Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Hidden Ayutthaya
•
ติดตาม
22 พ.ค. 2020 เวลา 05:52 • ประวัติศาสตร์
วัดแดง จุดปะทะกองอาสาคริสตัง
“วัดแดง” เป็นวัดที่ปรากฏชื่อในพระราชพงศาวดารในกลุ่มของ “วัดกระช้าย วัดพลับพลาชัย วัดเต่า วัดสุเรนทร์ วัดแดง” ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งค่ายของกองทัพพม่าฝั่งตะวันตกลงมาถึงฝั่งทิศใต้ของเกาะเมือง
ซากพระพุทธรูปบนโคกวัดแดง บ้านปลาเห็ด
ในแผนที่ภูมิสถานอยุธยาฉบับปรับปรุงของโครงการประวัติศาสตร์ไทยสังเขป ฉบับมติชน (16 สิงหาคม พ.ศ.2553) ระบุตำแหน่งของวัดแดงอยู่ทางทิศใต้ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามเกาะเมือง และอยู่ทางทิศตะวันออกของโบสถ์นักบุญยอแซฟ ซึ่งแถบนี้เป็นที่ตั้งของชุมชน “บ้านปลาเห็ด” อันเป็นชุมชนของคนไทยที่เข้ารีตเป็นคริสตัง
ตำแหน่งของวัดแดง - โบสถ์เซนต์โยเซฟ
จากพงศาวดารที่กล่าวถึงการตั้งค่ายของทัพพม่าที่วัดแดง ดูเหมือนว่าจะมาพร้อมๆ กับกองทหารที่ยึดพื้นที่วัดต่างๆ ในทุ่งฝั่งตะวันตก แต่เมื่อพิจารณาในแง่ของภูมิสถานอันเป็นที่ตั้งของวัดแดงแล้ว ควรจะเป็นทัพพม่าอีกกลุ่มที่แยกออกมาปฏิบัติการณ์ในภารกิจที่แตกต่างไปจากแนวรบฝั่งตะวันตกอย่างสิ้นเชิง
พงศาวดารของไทยให้ข้อมูลการเดินทัพของพม่าจากค่ายใหญ่วัดสีกุกไว้ว่า มีทัพที่แยกลงมาจากแม่น้ำน้อยมุ่งตรงมาที่บางไทร ทัพนี้อาจถูกส่งมารวมตัวกับกองทัพเรือพม่าที่ขึ้นมาจากทางทิศใต้ตามลำน้ำเจ้าพระยา พงศาวดารฝั่งพม่าไม่กล่าวถึงกองทัพในเส้นทางนี้เท่าที่ควร แต่ปรากฏเหตุการณ์อย่างละเอียดในพงศาวดารไทยว่าทัพเรือพม่าทางใต้เข้ายึดป้อมเมืองธนบุรี ปะทะเรือสำเภาติดปืนใหญ่ของกัปตันชาวอังกฤษ ที่เมืองนนทบุรี ก่อนจะขึ้นมาตั้งมั่นเป็นค่ายใหญ่ที่ขนอนหลวงวัดโปรดสัตว์
ท่าน้ำวัดโปรดสัตว์ ตรงนี้เคยเป็นขนอนหลวงบางตะนาวศรี ด่านเก็บภาษีด้านทิศใต้ของกรุงศรีอยุธยา
มีความเป็นไปได้ว่า ทัพของมังมหานรทา อาจต้องการทราบข่าวว่ากองทัพเรือทางใต้ที่เข้ามาทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา ได้ยกมาถึงที่ใดแล้ว จึงแบ่งกำลังทัพจากสีกุกลงมายังบางไทร และเมื่อกองทหารกลุ่มนี้พบกับทัพเรือทางใต้แล้ว ก็ให้รวมตัวกันปฏิบัติการเปิดแนวรบทางทิศใต้ของพระนครด้วยเลยทันที
ปฏิบัติการทางทิศใต้พระนครของพม่าคืออะไร? ในพงศาวดารของไทย ให้ข้อมูลการสู้รบด้านทิศใต้ของพระนครไว้เพียง 2 เหตุการณ์ คือเรื่องกองเรือพระยาเพชรบุรีกับพระยาตาก (พระเจ้าตากสิน) ปะทะกับกองเรือพม่าจากค่ายวัดโปรดสัตว์กันที่ทุ่งวัดสังฆวาส (วัดสังกวาด) และศึกตีค่ายจีนของหลวงอภัยพิพัฒน์ที่คลองสวนพลู
โคกวัดสังฆวาส (วัดสังกวาด) สมรภูมิทางเรืออันดุเดือด ที่พระยาเพชรบุรี (เรือง) สิ้นชีพ และพระยาตาก(สิน) หลบหนี
แต่เหตุการณ์แนวรบทางทิศใต้ กลับปรากฏอย่างละเอียดในจดหมายเหตุของบาทหลวงฝรั่งเศส ถึงการต่อต้านทัพพม่าของบรรดาผู้คนในชุมชนชาติตะวันตก รวมทั้งคนไทยที่เข้ารีตเป็นคริสตัง...
ด้านทิศใต้ของกรุงศรีอยุธยา เป็นที่ตั้งของชุมชนใหญ่ของชาวตะวันตก เช่น ค่ายหมู่บ้านโปรตุเกส, ชุมชนฮอลันดา, ชุมชนชาวญวนที่นับถือคริสต์ในบ้านเดิมของพวกญี่ปุ่น และโบสถ์ยอแซฟกับโรงเรียนสามเณราลัยของฝรั่งเศสที่บ้านปลาเห็ด ดังนั้น การโจมตีชุมชนเหล่านี้ คือการทำลายขุมการค้าทางทะเล อันเป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้มหาศาลให้แก่กรุงศรีอยุธยา
โครงกระดูกที่บ้านโปรตุเกส
ก่อนที่พม่าจะยกมาถึงชานพระนคร มีรายงานว่าชาวฮอลันดาได้หนีออกจากกรุงศรีอยุธยาไปก่อนแล้ว จึงเหลือเพียงกองกำลังอาสาของบรรดาคนเข้ารีต กับบรรดาชาวจีนแถบคลองสวนพลู ที่ใช้บ้านฮอลันดากับวัดพนัญเชิงเป็นสถานที่ตั้งค่าย ไม่มีรายงานในพงศาวดารของไทยว่ามีการส่งกองทัพจากกรุงไปรวมกำลังกับพวกเข้ารีตแต่อย่างใด มีเพียงข้อความที่ปรากฏในเอกสารคำให้การชาวกรุงเก่าที่เอ่ยชื่อชาวคริสตังที่อาสาเข้าสู้รบพม่าว่า “..ฝ่ายฝรั่งมีชื่อ คือ กรุงพานิช ฤทธิ์สำแดง วิสูตรสาคร อันตน กับเหล่าฝรั่งเป็นอันมากนั้น อาสาออกตีค่ายบ้านปลาเห็ด ก็ได้รบพุ่งกันเป็นอันมาก บ้างล้มตายทั้งสองฝ่าย..”
นักสำรวจที่อดีตชุมชนบ้านฮอลันดา
แต่ในจดหมายเหตุบาทหลวงฝรั่งเศสระบุว่าสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ พระราชทานปืนใหญ่ 30 กระบอกพร้อมทั้งลูกกระสุนและดินดำแก่วัดของพวกเข้ารีต 3 วัด และปืนกับเงินอีกจำนวนหนึ่งให้แก่พวกจีนคลองสวนพลูเพื่อต่อต้านพม่าที่ยกขึ้นมาจากทิศใต้ ในรายงานฉบับเดียวกันได้พูดถึงค่ายใหญ่บ้านโปรตุเกสที่พวกเข้ารีตได้ทำการป้องกันอีกด้วย
โรงเรียนสามเณราลัย ในอาณาบริเวณของโบสถ์เซนต์โยเซฟของฝรั่งเศส เป็นอีกหนึ่งค่ายของพวกเข้ารีตที่ไปรวมตัวกันและต่อสู้พม่าอย่างกล้าหาญ โดยมีท่านสังฆราชมองเซนเยอร์ บรีโกต์ เป็นผู้นำ กิตติศัพท์นี้ได้ทำให้คนไทยที่ไม่ใช่พวกเข้ารีตได้มาหลบอาศัยอยู่ที่นี่กันอย่างมากมาย
1
จดหมายเหตุของบาทหลวงฝรั่งเศสเล่าว่า ในระยะแรก พวกเข้ารีตได้ต่อสู้กับพม่าในรูปแบบกองโจร จนกระทั่งเมื่อพม่ายกกำลังเข้ามายึดวัดแห่งหนึ่งที่อยู่ตรงกับโรงเรียนสามเณราลัย มีการปะทะกันด้วยกำลังแต่ไม่สามารถต้านทานพม่าได้ จึงถอยมาตั้งมั่น ณ ค่ายโรงเรียนสามเณราลัย พม่าได้เอาปืนใหญ่ยิงเข้ามายังโบสถ์เซนต์โยเซฟจนหลังคาทะลุ ส่วนพวกเข้ารีตก็เอาปืนใหญ่ยิงเข้าไปในวัดไทยที่พม่ายึดอยู่จนกำแพงโบสถ์ทะลุพรุนเช่นกัน
1
ร่องรอยซากกำแพงเดิม ที่โบสถ์เซนต์โยเซฟ
เอกสารของตุรแปง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า วันต่อมา พม่าจะเข้าตีค่ายสามเณราลัยอีก แต่พวกเข้ารีตทำการต่อสู้อย่างห้าวหาญ พวกเขาเข้าโจมตีพม่าที่ตั้งมั่นอยู่ ณ เจดีย์แห่งหนึ่งจนแตกพ่าย และสามารถจับช้างของข้าศึกมาได้ 1 เชือก เป็นรางวัลแห่งชัยชนะ
วัดที่พม่ายึดไว้และทำการสู้รบกับกองอาสาพวกเข้ารีตที่โรงเรียนสามเณราลัยนี้ ก็คงเป็น “วัดแดง” ดังที่พงศาวดารระบุไว้นั่นเอง..
ซากหน้าตักพระพุทธรูปหินทรายที่โคกวัดแดง
“วัดแดง” เป็นวัดร้างกลางดงในชุมชนข้างโรงเรียนยอแซฟอยุธยาในปัจจุบัน ทั้งยังมีพื้นที่ติดกับวัดร้างอีกแห่งที่ชื่อ “วัดนางกราย” ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนวัดแดง อยู่ร่นเข้ามาทางทิศใต้ สิ่งที่เหลืออยู่ของวัดแดงนั้น มีเพียงโคกใหญ่กลางดงที่มีซากหน้าอกพระพุทธรูปหินทรายนับจำนวนได้ 5 องค์ กับชิ้นส่วนหน้าตักพระอีก 3 ชิ้น สภาพโดยรวมของทั้งสองวัดคือจมอยู่ในป่า ไม่เหลือซากอาคารใดๆ นอกจากเศษอิฐเป็นหย่อมๆ อันเป็นผลพวงจากสัมปทานรื้ออิฐวัดขายในช่วงหนึ่งเมื่อราว 60 – 70 ปีที่ผ่านมา
ซากหน้าอกพระพุทธรูปหินทรายของวัดแดง
จะเห็นว่า ค่ายพม่าบนพื้นที่วัดแดง ตั้งประจัญหน้ากับค่ายไทยในโรงเรียนสามเณราลัยชนิดที่ว่ากำแพงแทบจะติดกัน การต่อสู้ของที่นี่คงจะมีการปะทะกันอย่างหนักตลอด บันทึกของบาทหลวงฝรั่งเศสเล่าถึงการรบครั้งสำคัญว่ามีวันหนึ่ง พวกที่อยู่ยามพากันหลับไหล เป็นโอกาสให้พม่าบุกเข้ามาเผาค่ายในโรงเรียน จนผู้คนหนีไปรวมตัวกันที่โบสถ์เซนต์โยเซฟ มีคริสตังคนหนึ่ง ได้ชะล่าใจ ย้อนกลับไปยังเรือนของตน แต่กลับพบกับทหารพม่า จึงถูกพม่าฆ่าอย่างไร้ความปราณี แต่บรรดาชาวคริสตังที่สามารถรวมตัวกัน ได้ทำการต่อต้านอย่างหนักจนพม่าต้องถอยกลับไปยังค่ายของตน
ด้วยการปิดล้อมอันยาวนาน ในที่สุดพม่าก็สามารถกดดันและตีค่ายต่างๆ ด้านทิศใต้จนหมด ในพงศาวดารเล่าถึงการตีค่ายจีนคลองสวนพลู ต่อสู้ขับเคี่ยวกันถึงกึ่งเดือน ค่ายก็แตก จดหมายเหตุบาทหลวงฝรั่งเศสให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าพม่าตีค่ายจีนที่บ้านฮอลันดาแล้วจึงเผาเสียวอดวายทั้งหมด และยกลงไปตีค่ายของพวกเข้ารีตที่บ้านโปรตุเกสจนหมด สามารถจับบาทหลวงโดมินิกัน บาทหลวงเยซูอิต กับบรรดาพวกเข้ารีตภายในค่ายไว้เป็นเชลย
จากนั้น พม่าจึงให้บาทหลวงโปรตุเกสที่จับได้มาเกลี้ยกล่อมท่านสังฆราชมองเซนเยอร์ บรีโกต์ ยอมแพ้และจะไม่ทำอันตราย ในที่สุดท่านสังฆราชก็ได้ยอมแพ้แต่โดยดี พม่าจึงเข้ามากวาดเอาทรัพย์สินมีค่าและเผาโบสถ์จนวอดวาย จับบรรดาฝรั่งและคนเข้ารีตทั้งหมดเป็นเชลย ก่อนที่จะส่งไปยังค่ายที่ “วัดท่าใหม่ (Vat Thamai)” ซึ่งน่าจะเป็นวัดสำเภาล่ม(วัดทำใหม่) ที่อยู่ไม่ไกลจากโบสถ์เซนต์โยเซฟ เป็นอันสิ้นสุดปฏิบัติการณ์ในแนวรบด้านทิศใต้ของกองทัพพม่า
พระอุโบสถเก่า วัดสำเภาล่ม (วัดทำใหม่) คาดว่าน่าจะเป็นวัดท่าใหม่ ในจดหมายเหตุบาทหลวงฝรั่งเศส
จากการศึกษาถึงแนวค่ายพม่าในช่วงเวลาหลังน้ำหลาก มีรายงานว่าอยุธยาได้สร้างป้อมชั้นนอกไม่ให้พม่าเข้าประชิดพระนครในทันที ดังนั้น การตั้งค่ายของพม่าจึงยังอยู่ในช่วงวงล้อมที่ห่างจากแนวแม่น้ำออกไปราว 1 – 2 กิโลเมตร เหมือนดังค่ายพม่าทุ่งประเชดที่ตั้งประจัญหน้ากับค่ายไทยที่วัดไชยวัฒนาราม วัดแดงที่อยู่ใกล้โบสถ์เซนต์โยเซฟ จึงเป็นตำแหน่งค่ายที่แปลกและแตกต่างไปจากค่ายอื่นๆ กล่าวคือเป็นค่ายที่เข้าไปตั้งใกล้กับแนวแม่น้ำเจ้าพระยานอกเกาะเมือง ทั้งยังประชิดติดกับค่ายพวกเข้ารีตที่โบสถ์เซนต์โยเซฟห่างกันเพียง 500 เมตร เท่านั้น
จนกระทั่งผู้เขียนได้ข้อมูลจากการสืบเสาะลงสำรวจหมู่บ้านต่างๆ ที่เคยตั้งอยู่บนพื้นที่วัดร้างแถบทิศใต้ของวัดพุทไธยสวรรย์ เราก็ได้พบกับบ้านที่ตั้งอยู่บน “วัดแดง” อีกแห่งหนึ่ง นี่จึงเป็นข้อมูลที่ได้ค้นพบว่า ในพื้นที่ทางทิศใต้ของพระนครนั้นมีวัดแดงอยู่ถึง 2 วัดด้วยกัน
คุณยาย “ทองอยู่ พิทักษ์” เจ้าของบ้านบนโคกที่เคยเป็น “วัดแดง”
ผู้เขียนเดินทางเข้าไปยังซอยบ้านคลองคูจาม 1 ได้พบกับคุณยาย “ทองอยู่ พิทักษ์” วัย 75 ปี เจ้าของบ้านที่ตั้งอยู่บนที่ดินที่ถูกระบุโดยกรมศาสนาว่าเคยเป็น “วัดแดง” มาก่อน คุณยายเล่าความทรงจำเมื่อครั้งที่ได้ปลูกบ้านขึ้นใหม่ๆ ว่าในซอยนี้ เคยมีวัดร้างอยู่รอบๆ เต็มไปหมด ถัดจากบ้านคุณยายไปไม่ถึงร้อยเมตรเป็นที่ตั้งของโคก “วัดน้อยหน่า” ซึ่งยังปรากฏเนินดิน เศษอิฐ และชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายให้เห็นอยู่
พื้นที่วัดแดงแห่งที่ 2 ในเขตพื้นที่ส่วนบุคคล
“พ่อบอกว่าบ้านของเราอยู่บนที่ของวัดร้าง กรมศาสนาเขาบอกว่าเป็นที่ “วัดแดง” แต่เพราะมันเหลือแค่เนินดินกับเศษอิฐชิ้นเล็กๆ อยู่เต็มไปหมด ไม่เหลือซากอาคารใดๆ เพราะเขาขนอิฐไปขายหมดแล้ว เขาก็เลยปล่อยที่ให้เช่าปลูกบ้าน เราก็เติบโตกันมาบนที่นี้ตลอดจนถึงตอนนี้...” คุณยายทองอยู่กล่าว
ในอาณาบริเวณโดยรอบของบ้านหลังนี้ เป็นพื้นที่สวนมีบึงน้ำอยู่ข้างบ้าน เนินดินรอบบึงขึ้นมาบนสวน มีเศษอิฐชิ้นเล็กชิ้นน้อยกระจัดกระจายอยู่เป็นหย่อมๆ พบเศษเขี้ยวของกระเบื้องเชิงชายอยู่ 1 ชิ้นตรงริมบึง ส่วนบริเวณขอบรั้วบ้านพบอิฐวัดก้อนใหญ่ๆ วางล้อมแปลงผักอยู่จำนวนหนึ่ง อิฐก้อนใหญ่นี้ได้ความว่าถูกขนมาจากวัดสระสี่เหลี่ยม วัดร้างที่อยู่ด้านหลังบ้านห่างออกไปราว 500 เมตร
เศษกระเบื้องเชิงชายในวัดแดงแห่งที่ 2
เมื่อถามคุณยายว่ารู้จักวัดแดงอีกวัดหนึ่งในแถวนี้ไหม คุณยายก็ตอบว่ารู้จักเหมือนกัน พร้อมกล่าวย้ำว่าคนเฒ่าคนแก่แถบนี้เขาจะรู้กันดีว่าแถวบ้านเรามีวัดแดง 2 ที่
ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ น. ณ ปากน้ำ เข้ามาสำรวจวัดร้างแถบคลองคูจาม ได้บันทึกชื่อ “วัดแดง” ไว้ในหมู่ของวัดร้างด้านทิศใต้ของวัดพุทไธยสวรรย์ไว้เช่นกันว่า... “รอบๆ อาณาบริเวณวัดพุทไธศวรรย์ พบซากวัดร้างมากมายนับไม่ถ้วน จากหลังวัดตำหนักโอบไปทางใต้ถึงวัดสระสี่เหลี่ยม วัดแดง วัดตะเว็ด ในเวิ้งนี้ ปัจจุบันกลายเป็นทุ่งนา แต่เมื่อออกเดินสำรวจ จะพบซากโบราณสถานร้างตามเนินดินต่างๆ ไม่น้อยกว่า 20 แห่ง โบราณสถานเหล่านี้ กรมศาสนาขุดเอาอิฐไปขายจนหมด...”
วัดตะเว็ด ริมคลองคูจาม ใกล้กับวัดพุทไธยสวรรค์ ก่อนทำการบูรณะปรากฏแค่ซากผนังตั้งโดดเดี่ยวอยู่กลางป่า
วัดแดง ที่อาจารย์ น. ณ ปากน้ำพูดถึง จึงน่าจะเป็นวัดแดงที่เป็นบ้านของคุณยายทองอยู่ ซึ่งไม่เคยปรากฏอยู่บนแผนที่ฉบับใดๆ มาก่อน เมื่อเราดูที่ตั้งของวัดนี้จากภาพถ่ายดาวเทียม จะพบว่าด้านทิศใต้อยู่ห่างจากวัดตะเว็ดราว 300 เมตร ทิศเหนืออยู่ห่างจากวัดพุทไธยสวรรย์ ราว 500 เมตร และห่างจากโบสถ์เซนต์โยเซฟไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นรัศมีของแนวค่ายพม่าช่วงหลังน้ำหลากที่ยังไม่สามารถเข้าประชิดติดพระนคร
พื้นที่วัดแดงแห่งที่ 2
การยกทัพของพม่ามายังวัดแดงแห่งนี้ อาจใช้เส้นทางเข้าปากคลองตะเคียนแถบบ้านท้ายคู ปลายคลองตะเคียนนี้จะมีจุดบรรจบกับปลายคลองคูจาม การที่พม่าจะเข้ามาถึงวัดแดง ต้องล่องเรือเข้าคลองคูจามมาขึ้นฝั่งด้านตะวันตกแถบวัดตะเว็ด และยกล่วงเข้ามาตั้งค่ายในเขตวัดแดงได้อย่างสะดวก
ปลายคลองตะเคียนแถบบ้านท้ายคู แยกคลองฝั่งขวาคือปากคลองคูจามที่มาสบกับคลองตะเคียน
นอกจากนี้ เอกสารของตุรแปง ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อพม่าเข้ามาตั้งค่ายเพื่อโจมตีค่ายโรงเรียนสามเณราลัยในพื้นที่โบสถ์เซนต์โยเซฟนั้น พม่าได้เข้ามายึดวัดใหญ่ๆ ได้ 5 วัด ซึ่งกลายเป็นที่กำบังได้เป็นอย่างดี ส่วนในจดหมายเหตุบาทหลวงฝรั่งเศสระบุว่าพม่าได้มายึดวัดใหญ่ๆ ใกล้กับวัดพวกเข้ารีต 2 วัด ทั้งยังตำหนิว่าการที่ไทยสร้างวัดไว้มากๆ รอบพระนคร เป็นการคิดผิดโดยแท้ เพราะข้าศึกสามารถยึดวัดเหล่านี้เป็นที่มั่นอันแข็งแรงไว้สำหรับโจมตีค่ายไทยได้อย่างสะดวก
ดังนั้น พม่าคงมิได้ยึดวัดแดงเป็นที่มั่นไว้เพียงเดียว จะต้องมีวัดอื่นๆ โดยรอบที่ถูกพม่ายึดและสร้างค่ายไว้ด้วย และถ้าแบ่งโซนวัดแดงทั้ง 2 แห่งว่ามีวัดใดอยู่ในอาณาบริเวณนั้นบ้าง ก็จะแบ่งได้ดังนี้คือ..
(1) วัดแดง ที่อยู่ติดกับโรงเรียนสามเณราลัย มีวัดในอาณาบริเวณคือ วัดนางกราย(ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา), วัดโคกขมิ้น, วัดตำหนัก และวัดสำเภาล่ม (หรือวัดท่าใหม่ ในจดหมายเหตุบาทหลวงฝรั่งเศส) โดยวัดทั้งหมดนี้จะอยู่ทางฝั่งตะวันออกของคลองขุนละครไชย เป็นพื้นที่ทางทิศใต้ประชิดกับบ้านปลาเห็ด อันเป็นชุมชนของพวกเข้ารีตคริสตัง
เศษอิฐในคูน้ำบริเวณวัดนางกราย
ฐานชุกชีพระประธานวัดโคกขมิ้น อยู่ใกล้กับวัดแดงแห่งที่ 1 และโบสถ์เซนต์โยเซฟ
(2) วัดแดง ที่อยู่ห่างออกไป 1.5 กิโลเมตร มีวัดในอาณาบริเวณคือ วัดตะเว็ด, วัดสระสี่เหลี่ยม, วัดไผ่ล้อมเล็ก, วัดน้อยหน่า และวัดกะเต่อ วัดกลุ่มนี้จะอยู่ทางทิศใต้ของวัดพุทไธยสวรรย์ และเป็นพื้นที่ฝั่งตะวันตกของคลองคูจาม
นักสำรวจที่วัดสระสี่เหลี่ยม วัดร้างอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ในรัศมีของวัดแดงแห่งที่ 2
ซากพระพุทธรูปหินทรายบนโคกวัดน้อยหน่า อยู่ใกล้กับวัดแดงแห่งที่ 2
ดังนั้น ค่ายพม่าที่เข้ามากระทำการสู้รบกับกองอาสาของพวกเข้ารีต ในความควบคุมของสังฆราชมองเซนเยอร์ บรีโกต์ ที่โรงเรียนสามเณราลัยในโบสถ์เซนต์โยเซฟ อาจเป็นได้ทั้งวัดแดงที่อยู่แถบบ้านปลาเห็ด หรือเป็นวัดแดงแถบวัดพุทไธยสวรรย์ ได้ทั้ง 2 วัด โดยเฉพาะวัดแห่งหลังนี้อยู่ในระยะทำการของปืนใหญ่ที่สามารถยิงเข้ามาในค่ายได้อย่างง่ายดาย ทั้งยังมีพื้นที่กว้างขวางสำหรับเป็นแนวปะทะได้ค่อนข้างดีกว่าวัดแดงแห่งแรก ที่มีแนวกำแพงประชิดติดกัน เหมาะสำหรับการเข้าจู่โจมขั้นแตกหักกันในเพลาเดียว
จากการสำรวจในครั้งนี้ จึงได้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงการมีอยู่ของ “วัดแดง” ว่ามีอยู่ถึง 2 แห่งด้วยกัน ไม่ว่าทัพพม่าจะตั้งค่าย ณ วัดแดงที่ใด วีรกรรมการรบอย่างกล้าหาญของทั้งฝ่ายกองอาสาคริสตังบ้านปลาเห็ดกับกองทัพพม่าในแนวรบด้านทิศใต้ ยังคงเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งที่ควรค่าแก่การจดจำ..
บันทึก
3
2
3
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย