23 พ.ค. 2020 เวลา 07:02 • ประวัติศาสตร์
มาดูว่าพวกทหารเค้าแบกอะไรไปสนามรบบ้าง
ช่วง 1,000 ปีที่ผ่านมา ชายชาติทหารต้องแบกอะไรไปสนามรบกันบ้าง... เดี๋ยวนะ ไม่ได้มีแค่อาวุธอย่างเดียวเรอะ!!!!
ปฏิเสธไม่ได้ว่า "สงคราม" อยู่คู่กับประวัติศาสตร์มนุษยชาติมานานแสนนาน อุปกรณ์ชิ้นแรกที่มนุษย์สร้างได้ก็น่าจะเป็น "อาวุธ" โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อใช้ล่าสัตว์หาอาหาร จุดประสงค์รองก็ไว้ใช้กำจัดศัตรูที่จะมาแย่งทรัพยากร
ภาพเขียนสีในถ้ำช่วยทำให้เรากระจ่าง มีหลักฐานว่ามนุษย์เริ่มใช้ธนูเข่นฆ่ากันเองราว 30,000 ปีมาแล้ว บางภาพบรรยายการสู้กันของคนหาอาหารระหว่างสองเผ่า บางภาพเป็นกลุ่มนักรบถือธนูกำลังห้ำหั่นกัน
เมื่อมนุษย์มีวิวัฒนาการ จากยุคหินไปเป็นยุคเหล็ก อาวุธยุทโธปกรณ์ก็ได้รับการคิดค้นพัฒนาขึ้นด้วย มีการผลิตหอก ขวาน ดาบ เรื่อยมาจนถึงยุคที่ผลิตปืนคาบศิลา และปืนกลอัตโนมัติ ตามลำดับ
https://www.smithsonianmag.com/smart-news/did-cave-acoustics-play-role-art-and-language-180968252/
ภาพชุดด้านล่างมีชื่อว่า "Soldiers' Inventories" รวบรวมและจัดทำขึ้นโดย Thom Atkinson นักสารคดีชาวอังกฤษ เขาร้อยเรียงชุด "Kit" ที่เหล่าทหารพกติดตัวออกสนามรบในช่วง 1,000 ปีที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่สมรภูมิแฮสติงส์ ปี 1066 จนถึงสงครามในอัฟกานิสถาน ปี 2013
เชิญรับชมพัฒนาการสิ่งละอันพันละน้อยในสนามรบ ตลอดช่วง 1 สหัสวรรษของประวัติศาสตร์การสงครามของมนุษยชาติได้เลยค่ะ
1) ฮัสคาร์ล (Huscarl) - องค์รักษ์อาวุธหนักแห่งแองโกล-แซ็กซัน, สมรภูมิ Hastings, อังกฤษ ปี 1066
ทหารในยุคนี้พกอาวุธหลายประเภทเพื่อการใช้งานที่หลากหลาย นอกจากนี้ยังมีของกระจุ๊กกระจิ๊กเล็กๆน้อยๆเพื่อความบันเทิง เช่น "ลูกเต๋า" และมี "ช้อน" ไว้สำหรับรับประทานอาหารด้วย ต่อจากนี้โปรดสังเกตว่า ทหารสัญชาติอังกฤษของ Thom Atkinson จะพกช้อนติดตัวเสมอ
Battle of Hastings เกิดขึ้นระหว่างกองทัพนอร์มัน-ฝรั่งเศส นำโดยเจ้าชายวิลเลี่ยมดยุคแห่งนอร์มังดี และกองทัพอังกฤษของราชา ฮาโรลด์ กอดวินสัน ผู้ซึ่งเป็นราชาแองโกล-แซ็กซัน องค์สุดท้าย
ผลคือฝ่ายนอร์มันได้รับชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เกิดพระราชา “วิลเลี่ยมผู้พิชิต”( William the Conqueror) และเกิดระบอบการปกครองแบบ "ฟิวดัล" ขึ้น เพื่อป้องกันราชบัลลังก์และกำจัดอำนาจของขุนนางที่มากเกินไป
2) "Mounted Knight" นักรบบนหลังม้าในสงครามครูเซด, บนเส้นทางสู่เยรูซาเร็ม, ปี 1244
ยังพกอาวุธเยอะเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือสร้อยประคำห้อยไม้กางเขน และชุดป้องกันที่ดูจะมากกว่าเดิมสองสามชิ้น
สงครามครูเซด เป็นสงครามทางศาสนาที่เกิดขึ้นเป็นครั้งๆ อย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งอาจหมายถึงสงครามระหว่างชาวคริสต์ต่างนิกายด้วยกันเอง หรือชาวคริสต์กับผู้นับถือศาสนาอื่นก็ได้ แต่โดยส่วนใหญ่มักหมายถึงสงครามครั้งใหญ่ระหว่างชาวมุสลิมและชาวคริสต์
3) ยุทธการที่อาแซ็งกูร์ (Battle of Agincourt) - สงครามร้อยปีอังกฤษ/ฝรั่งเศส, เมืองอาแซ็งกูร์ ประเทศฝรั่งเศส, ปี 1415
หนึ่งในนวัตกรรมของทหารอังกฤษที่แบกไปฝรั่งเศสคือ "ไม้แหลมปักหลั่น" ที่เอาไว้ต่อกรกับ "cavalry" หรือ "กองทหารม้า" โดยเฉพาะ
ศึกษาและเพลิดเพลินกับยุทธการอาแซ็งกูร์ได้ที่:
4) อัศวินฝ่ายราชวงศ์ยอร์ค ในสงครามดอกกุหลาบระหว่างราชวงศ์ยอร์ค และราชวงศ์แลงคาสเตอร์, ยุทธการบอสเวิร์ธฟิลด์ (Battle of Bosworth), มณฑลเลสเตอร์เชอร์ ประเทศอังกฤษ, ปี1485
ความอัศวินของยุคสมัยนี้... พวกเขาต้องสวมเกราะมันวาวสีเงินทั้งตัว น่าจะหนักไม่ใช่น้อย!
ยุทธการบอสเวิร์ธฟิลด์ เป็นยุทธการในสงครามดอกกุหลาบ เป็นการต่อสู้ระหว่างกองทัพของฝ่ายราชวงศ์ยอร์ค และฝ่ายราชวงศ์แลงคาสเตอร์ ผลของยุทธการครั้งนี้ แลงคาสเตอร์ได้รับชัยชนะ ในด้านความเสียหายของทั้งสองฝ่ายไม่มีหลักฐานแน่นอนที่ระบุไว้
5) Trained band caliverman - พลทหารปืนยาวตั้งรับการบุกของกองเรือสเปน ในสมัยสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่ 1, ทิลบูรี่ ประเทศอังกฤษ, ปี 1588
ประมาณ 100 ปีต่อมาเริ่มพกปืนกันแล้ว การแต่งตัวกะทัดรัดขึ้นเยอะ เอาเกราะออกหมดเพื่อความคล่องตัว กางเกงเป็นแบบขาสั้นครึ่งเข่า มีความแฟชั่นเล็กน้อย
สงครามอังกฤษ-สเปน เป็นส่วนหนึ่งของสงคราม 80 ปี ระหว่างสเปนและอังกฤษ มีการต่อสู้ในยุทธการต่างๆ เป็นบางครั้ง
สงครามอังกฤษ-สเปนก็มาสิ้นสุดลงโดยการลงนามในสนธิสัญญาลอนดอน สเปนตกลงที่จะยุติการแทรกแซงทางทหารในไอร์แลนด์ ขณะที่อังกฤษตกลงที่จะยุติการแทรกแซงทางทหารในเนเธอร์แลนด์ของสเปน
6) ทหารเสือ (ปืนคาบศิลา) ในระหว่างสงครามกลางเมืองอังกฤษครั้งที่ 1, ยุทธการเนสบี, เทศมณฑลนอร์แทมป์ตันเชอร์ ประเทศอังกฤษ, ปี 1645
ปืนยาวกว่าเดิม กระสุนใหญ่ขึ้น พกกระเป๋าสะพายไหล่ หมวกปีกกว้าง และจดหมายจากครอบครัวหรือคนรัก
ยุทธการที่เนสบีเป็นยุทธการในสงครามกลางเมืองอังกฤษครั้งที่ 1 โดยกองทัพของฝ่ายนิยมกษัตริย์ของพระเจ้าชาลส์ที่ 1 พ่ายแพ้ต่อฝ่ายรัฐสภา
ฝ่ายนิยมกษัตริย์เสียชีวิตด้วยกันทั้งสิ้น 1,000 คนและถูกจับเป็นเชลยอีก 5,000 คน ส่วนฝ่ายฝ่ายรัฐสภาเสียชีวิตและบาดเจ็บ 400 คน
7) ทหารองครักษ์จากสมรภูมิ Malplaquet หนึ่งในสมรภูมิครั้งใหญ่ของสงครามสืบราชบัลลังก์สเปน ณ หมู่บ้าน Malplaquet ติดพรมแดนฝรั่งเศส, ฝรั่งเศส, ปี 1709
นี่เป็นอีกหนึ่งสมรภูมิที่นองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ระหว่างกองทัพสัมพันธมิตรที่ประกอบด้วย อังกฤษ โปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ และจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (ออสเตรีย+ปรัสเซีย) กับ กองทัพฝรั่งเศส เพื่อแย่งชิงราชบัลลังก์สเปน หลังพระเจ้าการ์โลสที่ 2 แห่งสเปนสวรรคต
สงครามสงบลงด้วยการลงนามในสนธิสัญญา และให้พระเจ้าเฟลีเปที่ 5 ยังคงเป็นพระเจ้าแผ่นดินสเปน แต่ถูกยกเลิกสิทธิในการสืบราชบัลลังก์ฝรั่งเศส เพื่อป้องการการรวมตัวระหว่างราชอาณาจักรสเปนและฝรั่งเศส
8) พลทหารอังกฤษจากยุทธการที่วอเตอร์ลู, เบลเยี่ยม, ปี 1815
เป็นยุทธการสุดท้ายของนโปเลียน ระหว่างจักรวรรดิฝรั่งเศส กับกองทัพสัมพันธมิตร ได้แก่ ปรัสเซีย อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ผลของการสู้รบทำให้นโปเลียนหมดอำนาจอย่างแท้จริง เป็นจุดสิ้นสุดของรัชสมัยร้อยวัน และนโปเลียนถูกเนรเทศไปเกาะเซนต์เฮเลนา
สังเกตว่าทหารเริ่มจะพกเครื่องครัว แผ่นกระดานเล่นเกม และชุดกระเป๋าสำหรับกางเต้นท์ จากสงครามที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ทหารแต่ละนายจะต้องจัดการชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเองในสนามรบ เนื่องจากการเดินทางไปรบในสมรภูมิที่ห่างไกลจากกองบัญชาการ
9) ทหารประจำกองพลปืนยาวจากยุทธการที่ Alma ส่วนหนึ่งของสงครามไครเมีย, ทางใต้ของแม่น้ำ Alma ระหว่างประเทศยูเครนและรัสเซียในปัจจุบัน, ปี 1854
สงครามไครเมีย เป็นสงครามระหว่างจักรวรรดิรัสเซีย กับฝ่ายพันธมิตร อันประกอบด้วยจักรวรรดิฝรั่งเศส จักรวรรดิอังกฤษ จักรวรรดิออตโตมัน และราชอาณาจักรซาร์ดิเนีย เพื่อตัดสินว่า ใครจะครอบครองช่องแคบเตอร์กิช และควบคุมทะเลดำ
ผลของสงคราม รัสเซียเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เกิดสนธิสัญญาปารีส ทำให้รัสเซียที่เคยเป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจจะต้อง ล่าถอยกลับไปอยู่ในภาคพื้นทวีป
อำนาจของรัสเซียเริ่มจะกลายเป็นมหาอำนาจอีกครั้งหนึ่งเริ่มต้นอีกครั้งใน ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้เอง
10) พลทหารอังกฤษและเยอรมันจากยุทธการที่แม่น้ำ Somme หนึ่งในสมรภูมิจากยุคสงครามโลกครั้งที่ 1, ฝรั่งเศส, ปี 1916
เครื่องแบบพลทหารฝ่ายอังกฤษ
เครื่องแบบพลทหารฝ่ายเยอรมัน
ยุทธการที่แม่น้ำซอม เป็นหนึ่งในสมรภูมิสำคัญของแนวรบด้านตะวันตกในสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อกองทัพของเครือจักรภพอังกฤษและฝรั่งเศส ปะทะกับ กองทัพจักรวรรดิเยอรมันที่บริเวณแม่น้ำซอม
จัดเป็นหนึ่งในสมรภูมิที่นองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เนื่องจากมีทหารจากทั้งสองฝ่ายกว่าหนึ่งล้านนายเสียชีวิตที่นี่
11) เครื่องแบบพลทหารฝรั่งเศส จากสมรภูมิแวร์เดิง (Verdun) สงครามโลกครั้งที่ 1, ฝรั่งเศส, ปี 1916
แวร์เดิง เป็นสมรภูมิที่มีขนาดใหญ่และยืดเยื้อที่สุดครั้งหนึ่งในสงครามโลกครั้งที่ 1 บนแนวรบด้านตะวันตกระหว่างกองทัพเยอรมัน กับ ฝรั่งเศส กินเวลาในการรบถึง 303 วัน
12) กองพลทหารราบแห่งสหรัฐอเมริกา (Doughboy) หลังยกพลขึ้นบกที่ฝรั่งเศสเพื่อเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1, ฝรั่งเศส, ปี 1917
เกิดขึ้นหลัง เรือดำน้ำเยอรมันเปิดฉากยิงเรือสินค้าของอเมริกาจมในเขตน่านน้ำประเทศอังกฤษ จำนวนหลายลำติดๆกัน อเมริกาประกาศสงครามกับเยอรมันในวันที่ 6 เมษายน 1917
สหรัฐอเมริกาได้ส่งทหารถึง 2 ล้านคนเข้าไปร่วมรบในสมรภูมิยุโรป ภายใต้การนำของนายพลจอห์น เจ. เปอร์ชิง (John J. Pershing) และถือว่าเป็นส่วนสำคัญยิ่งที่ทำให้ฝ่ายพันธมิตรได้รับชัยชนะในที่สุด
13) เครื่องแบบนายทหารยศสิบตรีของกรมพลร่มอังกฤษ (Parachute Brigade) ในสมรภูมิที่อาร์เนม (Arnhem) สงครามโลกครั้งที่ 2, เนเธอร์แลนด์, ปี 1944
หลังจากฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี และได้ทำการปลดปล่อยฝรั่งเศสและเบลเยียมจากการยึดครองของเยอรมันแล้ว สัมพันธมิตรก็เคลื่อนทัพเข้าสู่เนเธอร์แลนด์ต่อ
สัมพันธมิตรวางแผนปฏิบัติการมาร์เก็ต การ์เดน (Market garden operation) โดยการจะส่งพลร่มโดดลงสู่เนเธอร์แลนด์เพื่อยึดสะพานและเมืองสำคัญต่างๆ ตามรอยต่อพื้นที่ยึดครองของสัมพันธมิตร กับ เยอรมัน
ผลของปฏิบัติการล้มเหลวไม่เป็นท่า อังกฤษสูญเสียพลร่มไปเกือบ 8,000 นาย สงครามยังคงยืดเยื้อต่อจนถึงกลางปีถัดไป
14) ชุดหน่วยคอมมานโดอังกฤษจากสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์, หมู่เกาะฟอล์กแลนด์ ทางตอนใต้ของทวีปอเมริกาใต้, ปี 1982
สงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ เริ่มต้นขึ้นเมื่อ อาร์เจนตินาส่งทหารเข้ายึดหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ อันเป็นอาณานิคมของอังกฤษ
สงครามสิ้นสุดลง โดยอาร์เจนตินาเป็นฝ่ายแพ้สงคราม อังกฤษสูญเสียทหารไปทั้งสิ้น 255 คน ฝ่ายอาร์เจนตินาสูญเสียทหารไป 649 คน ต่างฝ่ายต่างสูญเสียเรือและเครื่องบินพอๆ กัน (Via Wikipedia)
15) เครื่องแบบของทหารช่างอังกฤษในสงครามอัฟกานิสถาน, จังหวัด Helmand, อัฟกานิสถาน, ปี 2014
โฆษณา