23 พ.ค. 2020 เวลา 09:26 • กีฬา
จากความทรงจำซีเกมส์ครั้งที่๒๕ที่เวียงจันท์ ประเทศลาว
SEA Games XXV , Laos. Vientiane 2009
เมื่อได้ทราบข่าวว่าลาวจะเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ครั้งที่๒๕ต่อจากไทยผมก็ได้แต่ตั้งตารอว่าผมจะได้ไปกับเขามั้ยหนอกับบทบาทแพทย์ประจำทีมที่ทำเป็นครั้งแรกสำหรับกีฬาซีเกมส์ คืออยากไปมาก กลัวเขาไม่เลือกให้ไปเพราะพึ่งเข้าวงการ แต่ก็ได้ไปจนได้
SEA Games เป็นการแข่งขันกีฬาของกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 11 ประเทศ โดยจัดขึ้น 2 ปีต่อ 1 ครั้ง แต่เดิมเรียกกีฬาซีเกมส์ว่า กีฬาแหลมทอง SEAP Games (Southeast Asian Peninsular Games) จนกระทั่งปี พ.ศ.2520 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น ซีเกมส์ (Southeast Asian Games หรือ SEA Games) เหมือนในปัจจุบัน สำหรับ ซีเกมส์ ครั้งที่ 25 ประเทศลาวเป็นเจ้าภาพจัดที่นครเวียงจันทร์ ระหว่างวันที่ 3-18 ธันวาคม 2552
มาสคอต จำปา กับ จำปี
ผมตามไปทีหลัง (วันที่11ธ.ค.52) เนื่องจากติดภารกิจต้องรับเสด็จในพิธีเปิดงานประชุมประจำปีราชวิทยาลัยเวชศาสตร์ฟื้นฟู
พอไปถึงตอนเย็นก็มีข่าวเศร้าที่บอลไทยพ่ายแพ้ตกรอบซีเกมส์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นทีมมาเลเซียที่เอาชนะไทยแล้วเข้าไปเจอกับลาว
สนามกีฬาแห่งชาติลาว ที่ใช้แข่งฟุตบอล
วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม 2552 ถือเป็นวันศุกร์ ที่สุดแสนโศกเศร้า เมื่อทีมฟุตบอลทีมชาติไทย ต้องตกเป็นพ่ายแพ้ให้แก่ทีมเสือเหลืองมาเลเซีย 2 ประตูต่อ 1 กระทั่งต้องกระเด็นตกรอบแรก ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไทยเป็นแชมป์ซีเกมส์8 สมัยติดต่อกัน
ขณะที่ทีมเจ้าภาพอย่างลาวสามารถสร้างประวัติศาสตร์เข้ารอบรองชนะเลิศฟุตบอลซีเกมส์ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
บรรยากาศในหมู่บ้านนักกีฬาวันนั้นไม่ค่อยอยากบรรยายมากว่าน่าหดหู่ ผมสงสารนักกีฬาเหล่านั้นเหลือเกินที่ต้องพบกับความผิดหวังแต่ทำอย่างไรได้ครับ กีฬาก็ต้องมีแพ้มีชนะ เหมือนในชีวิตจริงเราก็เป็นทั้งผู้แพ้และผู้ชนะสลับกันไป ใครพัฒนาตัวเองตลอดเวลาก็ห่างไกลจากคำว่าแพ้ก็เท่านั้น เลิกเศร้าแล้วมาพัฒนากันใหม่ดีกว่า
สนามกีฬาแห่งชาติลาว
ผมขอพูดถึงหมู่บ้านนักกีฬาซีเกมส์ ลาวจัดไว้ได้ค่อนข้างดีทีเดียวสำหรับการเป็นเจ้าภาพครั้งแรก เป็นห้องพัดลม นอนกัน 3 เตียง อากาศเดือนธันวาคมที่เวียงจันทน์ เช้าหนาว กลางวันค่อนข้างร้อนแดดแรง เย็นหนาวมาก ดึกๆยิ่งหนาว ก็เลยไม่ต้องมีห้องแอร์
หมู่บ้านนักกีฬา ณ มหาวิทยาลัยดงโดก
คลินิกนักกีฬาในหมู่บ้านเจ้าภาพจัดคลินิกส่วนกลางไว้ที่ตึก บก.
หัวหน้าคณะแพทย์กีฬาของประเทศลาวคือคุณหมอ บัวเทพ ท่านเคยเรียน
Rehab ในประเทศไทย และแวะมาเยียมเยียนพวกเราเป็นครั้งคราว
คุณหมอ บัวเทพ มาเยี่ยมที่คลินิกนักกีฬาของไทย ผม พี่อรรถสิทธิ์ และ อ.ฉกาจ ให้การต้อนรับ
ในส่วนของทีมนักกีฬาไทยจัดตั้งคลินิกกันที่ชั้นหนึ่งของหอพักนักกีฬาไทย เปิดบริการ 24 ชม. ต้องจัดเวรกันตลอด จัดเวรโดย อ.ชนะการหรือพี่เบิกของพวกเรา มีเวรเฝ้าคลินิก และเวรที่ตามไปดูแลนักกีฬาขณะแข่งขัน ซึ่งมีประมาณ 10-20 ชนิดกีฬาที่แข่งพร้อมๆกัน กับบุคลากรประมาณ 10-15 คน แล้วนั้นก็พอฟัดพอเหวี่ยง ดูแลได้ครอบคลุม นอกจากจะได้เฝ้าคลินิก2-3วันแล้ว นอกนั้นเราจะผลัดกันออกไปดูแลนักกีฬาหมุนเวียนเปลี่ยนกันไปเพื่อไม่ให้รู้สึกเบื่อถ้าต้องดูกีฬาชนิดเดิมๆ แต่จะมีการประชุมและรายงานการทำงานเวลา 2-4ทุม ของทุกวัน เพื่อส่งเวร เคสที่มีการบาดเจ็บ สรุปยอดผู้มาใช้บริการในแต่ละวัน บางชนิดกีฬายังแข่งไม่เสร็จก็ต้องรายงานทางโทรศัพท์
บรรยากาศการแข่งขัน ( "โจ้ หลังเท้า" สืบศักดิ์ ผันสืบ)
งานส่วนใหญ่เป็นการรักษาโรคทั่วไป และ ปฐมพยาบาลการบาดเจ็บ ส่วนผมก็มีฝังเข็มคลายจุด Trigger point ให้นักกีฬาบ้าง สำหรับนักกีฬาที่คุ้นเคยกันอยู่แล้ว ส่วนนักกีฬาที่ยังไม่เคยทำ ก็อธิบายข้อดีข้อเสีย และให้เขาตัดสินใจในการเลือกการรักษา ทานยา กายภาพบำบัด ฯลฯ
บางครั้งก็จิ้มกันข้างสนาม เคล็ดลับการทำ Dry Needling ระหว่างนักกีฬากำลังอยู่ในช่วงแข่งขันคือ ต้องแม่นยำและ มือเบาๆ อย่าจิ้มเยอะจนระบมนะครับ ต้องให้เขาฝึกซ้อม หรือแข่งขันต่อได้
สรุปไปเกือบสองสัปดาห์ทำงานทุกวัน จะได้ไปเที่ยวก็ 1 วันก่อนจะกลับนั่นแหล่ะครับ ใครคิดว่ามาแล้วจะได้เที่ยวคิดผิดครับเรามาทำงานเพื่อประเทศชาติเช่นกัน อาจมีบางคนได้ไปดูนู่นดูนี่ก็ใกล้ๆกับสนามแข่งพอมีเวลาก็ไปดูหน่อยได้ และอีกอย่างครับทีมแพทย์นี่เวลาไปจะต้องไปก่อน เวลากลับ ต้องกลับทีหลังเสมอ สิ่งดีๆที่ได้มาจากการไปครั้งนี้คือ พันธมิตรที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ที่ได้ทำงานร่วมกันต่อมาอีกหลายการแข่งขัน
ลาด้วยพระธาตุหลวงของลาวนะครับ พบกันอีกบทความหน้า
พระธาตุหลวง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา