24 พ.ค. 2020 เวลา 09:04 • การศึกษา
วันละเรื่อง ตอน เรียนออนไลน์
ช่วงที่ต้อง WFH เพราะติดโควิด-19 เราเป็นนักศึกษาป.โทพาร์ทไทม์ เรียนตอนช่วงเย็นของทุกวัน ทำให้การเรียนก็กลายเป็นการเรียนออนไลน์ด้วย
การเรียนและทำงานมีข้อดีอยู่หนึ่งข้อ คือ ไม่ต้องเหนื่อยเดินทางใดๆ เพราะสิ่งที่เหนื่อยที่สุดไม่ใช่การทำงานแต่เป็นการขุดร่างเพื่อลุกขึ้นไปแออัดในรถไฟฟ้าตอนเช้า และกลับบ้านอย่างเหนื่อยล้าในตอนเย็นต่างหาก
การที่ไม่ต้องเดินทาง ทำให้เรามีเวลาเตรียมตัวอ่านหนังสือก่อนเข้าเรียนมากขึ้น ชนิดที่ว่าเรียนเสร็จสามทุ่มครึ่งยังมีแรงอ่านหนังสือเตรียมสำหรับวันต่อไป
แต่เรียนออนไลน์มีข้อเสียที่ค้นพบจากประสบการณ์การเรียนจริง
การเรียนของเราเป็นแบบเรียลไทม์ คือ อาจารย์สอนแล้วเราเรียนประหนึ่งยกห้องเรียนมาไว้ในแอพพลิเคชั่นสำหรับประชุมออนไลน์อย่าง ZOOM แต่บางอย่าง อาทิ การยืนพูดหน้าชั้นเพื่อพรีเซนต์งานที่เราทำนั้นหายไป แรงกดดันมหาศาลจากสายตาผู้ชมซึ่งเป็นหนึ่งแรงขับเคลื่อนให้ได้งานที่ดีไม่มีอยู่ งานที่ได้จึงไม่ต่างกับการ “โยนเกมปล่อยจอย” ปล่อยทุกอย่างไปตามยถากรรม
ทำให้ประสบการณ์ที่ควรได้เต็มร้อยจากการเรียนออนไลน์ลดลงไปอย่างน่าเสียดาย
ทว่า นั่นเป็นเรื่องส่วนเล็กที่ไม่ได้เกิดกับทุกชั้นเรียน และอาจารย์สามารถปรับวิธีการสอนให้เหมาะเหม็งกับการเรียนออนไลน์ได้ไม่ยากในอนาคต
สิ่งสำคัญที่ต้องจับตาดูคือปัญหาที่ทุกคนมักประสบและเป็นเรื่องของระบบที่ยากจะแก้ไข
ข้อแรก อุปกรณ์และการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ท ระหว่างที่เรียนผ่านแล็ปท็อปส่วนตัว เกิดปัญหาอินเตอร์เน็ทไม่เสถียรขึ้นหลายครั้ง บางครั้งเกิดขึ้นตอนที่อาจารย์กำลังจะอธิบายใจความสำคัญที่สุดของบทเรียนด้วยซ้ำ แล็ปท็อปอายุ 10 ปีของเราก็ดูท่าจะอืดจนแทบเรียนไม่ได้
ไม่ใช่แค่เราที่ประสบปัญหานี้ แต่ยังมีเด็กอีกจำนวนมากทั่วโลกที่ไม่มีแม้กระทั่งคอมพิวเตอร์
จากการศึกษาของ OECD องค์กรเจ้าของการวัดผลการศึกษาชื่อดังอย่าง PISA พบว่า 95% ของนักเรียนในประเทศที่เจริญแล้วอย่างสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และออสเตรีย ต่างมีคอมพิวเตอร์ใช้สำหรับการทำการบ้าน เมื่อเทียบกับ 34% ในอินโดนีเซียที่มีคอมพิวเตอร์ส่วนตัว
ไม่ใช่แค่นั้น จากรายงานของ UNCTAD องค์กรของสหประชาชาติยังกังวลว่าการระบาดของโรคโควิด-19 จะยิ่งทำให้ความไม่เท่าเทียมของผู้ที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ทกับผู้ที่ไม่มีความพร้อมจะเขื่อมต่อกับโลกออนไลน์นั้นยิ่งห่างมากขึ้นไปอีก และยิ่งทำให้ประเทศที่กำลังพัฒนาและประชาชนในประเทศเหล่านั้นตามหลังโลกที่หนึ่งได้ยากขึ้น
ข้อที่สอง คือ การเรียนออนไลน์จำเป็นต้องมีสิ่งแวดล้อมที่พร้อมมากๆ อาทิ ห้องที่เงียบเหมาะกับการเรียน เพื่อนบางคนไม่สามารถเปิดไมค์ได้เพราะไม่มีห้องส่วนตัวหรือห้องที่เพียงพอสำหรับเข้าไปขังตัวเองอยู่ด้านใน หากเปิดไมค์ขึ้นมาจะได้ยินเสียงละครและเสียงพ่อแม่พี่น้องตะโกนคุยกันด้วย
แม้อาจารย์จะต้องการเห็นหน้านักศึกษาเพื่อดูแววตาว่าเข้าใจในสิ่งที่อาจารย์สื่อหรือไม่ หรือมีเสียงตอบรับสำหรับมุกตลกที่เพิ่งเล่นไปหรือไม่ แต่บางคนกลับเลือกปิดกล้อง เช่นเรา ที่ไม่ต้องการให้อาจารย์เห็นบ้านรกๆ มืดๆ
หลายคนเลยเลือกจะไม่เปิดไมค์และกล้อง จากนักเรียนเกือบ 60 ชีวิต มีผู้เปิดกล้องและไมค์เพียง 3 คน
เพื่อนเกือบทั้ง 60 ชีวิตพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สมาธิหลุดง่ายกว่าไปเรียนจริงมาก และดูเหมือนเรื่องนี้จะเป็นปัญหาที่พบเจอได้ทั่วโลกจากบทความ The COVID-19 pandemic has changed education forever ของ World Economic Forum เองก็ระบุถึงปัญหานี้เช่นเดียวกัน
หากการเรียนออนไลน์จะเข้ามาแทนที่การเรียนในห้องเรียนแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ จำเป็นต้องแก้ปัญหาในข้างต้นเสียก่อน
แต่ดูเหมือนว่าอาจจะไม่ต้องรอนานเมื่อการระบาดของโรคกลายเป็นแรงกดดันให้การลงทุนด้านเทคโนโลยีการศึกษาสูงขึ้นไปอีก
โฆษณา