21 พ.ค. 2020 เวลา 11:50 • ธุรกิจ
ถ้าดอกเบี้ยพันธบัตรติดลบ จะกระทบกับเราอย่างไร?
หลังจากประเทศอังกฤษคาดการณ์ว่า GDP ในปีนี้จะหดตัวรุนแรงสุดในรอบ 300 ปี
มาวันนี้ ประเทศอังกฤษได้ออกพันธบัตรรัฐบาลอายุ 3 ปีที่ให้ดอกเบี้ย -0.003%
นี่ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
ที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษมีตัวเลขติดลบ
2
พันธบัตรให้ดอกเบี้ยติดลบหมายความว่าอะไร?
แล้วถ้าประเทศไทยเป็นแบบนี้
มันจะกระทบอะไรกับเราบ้าง?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
พันธบัตร คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลในแต่ละประเทศ
โดยเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ทำให้รัฐบาลกู้เงินได้จากประชาชน
1
ซึ่งประเทศแรกที่ได้คิดค้นการออกพันธบัตรอย่างเป็นทางการก็คือ ประเทศอังกฤษนั่นเอง
โดยในปี ค.ศ. 1694 ธนาคารกลางอังกฤษได้ออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนจากประชาชนมาใช้ในการทำสงครามกับฝรั่งเศส
ในบรรดาสินทรัพย์ทางการเงินทั้งหมด
พันธบัตรจะถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ไร้ความเสี่ยง หรือภาษาการเงินเรียกว่า Risk-free asset
แนวคิดของเรื่องนี้คือ “ภาครัฐ” จะยังคงอยู่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
บริษัททั่วประเทศล้มละลาย
หรือจะเปลี่ยนผู้ปกครองประเทศไปกี่คน
ภาครัฐก็ยังต้องใช้หนี้และจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ซื้อพันธบัตรเสมอ
แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้
มีหลายประเทศที่เกิดเรื่องแปลกๆ
นั่นก็คือ คนจะยอมจ่ายดอกเบี้ยให้รัฐบาล เพื่อครอบครองพันธบัตรนั้น
หรือพูดง่ายๆ ว่า “คนยอมให้รัฐบาลกู้ โดยที่ยอมได้เงินต้นคืนน้อยลงกว่าเดิม”
แล้วเรื่องนี้มันส่งผลกระทบต่อใครบ้าง?
เริ่มต้นจากมุมรัฐบาลที่เป็นผู้ออกพันธบัตร
เมื่ออัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลติดลบ
นั่นหมายความว่าแทนที่เราจะได้ดอกเบี้ยจากรัฐบาล
กลับกลายเป็นว่ารัฐบาลได้ดอกเบี้ยจากเรา ทั้งๆ ที่เขานำเงินเราไปใช้
เรื่องนี้ส่งผลให้รัฐบาลมีรายได้จากการกู้ยืมเงิน ยิ่งให้กู้ยิ่งได้เงินเพิ่ม
ถ้าให้ไปถามศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ในสมัยก่อน เขาคงอ้าปากค้างว่าเกิดเรื่องแบบนี้ได้อย่างไร
1
และสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากการที่รัฐบาลกู้ยืมเงินได้มากขึ้นก็คือ
รัฐบาลก็สามารถนำเงินไปใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ หรือลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาประเทศได้มากขึ้น
แต่ในขณะเดียวกัน เงินกู้ที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาล ก็จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศก่อหนี้สาธารณะได้เพิ่มขึ้น เช่นกัน
Cr. Financial Times
สำหรับมุมมองของประชาชน หรือองค์กรต่างๆ ในฐานะผู้ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล
การที่พันธบัตรมีดอกเบี้ยที่ติดลบจะส่งผลให้ คนเหล่านั้นยอมโยกเงินบางส่วนไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงที่สูงกว่า เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น เช่น หุ้นกู้เอกชน หุ้น และอสังหาริมทรัพย์
ในขณะเดียวกันก็อาจมีการโยกเงินบางส่วนไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลของประเทศที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่า ซึ่งเรื่องนี้ก็จะส่งผลให้ประเทศที่มีดอกเบี้ยพันธบัตรติดลบมีค่าเงินที่อ่อนลง
และเมื่อค่าเงินอ่อนลง ธุรกิจท่องเที่ยว และการส่งออกของประเทศก็จะได้ประโยชน์ตามมา
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนบางกลุ่ม ก็อาจเลือกที่จะถือพันธบัตรรัฐบาลที่มีดอกเบี้ยติดลบต่อไป เพราะคนกลุ่มนั้นคาดว่าจะได้กำไรจากส่วนต่างราคาของพันธบัตรที่ถือ
1
เพราะโดยปกติแล้วถ้าในอนาคตอัตราดอกเบี้ยลดลงไปอีก ราคาพันธบัตรของรุ่นก่อนหน้าที่ให้ดอกเบี้ยดีกว่าจะมีราคาสูงขึ้น และคนถือพันธบัตรรุ่นก่อนหน้าสามารถขายทำกำไรได้
1
Cr. Krungsri
นอกจากนั้น บางคนก็อาจยอมลงทุนในพันธบัตรแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะติดลบ เพราะถือเป็นสินทรัพย์ ที่การันตีว่าจะขาดทุนน้อยที่สุด..
โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่คนไม่อยากเสี่ยงอะไรเลย ซื้อหุ้นก็กลัวขาดทุน ฝากเงินในธนาคารก็กลัวธนาคารจะล้ม จะถอนเงินสดออกมาเก็บไว้ก็มีต้นทุนในการรักษาความปลอดภัย
1
ดังนั้นการถือพันธบัตรรัฐบาล จึงจะยังเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุดในการรักษาเงินต้นอยู่ดี ถึงแม้ว่ามันจะทำให้เงินต้นหายไปนิดหน่อยก็ตาม..
แต่เมื่อเอาเงินไปแช่ในพันธบัตรไว้ ก็จะยิ่งมีมูลค่าลดลง
มันก็อาจทำให้หมดแรงจูงใจในการเก็บออมเงิน เพราะรู้ว่าเก็บไปก็ไม่ได้อะไร
2
Cr. Money
และมันจะเป็นการกระตุ้นให้คนตัดสินใจซื้อสินค้าที่ต้องการในวันนี้ทันที แทนที่จะเก็บออมเพื่ออนาคต ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นความเสี่ยงในระยะยาวของประชาชนในยามเกษียณ
ยังไม่หมดเพียงแค่นี้ เพราะจริงๆ แล้วพันธบัตรรัฐบาลยังเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์การลงทุนของหลายธุรกิจและองค์กร เช่น ธุรกิจประกัน ประกันสังคม รวมถึงกองทุนบำเหน็จบำนาญ
เมื่อผลตอบแทนจากที่เคยได้เป็นบวก กลายเป็นติดลบ
บริษัทหรือองค์กรเหล่านี้ ก็จะถูกบีบบังคับให้ย้ายไปยังสินทรัพย์เสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนมากขึ้น
ถ้ามันเป็นไปตามคาดก็คงไม่มีปัญหาอะไร
แต่ถ้าสินทรัพย์เสี่ยงมันไม่ได้ให้ผลตอบแทนแบบที่คาด มันก็จะเป็นระเบิดเวลาที่รออยู่สำหรับประชาชนที่รอใช้เงินในวัยเกษียณจากกองทุนเหล่านี้
ถึงตรงนี้ เราก็ยังไม่รู้ว่าพันธบัตรติดลบที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ
จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวหรือถาวร
หากเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว เมื่อเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติ
ท้ายที่สุดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และพันธบัตรก็จะให้ดอกเบี้ยกลับมาเป็นบวกเหมือนเดิม
แต่ถ้ามันไม่ใช่..
มันก็อาจจะบีบให้สินทรัพย์เสี่ยง มีมูลค่าที่สูงเกินจริงไปมาก
ผู้คนหมดความหวังในการออมเงิน
ซึ่งเรื่องนี้จะกลายเป็นอีกหนึ่ง New Normal
ที่ก็ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์
และคนรุ่นเราก็น่าจะได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนี้ ไปพร้อมๆ กัน..
6
โฆษณา