Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Storyteller
•
ติดตาม
25 พ.ค. 2020 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
“คามิคาเซ่” จากลมแห่งเทพเจ้า สู่ปฏิบัติการพลีชีพ
“ผมรู้สึกเหมือนหัวใจจะสลายทุกครั้ง เมื่อคิดว่าคุณจะอยู่อย่างไร แต่ขอจงทำใจให้เข้มแข็ง แล้วใช้ชีวิตให้มีความสุข การปกป้องประเทศจากศัตรู นับเป็นเกียรติยศชั่วนิรันดร์”
จดหมายของหนึ่งในนักบินคามิคาเซ่ ร้อยตรีฮารูโอะ อารากิ ถึงภรรยา
ในโลกยุคปัจจุบัน ทุกท่านคงเคยเห็นการพลีชีพของผู้ที่ถูกเรียกว่า ผู้ก่อการร้าย
ทุกท่านคงเคยเห็นการพลีชีพอย่างไม่กลัวความตายเพื่ออุดมการณ์ทางศาสนาอันแรงกล้าของผู้ก่อการร้ายเหล่านั้น
แต่ทว่าวันนี้ผมไม่ได้มาพูดถึงคนกลุ่มนั้น
ผมจะพูดถึงคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่พลีชีพตัวเองเพื่อจัดการศัตรูอย่างไม่กลัวความตายเช่นเดียวกัน
พวกเขาไม่ได้ทำเพื่ออุดมการณ์ทางศาสนา
แต่พวกเขาทำเพื่อสิ่งที่เรียกว่าชาติและจักรพรรดิ
และพวกเขาไม่ได้ถูกเรียกว่าผู้ก่อการร้าย
พวกเขาถูกเรียกว่าทหาร
และเป็นทหารในยุคที่โลกเลวร้ายมากที่สุด...
บางคนก็ว่าพวกเขากล้าหาญ เป็นวีรบุรุษ
แต่บางคนก็ว่าพวกเขาบ้า และโง่เง่า
ใช่แล้วครับ ผมกำลังพูดถึงปฏิบัติการพลีชีพ “คามิคาเซ่” ของทหารญี่ปุ่นในสงครามมหาเอเชียบูรพาหรือสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝั่งแปซิฟิก
เรื่องราวของพวกเขาจะเป็นอย่างไรนั้น...
โปรดนั่งลงเถิดครับ ผมจะเล่าให้ฟัง
แล้วทุกท่านค่อยตัดสินด้วยตนเองว่า พวกเขานั้นกล้าหาญหรือโง่เง่ากันแน่...
ภาพจาก World History Archive/Alamy
“คามิคาเซ่” มาจากคำสองคำรวมกัน คือ “คามิ” ที่แปลว่า เทพ (คนญี่ปุ่นจะเรียกเทพของตนว่าคามิครับ เช่น อมาเทราซึ โอมิ คามิ)
กับคำว่า “คาเซ่” ที่แปลว่าลม รวมกันเป็น “คามิคาเซ่” แปลว่าลมแห่งเทพเจ้านั่นเองครับ
แต่จริงๆแล้วคามิคาเซ่แต่เดิมนั้น เป็นคำที่ใช้เรียกพายุไต้ฝุ่นลูกหนึ่งครับ...
โดยต้องย้อนกลับไปใน สมัยที่มีมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่อย่างมองโกล โดยมีผู้นำคือกุบไลข่าน พยายามขยายอาณาเขตไปทั่วเอเชีย กุบไลข่านได้ยึดจีนแล้วตั้งราชวงศ์หยวนขึ้นมา
แน่นอนว่าญี่ปุ่นก็เป็นเป้าหมายที่กุบไลข่านต้องการจะยึดเช่นเดียวกันครับ ดังนั้นมองโกลจึงยกทัพมาเพื่อยึดญี่ปุ่นในปี ค.ศ.1274 ตรงกับสมัยรัฐบาลโชกุนคามากูระของญี่ปุ่น โดยทัพมองโกลที่กุบไลข่านส่งมานั้นมีทหารกว่า 15,000 คน พร้อมเรือรบกว่า 4,000 ลำ!!
เรียกได้ว่าแสนยานุภาพขนาดนั้น หากยกพลขึ้นบกได้ ญี่ปุ่นเละแน่นอนครับ
1
แต่เรื่องนั้นไม่ได้เกิดขึ้น เนื่องจากทัพมองโกลบังเอิญเจอกับพายุไต้ฝุ่นลูกหนึ่งที่มีความรุนแรงมหาศาล พัดเอาทัพมองโกลเละไปตามๆกัน ไม่ได้มีโอกาสแม้แต่จะเหยียบแผ่นดินญี่ปุ่นด้วยซ้ำ
ชาวญี่ปุ่นจึงเชื่อว่า ไต้ฝุ่นลูกนี้เป็นลมที่เทพเจ้าส่งมาช่วยเพื่อทำลายศัตรูที่จะมารุกรานญี่ปุ่น ชาวญี่ปุ่นจึงขนานนามไต้ฝุ่นลูกนี้ว่า ลมแห่งพระเจ้า หรือคามิคาเซ่นั่นเองครับ...
ภาพจาก Utagawa Yoshitara (พายุคามิคาเซ่ถล่มทัพมองโกล)
แต่พอ 700 กว่าปีต่อมา คามิคาเซ่ ที่เป็นเพียงคำที่ใช้เรียกไต้ฝุ่น ได้ถูกกองทัพญี่ปุ่นนำมา reuse ใช้ใหม่ กับหน่วยจู่โจมพิเศษ ที่มีหน้าที่พลีชีพ ขับเครื่องบินบรรทุกระเบิดเข้าพุ่งชนเรือรบของฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามมหาเอเชียบูรพา
โดยก่อนที่ผมจะเล่าถึงเรื่องราวอันโลดโผนของเหล่านักบินคามิคาเซ่ ผมขออนุญาตเท้าความถึงความเป็นมาของสงครามมหาเอเชียบูรพา (หรือที่เรารู้จักในชื่อของสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางฝั่งแปซิฟิกนั่นแหละครับ) เพื่อความเข้าใจอย่างละเอียดและรู้สึกมีอารมณ์ร่วมมากยิ่งขึ้นกับเรื่องราวของพวกเขา และเพื่อเชื่อมโยงว่าเหตุใดญี่ปุ่นจึงต้องใช้วิธีจนตรอกอย่างคามิคาเซ่?...
โดยเรื่องของเรื่องมันมาจากเหตุการณ์ที่สำคัญในปี ค.ศ. 1929 ครับ นั่นคือเหตุการณ์ Great Depression (เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก)
ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นได้รับผลกระทบกันมากพอสมควร ประชาชนใช้ชีวิตอย่างลำบากแร้นแค้น เศรษฐกิจของประเทศหยุดชะงัก ดังนั้นรัฐบาลจึงมองหาวิธีในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ....
ซึ่งวิธีที่รัฐบาลญี่ปุ่นทำ นั่นคือ การรุกรานประเทศอื่น แล้วสร้างอาณานิคมของตนเองขึ้นมาเหมือนอย่างตะวันตกซะเลย โดยญี่ปุ่นไม่ได้เรียกวิธีการของตนว่า การล่าอาณานิคม แต่เรียกว่า การสร้างวงศ์ไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา โดยให้แนวคิดว่า “พวกเราชาวเอเชียต่างให้พวกฝรั่งหัวทองย่ำยี ขูดรีดมาเป็นร้อยๆปี ถึงเวลาแล้วที่เราจะลุกขึ้นสู้ผนวกกำลังกัน แล้วมาร่วมสร้างความแข็งแกร่งและความยิ่งใหญ่ของพวกเราชาวเอเชียที่มีญี่ปุ่นเป็นผู้นำกันเถอะ!!” (แนวคิดดูดีสุดๆไปเลยล่ะครับ)
ดังนั้นญี่ปุ่นจึงเริ่มแผนการของตนเอง โดยการ...
รุกรานจีนแล้วยึด แมนจูเรียนั่นเองครับ!!! (ต่างจากการล่าอาณานิคมตรงไหนเนี่ย!?)
ไม่พอแค่นั้น หลังจากยึดแมนจูเรียได้แล้ว ก็ได้ตั้งพื้นที่นั้นเป็นประเทศขึ้นมาใน ปี ค.ศ.1934 ครับ โดยเรียกประเทศนั้นว่า แมนจูกัว มีรัฐบาลหุ่นบริหารเสร็จสรรพ แล้วสร้างโฆษณาชวนเชื่อให้ชาวญี่ปุ่นอพยพเข้ามาทำงานในแมนจูกัว
ภาพจาก China Manchuria map (พื้นที่ประเทศแมนจูกัว โดยในแผนที่แสดงเป็นสีเขียว)
แค่แมนจูกัวยังไม่พอ วิ่งที่ญี่ปุ่นต้องการ คือแผ่นดินจีนทั้งประเทศต่างหาก! ดังนั้นสเตปต่อไป คือการรุกเข้าไปในแผ่นดินจีนครับ (ชัดแล้วว่าเป็นการล่าอาณานิคม)
เมื่อญี่ปุ่นทำแบบนี้ มีหรือจีนจะอยู่เฉยๆ ส่งทหารมาต่อต้านกันอย่างเต็มที่ เกิดเป็นสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 2 ใน ปี ค.ศ.1937 ซึ่งเป็นจุดที่จะนำพาญี่ปุ่นไปสู่การทำสงครามที่ใหญ่เกินตัวไปมาก คือ สงครามมหาเอเชียบูรพา เนื่องจากการรุกรานเข้าไปในแผ่นดินอันกว้างขวางของจีนอย่างไม่จบสิ้นของทหารญี่ปุ่น
บวกกับการญี่ปุ่นรุกรานจีนนี่แหละครับ ทำให้ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรญี่ปุ่น ปัญหามันอยู่ที่การทำสงครามกับจีนนั้นอยู่ในจุดที่เรียกว่า กลับตัวก็ไม่ได้ จะไปก็ไปไม่ถึงซะแล้วครับ เนื่องจากญี่ปุ่นนั้น ทรัพยากรโดยเฉพาะน้ำมันใกล้หมด สำคัญกว่านั้นคือน้ำมันกว่า 70% นำเข้าจากอเมริกา
ดังนั้นหนทางเดียวคือ การต้องรุกรานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อนำทรัพยากรน้ำมันมาป้อนให้กับการทำสงครามกับจีน แต่หากญี่ปุ่นทำแบบนั้น อเมริกาไม่มีทางยอมอยู่เฉยๆแน่นอน
การทำสงครามกับสหรัฐอเมริกาจึงเป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นหลีกหนีไม่พ้น
ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงยึดหลักการ เปิดก่อนได้เปรียบ!!
ว่าแล้ว ก็จัดการนำฝูงบินกว่า 100 ลำ ไปทิ้งระเบิดที่ฐานทัพเรือเพิร์ล ฮาเบอร์ ของอเมริกาที่ฮาวาย โดยไม่บอกไม่กล่าวล่วงหน้า หวังทำลายแสนยานุภาพกองเรือแปซิฟิกของอเมริกาให้บอบช้ำ ถ่วงเวลาให้ไม่สามารถมายุ่งเกี่ยวการทำสงครามในเอเชียของญี่ปุ่นระยะหนึ่งก่อน
1
แต่ถึงแม้การโจมตีจะสร้างความเสียหายให้กับกองเรืออเมริกาอย่างมหาศาล แต่สิ่งที่โชคร้ายสำหรับญี่ปุ่นคือ เรือของอเมริกาไม่ได้จอดอยู่ที่อ่าวเพิร์ล ฮาร์เบอร์ทั้งหมด โดยเฉพาะเรือบรรทุกเครื่องบิน (ซึ่งจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมในที่สุด)
การโจมตีนี้เป็นการไปกระตุกขนของพญาอินทรีให้โกรธเกรี้ยว แล้วพร้อมกระโดดเข้าสู่สงครามกับญี่ปุ่นอย่างเต็มรูปแบบ ในปี ค.ศ.1941 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ สงครามมหาเอเชียบูรพาหรือสงครามแปซิฟิกในที่สุด....
ภาพจาก U.S. Navy. (การโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ของญี่ปุ่น)
ในช่วงแรกของสงคราม เรียกได้ว่าเป็นจุดพีคของญี่ปุ่นโดยแท้เลยครับ เรียกได้ว่ารบที่ไหนก็ชนะ ยิ่งรบยิ่งรุ่ง โดยสามารถยึดฮ่องกง ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เกาะบอร์เนียว เกาะกวม และสิงคโปร์ได้ โดยช่วง 3 เดือนแรกของสงคราม อนาคตของจักรวรรดิญี่ปุ่นสดใสสุดๆ
อีกทั้งการรบทางทะเลญี่ปุ่นก็ได้เปรียบอเมริกาอย่างเด่นชัด เรียกได้ว่า กองเรือแปซิฟิกของญี่ปุ่นน่ากลัวและไร้เทียมทานทีเดียวครับ
ญี่ปุ่นอาจจะได้เปรียบต่อไปหรืออาจชนะสงครามได้เลยทีเดียว หากไม่ไปพ่ายแพ้อย่างย่อยยับที่กล่าวกันว่าเป็นหนึ่งในสมรภูมิที่สำคัญและโด่งดังที่สุด ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนของสงคราม ทั้งยังเป็นสมรภูมิที่พรากชัยชนะของญี่ปุ่นไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ
ทุกท่านครับ ผมกำลังพูดถึง “สมรภูมิมิดเวย์”
การรบทางน้ำในสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น สิ่งที่สำคัญไม่ใช่การใช้กำลังรบของเรือขนาดใหญ่อย่างเรือประจัญบาน และเรือลาดตระเวนเหมือนในสงครามสมัยก่อนๆครับ สิ่งที่สำคัญ คือ การใช้เรือบรรทุกเครื่องบิน กองบินนาวี และเรือขนาดเล็กอย่างเรือพิฆาตต่างหากครับ
ดังนั้น การรบทางน้ำโดยเฉพาะฝั่งแปซิฟิก ไม่ได้ห้ำหั่นกันด้วยเรือ แต่จะห้ำหั่นกันด้วยเครื่องบินนาวีซะเป็นส่วนใหญ่
จุดที่ทำให้ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในมิดเวย์ คือ การไม่ได้ทำลายเรือบรรทุกเครื่องบินของอเมริกาที่เพิร์ลฮาเบอร์ บวกกับประเมินทรัพยากรอันไร้ขีดจำกัดและขีดความสามารถในเทคโนโลยีของอเมริกาต่ำเกินไป (โดยเฉพาะเรดาร์)
ผลคือทำให้ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในมิดเวย์ไปในที่สุด สูญเสียเรือบรรทุกเครื่องบิน 4 ลำ คือ อาคากิ คากะ โซริว และฮิริว เครื่องบินถูกทำลาย 248 ลำ มีผู้เสียชีวิตกว่า 3,057 คน เป็นนักบินฝีมือดีกว่า 1,000 คน!! ทำให้แสนยานุภาพและสมดุลอำนาจทางกองเรือแปซิฟิกเปลี่ยนไปในที่สุด
และนี่คือจุดเริ่มต้นที่ญี่ปุ่นต้องสร้าง หน่วยรบพิเศษอย่าง“คามิคาเซ่” ขึ้นมานั่งเองครับ....
ภาพจาก New Statesman (การรบที่สมรภูมิมิดเวย์)
เกริ่นมาซะยาว ได้เวลาเข้าเรื่องซักทีครับ แหะๆ...
จุดเริ่มต้นของคามิคาเซะ มาจากการสูญเสียเรือบรรทุกเครื่องบินและเครื่องบินไปอย่างมหาศาล อีกทั้งนักบินฝีมือดียังไปตายเป็นใบไม้ร่วงในมิดเวย์ แถมญี่ปุ่นหลังจากรบแพ้ที่มิดเวย์ เรียกได้ว่า สถานะเหมือนกลับตาลปัตร
จากรบที่ไหนก็ชนะ ยิ่งรบยิ่งรุ่ง กลายเป็น รบที่ไหนก็แพ้ ยิ่งรบยิ่งร่วงเลยทีเดียวครับ
ยิ่งนานวันความสูญเสียยิ่งทวีคูณ กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรยิ่งคืบคลานเข้าใกล้แผ่นดินใหญ่ของญี่ปุ่นเข้ามาเรื่อยๆ
แต่ถึงอย่างนั้น ญี่ปุ่นก็ยอมที่จะสู้ตายมากกว่ายอมจำนน!!!
แนวคิดคามิคาเซ่ จึงถูกงัดมาใช้ในที่สุด...
โดยนาวาเอกโมโตฮารุ โอกามูระ ได้เสนอว่า “วิธีเดียวที่จะพลิกสถานการณ์ในตอนนี้ได้คือ การขับเครื่องบินบรรทุกระเบิดพุ่งเข้าชนเรือรบ และเราจะต้องมีอาสาสมัครมากพอสำหรับภารกิจนี้”
ดังนั้น จึงได้ถือกำเนิดนักบินพลีชีพกลุ่มแรกขึ้น 24 คน (อาสาสมัครทั้งหมด) โดยมีภารกิจคือการโจมตีเรือบรรทุกเครื่องบินเซนต์โลของอเมริกาที่ฟิลิปปินส์ ในปี ค.ศ.1944 ซึ่งสำเร็จซะด้วย!!!
เรือเซนต์โลจมลงในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง พร้อมลูกเรือที่เสียชีวิตกว่า 100 คน จากการโจมตีของคามิคาเซ่
กองทัพญี่ปุ่นมองเห็นแล้วว่าวิธีนี้คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม “ฝั่งเราตายแค่หนึ่ง แต่ฝั่งตรงข้ามตายเป็นร้อย”
โดยเครื่องบินที่ใช้ในการทำภารกิจนั้น คือ เครื่องบินโยโกซูกะ เอ็มเอ็กซ์วาย 7 โอห์กา (Yokosuka MXY-7 Ohka) ซึ่งถูกออกแบบมาให้ใช้ได้เพียงครั้งเดียว และเชื้อเพลิงมีจำกัด พูดง่ายๆคือมีพอแค่เพียงขาไปเท่านั้น (จึงเป็นเครื่องบินที่ใช้ทรัพยากรน้อยมากๆ ผลิตได้อย่างรวดเร็ว)
ส่วนนักบินก็ไม่จำเป็นต้องมีความชำนาญหรือมีประสบการณ์มาก (เอาพวกมีฝีมือไปทำภารกิจอื่น) แค่ฝึกให้ขับพุ่งชนเรือรบได้เป็นพอ โดยใช้เวลาเรียนหรือฝึกเพียงแค่ 40 ชั่วโมงเท่านั้น!!
อาจเรียกได้ว่าสิ่งนี้เป็นจรวดนำวิถีรุ่นแรกของโลกเลยก็ว่าได้ เพียงแต่เป็นจรวดนำวิถีที่ใช้มนุษย์นะครับ...
ภาพจาก Aces Flying High (เครื่องบินรุ่น Yokosuka MXY-7 Ohka)
กองทัพญี่ปุ่นจึงขนานนามปฏิบัติการพลีชีพนี้ว่า “คามิคาเซะ” ที่จะเปรียบเสมือนดั่งลมแห่งเทพเจ้าในอดีตที่เคยช่วยญี่ปุ่นให้รอดพ้นจากศัตรู เรียกได้ว่าเป็นโฆษณาชวนเชื่อให้คนมาสมัครเยอะๆนั่นเองครับ
1
กล่าวกันว่า จำนวนเด็กหนุ่มญี่ปุ่นที่มาสมัครนั้น มากกว่าจำนวนเครื่องบินที่จะบินไปทำภารกิจซะอีก!! (ไม่รู้ว่าจริงเท็จแค่ไหน)
ทุกท่านอาจสงสัยว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น คนญี่ปุ่นไม่เกรงกลัวต่อความตายเลยหรืออย่างไร?
จริงๆแล้ว คามิคาเซะ ไม่ใช่วิธีแรกที่เป็นการสู้รบแบบพลีชีพของทหารญี่ปุ่น
ทหารญี่ปุ่นมีการรบแบบพลีชีพมานานแล้วครับ แต่เป็นการพลีชีพของทหารราบ ที่เรียกว่า บันไซ ชาร์จ (Banzai Charge) โดยเป็นการวิ่งเข้าโจมตีแบบสายฟ้าแลบในระยะประชิด ใช้อาวุธคือดาบปลายปืน ถือได้ว่าเป็นการพลีชีพอย่างทรงเกียรติสำหรับทหารญี่ปุ่น ตามแนวคิดบูชิโด ที่ฝังรากยึดแน่นในจิตใจของคนญี่ปุ่นให้เห็นคุณค่าของเกียรติและศักดิ์ศรีมากกว่าชีวิตของตนเอง
บันไซ ชาร์จเป็นวิธีการรบที่ใช้มาตั้งแต่สมัยเมจิ โดยมีประสิทธิภาพและน่ากลัวเสมอมา ระหว่างสงครามกับรัสเซียและสงครามกับจีน จนทหารญี่ปุ่นบันทึกลงในหลักนิยมของตนเลยทีเดียวครับว่า “การพลีชีพเพื่อชาติเป็นหน้าที่ของทหารทุกคน”
แต่บันไซ ชาร์จดันไร้ประโยชน์เมื่อต้องมาเจอคู่ต่อสู้อย่างอเมริกา ซึ่งมีระบบอาวุธอัตโนมัติ อย่างปืนเล็กยาวแบบเอ็ม 1 ที่ยิงได้ต่อเนื่องไม่ต้องขึ้นลูกเลื่อน หรือปืนกลหนักบราวนิ่ง เอ็ม 1919 ที่มีอัตรายิง 400-600 นัด ต่อนาที ทำให้อเมริกาสามารถทำลายการเข้าตีแบบบันไซ ชาร์จของญี่ปุ่นได้อย่างง่ายดาย
ภาพจาก Axis History Forum (ศพทหารญี่ปุ่นที่พลีชีพในการรบแบบบันไซ ชาร์จ ที่กัวดัลคานัล)
จะเห็นได้ว่า ทหารญี่ปุ่นต่างคุ้นชินกับแนวคิด การสละชีวิตเพื่อชาติ การสละชีวิตเพื่อจักรพรรดิมาตั้งนานแล้ว ไม่ใช่อยู่ๆผุดขึ้นมาในช่วงที่ญี่ปุ่นจนตรอก
ลักษณะของคนญี่ปุ่นจึงถือว่าเป็นลักษณะที่หาได้ยากในหมู่มนุษย์ มีความมั่นใจและความยึดมั่นต่อแนวคิดของตัวเองอย่างสุดขีด และปฏิบัติตามแนวคิดนั้นอย่างเคร่งครัด แม้วิธีการจะต้องแลกด้วยชีวิตหรือความสยดสยองแค่ไหนก็ตาม...
อาดาชิ ทากุยา นักบินคามิคาเซ่ได้เขียนจดหมายถึงพ่อแม่ก่อนพลีชีพว่า “ยุทธภูมิเป็นสถานที่ที่ใช้ทดสอบอารมณ์อันงดงาม หากการตายหมายถึงการกลับไปสู่ดินแดนแห่งความรัก ผมก็ไม่จำเป็นต้องกลัว ไม่มีสิ่งใดต้องทำนอกจากเร่งเครื่องแล้วทำภารกิจให้สำเร็จ”
ยิ่งภาพของผู้พลีชีพมักถูกสร้างให้เป็น ฮีโร่
สำหรับคนญี่ปุ่นด้วยแล้ว หากมีโอกาสในการทำเพื่อเกียรติและศักดิ์ศรีอันสูงสุด โอกาสที่จะเป็นวีรบุรุษของชาติ มีหรือพวกเขาจะไม่ทำ!?
คำตอบ คือ...
มีครับ!..
ไม่ใช่ทุกคนที่อยากตาย หรืออยากพลีชีพเพื่อชาติ
อย่างเช่น ทาเคฮิโกะ เอนะ หนึ่งในนักบินที่รอดชีวิตเพราะเครื่องบินขัดข้อง ได้บอกว่า “ เพื่อนนักบินคนอื่นๆและผมพยายามแสดงความยินดีเมื่อมีคำสั่งให้เราโจมตี แต่แล้วผมก็หน้าซีด ภายนอกเราทำเพื่อชาติ เราทำให้ตัวเองเชื่อว่าเราได้รับเลือกให้ฆ่าตัวตาย ผมแค่อยากปกป้องพ่อแม่ที่ผมรัก ผมยอมรับว่า เราทุกคนต่างกลัว”
และเชื่อว่าอาจจะยังมีอีกหลายๆคนที่ไม่ได้เต็มใจสำหรับภารกิจนี้จริงๆ
ถึงแม้จะเรียกว่า การสมัครใจ แต่วิธีการคัดนั้นก็แกมบังคับนั่นแหละครับ โดยจะให้ชายหนุ่มญี่ปุ่นมารวมกัน แล้วคนคัดเลือกจะถามว่า “มีใครที่อยากถอนตัวหรือไม่ หากอยากถอนตัวให้ยกมือขึ้น” บวกกับมีการพูดปลุกใจและกดดัน
ให้คิดภาพตามครับว่า คนญี่ปุ่นที่ยึดเกียรติและศักดิ์ศรีเป็นที่สุด แม้จะกลัวขนาดไหน ก็ไม่มีใครกล้ายกมือถอนตัวต่อหน้าเพื่อนร่วมชาติเป็นร้อย เพื่อให้ถูกตราหน้าว่า ขี้ขลาด ไร้ซึ่งศักดิ์ศรี ดังนั้นจึงต้องเก็บความกลัวไว้แล้วทำตามเกียรติและศักดิ์ศรี แม้เส้นทางข้างหน้าจะเป็นเส้นทางสู่มัจจุราชก็ตาม (แต่ถึงแม้จะยกมือก็ถูกบังคับไปอยู่ดีนะครับ อ้าว!!)
1
ภาพจาก World History Online (การสรรเสริญนักบินพลีชีพจากคามิคาเซ่)
ตลอดช่วงเวลาเริ่มภารกิจคามิคาเซ่จนจบสงคราม มีนักบินเสียชีวิตทั้งหมด 2,485 คน โดยสามารถจมเรือของฝ่ายสัมพันธมิตร 34 ลำ และยังเสียหายอีกนับร้อย!!
แต่ท้ายที่สุดนั้นคามิคาเซ่ในศตวรรษที่ 20 ก็ไม่สามารถต้านทานกระแสของประวัติศาสตร์ที่กำหนดมาให้ญี่ปุ่นต้องพ่ายแพ้ ทัศนะของคนยุคนี้ต่างก็มองการกระทำของพวกเขาต่างออกไปในหลายรูปแบบ
บ้างก็บอกว่าบ้า...
บ้างก็บอกว่ากล้าหาญ...
บ้างก็บอกว่าโง่เง่า...
บ้างก็บอกว่าเสียสละ...
1
เราที่อาศัยในยุคสมัยนี้ ย่อมยากที่จะเข้าใจความคิดของคนในยุคสมัยนั้น
หลายคนอาจมองทหารเหล่านี้เพียงแค่โดนลัทธิชาตินิยมล้างสมอง
แต่แท้จริงแล้วสำหรับผม พวกเขาเป็นผู้เล่นที่เดินไปตามเกมของประวัติศาสตร์ในยุคสมัยของตนเอง
ยุคสมัยที่ทหารได้รับการสั่งสอนว่า “จนสู้จนกว่าจะได้รับชัยชนะ” “จงคิดว่าการพ่ายแพ้คือความอับอาย” “จงสละชีวิตเพื่อชาติและจักรพรรดิ”
ยุคสมัยที่ครูร้องตะโกนฝังแนวคิดนักเรียนประถมและมัธยมว่า “พวกเธอ อย่าคิดว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปจนอายุ 20 ปี จงรับใช้ประเทศชาติด้วยความตาย”
จากจดหมายก่อนตายของนักบินคามิคาเซ่แต่ละคน พวกเขาล้วนยอมรับชะตาชีวิตในยุคสมัยที่พวกเขาเติบโต
และสุดท้าย ต้องสละชีวิตเพื่อยุคสมัยนั้น อย่างไร้ซึ่งทางเลือก...
ภาพจาก U.S. Navy (นักบินคามิคาเซ่ ก่อนออกปฏิบัติภารกิจ)
อ้างอิง
https://www.britannica.com/event/Second-Sino-Japanese-War
https://www.history.com/topics/world-war-ii/battle-of-midway
https://nationalinterest.org/blog/buzz/why-japan-turned-kamikaze-pilots-terrorize-allies-world-war-ii-112826
http://www.navweaps.com/index_tech/tech-042.php
https://world-war-2.wikia.org/wiki/Banzai_Charge
16 บันทึก
66
5
10
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
East Asia Story
16
66
5
10
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย