24 พ.ค. 2020 เวลา 14:37 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
มารู้จักกับ Survivorship bias: เหตุผลที่อย่าเพิ่งรีบเชื่อไลฟ์โค้ช
2
เนื่องด้วยในปัจจุบันนี้เป็นยุคของข้อมูล บ่อยครั้งมากที่เราต้องใช้ข้อมูลเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจ แน่นอนว่าถ้าตัดสินใจพลาดเนี่ย มันคงส่งผลกระทบอย่างมหาศาล ผมจึงอยากช่วยให้ผู้อ่านไม่ตกหลุมพรางจนตัดสินใจพลาดไป
ความเอนเอียงหรือ Bias คือการที่เรารับรู้ หรือประมวลผลข้อมูลต่างๆผิดพลาดโดยที่เราไม่ตั้งใจ หรืออาจเกิดจากการที่เราตั้งใจที่จะรับรู้หรือเสนอข้อมูลไม่รอบด้านก็เป็นได้ ซึ่งบทความนี้จะพูดถึง Survivorship bias หรือ การเอนเอียงของความอยู่รอด
Survivorship bias คือตรรกะวิบัติประเภทนึง โดยมีแนวคิดคือคนเรามักจะให้ความสำคัญมากเกินไปกับคนที่สามารถรอดชีวิตมาได้ แต่ดันไม่ให้ความสำคัญกับคนที่ไม่รอด ซึ่งสามารถนำไปสู่การสรุปที่ผิดพลาดได้หลายอย่างเลยครับ
ถ้าพูดเพียงนิยามสั้นๆ ผู้อ่านหลายท่านอาจยังมีข้อสงสัย และยังไม่เห็นภาพว่าแนวคิดนี้มันเป็นตรรกะวิบัติอย่างไร ผมจึงขอเล่าประวัติศาสตร์ของแนวคิดนี้ และยกตัวอย่างสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดตรรกะวิบัติ Survivorship bias ครับ
เรื่องมันเริ่มมาจากว่า ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพสหรัฐฯประสบปัญหาเรื่องเครื่องบินรบถูกยิงร่วงเป็นจำนวนมาก ก็เลยมีการปรึกษาหารือกันว่า กองทัพควรใส่เกราะป้องกันที่ส่วนไหนของเครื่องบิน เพื่อที่จะให้เครื่องบินถูกยิงร่วงน้อยที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าทางสหรัฐฯไม่สามารถใส่เกราะให้กับเครื่องบินทั้งลำได้ เพราะมันจะหนักมากและทำให้เครื่องบินบินไม่ขึ้น
กองทัพก็เลยเอาเครื่องบินที่รอดชีวิตและสามารถบินกลับมาฐานทัพได้มาวิเคราะห์ ว่าเครื่องบินเหล่านี้ถูกยิงที่บริเวณใดบ้าง ผลลัพธ์คือภาพด้านล่างครับ
จุดสีแดงคือบริเวณที่ถูกยิง
ทีนี้ อยากให้ผู้อ่านลองคิดในใจดู ว่าถ้าคุณเป็นกองทัพสหรัฐฯ คุณจะติดเกราะที่บริเวณไหนของเครื่องบิน ...
ผู้อ่านหลายท่านคงคิดว่า ก็ใส่เกราะบริเวณที่ถูกยิงสิ เพราะมันถูกยิง แสดงว่ามันคือจุดที่ถูกยิงบ่อย ใช่ไหมครับ? ซึ่งนี่ก็คือสิ่งที่กองทัพสหรัฐฯในตอนนั้นคิดเหมือนกัน แต่ครับ แต่ว่า
ก็ได้ปรากฎนักสถิติชาวฮังกาเรียนท่านนึง ชื่อว่า อับราฮัม วัลด์ ออกมาค้านครับ ว่าจริงๆแล้ว กองทัพควรติดเกราะให้กับบริเวณที่ไม่ได้ถูกยิง! เพราะว่าข้อมูลที่กองทัพวิเคราะห์กันมา เกิดขึ้นกับเครื่องบินที่สามารถกลับมายังฐานทัพได้ นั่นหมายความว่าเครื่องบินเหล่านั้นไม่ได้รับความเสียหายร้ายแรงเลย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เราควร “คิดตรงกันข้าม” กับสิ่งที่กองทัพกำลังทำอยู่ตอนนี้
Abraham Wald
นั่นก็คือ กองทัพควรติดเกราะในบริเวณที่ไม่ได้ถูกยิงหรือไม่ได้รับความเสียหาย เพราะเครื่องบินที่โดนยิงในจุดดังกล่าวถูกยิงร่วงไปหมดแล้วจนไม่เหลือกลับมาให้วิเคราะห์นั่นเอง
กรอบสีน้ำเงินคือบริเวณที่ควรใส่เกราะ
ส่วนจุดสำคัญที่วัลด์วิเคราะห์ไว้ก็คือส่วนของเครื่องยนต์ ซึ่งเครื่องบินที่สามารถบินกลับมาได้ ไม่มีร่องรอยการถูกยิงที่เครื่องยนต์แม้แต่น้อย นั่นแสดงว่าเครื่องบินลำไหนที่ถูกยิงเข้าที่เครื่องยนต์ เป็นอันไม่รอดทุกราย
ผู้อ่านคงเห็นภาพกันมากขึ้นแล้วใช่ไหมครับ แล้ว Survivorship มันมีส่วนในชีวิตประจำวันเราอย่างไรล่ะ? ผมขอยกตัวอย่าง 3 นี้ครับ
เริ่มที่ตัวอย่างแรกของ Survivorship bias ซึ่งน่าจะเห็นชัดที่สุด คือกรณี Life coach เล่าถึงคนที่ประสบความสำเร็จมากมาย
คำพูดสุดคลาสสิคที่เราจะยกมาก็คือ การที่ Bill Gates, Steve Jobs, Mark Zuckerberg เรียนไม่จบ ลาออกจากมหาลัย ก็ประสบความสำเร็จและเป็นมหาเศรษฐีได้
จากนิยามของ Survivorship Bias ที่ผมได้บอกไปก่อนหน้านี้ ว่ามันคือแนวคิดที่เรามองแต่ผู้ที่รอดชีวิตใช่ไหมครับ ถ้านำมาใช้กับตัวอย่างนี้ก็คือการที่เรามองไปยังคนที่ประสบความสำเร็จอย่างเดียว จนไม่ได้คิดถึงคนที่ทำแบบเดียวกันแต่ว่าล้มเหลว เช่น เราอาจจะไม่ได้คิดถึงคนที่ลาออกจากมหาลัยไปทำธุรกิจแล้วล้มเหลว ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ เราอาจด่วนสรุปว่า เราไม่จำเป็นต้องเรียนจบก็ได้
สิ่งที่ต้องระวัง คือ เรากำลังมองข้ามการทำตามคำแนะนำเหล่านั้น แต่ไม่ประสบความสำเร็จไปอยู่หรือเปล่า เพราะคนที่ทำตามแล้วไม่รอด เราไม่ได้พบเจอ และ Life coach หรือคนที่พูดประโยคเหล่านี้เนี่ย ก็มักไม่ได้ยกเคสที่คนทำแบบเดียวกันแล้วล้มเหลว มาพูดให้เราฟัง
อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้จากบุคคลที่ประสบความสำเร็จเป็นเรื่องที่ดี แต่เราต้องระวังเรื่อง Survivorship bias กันนิดนึง โดยเราต้องพิจารณาและหาข้อมูลอื่นๆ ของบุคคลที่ทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ พยายามศึกษา case study ของคนที่ทำแล้วล้มเหลวด้วย จากนั้นก็ค่อยนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของเรา
ตัวอย่างที่สองคือ งานของ Customer Service โดยปกติเวลามี complaint หรือข้อร้องเรียนจากลูกค้า Customer Service มักจะรีบเข้าไปแก้ไขให้ทันที ซึ่งคือสิ่งที่ดีครับ
แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญและคนส่วนใหญ่ชอบที่จะหลงลืมกันไปก็คือ คนที่ไม่พึงพอใจแต่ไม่ตำหนิ ซึ่งก็มักจะเป็นกลุ่มใหญ่ในกลุ่มคนที่ไม่พอใจเสียด้วย
คนกลุ่มนี้ตาม study แล้ว 78% ให้โอกาสเราแก้ไขอีกแค่ครั้งเดียว ก่อนที่จะหนีไปแบรนด์คู่แข่งหรืออาจจะไม่ให้โอกาสเลย ตรงกันข้ามกลุ่มที่ตำหนิ หรือบ่นเยอะๆ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่ไปไหน ดังนั้นแล้วเคสของการแก้ไขปัญหาการ complaint จีงไม่ควรแก้ปัญหาแต่เฉพาะคนที่ตำหนิเราเข้ามา เพียงเพราะที่เหลือไม่มีใครบ่น
ที่ไม่บ่นแหละครับคือข้อมูลสำคัญที่เราไม่มี และคนกลุ่มนี้มีโอกาสจากเราไปสูงมาก และทำให้เราไม่สามารถรักษาฐานลูกค้าเก่าส่วนใหญ่ไว้ได้
ดังนั้นเวลาคน Complaint สินค้าบางรายการเข้ามา นอกจากจะแก้ไขปัญหาให้คนที่ Complaint สิ่งที่ควรทำต่อไปคือตรวจสอบว่าใครซื้อสินค้ารายการเดียวกันบ้าง แล้วก็ให้ฝ่าย Customer Service ติดตามสอบถามถึง feedback
ตัวอย่างสุดท้ายที่อยากจะยกคือ กองทุนรวม(Mutual Fund) โดย Vanguard บริษัทกองทุนการเงินใหญ่ของโลก กล่าวว่า Survivorship bias เป็นปัญหาคลาสสิคของนักลงทุนอยู่เรื่อยมา เพราะในการวิเคราะห์ผลตอบแทนของกองทุนประเภทต่างๆ มักนับแค่กองทุนที่กำลังมีอยู่ในตลาด แต่ไม่นับกองทุนที่ขาดทุนจนปิดไปแล้ว ซึ่งถ้ารวมกองทุนที่ปิดไป ผลตอบแทนที่ว่าดี อาจไม่ดีเท่าไหร่ อย่างเช่น ตามสถิติบอกว่า มีกองทุนจำนวน 62% ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาด แต่พอรวมเอากองทุนที่ปิดไปแล้ว ความจริงก็คือ มีเพียง 46% เท่านั้น ที่ถือว่า perform
อ้างอิงภาพจาก porttoffy
จึงอยากแชร์เป็นความรู้ให้ทุกคนระมัดระวังว่าเรากำลังเสพข้อมูลอยู่ด้านเดียวหรือเปล่า? คอยเช็คตัวเองเสมอว่า “ข้อมูลอะไรบ้างที่เรากำลังมองข้ามไป” หรือ“ข้อมูลอะไรที่เรายังไม่เห็น” การคิดแบบนี้แหละครับ จะทำให้เราเป็น Survivor หรือผู้รอดชีวิตของจริง
เพราะอคติที่ให้ความสำคัญแต่ผู้รอดชีวิต จะพาเราไปสู่ข้อสรุปที่ผิดพลาดและตามมาด้วยความล้มเหลว
สามารถติดตามภาควีดีโอได้ที่
อ้างอิงรูปภาพ
โฆษณา