23 พ.ค. 2020 เวลา 16:57 • การศึกษา
Resilience: ฟื้นฟูสมการชีวิต พิชิตเป้าหมายแห่งความสุข
Resilience
หลายคนคงจะเคยได้ยินคำกล่าวของชาร์ล ดาร์วิน บิดาแห่งวงการชีววิทยาโลกที่ว่าด้วยเรื่องราวของกฎการคัดสรรโดยธรรมชาติ (Natural Selection) ที่มีใจความสำคัญว่า "สัตว์ที่แข็งแกร่งที่สุดจะสามารถอยู่รอดปลอดภัยได้บนโลกใบนี้ ส่วนสัตว์ที่อ่อนแอและด้อยนั้นจะล้มหายตายจากไปเอง เพราะอยู่ไม่ได้ตามธรรมชาติ"
แต่ในความเป็นจริงแล้วหากเรามองย้อนดูเปรียบเทียบกับการใช้ชีวิตของสัตว์สังคมอย่างมนุษย์หรือรวมถึงทุกสรรพสัตว์ในสังคมโลกใบนี้ ในทัศนะของผู้เขียนซึ่งอาจจะสอดคล้องกับความคิดของใครหลาย ๆ คนที่อ่านบทความนี้ มองว่าไม่แน่นอนเสมอไปสำหรับผู้ที่แข็งแกร่งจะเป็นผู้รอดและได้รับความปราณีจากธรรมชาติ ตรงกันข้าม “ผู้ที่แม้จะไม่แข็งแกร่งที่สุดแต่ปรับตัวได้ตามสถานการณ์และเหตุการณ์ต่างหากย่อมเป็นผู้ที่มีชัยชนะและเอาตัวรอดได้อย่างแท้จริง” เพราะแม้เราแข็งแกร่ง แต่หากขาดซึ่งทักษะในการปรับตัว การมีความคิดเชิงกลยุทธ์ที่ยืดหยุ่น หรือทัศนะในการมองโลกในแง่ดี ก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองและพลิกฟื้นสถานการณ์ต่าง ๆ รวมถึงการดำเนินชีวิตให้กลับมาดีดังเดิมได้ ซึ่งทักษะของปรับมุมมองความคิดของตนเองให้ยืดหยุ่นเพื่อตอบรับกับสถานการณ์ให้สามารถพลิกฟื้นหรือกู้ชีวิตของตนเองให้กลับมาได้นั้นในทางจิตวิทยาเชิงบวกเรียกทักษะนี้ว่า “Resilience”
Resilience หากแปลความหมายตรงตัวตามรากศัพท์แล้วก็คือ ความยืดหยุ่น ซึ่งความยืดหยุ่นในที่นี้จะมองในแง่มุมของศักยภาพและความสามารถในการปรับตัวทั้งในเชิงกระบวนคิด กลยุทธ์ และการแสวงหาโอกาส ที่สามารถผลักดันตนเองให้ก้าวข้ามและฟื้นคืนจากสภาวะวิกฤติในชีวิตได้โดยพลัน
การพัฒนาทักษะ Resilience นั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก ขอเพียงแค่คนคนนั้นกล้าที่จะเปิดใจรับฟังเหตุผลของคนรอบข้าง เปิดรับสถนการณ์ที่เข้ามาในชีวิตในเชิงลบ แล้วฝึกคิดทบทวนในสถานการณ์ที่เลวร้ายนั้น (Catastrophic Thinking) ว่ามีอะไรที่เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดผลเชิงลบต่อชีวิต (Worst Cases) แล้วคิดวิเคราะห์หาความเป็นไปได้ (Probable) ว่าภายใต้ผลเสียนั้นมีกรณีใดบ้างและดีที่สุด (Best Case) ที่เราสามารถจะนำมาใช้เพื่อพลิกฟื้นคืนกลับสู่สถานการณ์ที่ก่อผลเชิงบวกให้ชีวิตได้อย่างไร กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ จงเปลี่ยนทัศนคติตนเองให้มองโลกในแง่ดีเอาไว้เสมอ เพราะท่ามกลางความเลวนั้นมักจะซ่อนโอกาสที่ดี ๆ เอาไว้เสมอ หรือ ภายใต้ “หมื่นทางตัน ย่อมมีทางหนึ่งให้ออกเสมอ” นั่นแหละครับ ซึ่งผมเชื่อว่าหากทุกคนลองฝึกฝนตนเองในรูปแบบที่กล่าวมานี้ คุณก็จะเป็นคนหนึ่งที่สามารถ “Resilience” หรือพลิกฟื้นคืนชีวิตให้มีความสุขได้ดังเดิม
หากเปรียบชีวิตเสมือนสมการทางคณิตศาสตร์ ผู้ที่จะทำหน้าที่แก้ไขสมการชีวิตนี้ได้ ก็คือ ตัวเราเองที่เป็นเจ้าของสมการนี้นั่นละครับ ซึ่งหลักการของ “Resilience” จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้คุณแก้ไขสมการชีวิตของคุณให้ได้คำตอบที่สร้างความสุขให้กับชีวิตของคุณได้อย่างดีเยี่ยม อย่าลืมไปลองฝึกฝนสร้างความ “Resilience” ในตนเองกันนะครับ
โฆษณา