20 พ.ค. 2020 เวลา 14:00
ลุ้นปี 64 ฟื้นคืนชีพพลิกโฉม “หมอชิตเก่า”
ปั้นมิกซ์ยูส - ท่ารถโดยสาร 2.6 หมื่นล้าน คาดเสร็จปี 68
สถานีขนส่งหมอชิตเก่าซึ่งปัจจุบันกลายเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงของรถไฟฟ้าบีทีเอส (เดโป) และลานจอดแล้วจรของประชาชนที่มาใช้บริการรถไฟฟ้า กำลังจะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง หลังจากที่รถโดยสารสาธารณะทางไกลอย่างรถทัวร์และรถตู้ ย้ายไปอยู่ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (หมอชิต 2) ในปัจจุบันหลายสิบปี
ซึ่งโปรเจคคืนชีพหมอชิตเก่านี้มีชื่อว่า “หมอชิตคอมเพล็กซ์” ซึ่งกลุ่มทุนผู้เข้ามาพัฒนาก็คือ บริษัท ซันทาวเวอร์ส จำกัด และ บริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด หรือ BKT ซึ่งได้มีการปิดดีลการเจรจามาราธอนยาวนานกว่า 20 ปี กว่าจะลงตัวและได้สิทธิ์พัฒนาพื้นที่กับกรมธนารักษ์อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว คาดว่าภายในปี 2564 จะสามารถเริ่มดำเนินการเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ หากผลการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านเรียบร้อย ซึ่งก็ต้องรอเนื่องจากช่วงนี้ติดปัญหาไวรัสวิด – 19 ทำให้การเซ็นอนุมัติต้องล่าช้าออกไป และหากปี 64 สามารถก่อสร้างได้ ก็จะใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 68
โดยเอกชนจะได้สัญญาสัมปทาน 30 ปี และต่อได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี มูลค่าการลงทุนในวันปิดดีลสูงถึง 26,900 กว่าล้านบาท
สำหรับ “หมอชิตคอมเพล็กซ์” เป็นโครงการมิกซ์ยูสที่ผสมผสานการใช้อาคารในดำเนินกิจกรรมต่างๆ แบ่งเป็น 3 อาคาร
- ศูนย์กลางคมนาคมและคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ 1 อาคาร
- อาคารด้านทิศเหนือสูง 36 ชั้น
- อาคารด้านทิศใต้สูง 32 ชั้น
- ชั้นใต้ดิน 4 ชั้น
- รวมพื้นที่ใช้สอย 810,000 ตร.ม.
- ภายในประกอบด้วย อาคารสำนักงาน อาคารที่พักอาศัย โรงแรม ศูนย์การค้า อาคารจอดรถ ศูนย์ประชุมและสถานีรับส่งผู้โดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด
**สถานีขนส่งผู้โดยสาร**
- เน้นการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ใช้บริการชานชาลาร่วมกัน ลักษณะเดียวกับสนามบิน
- กำหนดเวลาเข้า – ออกสถานีของรถโดยสารตามตารางเวลา
- มีจอแสดงข้อมูลรถโดยสารและชานชาลาด้วยระบบสารสนเทศ
- มีระบบการตรวจสอบตั๋วและตรวจความปลอดภัยที่ชานชาลาก่อนโดยสาร
- ระบบตู้ขายตั๋วอัตโนมัติและออนไลน์
**ทางยกระดับเข้าสู่สถานีเชื่อต่อกับถนนสายหลัก**
- ทางยกระดับบนถนนพหลโยธินฝั่งขาออก : อำนวยความสะดวกกับผู้ที่ต้องการมุ่งไปทางทิศเหนือ บรรเทารถติดที่จุดกลับรถแยกกำแพงเพชร และช่วยแบ่งเบาปริมาณรถถนนวิภาวดีรังสิต ในอนาคตมีแนวคิดจะขยายทางยกระดับไปลงบนถนนวิภาวดีรังสิตก่อนถึงด่านโทลล์เวย์ลาดพร้าว เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณห้าแยกลาดพร้าว
- ทางเชื่อมยกระดับด้านถนนพหลโยธิน : ฝั่งมุ่งหน้าสะพานควาย เป็นทางยกระดับที่บูรณาการกับสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย ช่วงบริเวณถนนพหลโยธินและถนนกำแพงเพชร ผู้ที่เดินทางมาจากสะพานควายสามารถเลี้ยวซ้ายไปขึ้นทางยกระดับจากถนนกำแพงเพชร 2 เข้าสู่โครงการ ช่วยบรรเทาผลกระทบการจราจรของจุดกลับรถห้าแยกลาดพร้าว และยังเชื่อมต่อโครงข่ายกับพื้นที่ด้านตะวันตกของกรุงเทพฯ
- ทางเชื่อมยกระดับด้านถนนวิภาวดีรังสิตและดอนเมืองโทลล์เวย์ : เป็นทางยกระดับเพื่อเชื่อมพื้นที่สถานีขนส่งในอาคารกับถนนวิภาวดีรังสิตกับโทลล์เวย์ รองรับรถโดยสารและรถยนต์ที่ใช้โทลล์เวย์เข้าออกโครงการ จะมีทางขึ้น - ลงเชื่อมกับถนนวิภาวดีรังสิตสำหรับรถที่ไม่ต้องการใช้ทางด่วน ช่วยบรรเทาผลกระทบด้านการจราจรที่เกิดจากรถโดยสารขนาดใหญ่ให้แยกใช้ทางยกระดับเข้า - ออกพื้นที่
โฆษณา