24 พ.ค. 2020 เวลา 10:51 • สุขภาพ
การรักษาฝ้าด้วยยากิน
รับประทานยารักษาฝ้าได้ไหม
ในปี 1979 มีการศึกษาการรักษาโรคผื่นลมพิษเรื้อรัง (chronic urticaria) รายงานว่าฝ้าในผู้ป่วยที่ได้กรดทรานเอกเซมิกชนิดกิน (oral tranexamic acid) ขนาดต่ำๆ จางลงชั่วคราว
ต่อมามีงานวิจัยหลายฉบับตั้งสมมุติฐานว่ากรดทรานเอกเซมิกยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานิน
กลไกของกรดทรานเอกเซมิกในการยับยั้งฝ้า จาก Poojary and Mini (2015)
มีการศึกษาทางการแพทย์สรุปว่าการให้กรดทรานเซมิกชนิดกินขนาดต่ำ (เช่น 500 มิลลิกรัมต่อวัน) ต่อเนื่องเป็นเวลา 8-12 สัปดาห์ ทำให้ฝ้าจางลงได้ และมีความปลอดภัยสูง
อาการข้างเคียงที่พบได้เช่น ปวดท้อง ผื่นแพ้ยา มีประจำเดือนน้อยลง
ปัจจุบันมีการใช้กรดทรานเอกเซมิกรักษาฝ้าที่ดื้อต่อการรักษา ในผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาทา (เช่น ไฮโดรควิโนน) แล้วไม่ตอบสนองในเวลา 3 เดือน
ผู้ที่ไม่ควรรับประทานกรดทรานเอกเซมิกได้แก่
💊 ผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดการอุดตันของหลอดเลือด เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยเส้นเลือดขอด
💊 ผู้มีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน (deep vein thrombosis)
💊 สตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร
💊 ผู้ที่มีประวัติแพ้กรดทรานเอกเซมิก
ไม่แนะนำให้ซื้อกรดทรานเอกเซมิกมาใช้เอง การรักษาควรอยู่ในการดูแลของแพทย์
การรักษาฝ้าด้วยกรดทรานเอกเซมิกทำให้ฝ้าจางลงได้ชั่วคราวเท่านั้น ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาฝ้าให้หายขาด ผู้มีฝ้ายังต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดฝ้าเช่น แสงแดด และเลี่ยงการใช้ยาที่กระตุ้นฝ้าเช่น ยาคุมกำเนิด
📚 อ้างอิง
Bala HR, Lee S, Wang C, Pandya AG, Rodrigues M. Oral Tranexamic Acid for the Treatment of Melasma: A Review. Dermatol Surg. 2018;44:814-825.
Zhang L, Tan QW, Fang QQ. Tranexamic Acid for Adults with Melasma: A Systematic Review and Meta-Analysis. Biomed Res Int. 2018;2018:1683414.
British Association of Dermatologists. Melasma. Available from: https://www.skinhealthinfo.org.uk/condition/melasma [Assessed 23 May 2019].
ฝากกด follow กด like และ share และติดตาม บล็อกผิวสวย Healthy Skin ที่ช่องทางอื่นเพื่อเป็นกำลังใจด้วยนะครับ
โฆษณา