงศรีอยุธยา). เส้นหรดาล. หอสมุดแห่งชาติ. กรุงเทพฯ
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐ, คำให้การชาวกรุงเก่า, คำให้การขุนหลวงหาวัด. (๒๕๕๓). นนทบุรี: ศรีปัญญา.
- สุจิตต์ วงษ์เทศ, บรรณาธิการ. (๒๕๔๘). พงศาวดารกรุงศรีอยธยา ฉบับวันวลิต พ.ศ. ๒๑๘๒. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: มติชน.
- สุจิตต์ วงษ์เทศ, บรรณาธิการ. (๒๕๔๕). มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า (นายต่อ, ผู้แปล.). กรุงเทพฯ: มติชน.
- Baker, C., Dhiravat na Pombejra, Kraan, A. van der and Wyatt, D. K. (Eds). (2005). Van Vliet's Siam. Chiang Mai: Silkworm Books.
- Moreland, W.H. (2002). Peter Floris: His Voyage to the East Indies in the Globe, 1611-1615. Bangkok: White Lotus.
- Phraison Salarak, Laung (trans). (1911). Intercourse between Burma and Siam as record in Hmannan Maha Yazawindawgyi. Journal of the Siam Society. 8(2), 1-119.
- Than Tun (1983). The Royal Orders of Burma, A.D. 1598–1885 Part 1, A.D. 1598-1648. Kyoto: Kyoto University.
หมายเหตุ : บทความทั้งหมดเรียบเรียงโดยผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ ผู้ดูแลเพจขอสงวนสิทธิไม่อนุญาตให้นำข้อมูลที่เผยแพร่ในเพจไปแก้ไข ตัดทอน ดัดแปลง คัดลอก ทำซ้ำ หรือเผยแพร่ต่อด้วยวิธีการใดๆ ทั้งสิ้น และห้ามนำไปแสวงหาผลกำไรทางพาณิชย์โดยเด็ดขาด หากมีความประสงค์จะขอบทความของเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ไปเผยแพร่ต่อด้วยวิธีการใดๆ ก็ตามต้องได้รับการยินยอมจากผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ในทุกกรณี ยกเว้นแต่การ "แชร์ (share)" จากหน้าเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์โดยตรงที่สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
โฆษณา