21 พ.ค. 2020 เวลา 11:13 • การศึกษา
พระโสณโกฬิวิสเถระ
พระโสณโกฬิวิสเถระ
พระรัตนตรัยเป็นสรณะอันเกษม เป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดของสรรพสัตว์
ทั้งหลาย มีอานุภาพเป็นอจินไตย ยิ่งใหญ่ไม่มีประมาณ เกินกว่าที่ผู้มีรู้มีญาณจะคาดคะเนเอาได้ ผู้ที่ได้เข้าถึงพระรัตนตรัย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ
พระรัตนตรัย จึงจะซาบซึ้งในพระคุณอันไม่มีประมาณ เมื่อมีทุกข์ท่านจะช่วยขจัดปัดเป่าให้พ้นทุกข์ มีสุขแล้วก็ทำให้สุขยิ่งๆ ขึ้นไป ชีวิตของเราจะ
ได้รับการคุ้มครองดูแลจากท่าน ทำให้ปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง ผู้รู้ทั้งหลายจึงยึดพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกสูงสุดในชีวิต การทำสมาธิภาวนา
ฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง เป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่จะทำให้เราเข้าไปพบพระรัตนตรัย
ภายในได้
มีวาระพระบาลีที่พระสิริมัณฑเถระได้กล่าวไว้ใน ขุททกนิกาย เถรคาถาว่า....
“ควรทำวันคืนไม่ให้เปล่าจากประโยชน์ ไม่ว่าจะน้อยหรือมากก็ตาม เพราะวันคืนผ่านบุคคลใดไป ชีวิตของบุคคลนั้น ย่อมพร่องจากประโยชน์นั้น”
ฤดูกาลเข้าพรรษาได้ผ่านพ้นไปแล้ว เหมันตฤดู คือ หน้าหนาวเข้ามาแทน
หลายท่านได้ตั้งใจสั่งสมบุญกันมาตลอดพรรษา ไม่ว่าจะเป็นการให้ทาน
รักษาศีล หรือเจริญภาวนา ต่างทำได้อย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์ และหากมองย้อนกลับไปก็จะเป็นภาพประวัติศาสตร์ชีวิตอันงดงาม สมกับที่ได้ชื่อว่า เราเกิดมาเพื่อสร้างบารมี มีพระนิพพานเป็นเป้าหมาย หลายท่านมาวัดทุกวันอาทิตย์
มาร่วมสร้างบารมีกับหมู่คณะใหญ่ หลายๆ ครอบครัวเพิ่มเติมบุญบารมีจาก
ที่ได้รักษาศีล ๕ เป็นประจำ ก็ยกระดับจิตใจขึ้นมาเป็นรักษาศีล ๘ ในวัน
สำคัญและวันพระ ต่างพร้อมใจกันนั่งสมาธิเจริญภาวนาทุกวันมิได้ขาด นี่เป็นสิ่งที่น่าปีติยินดี หลวงพ่อขออนุโมทนาบุญในความตั้งใจดีของทุกๆ ท่านด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะออกพรรษาแล้ว แต่สิ่งที่เรายังคงต้องทำกันต่อไปคือการสร้างบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ทำความเพียรเพื่อชำระกาย วาจา ใจ ให้ใส
สะอาดบริสุทธิ์ ตราบใดที่เรายังไปไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ไม่ถึงที่สุดแห่งธรรม ก็ต้องสร้างบารมีสั่งสมบุญกันไปทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นบุญเล็กบุญน้อย
เราต้องเก็บเกี่ยวเอาไปให้ได้มากที่สุด ไม่ยอมให้วันเวลาผ่านไปอย่างไร
คุณค่าคือ ไม่ให้ว่างเว้นจากคุณงามความดีนั่นเอง
หลวงพ่อยํ้าเสมอว่า บางสิ่งบางอย่างเราก็ควรสันโดษ แต่บางอย่างต้อง
ทุ่มเทชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพัน โดยเฉพาะการสั่งสมบุญ และการทำความ
เพียรเพื่อเผากิเลสอาสวะที่นอนเนื่องอยู่ในใจนั้น เป็นสิ่งที่ต้องทุ่มเทชีวิต
จิตใจเอาจริงเอาจังกัน เพราะการสั่งสมบุญ และการปรารภความเพียรนี้
ต้องทำให้ต่อเนื่องสม่ำเสมอ เหมือนเป็นลมหายใจเข้าออกของเราอย่างนั้น
ที่จะต้องทำกันทุกเวลานาที ทำกันไปทุกฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็นหน้าร้อน
หน้าฝนหรือหน้าหนาว ทุกฤดูกาลคือเวลาแห่งการสร้างความดี คิดกัน
อย่างนี้ ใจเราจะได้เกาะเกี่ยวอยู่กับบุญกุศล และหาวิธีการว่าทำอย่างไรใจ
จึงจะหยุด ทำอย่างไรใจถึงจะนิ่ง ทำอย่างไรจะเข้าถึงพระธรรมกายได้
ถ้าคิดกันอย่างนี้ พญามารสะดุ้งพรึบทีเดียว เพราะพญามารจะหวั่นไหว
ต่อผู้มีใจหยุดนิ่ง
พระโสณเถระ ท่านเป็นต้นแบบของผู้ที่ปรารภความเพียรอย่างไม่ลดละ
ไม่ได้เป็นไม่เลิกเด็ดขาด ยอมตายกันเลย เป็นผู้ที่พวกเราควรยึดเอาเป็น
แบบอย่าง จะได้มีกำลังใจในการทำความเพียร ก่อนมาเกิดในสมัยพุทธกาล
นั้น ท่านเป็นลูกชายของมหาเศรษฐี ได้มีโอกาสสร้างบรรณศาลาถวาย
พระปัจเจกพุทธเจ้า และได้ปูลาดผ้ากัมพลเป็นทางเดินสำหรับพระปัจเจก
พุทธเจ้าด้วย ขณะนั้นเอง ลูกเศรษฐีเห็นรัศมีออกจากสรีระของพระปัจเจก
พุทธเจ้า กระทบกับสีของผ้ากัมพลดูแล้วเลื่อมพรายงดงาม เกิดความ
เลื่อมใสศรัทธามาก จึงตั้งจิตอธิษฐานว่า “ทันทีที่พระคุณเจ้าเหยียบผ้า
กัมพล ประกายแห่งผ้ากัมพลนี้แวววาวอย่างยิ่ง ฉันใด แม้วรรณะแห่งมือ
และเท้าของข้าพเจ้า จงงดงามอย่างนั้นในที่ที่ข้าพเจ้าเกิดแล้ว ฉันนั้น
ขอให้ผัสสะของข้าพเจ้า จงมีความนุ่มนวลละเอียดอ่อน เหมือนกับผัสสะ
ของผ้ากัมพลที่ฟอกแล้วถึง ๗ ครั้งด้วยเถิด”
บุญกุศลที่ท่านได้ทำด้วยความศรัทธาในครั้งนั้น ส่งผลให้ท่านไปเกิด
เป็นเทวดาผู้มีฤทธานุภาพมาก เสวยสุขอยู่ในสุคติภูมิเป็นเวลายาวนาน
ครั้นมาในสมัยพุทธกาลนี้ ท่านได้มาเกิดเป็นลูกเศรษฐีอีก เนื่องจากเป็น
ผู้มีผิวพรรณวรรณะที่ละเอียด และมีรัศมีออกจากกาย พ่อแม่จึงตั้งชื่อว่า
โสณกุมาร พวกพี่เลี้ยงนางนมได้ช่วยกันดูแลท่านเป็นอย่างดี ให้มีความสุข
เหมือนเทพกุมาร เนื่องจากท่านเป็นผู้มีบุญมาก เวลาจะเดินไปทางไหน
ฝ่ามือฝ่าเท้าของโสณกุมาร ซึ่งมีวรรณะผ่องใส มีเส้นขนขาวใสเหมือนแก้ว
มณีเกิดที่ฝ่าเท้า มีความละเอียดอ่อนเหมือนสัมผัสของปุยฝ้ายที่ฟอกแล้ว
ถึง ๗ ครั้ง ความปรารถนาอันใดที่ท่านตั้งไว้ ก็สำเร็จสมปรารถนาทุกอย่าง
ทุกขณะที่โสณกุมารก้าวเดินไปไหน จะต้องมีพรมมารองรับฝ่าเท้าตลอด
เวลา ถ้าไปไกลๆ ก็มีรถหรือวอทองแห่ไป และหากโสณกุมารโกรธใครขึ้น
มา จะพูดไม่เหมือนคนอื่น ท่านจะบอกว่า “เดี๋ยวก็ลงเหยียบบนพื้นดินซะ
หรอก” ทำเอาคนใช้ตกอกตกใจกันใหญ่รีบเกลี้ยกล่อมให้ท่านเดินบนพรม
ผู้มีบุญมากจะได้รับสมบัติที่ประณีต และมีคนเอาอกเอาใจอย่างนี้
เมื่อมีโอกาสได้ฟังธรรมจากพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านเข้าใจเรื่องราวของ
ตนเองว่า ความสุขที่ยิ่งกว่าเบญจกามคุณที่ท่านได้รับอยู่นี้ ยังมีอยู่ เป็น
ความสุขที่ไม่ต้องอาศัยวัตถุภายนอก หากเป็นความสุขที่เกิดจากการ
ชำระกาย วาจา ใจให้สะอาดบริสุทธิ์ที่สุด จนกระทั่งหลุดพ้นจากกิเลส
อาสวะทั้งมวล ความสุขแบบนี้เป็นสิ่งที่ตัวท่านเองและมวลมนุษยชาติ
ต่างพากันแสวงหา และเมื่อท่านได้มาพบเส้นทางอันบริสุทธิ์นี้แล้ว
จึงตัดสินใจสละความสุขทั้งหมดทางโลก ออกบวชเป็นสาวกของพระผู้มี
พระภาคเจ้าทันที
ครั้นบวชแล้ว ท่านตั้งใจมั่นว่าจะต้องทำใจให้บริสุทธิ์หยุดนิ่ง ระลึกถึง
พระพุทธพจน์ที่ว่า สพฺพทุกฺขนิสฺสรณนิพฺพานสจฺฉิกรณตฺถาย คือบวชมา
แล้วจะต้องทำพระนิพพานให้แจ้งให้ได้ เนื่องจากท่านเป็นผู้มีฝ่าเท้าที่
ละเอียดอ่อนมาก เวลาเดินจงกรมจึงรู้สึกเจ็บปวด เท้าของท่านถึงกับ
บวมเป่งขึ้นมาและมีเลือดไหล ทำให้ได้รับความทุกข์ทรมานมาก แต่ท่าน
ก็อดทนไม่ให้สิ่งเหล่านั้นมาเป็นอุปสรรค จนพระบรมศาสดาต้องเสด็จมา
โปรด และแนะกุศโลบายที่จะให้เข้าถึงธรรมอย่างง่ายๆ
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามว่า “ดูก่อนโสณะ เมื่อครั้งเธอยังเป็นคฤหัสถ์
เธอมีฝีมือในการเล่นพิณมิใช่หรือ” พระเถระทูลตอบว่า“อย่างนั้น
พระพุทธเจ้าข้า” พระพุทธองค์ตรัสถามต่อไปว่า “โสณะ เธอจะสำคัญความ
ข้อนั้นเป็นไฉน คราวใดสายพิณของเธอตึงเกินไปก็ดี หย่อนเกินไปก็ดี
คราวนั้นเสียงพิณของเธอย่อมไม่ไพเราะเสนาะโสตทั้งต่อตัวเธอเอง
และผู้ฟังก็ไม่ชอบใจมิใช่หรือ” “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ดูก่อนโสณะ คราวใดที่สายพิณของเธอไม่ตึงนัก ไม่หย่อนนัก ขึงได้พอดีๆ
คราวนั้น เสียงพิณของเธอก็มีเสียงไพเราะน่าฟังใช่ไหม” “เป็นอย่างนั้น
พระพุทธเจ้าข้า” “ดูก่อนโสณะ การปรารภความเพียรก็เช่นเดียวกัน
หากมีความตึงเครียดเกินไป จะเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน ความเพียรที่
ย่อหย่อน จะเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ฉะนั้น เธอจงตั้งความเพียรแต่
พอเหมาะ จงรู้ข้อที่อินทรีย์ทั้งหลายเสมอกัน และจงถือนิมิตในความ
สม่ำเสมอนั้นเถิด” เมื่อพระเถระทราบว่าต้องแสวงหาความพอดี คือ มี
ทั้งความสบายกาย และสบายใจในการเจริญภาวนา ทำสองอย่างควบคู่กัน
ไป ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน และทำให้ต่อเนื่องสม่ำเสมอ ในที่สุดท่านก็
สมปรารถนาได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิต
พวกเราก็เช่นเดียวกัน การปรารภความเพียรนั้น นอกจากจะมีความตั้งใจ
ดีแล้ว ต้องรู้จักปรับปรุงแก้ไขวิธีการด้วย ตึงไปก็ผ่อน หย่อนไปก็ปรับใหม่
ให้พอดีๆ เพราะการปฏิบัติธรรมคือ การแสวงหาความพอดี ค่อยๆ ทำไป
ใจเย็นๆ อย่ากลัวช้ากลัวเสียเวลา อย่ากลัวว่าจะปฏิบัติไม่ได้ หลวงพ่อ
รับรองว่าหากพวกเราทุกคนปรารภความเพียรอย่างต่อเนื่อง คิดแต่เรื่อง
ศูนย์กลางกาย ตามที่หลวงพ่อแนะนำไว้ เอาใจจดจ่ออยู่ที่ตรงนั้น ไม่ว่า
จะอยู่ในอิริยาบถไหน ก็หยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนั้นอย่างสบายๆ รับรองว่าจะ
สมปรารถนากันทุกคน ถ้าเราหมั่นสังเกต จะพบเหตุแห่งความบกพร่อง
และช่องทางแห่งความสำเร็จ ช่องทางที่จะทำให้เราเข้าถึงธรรมนั้นมีอยู่
แล้ว เหลือแต่ทำให้ถูกวิธี ทำให้สม่ำเสมอ ดังนั้น ให้หมั่นฝึกฝนใจให้
หยุดนิ่ง ปรารภความเพียรกันให้เต็มที่ ทำกันไปจนกว่าจะเข้าถึงพระธรรมกาย มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งภายในกันทุกคน
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับพุทธสาวก-พุทธสาวิกา
หน้า ๑๒๕ - ๑๓๕
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ
(ภาษาไทย) เล่มที่ ๓๒ หน้า ๓๖๘
โฆษณา