20 พ.ค. 2020 เวลา 13:36 • ศิลปะ & ออกแบบ
โคมคืออะไร?
คงมีคนอยู่ไม่น้อย ที่ยังสงสัยและอยากรู้ เรื่องโคมหรือโคมล้านนา แม้แต่คนเชียงใหม่ รุ่นใหม่ๆ หรือพี่น้อง ที่อาจจะย้ายถิ่นฐานมาจากจังหวัดอื่น คนไทยในหลายภาค อาจจะรู้สึกว่าเป็นความเชื่ออะไรนะ โคมล้านนา มีไว้ทำอะไร ทำไมเขาถึงปล่อยโคมลอยกันหรือบางที เห็นเขาแขวนโคมล้านนา ที่วัด ที่บ้าน ร้านค้า ร้านอาหาร รีสอร์ทต่างๆ ดูสวยงามและได้บรรยากาศ ความเป็นล้านนาจังเลย ทาง โคม ตุง ล้านนา สินค้าพื้นเมืองเชียงใหม่ จะมาเล่าให้ฟังกันนะครับ
หลายๆท่าน ที่เคยมาเที่ยวเชียงใหม่ในช่วงปลายๆปี ประมาณเดือนพฤศจิกายน หรือใกล้ๆ ธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูปลายฝนต้นหนาว ในหลายๆปีที่ผ่านมา จะได้ยินและพบเห็นการปล่อยโคมลอย ของทางภาคเหนือ ดินแดนล้านนาแห่งนี้ ในทุกๆปี ใน สถานที่สำคัญๆ ต่างๆ เช่น วัดต่างๆในตัวเมืองเชียงใหม่ และวัดในหลายๆอำเภอของเชียงใหม่ ธุดงคสถานล้านนา ใกล้ๆมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นต้น
ประวัติความเป็นมาของโคมล้านนา ประวัติความเป็นมาของพระเพณีปล่อยโคมหรือลอยโคม ที่ถือปฏิบัติสืบกันมาได้เกิดจากการอันเชิญ คัมภีร์พระพุทธศาสนามาประดิษฐานไว้ในประเทศไทยสมัยกรุงสุโขทัย โดยมีพระร่วงเจ้า (พระเจ้าอรุณราช) ทรงมีผู้ศรัทธาในทางพระพุทธศาสนาและสืบเนื่องด้วยสนมเอก กล่าวคือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงได้คิดค้นประดิษฐ์โคมประทีปสำหรับสักการะบูชา ในวันเพ็ญเดือนสิบสอง (ยี่เป็ง) จึงนับได้ว่าเป็นต้นตำรับ ของประเพณีปล่อยโคมหรือลอยโคมในประเทศไทย แม้ไม่ปรากฏชัดเจนว่าเริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ และเท่าที่มีหลักฐานค้นพบคือ ตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสันนิฐานว่า “เดิมทีเป็นพิธีของพราหมณ์ กระทำขึ้นมาเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าทั้งสามพระองค์ ได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ์และพระพรหม” ต่อมาได้ถือปฏิบัติตามแนวทางพระพุทธศาสนา โดยปรับเปลี่ยนความคิดให้เข้ากับคำสอนทางพระพุทธศาสนา คือมีประเพณีชักโคม เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์และบูชารอยพระพุทธบาท ซึ่งประดิษฐาน ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมาทานที ที่พญานาครักษาอยู่บนยอดภูเขาสุวรรณมาลี ยอดเขาสุวรรณบรรพตและยอดภูเขาสุมณกุฏ
สำหรับประเพณีลอยโคมสมัยสุโขทัยนั้น นางนพมาศพระสนมของพระร่วงได้คิดค้นทำกระทงถวายเป็นรูปดอกบัวและรูปลักษณะแบบต่างๆ ให้ทรงลอยตามสายน้ำ พระร่วงเจ้าทรงพอพระราชหฤทัยกระทงดอกบัวของนางนพมาศเป็นอย่างมากจึงโปรดให้ถือเป็นเยี่ยงอย่างและปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันและกาลต่อมาการถือปฏิบัติตามแนวคิดของท้าวศรีจุฬาลักษณ์ จนเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายไปทั่วทุกๆภาคของประเทศไทย ซึ่งแฝงไว้ในคติความเชื่ออย่างเป็นรูปแบบแต่การทำพิธีนั้นบางแห่งอาจจะไม่เหมือน ครั้งกรุงสุโขทัยทุกอย่าง เพราะได้เปลี่ยนแปลงไปตามวัฒนธรรมของแต่ละภาคแต่จุดประสงค์ของการลอยกระทงนั้นยังเหมือนเดิม ( อ้างอิงจาก :พระปลัดจตุพร วชิรญาโณ (ศรีใจป้อ),ดุษฏีนิพนธ์ แนวคิด ประวิติศาสตร์และกระบวนการสร้างอัตลักษณ์วัฒนธรรมพระพุทธศาสนาแบบล้านนา (เชียงใหม่ 2560),หน้า37-38)
1
คำว่า “โคม” นั้น ทางเหนือในสมัยก่อน เรียกเป็นภาษาพื้นเมืองว่า “โกม” มันคือ “ตะเกียง” ลักษณะโกม ที่ว่าจะมีที่ใส่น้ำมันกาดข้างใน แล้วมีสายชนวน ต่อขึ้นมาเพื่อให้จุดไฟ บางข้อมูล “โกม คือ เครื่องจุดไฟที่มีที่บังลม โปร่งแสง อาจมีรูปสี่เหลี่ยม รูปแปดเหลี่ยม ทรงกลม หรือทรงอื่นๆ ที่สามารถหิ้วหรือแขวน ในที่ต่างต่างได้” ทั้งนี้ผมว่า มันก็คล้ายๆ ตะเกียงที่เราคุ้นเคยและเห็นกัน ในละครพื้นบ้านสมัยก่อนนั่นเอง
คำว่า “โคม” นั้น จึงเป็นชื่อเรียกที่ พร้องเสียง มาจากคำว่า “โกม” ในภาษาพื้นบ้านของคนล้านนา โดย โคม จะทำขึ้นเพื่อ “ให้เป็นเครื่องบูชาสิ่งที่ เคารพนับถือ เช่น แขวนบูชาพระพุทธรูป แขวนไว้ในศาสนสถาน และสถานที่สำคัญในงานพิธีต่างๆ ” เมื่อผ่านกาลเวลามา รูปแบบของโคม ก็ปรับเปลี่ยนไป ดังที่เราได้เห็นกันจนถึงปัจจุบัน
โคมล้านนา ในช่วงก่อนวันเพ็ญ เดือนยี่ นั้นช่างฝีมือ จะทำการประดิษฐ์โคมรูปลักษณ์ ต่างๆ เพื่อเตรียมใช้กับการจุดผางประทีป โดยนำประทีปจุดไว้ในโคม แขวนบริเวณวัด บริเวณพระธาตุเจดีย์ หน้าพระวิหาร กลางพระวิหาร จนถึงปัจจุบันนิยมแขนประดับตกแต่ง ตามอาคาร บ้านเรือน ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ มากมาย โคมล้านนามีลักษณะหลากหลายรูปแบบ แล้วแต่การสร้างสรรค์ตามภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น โคมรูปแบบโบราณที่พบทั่วไปในล้านนา เช่น โคมรังมดส้ม หรือโคมธรรมจักร โคมดาว โคมไห โคมเงี้ยวหรือโคมเพชร โคมกระบอก โคมหูกระต่าย โคมดอกบัว โคมญี่ปุ่น โคมผัด ในปัจจุบันมีการประดิษฐ์โคมรูปแบบไหม่ เช่นโคมรูปจรวด โคมเครื่องบิน โคมบอลลูน โคมร่ม โคมปราสาท โคมลายไทย โคมต่างๆเหล่านี้ ส่วนใหญ่ใช้โคมไม้ไผ่ (ไม้เหียะ) โดยการนำมาหักตามแนวที่วัดไว้ขึ้นโครง ติดกาว ติดกระดาษทอง กระดาษสา กระดาษแก้ว ผ้าโทเร หรือผ้าดิบ ตัดติด ด้วยลายกระดาษทอง กระดาษเงิน ประดับตกแต่งลวดลายอย่างสวยงาม
ความเชื่อของคนล้านนา คือ ชาวล้านนา ใช้ โคม ในการจุดบูชาพระพุทธเจ้า ในช่วงงานประเพณียี่เป็ง เป็นวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ (ชื่อเรียกเดือนทางเหนือ) หรือวันเพ็ญเดือนสิบสอง ที่เรียกกันจนคุ้นหูว่า “ยี่เป็งล้านนา” ในวันที่เรามีประเพณีลอยกระทง ของทุกปี จึงถือได้ว่าหากใครมีโอกาสได้จุดประทีปกับโคม แสงประทีปที่ได้จุดกับโคม จะช่วยส่องประกายให้ดำเนินชีวิต ทำให้มีความเจริญรุ่งเรืองและอยู่เย็นเป็นสุข ตลอดไป
โคมลอย ที่หลายๆคนเรียกจนติดปาก จริงๆ คือ โคมไฟ ใช้ปล่อยตอนกลางคืน มีกรรมวิธีเช่นเดียวกับโคมลอย ที่ใช้ปล่อยตอนกลางวัน แต่แตกต่างกันที่เขาใช้ท่อนไม้พันด้ายก้อนกลมๆ ชุบน้ำมันยางหรือน้ำมันขี้โล้จนชุ่มแล้วทำที่แขวนติดกับโคลอยจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ และลอยไปตามกระแสลม โคมไฟ ที่ปล่อยตอนกลางคืนนี้ อาจเป็นอันตรายต่อทรัพย์สินของผู้อื่น บางครั้งผ้าที่ชุบน้ำมันยังติดไฟอยู่ และยังไม่ดับขณะตกลงมา เป็นเหตุให้เกิดไฟไหม้บ้านเรือน โคมลอยที่ปล่อยตอนกลางคืนนี้ (โคมไฟ) ปัจจุบัน ได้ถูกการ จำกัด ควบคุม เวลาและพื้นที่ในการปล่อย ไม่สามารถปล่อยได้ตามใจดังเช่นอดีตที่ผ่านมา
ตามความเชื่อของการปล่อยโคมลอย ทั้งกลางวันและกลางคืน คือเชื่อว่าปล่อยเพื่อเป็นพุทธบูชา ตามความเชื่อของคนโบราณ ยังเชื่อว่า การได้ลอยโคมขึ้นไปบนท้องฟ้า เป็นการปล่อยเคราะห์ปล่อยนาม ซึ่งเป็นการให้ทานในลักษณะหนึ่ง และอีกความเชื่อหนึ่งคือการลอยโคมขึ้นไปบนท้องฟ้าเพื่อลอยขึ้นไปบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ ด้วย
โคมรูปแบบอื่น นอกจาก โคมลอยที่เราเห็นกันอย่างชัดเจนในช่วงเทศกาลลอยกระทง ยังมี โคมที่เป็นรูปแบบ โคมแขวน โคมถือ และโคมผัด ที่ทาง โคม ตุง ล้านนา สินค้าพื้นเมืองเชียงใหม่ จะได้ นำเสนอข้อมูลดีๆ มาให้ทุกท่านได้ติดตามต่อไป นะครับ
ในมุมมองปัจจุบัน การสืบสานภูมิปัญญาของคนล้านนา ที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ยังคงเป็นถนนแห่งความสวยงามทางวัฒนธรรม ที่สามารถพบเห็นได้ที่เชียงใหม่และดินแดนล้านนา จังหวัดทางภาคเหนือของไทย หากมีโอกาสได้มาเยื่อนเชียงใหม่และจังหวัดไกล้เคียง ช่วง วันเพ็ญเดือนสิบสอง หรือลอยกระทง นั้น ทุกท่านจะยังคงได้พบเห็นความประทับในของชาวล้านนา ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสืบสานประเพณีและร่วมกันรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมที่ดีนี้ต่อไป ขอบคุณและพบกับเนื้อหาดีๆ จาก โคมตุงล้านนา สินค้าพื้นเมืองเชียงใหม่ในครั่งต่อไป นะครับ
โฆษณา