21 พ.ค. 2020 เวลา 01:30
การฟักไข่
สัตว์ปีกเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังเลือดอุ่นชนิดเดียวที่มีการออกลูกเป็นไข่ คือ ตัวอ่อนมีการเจริญและพัฒนาภายนอกร่างกายของแม่ซึ่งแตกต่างจากสัตว์เลือดอุ่นที่เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไปที่ตัวอ่อนมีการเจริญและพัฒนาอยู่ภายในร่างกายของแม่จนกว่ามีอวัยวะครบสมบูรณ์แล้วจึงออกจากร่างกายของตัวแม่ และในบรรดาสัตว์ที่ออกลูกเป็นไข่ สัตว์ปีกก็เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่มีการฟักให้ความอบอุ่นและดูแลลูกอ่อนหลังจากฟักออกจากไข่ ยกเว้น นกบางชนิดในวงศ์นกเมกาพอดที่อยู่ในทวีปออสเตรเลียและเกาะบอร์เนียวและหมู่เกาะใกล้เคียง จะไม่ใช้ความร้อนจากตัวเองในการฟักไข่แต่จะใช้ความร้อนจากดวงอาทิตย์แทน ตัวอย่างเช่น นกมาลีโอ (Maleo; Megacephalon maleo) ไก่งวงพู่กัน (Brush turkey; Alectura lanthami) และนกมอลลี (Mallee fowl; Leipoa ocellata) ฯลฯ (วีรยุทธ์, 2528) เมื่อมนุษย์นำสัตว์ปีกมาเลี้ยงเพื่อเอาผลผลิตเนื้อและไข่เป็นจำนวนมากจึงจำเป็นจะต้องหาวิธีฟักไข่ให้ได้คราวละมาก ๆ วิธีฟักไข่ในปัจจุบันแบ่งได้เป็น 2 วิธีใหญ่ ๆ คือ การให้แม่สัตว์ปีกฟักเองโดยธรรมชาติ วิธีนี้จะได้ลูกในปริมาณน้อยเนื่องจากในช่วงที่ไม่ฟักไข่นั้นจะไม่มีการวางไข่ ดังนั้นมนุษย์จึงหาวิธีทำให้แม่สัตว์ปีกผลิตไข่ได้คราวละมาก ๆ โดยไม่ต้องเสียเวลามาฟักเองโดยการใช้เครื่องฟักไข่ไฟฟ้าเข้าช่วย
การฟักไข่ในปัจจุบันได้กลายเป็นการฟักในรูปแบบของอุตสาหกรรมมีการฟักไข่ครั้งละเป็นหมื่น ๆ ถึงแสน ๆ ฟองด้วยโรงฟักไข่ที่ทันสมัย ใช้ระบบการฟักเป็นแบบเข้าออกทางเดียว (oneway) คือ จะนำไข่ฟักเข้าโรงฟักทางด้านหนึ่ง และนำลูกไก่ออกจากโรงฟักอีกทางด้านหนึ่งโดยไม่มีการย้อนกลับ นอกจากนี้ระบบการฟักในโรงฟักที่มีขนาดใหญ่จะใช้แบบระบบต่อเนื่อง คือ นำไข่ฟักที่มีอายุต่างกัน เข้าฟักในตู้ฟักเดียวกัน มีการรมควันไข่ฟักที่เพิ่งนำเข้าฟักเช่นเดียวกัน โดยไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อไข่ฟักที่กำลังฟักอยู่เดิม ในการฟักไข่ด้วยตู้ฟักเป็นการพัฒนาวิธีการฟักมาจากการฟักไข่ตามวิธีธรรมชาติ ซึ่งวิธีการ สภาพต่าง ๆ ภายในตู้ฟัก และระยะเวลาในการฟักจะแตกต่างกันไปตามชนิดของไข่ที่นำเข้าฟัก เช่น ไข่ไก่ใช้เวลาในการฟักนาน 21 วัน ไข่เป็ด 28 วัน ไข่ห่าน 28 วัน ไข่เป็ดเทศ 35 วัน ไข่นกกระทา 17 วัน ฯลฯ
รูปภาพจาก Google
ปัจจัยสำคัญในการฟักไข่ ประกอบด้วย
1. อุณหภูมิ (Temperature) อุณหภูมิเป็นปัจจัยสำคัญในการฟักไข่ อุณหภูมิฟักที่เหมาะสมมีความแตกต่างกันตามชนิดของสัตว์ปีก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิภายในตัวสัตว์นั้น ๆ ขนาดไข่ ความพรุนของเปลือกไข่ และระยะเวลาในการฟักไข่ อุณหภูมิฟักไข่ไก่แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะ 18 วันแรกจะใช้อุณหภูมิประมาณ 99.5-100 °ฟ และในระยะ 3 วันหลังใช้อุณหภูมิประมาณ 99-99.5 °ฟ อุณหภูมิในฟองไข่ที่เพิ่งฟักใหม่ ๆ จะผันแปรไปตามอุณหภูมิของสภาพแวดล้อมภายในตู้ฟัก ในขณะที่ตัวอ่อนภายในฟองไข่ฟักเริ่มมีการพัฒนาจะมีความร้อนเกิดขึ้นภายในฟองไข่ ดังนั้นจึงต้องควบคุมอุณหภูมิภายในตู้ฟักไม่ให้สูงเกินไป โดยให้เพิ่มการระบายอากาศและถ้าสามารถน าประโยชน์ของความร้อนจากไข่ฟักมาร่วมกับการใช้ความร้อนจากตู้ฟักได้ จะช่วยให้ประหยัดกระแสไฟได้ ในตู้ฟักบางชนิดมีชุดทำความเย็น (cooling unit) ไว้ป้องกันอุณหภูมิภายในตู้ฟักที่สูงเกินไป การควบคุมอุณหภูมิให้สม่ำเสมอจะต้องควบคุมการหมุนเวียนของอากาศภายในตู้ฟัก เพราะถ้ามีการหมุนเวียน หรือการระบายอากาศมากเกินไป จะทำให้อุณหภูมิภายในตู้ฟักลดลง และยังมีผลต่อความชื้น และการระเหยของน้ำภายในตู้ฟักอีกด้วย
รูปภาพจาก Google
2. ความชื้น (Humidity) ในระหว่างการเจริญของตัวอ่อนจำเป็นต้องได้รับความชื้นที่เหมาะสม เพื่อทำให้กระบวนการต่าง ๆ ดำเนินไปได้ตามปกติ ไข่ฟักจะสูญเสียความชื้นตลอดเวลาในระหว่างการฟัก อัตราการสูญเสียความชื้นประมาณ 11-13% การสูญเสียความชื้นจะมากในระยะแรกและจะลดลงเรื่อย ๆ แล้วจะเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงท้ายของการฟัก โดยทั่วไปในช่วง 19 วันแรกของการฟัก ไข่ฟักต้องการความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ 60% แต่ในช่วง 3 วันสุดท้ายของการฟัก ไข่ฟักจะต้องการความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ 70-75% เพื่อให้ลูกไก่สามารถเจาะเข้าไปในช่องอากาศได้สะดวกและช่วยให้ขนฟูหลังจาก
ฟักออกแล้ว อัตราการระเหยของน้ำถูกควบคุมโดยปริมาณของพื้นผิวเปลือกไข่ ลมที่พัดผ่านอุณหภูมิและความอิ่มตัวของน้ำในอากาศในระหว่างการฟัก ดังนั้น ในระหว่างการฟักจำเป็นต้องมีการควบคุมการระเหยน้ำโดยการปรับหรือเติมน้ำในถาดในตู้ฟัก เพื่อควบคุมความชื้นให้เหมาะสม คุณภาพของเปลือกไข่มีผลต่อการสูญเสียน้ำจากฟองไข่ด้วย ไข่เปลือกบางไม่แข็งแรงหรือมีรูพรุนมากเกินไป จะสูญเสียน้ำจากฟองไข่มากกว่าไข่ที่มีเปลือกหนา
รูปภาพจาก Google
3. อากาศและการถ่ายเทอากาศในตู้ฟัก (Ventilation) ปริมาณอากาศและอัตราการไหลเวียนของอากาศในตู้ฟักจะต้องเหมาะสม ปริมาณของอากาศที่แลกเปลี่ยนในตู้ฟักนั้นถูกควบคุมโดยตำแหน่งและขนาดของรูระบายอากาศในตู้ฟัก ซึ่งสามารถปรับขนาดได้ตามความต้องการ ความต้องการอากาศจะมากขึ้นในช่วงท้าย ๆ ของการฟักโดยในระยะแรกของการฟักการแลกเปลี่ยนก๊าซเกิดขึ้นน้อยแต่การแลกเปลี่ยนจะมากขึ้นเมื่อลูกไก่มีการเจริญมากขึ้น โดยไข่ 100 ฟอง ต้องการออกซิเจนประมาณ 4.5 ลูกบาศก์ฟุต/วัน และปลดปล่อย
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาประมาณ 2.5 ลูกบาศก์ฟุต/วัน นอกจากนี้ยังเกิดความร้อนจากการเมตาบอลิซึมอีกด้วย ดังนั้นการเปิดรูระบายอากาศจึงช่วยในการระบายความร้อนออกด้วย ความเข้มข้นของก๊าซออกซิเจนในอากาศที่บริสุทธิ์มีค่าประมาณ 20% ซึ่งถ้าความเข้มข้นของก๊าซออกซิเจนลดลงเหลือ 17% จะมีผลให้อัตราการฟักออกลดลง ส่วนความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เหมาะสม คือ 0.4% ถ้าความเข้มข้นเพิ่มขึ้นถึง 2% จะมีผลทำให้ตัวอ่อนตายได้และถ้าสูงขึ้นจนถึง 5% ตัวอ่อนภายในไข่จะตายหมด ดังนั้นในตู้ฟักไข่จึงควรมีระบบระบายอากาศที่ดีสามารถระบายอากาศได้อย่างเพียงพอ จึงจะทำให้การฟักไข่ได้ผลดี
รูปภาพจาก Google
4. การวางไข่ในตู้ฟัก (Egg positioning)
โดยธรรมชาติแล้วการเจริญของลูกไก่ในฟองไข่นั้น ลูกไก่จะหันหัวขึ้นด้านบนเสมอ เมื่อไข่ฟักมีอายุมากขึ้น ส่วนหัวและปากของลูกไก่จะอยู่ใกล้ช่องอากาศมากขึ้น จึงควรวางไข่ให้เหมาะสมกับลักษณะทางธรรมชาติ คือ วางเอาด้านป้านขึ้น ซึ่งจะให้ผลดี และจากการทดลองวางไข่ฟักโดยเอาด้านแหลมขึ้น จะทำให้การฟักออกลดลงประมาณ 10% อีกทั้งลูกไก่ที่ฟักออกจะมีคุณภาพต่ำลงประมาณ 35-40% ยกเว้นการวางในช่วงท้ายของการฟักควรวางไข่ในแนวนอน เพื่อให้ลูกไก่สามารถดันเปลือกออกได้สะดวกขึ้น สำหรับตู้ฟักที่ไม่มีช่องวางไข่ฟักจะใช้วิธีวางไข่แนวนอนเหมือนการฟักธรรมชาติจะให้ผลการฟักออกไม่แตกต่างกัน แต่ต้องมีการกลับไข่ให้ทั่วถึงทุกฟอง ซึ่งไม่สะดวกถ้าฟักไข่ครั้งละมาก ๆ
รูปภาพจาก Google
5. การกลับไข่ฟัก (Egg turning)
โดยธรรมชาติของการฟักไข่ของแม่ไก่จะมีการกลับไข่โดยเฉลี่ยทุก ๆ 35 นาที และถ้าไม่มีการกลับไข่เลยจะทำให้ไข่นั้นฟักไม่ออก ดังนั้น อย่างน้อยที่สุดควรต้องมีการกลับไข่วันละ 3 ครั้ง แต่สำหรับตู้ฟักที่มีอุปกรณ์สำหรับกลับไข่อัตโนมัติ ควรกลับไข่ทุกๆชั่วโมง การกลับไข่เป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับการฟักไข่ในระยะแรก ๆ และจะหยุดกลับไข่ใน 3 วันสุดท้าย การกลับไข่บ่อยครั้งเกินไปไม่มีผลทำให้การฟักออกสูงขึ้นแต่อย่างใด แต่จะทำให้สิ้นเปลืองเวลาและแรงงาน มุมของการกลับไข่ที่เหมาะสมคือ มุม 45 องศาจากแนวดิ่งกลับไปมา การใช้มุมกลับไข่ในระดับอื่นจะมีผลทำให้ผลการฟักออกลดลง
1
รูปภาพจาก Google
รูปภาพจาก Google
การเจริญของตัวอ่อนลูกไก่
อายุฟักวันที่ 1 ส่วนของเยื่อเพลลูซิดา (pellucida) และโอปากา (opaca) ที่จุดกำเนิด (blastoderm) จะเจริญขยายตัวใหญ่ขึ้น ต่อมาเมื่อได้รับอุณหภูมิฟักประมาณ 16 ชั่วโมง เยื่อเซลล์ชั้นบนจะเว้าเป็นร่องยาวเป็นแนวขวางกับความยาวของไข่ (primitive streak) ต่อมาระหว่างชั่วโมงที่ 16 ถึงชั่วโมงที่ 24
เริ่มมีการเจริญเป็นอวัยวะต่าง ๆ ดังนี้
อายุฟัก 4 ชั่วโมง - หัวใจและเส้นเลือดเริ่มพัฒนา
อายุฟัก 18 ชั่วโมง - เริ่มปรากฏส่วนของระบบทางเดินอาหาร
อายุฟัก 20 ชั่วโมง - เริ่มปรากฏส่วนของกระดูกสันหลัง
อายุฟัก 21 ชั่วโมง - เริ่มกำเนิดระบบประสาท
อายุฟัก 22 ชั่วโมง - เริ่มกำเนิดส่วนหัวของเอ็มบริโอ
อายุฟัก 24 ชั่วโมง - เริ่มกำเนิดลูกตาของเอ็มบริโอ
อายุฟักวันที่ 2
ตัวอ่อนลูกไก่เริ่มหันไปทางด้านข้างและเริ่มเกิดเส้นเลือดที่ถุงไข่แดง
อายุฟัก 25 ชั่วโมง - เริ่มสร้างส่วนที่เป็นหู
อายุฟัก 42 ชั่วโมง - หัวใจเริ่มเต้น ระบบหมุนเวียนโลหิตเริ่มทำงานโดยมีการไหลเวียนของโลหิตระหว่างตัวอ่อนกับถุงไข่แดง ระยะนี้เป็นระยะอันตรายสำหรับเอ็มบริโอ
อายุฟักวันที่ 3
อายุฟัก 60 ชั่วโมง - เริ่มสร้างส่วนที่เป็นจมูก
อายุฟัก 62 ชั่วโมง - เริ่มสร้างส่วนของขา
อายุฟัก 64 ชั่งโมง - เริ่มสร้างส่วนปีก ตัวอ่อนเริ่มเคลื่อนไหว มีการหมุนตัวโดย ตัวอ่อน จะนอนอยู่บนด้านซ้ายของตัวเอง ระบบการหมุนเวียนโลหิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อการฟักดำเนินไปได้ 3 วัน ถุงน้ำคร่ำ (amnion) จะหุ้มตัวอ่อนทั้งหมด
อายุฟักวันที่ 4
- เริ่มสร้างลิ้น อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายทั้งหมดเริ่มปรากฏระบบเส้นเลือดต่าง ๆ เริ่มเห็นชัดเจนได้ด้วยตาเปล่า เยื่อ allantois จะเจริญต่อไปจนห่อหุ้มภายในไข่ทั้งหมดแล้วเชื่อมติดกับ serosa กลายเป็นเยื่อหุ้มชั้น chorion เส้นโลหิตฝอยของ allantois มาติดต่อกับเยื่อหุ้มไข่ใต้เปลือก
อายุฟักวันที่ 5
- อวัยวะสืบพันธุ์เริ่มเปลี่ยนแปลงสามารถแยกความแตกต่างระหว่างเพศผู้และเพศเมียได้ หัวใจเริ่มมีรูปร่างชัดเจน และเส้นเลือดจะครอบคลุมเนื้อที่ของถุงไข่แดงถึง 2 ใน 3 ส่วน
- ส่วนของหน้าและจมูกเริ่มปรากฏมีรูปร่างชัดเจนเหมือนลูกไก่
อายุฟักวันที่ 6
- จะงอยปากเริ่มมีรูปร่างเหมือนลูกไก่ทั่วไป
- เริ่มสังเกตเห็นความเคลื่อนไหวของตัวอ่อน
อายุฟักวันที่ 7
- ส่วนของร่างกายมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับการเจริญของส่วนหัว
- สามารถมองเห็นอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้
อายุฟักวันที่ 8
- เริ่มปรากฏขน และตุ่มขน
อายุฟักวันที 10
- จะงอยปากเริ่มแข็งตัว
- เริ่มปรากฏเกล็ดแข็งบนส่วนของขา
- นิ้วเท้าแต่ละนิ้วจะแยกออกจากกันอย่างเห็นได้ชัด
อายุฟักวันที่ 11
- เริ่มปรากฏผนังช่องท้อง สามารถมองเห็นลำไส้อยู่ในถุงหุ้มไข่แดงได้
อายุฟักวันที่ 13
- เริ่มมีขนอ่อนปกคลุมลำตัว กระดูกมีการสะสมแคลเซียม
- อวัยวะส่วนใหญ่เริ่มมีการเจริญเติบโตในช่วงสุดท้าย
อายุฟักวันที่ 14
- ตัวอ่อนเริ่มหมุนตัวไปอยู่ในแนวขนานกับความยาวของไข่โดยส่วนหัวจะหันไปทางด้านป้าน
อายุฟักวันที 17
- ลูกไก่จะเคลื่อนไหวให้อยู่ในท่าปกติโดยจะงอยปากจะซุกอยู่ใต้ปีกขวาและชี้ไปทางด้านป้าน
อายุฟักวันที่ 19
- ถุงไข่แดงเริ่มเข้าสู่ช่องว่างในลำตัวทางสายสะดือ ไข่แดงนี้ถูกใช้เป็นอาหารในช่วง 2 - 3 วันแรกหลังจากเกิด
อายุฟักวันที่ 20
- ไข่แดงถูกดูดเข้าสู่ช่องท้องเรียบร้อย ลูกไก่จะขยายตัวเต็มเนื้อที่ภายในไข่ทั้งหมด ยกเว้น ช่องอากาศ สะดือเริ่มปิดจากนั้นลูกไก่จะใช้จะงอยปากเจาะเยื่อหุ้มเปลือกไข่ชั้นในและเข้าสู่ช่องอากาศ ทันทีที่จะงอยปากเจาะเข้าสู่ช่องอากาศ ลูกไก่จะเริ่มหายใจอย่างช้า ๆ ปอดเริ่มทำงานจากนั้นลูกไก่จะเริ่มเจาะเปลือกไข่เพื่อออกสู่ภายนอกทำให้ได้รับอากาศมากขึ้น ปอดเริ่มทำงานเต็มที่ ระยะนี้เป็นระยะที่อันตรายอีกระยะหนึ่งสำหรับลูกไก่
อายุฟักวันที่ 21
- ภายหลังการเจาะเปลือกไข่ครั้งแรกลูกไก่จะพักเป็นเวลาหลายชั่วโมง จากนั้นจึงเริ่มเจาะเปลือกออกเป็นแนววงกลมรอบตัวโดยทั่วไปแล้วถ้าลูกไก่อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง การเจาะเปลือกไข่จะอยู่ใกล้กับด้านป้าน ลูกไก่ใช้เวลาในการเจาะเปลือกไข่จนกระทั่งออกเป็นตัวลูกไก่นานถึง 10 - 20 ชั่วโมง
ที่มา : การผลิตสัตว์ปีก (ผศ.ดร.ประภากร ธาราฉาย, 2560)
ที่มา : อาวุธ (2538) หน้า 123 - 126
#ขอบคุณที่ติดตามอ่านครับ
#รินรฎาฐ์ฟาร์ม
โฆษณา