25 พ.ค. 2020 เวลา 09:41 • ธุรกิจ
วันละเรื่อง ตอน เมื่อ Apple ต้องตอบคำถาม Privacy vs Security
ตอนที่ทำสตาร์ทอัพและไปขอเงินลงทุนกับนักลงทุน มีคำถามหนึ่งถามว่า “แล้วความปลอดภัยของลูกค้าล่ะ” ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มให้ทีมต้องไปศึกษากฎหมายพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือ PDPA
ตอนนั้นกฎหมายยังไม่บังคับใช้และจนถึงตอนนี้ก็มีการเลื่อนการบังคับใช้ในบางหมวดออกไปก่อน
ทุกครั้งที่มีเรื่องเกี่ยวกับ Privacy ก็ต้องมีคนปล่อยมีมภาพนางงามจักรวาลของไทยที่เจอคำถามปราบเซียน
คำถามปราบเซียนที่ใครก็ยากจะตอบ
แต่ทุกครั้งที่พูดถึงเรื่อง “ความปลอดภัย” (security) vs “ความเป็นส่วนตัว” (privacy) ก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึง “แอปเปิ้ล” ขึ้นมาขึ้นมาเสียทุกครั้ง
แอปเปิ้ลเป็นแบรนด์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกา และเป็นผู้จุดประกายความนิยมของสมาร์ทโฟนด้วยการเปิดตัว “ไอโฟน” ในปี 2007
แบรนด์ของแอปเปิ้ลนั้นแข็งแกร่งในด้านความเป็นนวัตกรรมและการใช้ง่าย แต่มีกรณีศึกษาหนึ่งที่หยิบยกมาพูดทุกครั้งเมื่อบริษัทต้องเลือกระหว่าง “การรักษาความเป็นส่วนตัว” หรือ “จะเปิดเผยข้อมูลเพื่อความมั่นคงของรัฐ”
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี 2015
ในปีนั้นเกิดเหตุคู่สามีภรรยาก่อเหตุกราดยิงและพยายามวางระเบิดในเมืองซานเบอร์นันดิโน รัฐแคลิฟอร์เนีย จนมีผู้เสียชีวิตมากถึง 14 ราย และตำรวจได้วิสามัญคนร้ายทั้งสองคน เหตุการณ์นี้ตำรวจถือเป็นเหตุการณ์ก่อการร้ายและต้องเร่งสืบเพื่อหาต้นตอ เครือข่าย และเหตุที่อาจเกิดขึ้นซ้ำอีก
ทว่า เอฟบีไอกลับไม่สามารถปลดล็อคโทรศัพท์ไอโฟนรุ่น 5C ของผู้ก่อเหตุได้เพราะติดรหัส 4 ตัวและไอโฟนจะลบข้อมูลในเครื่องทิ้งทั้งหมดทันทีหากใส่รหัสผิดพลาดเกิน 10 ครั้ง
นั่นทำให้เอฟบีไอหันไปหาแอปเปิ้ลเพื่อขอให้ช่วยทำ “กุญแจประตูหลัง” ให้หน่อย แต่แอปเปิ้ลปฏิเสธจนเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาลก่อนที่แอปเปิ้ลจะเป็นผู้ชนะในคดี
ฟังดูเหมือนใจร้ายที่ไม่ยอมให้ความร่วมมือปกป้องความมั่นคงของรัฐ ซึ่งหมายรวมถึงชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน แต่แอปเปิ้ลกลัวว่าหากสร้างซอฟต์แวร์เพื่อถอดรหัสไอโฟนได้จริง จะทำให้ลูกค้าปราศจาก "ความปลอดภัย" ไปตลอดกาล
เพราะอาจมีผู้ไม่ประสงค์ดีนำไปใช้ในทางที่ผิด
ลองจินตนาการถึงสถานการณ์ในประเทศที่มีความวุ่นวายทางการเมือง นักสิทธิมนุษยชนถูกอุ้มหาย ในประเทศเหล่านั้น ตำรวจสามารถตามตัวผู้เป็นปรปักษ์ทางการเมืองได้ง่ายๆ เพียงแค่เข้าถึงโทรศัพท์มือถือของพวกเขาเหล่านั้น
ไม่ใช่แค่ “ความปลอดภัยในชีวิต” ที่อาจหายไปจากการสูญเสียความเป็นส่วนตัวแล้ว ยังมี “ความปลอดภัยทางการเงิน” อีกด้วย เพราะการแพร่หลายของโมบายล์แบงกิ้งและอินเตอร์เน็ทแบงกิ้ง
การปฏิเสธเสียงแข็งของแอปเปิ้ลทำให้จุดยืนที่จะปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้แข็งแกร่งและเป็นหนึ่งในเรื่องที่พูดถึงเมื่อพูดถึงแบรนด์ของไอโฟน
หากตอนนั้นแอปเปิ้ลเลือกอีกอย่าง ผู้ใช้จะสูญเสียความมั่นใจในการรักษาความเป็นส่วนตัวของไอโฟนจนอาจไม่สามารถกู้ชื่อเสียงในด้านนี้กลับมาได้เลย
ที่ผ่านแอปเปิ้ลยืนอยู่ข้างความเป็นส่วนตัวและเสรีชนมาโดยตลอด ในหนังสือเรื่อง Tim Cook: The Genius Who Took Apple to the Next Level เขียนโดย Leander Kahney ได้บอกเล่าเหตุการณ์ขณะที่แอปเปิ้ลต้องเลือกระหว่างช่วยเอฟบีไอกับรักษาความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของลูกค้าเอาไว้
ซีเวลล์ บรูซ ทนายมือหนึ่งของแอปเปิ้ลเล่าว่า ทิม คุก ซีอีโอของแอปเปิ้ล ยืนกรานหนักแน่นในจุดยืนที่จะปกป้องความปลอดภัย (security) และความเป็นส่วนตัว (privacy) ของลูกค้า
แล้วคุณล่ะ จะเลือกความเป็นส่วนตัวหรือความปลอดภัยหรือทั้งสองอย่าง
โฆษณา