21 พ.ค. 2020 เวลา 13:32 • สุขภาพ
ริดสีดวงตามคัมภีร์หฤศโรค(วัดโพธิ์)มี 18 ประการ ตอนที่๑
เตรียมสอนต่อวันพฤหัสหน้า ไหนๆหาแล้วเพื่อนๆอ่านเอาความรู้ไปด้วยนะคะ
สักกะริยะ จะกล่าวริดสีดวงอันบังเกิดเนื่องมาแต่กุมารโรคอันอาจารย์ในกาลก่อนสืบต่อกันมา รจนาในคัมภีร์ทั้งหลายนั้นมากมายนัก เหลือที่กำหนด ในที่นี้จะยกมาแต่ที่ท่านสงเคราะห์ไว้เป็นหมวด แล้วมีนานบัญญัติสมมุติว่า คัมภีร์ริดสีดวงต่างๆ ๑๘ จำพวก คือริดสีดวงอันชื่อว่า ปาลติญาณะโรค, วิตานะโรค, ฆานะโรค, พริณะโรค, โรหินีโรค, วิชิกามะโรค, อุระปัศโรค, อันตะริศโรค, อันตคุณโรค, ตาระสกะโรค, อัคนีโชตโรค, วาตะสุตะโรค, อรวัณณโรค, สักเคระโรค, สุวิชิกาโรค, สกะถาณะโรค, ปานทะโรค, และกาละสุกระโรค ริดสีดวงทั้ง ๑๘ จำพวก ซึ่งว่ามาทั้งนี้พึงรู้ตามในคัมภีร์ท่านกล่าวไว้ในลำดับดังนี้
๑ ปาลติญาณะ บังเกิดในสมอง ศีรษะ นั้น กระทำให้ปวดศีรษะเป็นกำลัง บางทีให้ขบในสมองศีรษะ บางทีให้หนักศีรษะซุนไป บางทีให้เชื่อมมัวยิ่งนัก
๒ วิตานะ บังเกิดในจักษุ นั้น กระทำให้ น้ำจักษุไหลอยู่เป็นนิจ บางทีให้เป็นมูลจักษุฟูมเช็ดมิได้ขาด บางทีให้คันจักษุเป็นกำลัง บางทีให้แสบร้อนในดวงจักษุ บางทีให้ปวดไปทั้งจักษุ บางทีให้เปื่อยไปตามขอบจักษุ มีเวทนายิ่งนัก
๓ ฆานะ บังเกิดในนาสิก นั้น กระทำให้หายใจขัด บางทีเป็นเม็ดขึ้นในนาสิก แล้วแตกลำลาบออกเหม็นคาวคอ กระทำพิษให้ปวดแสบปวดร้อนเป็นกำลัง บางทีให้น้ำมูกไหลอยู่เป็นนิจ ใสดุจน้ำฝน ให้เหม็นคาวคอยิ่งนัก
๔ พริณะ บังเกิดในปากและลิ้น นั้น กระทำให้ลิ้นนั้นเปื่อยเป็นขุมๆ ให้น้ำเขฬะไหลอยู่เป็นนิจ จะบริโภคอาหารอันใดอันหนึ่ง มีรสอันเผ็ดร้อนและเปรี้ยวเค็มก็มิได้ ให้แสบร้อนเหลือกำลังทนยิ่งนัก
8
๕ โรหินี บังเกิดขึ้นในลำคอ นั้น กระทำให้ชุ่มไปด้วยเสมหะ ให้เหม็นคาวคอเป็นกำลัง บางทีให้เน่าเหม็นโขง ให้ลำคอเป็นเลือด บริโภคอาหารมิได้ไม่มีรส
3
๖ วิชิกามะ บังเกิดขึ้นในดวงจิต(หัวใจ) นั้น กระทำให้แสบในทรวงอก และยอกในอกอยู่เป็นนิจ จะไหวตัวไปมาก็มิได้ บางทีให้ร้อน บางทีให้หนาว จะบริโภคอาหารก็มิได้ ให้หิวเป็นกำลัง และให้เสโทตกหนัก
3
๗ อุระปัศ บังเกิดในทรวงอกและสีข้าง ทั้ง ๒ นั้น กระทำให้เจ็บทั่วสรรพางค์กาย บางทีให้บวมไปทั้งตัว บางทีกระทำให้ลงดุจเป็นบิด แล้วให้ปวดมวนเป็นเสมหะ โลหิตเน่าเจือกันออกมา โดยนัยท่านกล่าวไว้นั้น
๘ อันตะริศะ บังเกิดขึ้นในลำไส้ใหญ่ นั้น กระทำให้ผอมแห้ง ผอมเหลือง ให้เมื่อย ให้หอบ บางทีให้ปวดท้องและท้องขึ้นมิรู้วาย ให้ผะอืดผะอมยิ่งนัก
๙ อันตคุณะ บังเกิดขึ้นในลำไส้น้อย นั้น กระทำให้ลงท้องยิ่งนัก อยู่ดีๆ ก็ไประคนด้วยวาโยมีกำลัง เมื่อไปอุจจาระดุจผายลม มีเสียงอันดัง บางทีมีเสมหะ บางทีหาเสมหะมิได้ ให้หิวโหยถอยกำลังยิ่งนัก
1
๑๐ ตาระสกะ บังเกิดขึ้นในหัวเหน่าและท้องน้อย นั้น กระทำให้ปวดท้องน้อยเป็นกำลัง บางทีให้ขัดเสมหะ บางทีให้ปัสสาวะบ่อย และหยดย้อยมิได้สะดวก ให้แสบร้อนในลำปัสสาวะยิ่งนัก
๑๑ อัคนีโชต บังเกิดขึ้นในทางปัสสาวะ นั้น กระทำให้ปัสสาวะนั้นเป็นโลหิตสดๆ ไหลออกมาตามช่องปัสสาวะ บางทีให้น้ำปัสสาวำเหลืองดุจน้ำขมิ้น บางทีให้น้ำปัสสาวะออกมาเป็นบุพโพเจือ ให้แสบร้อนเป็นกำลัง
๑๒ วาตะสุตะ บังเกิดขึ้นในสันหลัง นั้น กระทำให้เจ็บเอวและสันหลัง บางทีให้ร้อนในสันหลัง บางทีให้ไอเป็นกำลัง ให้ผอมแห้ง ให้ตัวเป็นเกล็ดแล้วให้เหนื่อยหอบเป็นกำลังยิ่งนัก
๑๓ อรวัณณะ บังเกิดในทรวงอก นั้น กระทำให้เจ็บให้ยอกในอกเป็นกำลัง แลให้ไอแห้งหาเยื่อมิได้ บางทีให้ไอเป็นโลหิตออกมา บางทีให้จับดุจไข้เจรียง แล้วให้ร้อนให้หนาว ให้ครั่นตัวยิ่งนัก
๑๔ สักเคระ บังเกิดในทวารหนัก นั้น กระทำให้แสบร้อนในทวารหนัก บางทีให้น้ำเหลืองไหลอยู่เรื่อย
๑๕ สุวิชิกา บังเกิดตามขอบทวารหนักสัณฐานดังเม็ดข้าวโพด นั้น กระทำให้ปวดแสบ ให้คันเหลือกำลัง บางทีให้มีหนองและโลหิตตกทางทวารหนัก ให้ปวดมวน ให้ตึงทวารหนักยิ่งนัก
๑๖ สกะถาณะ บังเกิดที่ริมทวารหนักข้างใน มีสัณฐานดังเดือยไก่ นั้น กระทำให้จับดุจไข้เหลือง บางทีให้ร้อนให้หนาว บางทีให้เมื่อยทั่วสรรพางค์กาย ถ้าอุจจาระผูกและเคลื่อนออกมาโดยกำลังลม โลหิตก็แตกออกมาด้วย โรคนั้นกำเริบขึ้น
๑๗ ปานทะ บังเกิดตามขอบทวารหนัก นั้น กระทำให้เป็นหนอง และโลหิตไหลเน่าเหม็นยิ่งนัก ให้ปวดแสบปวดร้อนเป็นกำลัง อุจจาระนั้นจะผูกไม่ได้ ถ้าเกิดผูกเข้าจะทำให้เจ็บปวดไปทั้งทวาร
๑๘ กาละสุกร บังเกิดขึ้นทร่วงอุจจาระ นั้น กระทำให้โลหิตสดๆ ตกออกมา บางทีเป็นโลหิตช้ำระคนกับเสมหะห่อหุ้มตกออกมาก็มีบ้าง ให้แสบร้อน ให้คัน ให้เมื่อยทุกข้อกระดูกและสรรพางค์กาย
2
อ้างอิง: ศิลาจารึกวัดโพธิ์, คัมภีร์หฤศโรค สมาคมแพทย์แผนไทยเชียงใหม่
โฆษณา