24 พ.ค. 2020 เวลา 07:54 • การศึกษา
“เรื่องบาดหมางด้านการศึกษา”
->>ใครถูกใครผิด อะไรขาวอะไรดำ <<-ไม่มีหรอกในเมื่อปัจจุบันละครไทยยังปรับตัวให้พระเอกนางเอกมีด้านเทาๆ เราก็ปรับตัวได้แล้วไหม
ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมามีเรื่องชวนกวนใจเหลือเกิน และเรื่องก็ยังไม่จบเกี่ยวกับความผิดพลาดทางการสื่อสารของแต่ละฝ่าย โดยเฉพาะในด้านการศึกษา ทำไมถึงรู้สึกเจ็บปวดลึกๆ เมื่อความหวังดีจากคนที่เราเรียกว่าครูอาจารย์ ส่งผ่านไปถึงเด็ก ๆ ไม่ถึง
คือยังไม่ได้แสดงออกว่าห่วงเขา แต่กลับใช้การสื่อสารเพื่อสอนในสมัยยุค 90 ที่เรายังเด็ก คือรุ่นที่ใช้ไม้ตีได้ ด่าที่บ้าน ด่าตัวตนว่าโง่ เด็กสมัยนั้นไม่คิดหรือคิดไม่รู้ แต่เราคือคนหนึ่งที่เคยโดนทั้งหมดนั่นแหละ ถูกตี ถูกด่า แต่สิ่งที่เด็กรุ่นก่อนมีคือ...
>>>ความเชื่อ และความศรัทธาค่ะ<<< โดยเราเชื่อว่าสถาบันการศึกษาและครูอาจารย์คือเรือจ้าง เขาหวังดีนำเราไปส่งให้ถึงอนาคตที่วางไว้ และในด้านชีวิตเขาก็ใส่ใจ ถึงดุด่าแต่ก็ยังถามถึง บางทีเด็กสมัยนั้นเลยลืมๆ ไป ส่วนครูอาจารย์ก็ดุด่าเพราะหวังดีพูดซ้ำจนหมดความอดทน เลยลองตีเผื่อจะดีขึ้น
ตัดมาปัจจุบัน ที่ทุกคนคิดหาเครื่องไม้เครื่องมือ Active Learning บ้าง เรียนออนไลน์บ้าง หาวิธีประเมินกันแล้วกันเล่า แต่ความใกล้ชิด ความห่วงใย การแสดงออกระหว่างครูอาจารย์กับลูกศิษย์มีระยะห่างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เราเองก็รู้สึกเหมือนกันจากเมื่อก่อนสนิทกับเด็กๆ จนจะเป็นเพื่อนกันได้ เพราะเด็กช่วยเราทำงาน เราก็อยู่ดึกๆ เสาร์อาทิตย์ เพราะรู้ว่าเราต้องช่วยกันหาเครื่องไม้เครื่องมือสร้างแบบงาน แต่เรารู้ว่าทำเพื่ออะไร ไม่ได้ถูกบังคับ และไม่มีใครมาตรวจสอบเวลาเข้างาน แต่เมื่อถูกกดดันทำงานที่ไม่เกี่ยวกับเด็ก จิตใจแทบไม่อยากคุยกับใคร รับฟังแต่ไม่ได้โฟกัสจริงๆ เพราะต้องนั่งหน้าคอมยุ่งกับงานเอกสาร
เด็กๆ ความรู้สึกไวนะคะ คนไหนที่เข้ามาหาเห็นเราจดจ่อคอมสิ่งที่เขาจะถามอาจไม่ถามแล้วนะ บางคนไม่กล้าขอเวลาให้มาเสาร์อาทิตย์เพราะเห็นเราเครียดจึงไปหาทางของตัวเอง หรือถึงเราออกไปกับเขา แต่จิตใจเรากังวลกับงานอื่น เขาก็รู้สึก ไม่ใช่แค่นักเรียนนักศึกษา ใครมีลูกก็เช่นกันค่ะ
ทีนี้นึกถึงนักศึกษาที่เข้ามาใหม่ ถ้าเขาไม่เคยรู้จักเราเลย ไม่เคยใช้เวลากับเรา ความศรัทธาในสถาบันและในคำว่าครูอาจารย์มันลดไปแล้วในยุคนี้ด้วย เพราะสถาบันจะดีหรือครูอาจารย์ที่ดีคือดีด้วยความน่านับถือที่แสดงให้เด็กเห็นทั้งระบบและตัวตนครู
ไม่ใช่ว่าครูอาจารย์ทำผิด ดุด่า ไม่ได้นะคะ แต่ต้องให้เขาเข้าใจว่าเราทำเพราะหวังดี เขาทำคะแนนไม่ดีให้ดุด่าที่คะแนน เขาขี้เกียจเกเร ให้ดุด่าที่ผลกระทบที่จะเกิดกับเขาในอนาคต อย่าเลยนะคะ “อันนี้เรียกว่าขอร้อง” อย่าด่าที่ตัวตนเขา เช่น
“เรียนสายวิทย์มาจริงหรือเปล่าทำไมคำนวณไม่เป็น มารยาทแบบนี้ที่บ้านไม่สอนเหรอ เด็กแบบเธอไม่น่าทำโจทย์นี้ได้นะลอกมาหรือเปล่า”
ถ้าเด็กที่โดนด่าคือคนรุ่นเดียวกับผู้เขียน และครูอาจารย์ที่ด่าเด็กคือคนที่เขานับถือหรือกลัวประมาณหนึ่งก็คงไม่เป็นไร อย่างมากก็ไปนินทาเพื่อระบายหรือร้องไห้กับเพื่อน ชื่อเสียงดังทั้งชั้นเหมือนกันนะ 5555
แต่ถ้าเด็กรุ่นนี้บวกกับครูอาจารย์ที่ไม่ได้รู้จักกัน เด็กจะตัดสินครูอาจารย์เหมือนคำพูดที่ครูอาจารย์ดูถูกเด็กนั่นแหละ ไม่มีใครมองสิ่งดีๆของใคร ก็ไม่สนิทกันอะเนาะ
เมื่อเด็กเจ็บปวด วิธีที่เด็กตัวเล็กๆ ทำได้ คือการแสดงออกในพื้นที่ที่เขาทำได้ นั่นคือ Social Media ที่เด็กรุ่นนี้เชื่อว่าจะมีผลให้ทุกคนรับฟังเขา และแก้ปัญหาได้บ้าง
ถ้าผู้ใหญ่จะหวังให้เขาเดินมาคุยกันมาแสดงตัวตนโดยเสี่ยงการโดนตัดอนาคตคงเป็นไปไม่ได้แล้ว ในเมื่อเขาขาดศรัทธาครูอาจารย์ไปแล้ว วิธีการของเด็กไม่ได้บอกว่าถูกต้อง แต่เราลองถามตัวเองก่อนว่าเรามีช่องทางที่ดีให้คุยกันได้แบบยุติธรรมและรับฟังเขาจริงๆ ไหม
นอกจากด้านวิชาการแล้ว สิ่งที่ท้าทายด้านการศึกษายังมีอีกเยอะ
ด้านการทำงานและบริหารคนก็เช่นเดียวกันนะคะ
บางคนมีข้อจำกัดที่รับได้ไม่ได้แตกต่างกัน สื่อสารกันดีๆ ตั้งแต่แรก รับฟัง พูดคุย ตกลงร่วมกัน
โฆษณา