22 พ.ค. 2020 เวลา 10:33 • ความคิดเห็น
กรวด ทราย ใน จาน ข้าว
ชีวิตจริงของคนเรา น้อยนักที่จะได้สมหวังสมบูรณ์แบบตามที่ฝัน แม้นว่าสำเร็จถึง 50% จากที่คาดหวังก็ถือว่าโชคดีมากแล้ว ส่วนคนที่แย่สุดน่าจะคือคนที่รู้สึกว่าชีวิตไม่เคยสมใจหวังซักที เพราะหวังมากเกินหรือคอยเปรียบเทียบอยู่ตลอดเวลา..
เครดิตรูปภาพ: pixabay
เคยเป็นไหม ที่เราทำอะไรสักอย่างดี ๆ ไปแล้ว แต่ก็รู้สึกไม่เต็มอิ่ม เพราะมันมีอะไรเข้ามาเป็นจุดบกพร่องเล็ก ๆ ในใจ ลดค่า สร้างรอยด่าง หรือเป็นบาดแผลภายใน ตัวอย่างเช่น
(1) เราไปทำบุญที่วัด รู้สึกเอิบอิ่มใจในทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำ แต่ก็อาจจะมีสิ่งรบกวนเล็ก ๆ เข้ามาปะปน เช่น เราอาจจะไม่พอใจกิริยามารยาทของใครบางคนที่มาวัด อาจจะเห็นความไม่สะอาดไม่เป็นระเบียบของสถานที่ในวัด หรืออาจจะไม่ศรัทธาในอาการบางอย่างของพระในวัด
(2) เราอยู่บ้านกับสามีหรือภรรยา หรือกับญาติผู้ใหญ่คนอื่น ๆ เรายินดีที่จะทำอะไรสารพัดให้บุคคลอันเป็นที่รักเหล่านั้น อยากให้ทุกคนมีความสุข เช่น ทำอาหาร ทำงานบ้าน เป็นต้น แต่ก็มีบางช่วงที่เราวุ่นวายใจว่า ทำไมไม่ช่วยกัน ทำไมทำสกปรก ทำไมสร้างปัญหานี่นั่น...
เวลากินข้าว ถ้าเห็นสิ่งใดไม่เป็นประโยชน์ หรือเป็นโทษต่อร่างกาย เราจะเขี่ยของนั้นทิ้งไป เช่น ก้าง พริก หรือเม็ดกรวดเล็ก ๆ เป็นต้น เราไม่ยอมกินกรวดทรายเข้าไปแน่ แม้ว่าจะเคี้ยวไปแล้วพอรู้ตัวก็จะคายทิ้ง
เราไม่อยากแสดงความรักปนเสียงบ่นต่อคนที่เรารัก ไม่อยากทำบุญได้บาปปนมาด้วย ไม่ต้องการทำความดีแบบมีอารมณ์ครุกรุ่น รอยตำหนิในใจ .. เมื่อรู้ตัวจะต้องหาทางเขี่ยส่วนเกินเหล่านั้นออกไปให้ได้
ชีวิตอาจจะไม่ง่ายเหมือนกินข้าว แต่อย่างน้อยก็พอได้รู้ว่า เราจัดการให้สิ่งเหล่านั้นไม่เป็นอันตราย ไม่ทำร้ายกายและใจเราได้ ... เหลือแต่ไปค้นหาต่อว่าจะทำอย่างไร เพราะเม็ดกรวดเม็ดทรายในจานข้าวของแต่ละคน ไม่เหมือนกัน...
โฆษณา