20 พ.ค. 2020 เวลา 13:48 • การศึกษา
#ต้นไม้ป่วย จะรู้ได้อย่างไร? #ปัญหามัดรวมให้ศึกษา 😁
ต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิต ก็ย่อมจะมีทั้งสุขภาพดี สุขภาพอ่อนแอ และเกิดอาการเจ็บป่วยได้...การปลูกต้นไม้เราจึงต้องเอาใจใส ดูแลอย่างสม่ำเสมอ
ถ้าเราปลูกแบบทิ้งๆขว้างๆ ปลูกแล้วไม่สนใจรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย
เมื่อปลูกไปสักระยะก็จะเห็นว่าต้นไม้แสดงอาการเจ็บป่วยและอ่อนแอลง
หากกระบวนการทำงานในระบบต่าง ๆ ของต้นไม้เป็นไปอย่างปกติ ต้นไม้
ก็จะมีการเจริญเติบโตไปตามลักษณะทางพันธุกรรมของต้นไม้ชนิดนั้น ๆ แต่หากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น ไม่มีการเจริญเติบโตไป แสดงว่า ต้นไม้มีการเจ็บป่วยเกิดขึ้นแล้ว
#สาเหตุของการป่วย
เกิดจากถูกรบกวนด้วยโรคพืช เกิดขึ้นได้ทุกส่วนอาจแสดงอาการผิดปกติได้ตั้งแต่ราก ลำต้น กิ่งก้าน ใบ ดอก ผล เมล็ด หรือทั้งต้น ดังนี้
#เมื่อเกิดอาการป่วยที่ราก
-โรครากเน่า
รากของต้นพืชเกิดอาการเน่าสีดำ หรือสีน้ำตาล เปลือกหลุดล่อน เกิดได้จากการทำลายของเชื้อรา และน้ำท่วมขัง
-โรครากปม
รากต้นพืชมีอาการบวมพองออก ลักษณะเป็นปุ่มปม อาการพองหรือปมจะเกิดจากภายในรากออกมา มักเกิดจากการทำลายของไส้เดือนฝอย
-โรคเน่าคอดิน หรือโรคต้นกล้าเน่า
บริเวณโคนต้นพืช เกิดแผลเน่าและมีการลุกลามขยาย โดยมักทำให้เปลือกต้นเน่าเป็นสีน้ำตาลหรือสีดำ หากถากเปลือกออก ส่วนเนื้อลำต้นมักมีอาการของแผลเน่าสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลแดง ส่วนมากเกิดจากการทำลายของเชื้อรา
 
▪︎เมื่อเกิดอาการป่วยที่ลำต้น/กิ่ง/ก้าน
-โรคยางไหล
จะมีอาการยางไหลออกมาจากลำต้น โดยบริเวณดังกล่าวจะมีรอยแผลช้ำ มียางไหลออกมาตามรอยแผลนั้น
เช่น โรคยางไหลของส้ม ซึ่งเกิดจากเชื้อรา และโรคยางไหลของพืชบางชนิดที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน เช่น อาการยางไหลของมะม่วง
-โรคยอดแห้งตาย
อาการแห้งตาย จะพบที่ยอดก่อน ต่อมาจะลุกลามมาตามกิ่งก้าน จนในที่สุดอาจตายทั้งกิ่งหรือทั้งต้นได้ โรคนี้ส่วนมากเกิดจากเชื้อรา เช่น โรคยอดแห้งของส้มและมะนาว เป็นต้น ต้นพืชหลายชนิดที่ปลูกในบ้านอาจเกิดอาการยอดแห้งตาย เนื่องจากถูกแสงแดดจัดเผา หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้หลายสาเหตุ
-โรคเหี่ยว
ต้นพืชอาจแสดงอาการเหี่ยวเฉาในลักษณะต่าง ๆ กัน เช่น การเหี่ยวเนื่องจากการขาดน้ำ เมื่อได้น้ำก็จะฟื้นปกติ อาการเหี่ยวใบเหลืองลู่ เนื่องจากเชื้อราไปทำลายท่อน้ำ และท่ออาหารของพืช สาเหตุโรคเหี่ยวเกิดจากการทำลายของเชื้อรา และเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด เช่น โรคเหี่ยวของมะเขือเทศ โรคเหี่ยวของพืชตระกูลแตง โรคเหี่ยวของกล้วย เป็นต้น
-ต้นพืชแคระแกร็น
ต้นพืชอาจจะแสดงอาการแคระแกร็น เมื่อเปรียบเทียบกับต้นปกติ ทั้งนี้อาจเนื่องจากการปฏิบัติดูแลรักษาไม่ดีพอ อาจเกิดจากการขาดธาตุอาหาร หรือมีไส้เดือนฝอย หรือแมลงกัดทำลายราก หรือมีเชื้อโรคบางชนิด เช่น ไวรัสเข้าทำลาย ทำให้ต้นพืชไม่สามารถเจริญเติบโตตามปกติได้ มีดอกและผลน้อย
-ต้นพืชเติบโตผิดปกติ
ต้นพืชอาจมีอาการผิดปกติ เช่น ต้นยืดสูงกว่าต้นปกติ สีเขียวอ่อนและไม่ออกดอกหรือติดเมล็ด พืชที่ได้รับปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป อาจทำให้เฝือใบ ไม่ออกผล ไม้ดอกจะออกดอกน้อยลงหรือไม่ออกดอก เป็นต้น หรือหากต้นพืชได้รับแร่ธาตุอาหาร และน้ำไม่สมดุลย์ อาจมีเชื้อไวรัสหรือเชื้อไฟโตพลาสมาเข้าทำลายก็สามารถแสดงอาการเติบโตผิดปกติได้
▪︎เมื่อเกิดอาการป่วยที่ใบ
-โรคใบจุด
เกิดเป็นแผลที่ใบ มีรูปร่างแตกต่างกันแล้วแต่สาเหตุที่เข้าทำลาย ขนาดของแผลอาจเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ บนใบ
อาจเกิดกระจายกันทั่วทั้งใบ ถ้าเกิดจุดแผลมาก ๆ อาจจะทำให้ใบแห้งได้ โรคใบจุดของพืชส่วนมากเกิดจากเชื้อราและแบคทีเรีย เช่น โรคใบจุดของถั่วเขียว โรคใบจุดของคื่นฉ่าย โรคใบจุดของถั่วฝักยาว เป็นต้น
-โรคใบไหม้
เกิดแผลแห้งตาย ขนาดของแผลใหญ่กว่าอาการใบจุด ขอบเขตของแผลจะลุกลามขยายได้กว้างขวางกว่า การไหม้อาจเกิดที่กลางใบ ปลายใบ หรือขอบใบก็ได้ ส่วนมากเกิดจากเชื้อราและแบคทีเรีย เช่น โรคใบไหม้ของทานตะวัน โรคใบไหม้ของเบญจมาศ เป็นต้น
-โรคใบหงิก
ใบจะหงิกม้วนงอเป็นคลื่น หรือมีอาการยอดหงิก ต้นพืชจะแคระแกร็น มีการเจริญเติบโตช้า และพืชทั้งต้นจะมีขนาดเล็กลง เมื่อเปรียบเทียบกับต้นปกติ โรคนี้เกิดจากไวรัส เช่น โรคใบหงิกของมะเขือเทศ โรคใบหงิกของยาสูบ เป็นต้น
-โรคใบขาว
ใบจะมีสีขาวซีด และต้นแคระแกร็น เนื่องจากพืชไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ตามปกติ เช่น โรคใบขาวของอ้อย เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไฟโคพลาสมา ทำให้อ้อยมีการแตกลำน้อย และน้ำหนักของลำอ้อยลดลงมาก หรือโรคใบขาวของหญ้าแพรก โรคใบขาวของหญ้านวลน้อย หรือโรคใบขาวของหญ้ามาเลเซีย เป็นต้น พืชหลายชนิดที่ปลูกในกระถางเป็นเวลานาน ๆ และไม่มีการเปลี่ยนดิน หรือเครื่องปลูก มักทำให้ดินแน่นและต้นพืชเกิดการขาดอาหาร ต้นพืชอาจแสดงอาการซีดเหลืองได้เช่นกัน
-โรคใบด่าง
มีหลายลักษณะ แล้วแต่สาเหตุที่ทำให้เกิดโรค อาจเกิดจากเชื้อไวรัส เกิดจากการขาดธาตุอาหาร หรือลักษณะกลายพันธุ์ของพืช สำหรับอาการใบด่างที่เกิดจากไวรัส ส่วนมากมีสีเหลืองสลับเขียว เนื้อใบไม่เรียบเป็นคลื่น และใบมีรูปร่างผิดปกติ เช่น โรคใบด่างของกล้วยไม้ โรคใบด่างของยาสูบ และโรคใบด่างของผักต่าง ๆ บางครั้งอาจจะพบอาการด่างเป็นวงแหวน เช่น โรคใบด่างวงแหวนของมะละกอ หรือโรคใบด่างวงแหวนของกุหลาบ
 
▪︎เมื่อเกิดอาการป่วยที่ดอก
พบอาการผิดปกติที่ดอกคล้าย ๆ กับที่เกิดบนใบ เช่น โรคดอกจุด ดอกไหม้ ดอกด่าง ดอกบิดเบี้ยวเสียรูปทรง ดอกเน่า และโรคแอนแทรคโนส เป็นต้น โรคพวกนี้ส่วนมากเกิดจากเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัส เช่น โรคดอกสนิมของกล้วยไม้ โรคดอกด่างของแคทลียา โรคดอกเน่าของหน้าวัว เป็นต้น
▪︎เมื่อเกิดอาการป่วยที่เมล็ด
-โรคเมล็ดเน่า-เมล็ดด่าง
เมล็ดจะเน่าและไม่สามารถงอกเป็นต้นใหม่ได้ เพราะมีเชื้อโรคหลายชนิดเข้าทำลาย เช่น เชื้อรา หรือเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น มักเกิดขึ้นในกรณีที่เก็บรักษาเมล็ดไม่ดี เช่น เมล็ดที่มีความชื้นสูง หรือเปียกน้ำ หรืออาจมีเชื้อโรคติดปนเปื้อนอยู่กับเมล็ด
 
▪︎เมื่อเกิดอาการป่วยที่ผล
-โรคผลจุด
ลักษณะของแผลแตกต่างกัน บางครั้งจะพบเชื้อราตรงบริเวณแผลชัดเจน แผลอาจเกิดกระจายกันทั่วผล หรืออาจขยายใหญ่รวมกัน ทำให้ผลเน่าก็ได้ โรคนี้ส่วนมากเกิดจากเชื้อรา เช่น โรคผลจุดของฝรั่ง เป็นต้น
-โรคผลเน่า
เกิดแผลสีน้ำตาลจนถึงสีน้ำตาลดำบนผล ต่อมาแผลจะขยายลุกลามต่อไป ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสม อาการนี้จะพบตั้งแต่ผลอยู่บนต้น จนถึงหลังการเก็บเกี่ยว ส่วนมากเกิดจากเชื้อราและแบคทีเรีย เช่น โรคผลอ่อนของขนุนเน่า โรคผลเน่าของกล้วย และโรคผลเน่าของมะละกอ โรคผลเน่าของมะม่วง โรคผลเน่าของชมพู่ เป็นต้น
-โรคผลแตก
ผลจะมีอาการแตกแยกเป็นร่อง ซึ่งมักเกิดจากการได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอ หากพืชขาดน้ำนาน ๆ แล้วต่อมาฝนตกหนักกะทันหัน ก็จะทำให้ผลแตกได้ เช่น อาการผลแตกของผลอ่อนของมะม่วง อาการผลแตกของส้มโชกุน
#อาการแทรกซ้อนอื่นๆ
-โรคแอนแทรคโนส
ใบพืชที่เกิดโรคนี้ จะเป็นแผลแห้งสีน้ำตาล ส่วนมากจะเห็นเชื้อรามีลักษณะเรียงเป็นวงซ้อน ๆ กันค่อนข้างชัดเจนในบางพืช โรคนี้เกิดได้ทั้งบนใบ กิ่ง และผล สาเหตุเกิดจากเชื้อรา เช่น โรคแอนแทรคโนสของมะละกอ มะม่วง กล้วยไม้ และไม้ใบประดับหลายชนิด
-โรคราน้ำค้าง
อาการโรคราน้ำค้างพบมากในพืชใบเลี้ยงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด มักพบอาการใบลายเป็นแถบสีเหลืองเขียวสลับกันตามความยาวของใบ ถ้าอากาศชื้น ๆ อุณหภูมิพอเหมาะ จะพบผลสปอร์ของเชื้อสีขาว ๆ เกาะติดที่ใบ ในพืชใบเลี้ยงคู่ เช่น พืชตระกูชแตง จะเห็นใบมีอาการเป็นแผลจุดเหลี่ยมสีน้ำตาล ส่วนในพืชผัก เช่น ผักคะน้า จะเห็นเป็นจุดแผลสีเหลืองด้านบนใบ แต่ใต้ใบจะพบขุยสปอร์สีขาว ๆ ติดอยู่ โรคนี้เกิดจากการทำลายของเชื้อรา
-โรคราแป้งขาว
โรคนี้เกิดจากเชื้อรา โดยจะพบผงแป้งสีขาว ๆ เกาะติดที่ใบ คล้าย ๆ กับเอาแป้งไปโรยคลุมกระจายตามส่วนต่าง ๆ ของใบ หรือทั่วทั้งใบ ต่อมาใบจะเหลืองและแห้งตาย เช่น โรคราแป้งขาวของบานชื่น และโรคราแป้งขาวของกุหลาบ เป็นต้น
-โรคราสนิมเหล็ก
เป็นจุดแผลขนาดเล็ก สีสนิมบนใบพืช ลักษณะคล้าย ๆ กับสีสนิมเหล็ก เมื่อเอามือลูบดูจะมีสปอร์ของเชื้อราติดมือเป็นสีสนิมได้ชัดเจน โรคนี้เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราสนิมของถั่วฝักยาว โรคราสนิมของขาไก่ดำ เป็นต้น
-โรคราดำ
โรคนี้จะมีอาการเป็นผงคล้ายเขม่าดำคลุมผิวใบ หรือส่วนอื่น ๆ ของพืช เมื่อใช้มือลูบผงสีดำ ซึ่งเป็นส่วนของเส้นใยและสปอร์ของเชื้อราจะหลุดออก เชื้อราชนิดนี้ จะไม่แทงเข้าไปในใบพืช เพียงแต่ขึ้นเจริญปกคลุมผิวใบ ส่วนมากพบภายหลังการทำลายของเพลี้ยจั๊กจั่น เพลี้ยแป้ง หรือแมลงหวี่ขาว เนื่องจากราชนิดนี้จะขึ้นเจริญบนน้ำหวานที่แมลงเหล่านั้นขับถ่ายออกมา โรคนี้ที่พบมาก เช่น โรคราดำของมะม่วง โรคราดำของมะยม
-โรคเน่าเละ
อาการเน่าเละสีน้ำตาลอ่อน มีกลิ่นเหม็นรุนแรง เกิดได้ทั้งผล ราก หัว และใบของพืชผัก เมื่อเป็นโรคนี้ ผักจะเน่าเละทั้งต้น หรือทั้งหัว สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคเน่าเละของปทุมมาและกระเจียว โรคเน่าเละของชวนชม โป๊ยเซียน กระบองเพชร และกุหลาบหิน
 
สรุปอาการป่วยของต้นไม้ สามารถเกิดได้จากสิ่งไม่มีชีวิตและสิ่งมีชีวิต ดังนี้
1. อาการป่วยที่เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต ได้แก่ การดูแลที่ไม่ถูกต้อง หรือสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชจึงทำให้ต้นพืชมีอาการผิดปกติไป เช่น
-อุณหภูมิสูงเกินไปหรือถูกแดดเผา เกิดอาการไหม้ลวกบริเวณด้านที่ถูกแสงแดดจัดเกินไป อาจเกิดบนใบหรือผลก็ได้ อุณหภูมิผิวดินที่สูงเกินไป อาจทำลายต้นกล้าอ่อนหรือเกิดอาการแผลแห้งตกสะเก็ดบริเวณโคนต้นแก่ได้
-ได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ ต้นพืชมักมีใบสีเขียวซีด ลำต้นยืดยาวผิดปกติ พืชไม่แข็งแรง ไม่ออกดอกผลตามปกติ
-ความชื้นในดินสูงเกินไป ทำให้พืชไม่แข็งแรง ใบล่าง ๆ มักแสดงอาการเหลือง โดยเริ่มจากเส้นกลางใบก่อนรากเน่าตาย และในที่สุดพืชอาจแสดงอาการเหี่ยวและตายในที่สุด
-ความชื้นในอากาศต่ำ ปลายใบหรือทั้งใบไหม้ใบบิดเบี้ยว ช่อดอกแห้งร่วง ผลเหี่ยว ต้นพืชเหี่ยวแบบชั่วคราว หรือเหี่ยวแบบถาวรและตายในที่สุด
-ปริมาณออกซิเจนต่ำ รากไม่เจริญและเซลล์รากตาย ต้นพืชแคระแกร็น
-อากาศเป็นพิษ (มลภาวะ) เช่น มีหมอกควันฝุ่นละอองจากถนนปกคลุมใบ ทำให้การสังเคราะห์แสงลดลง ใบเป็นจุดสีขาวซีด หรือใบเปลี่ยนสีอาจเกิดอาการใบไหม้ การเจริญและผลผลิตลดลง เช่น การเป็นพิษเนื่องจากโอโซน เป็นต้น
-พืชขาดธาตุอาหาร อาการเกิดขึ้นบนส่วนหนึ่งส่วนใดของพืชก็ได้ ขึ้นอยู่กับชนิดของธาตุอาหารที่พืชขาด เช่น ถ้าขาดไนโตรเจน ใบพืชจะมีสีเขียวอ่อน ใบล่างเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือน้ำตาลอ่อน ต้นผอม และเตี้ยแคระ การเจริญเติบโตของพืชลดลง
ถ้าขาดฟอสฟอรัส ใบพืชจะมีสีเขียวเข้ม ขอบใบสีม่วง ใบล่างเป็นสีบรอนซ์ มีจุดสีม่วงหรือน้ำตาล ยอดสั้น
ถ้าขาดโพแทสเซียม ส่วนยอดจะผอม หรือเกิดอาการตายจากปลายใบแก่มีสีซีด และไหม้ที่ปลายใบ
ขาดธาตุอาหารรองและอาหารเสริมอื่นๆ เช่น ขาดธาตุเหล็ก สังกะสี และโบรอน อาจทำให้ต้นพืชมีอาการใบเหลืองซีด ต้นแคระแกร็น เป็นต้น
#แต่ถ้าหากแร่ธาตุในดินมากเกินไป จะทำให้พืชเจริญผิดปกติไป เช่น ได้รับไนโตรเจนมากเกินไป จะทำให้ต้นอวบ เฝือใบ ไม่ออกดอก ไม่ติดผล หรือติดผลน้อย
-ดินเป็นกรดหรือด่างจัดเกินไป ทำให้พืชไม่สามารถใช้ปุ๋ยได้ตามปกติ ดินกรดจะละลายเกลือแร่ออกมามาก จนเป็นพิษกับพืชโดยตรง หรือขัดขวางการดูดซึมแร่ธาตุชนิดอื่น ทำให้เกิดอาการขาดธาตุต่าง ๆ
-พิษจากสารเคมีกำจัดวัชพืช เกิดอาการต่าง ๆ ผันแปรไปตามชนิดของสารเคมี เช่น ทำให้ใบบิดเบี้ยว ใบด่าง ผิวใบย่น ใบเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือน้ำตาล และใบแห้งตาย เช่น ยาฆ่าหญ้า เป็นต้น
-พิษจากสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา หรือสารเคมีป้องกันกำจัดแมลง พืชอาจเกิดอาการใบไหม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้สารที่มีกำมะถันและทองแดงเป็นองค์ประกอบกับพืชตระกูลแตง และพืชที่อวบน้ำในวันที่แดดจัด
 
รวมทั้งการปฏิบัติดูแลไม่ถูกต้อง เช่น การพรวนดิน การให้น้ำ ใส่ปุ๋ยไม่ถูกวิธี การปลูกพืชในที่ไม่เหมาะสม เช่น นำพืชที่ชอบน้ำไปปลูกในที่แห้งแล้ง นำพืชที่ชอบแล้งไปปลูกที่ชื้นแฉะ หรือนำต้นไม้ที่ชอบแสงแดดจัดปลูกในที่ร่ม ทำให้ไม่ออกดอก นำต้นไม้ใบที่ชอบอยู่ในที่ที่แสงแดดน้อยหรือร่มรำไรไปปลูกในที่แดดจัด
1. อาการป่วยที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต ได้แก่
-พืชชั้นสูง เช่น กาฝาก ที่ขึ้นบนกิ่งไม้จะแย่งดูดกินอาหารทำให้ไม่มีดอกผล และในที่สุดกิ่งแห้งตาย และฝอยทองที่ดูดกินอาหารจากพืช โดยเจริญขึ้นปกคลุมบนพืชที่เราปลูก ทำให้ต้นพืชแคระแกร็น
-สาหร่าย มักจะทำให้ใบพืชแสดงอาการเป็นแผลคล้ายโรคใบจุด มีลักษณะเป็นแผลสีเขียวถึงสีน้ำตาลฟูคล้ายกำมะหยี่ ถ้าเป็นมาก ๆ ทำให้ใบเหลืองร่วงหล่นก่อนกำหนด ส่วนมากพบในบริเวณที่มีความชื้นสูง
-เชื้อรา เป็นพืชชั้นต่ำชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะเป็นเส้นใยสีขาวแตกกิ่งก้านอยู่เป็นกลุ่ม มีขนาดแตกต่างกันมาก สืบพันธุ์โดยการสร้างสปอร์ เมื่อเจริญบนต้นพืช สามารถดูดซึมอาหารจากเซลล์พืชมาเลี้ยงตัวเองได้ จัดเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกับพืชได้มากที่สุด
-เชื้อแบคทีเรีย เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า แบคทีเรียสาเหตุโรคพืชมีรูปร่างเป็นท่อนสั้น ๆ สามารถทำให้พืชเป็นโรคใบจุด โรคใบไหม้ และโรคเหี่ยว
-เชื้อไวรัส เป็นอนุภาคขนาดเล็กมากที่ก่อให้เกิดโรคกับพืช ไม่สามารถมองเห็นด้วยกล้องจุลทรรศน์ธรรมดา เพิ่มจำนวนอนุภาคได้ภายในเซลล์ของพืชที่ยังคงมีชีวิตอยู่ ทำให้พืชมีการเจริญเติบโตผิดปกติหรือมีอาการใบด่าง
-เชื้อไวรอยด์ เป็นขนาดที่เล็กกว่าไวรัส และมีองค์ประกอบบางส่วนต่างจากไวรัส
-เชื้อไฟโตพลาสมา เป็นจุลินทรีย์ที่ไม่มีผนังเซลล์ ลักษณะรูปร่างต่าง ๆ กัน จากรูปร่างกลมจนถึงรูปร่างที่เป็นเส้นสาย มีขนาดอยู่ระหว่างเชื้อแบคทีเรียและไวรัส
-ไส้เดือนฝอย เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ลำตัวไม่เป็นข้อหรือปล้อง ขนาดเล็กมา ยาว 0.3-0.4 มิลลิเมตร รูปร่างผอมยาวหรือโป่งพองจนถึงกลม โดยทั่วไปไส้เดือนฝอยศัตรูพืชมีขนาดเล็ก เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าได้ ต้องมองใต้กล้องสเตอริโอ หรือกล้องจุลทรรศน์ โดยทั่วไปมักทำให้เกิดโรคกับระบบรากของต้นพืช
เมื่อได้รู้จักโรคต่างๆ และสามารถวิเคราะห์โรคที่เป็นสาเหตุทำให้ต้นไม้ป่วย รวมทั้งวิธีรักษาอาการป่วยของต้นไม้แล้ว หวังว่าต้นไม้ในสวนของคุณคงมีสุขภาพที่ดีนะคะ
โฆษณา