25 พ.ค. 2020 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์
ศิลปะการสักลายของญี่ปุ่น: กำเนิดและความเปลี่ยนแปลง
บทความนี้เป็นบทความที่สามแล้วที่ผมเขียนให้กับทางเพจ The Infinity ก่อนอื่นผมต้องขอแสดงความขอบคุณ Podcaster “น้องหมี” ผู้ก่อตั้งเพจฯ ที่ได้กรุณาให้โอกาสผมได้เล่าเรื่องราวในแง่มุมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเทศญี่ปุ่นที่โดยส่วนตัวผมสนใจ และคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านคนไทย ไม่ว่าจะอ่านเพื่อเพิ่มพูนความรู้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับสังคมวัฒนธรรมญี่ปุ่น เพื่อความบันเทิง หรือเพื่อนำไปคิดต่อเพื่อปรับเปลี่ยนมุมมองต่อคนรอบข้างหรือสิ่งรอบตัวก็ตามแต่ ทั้งนี้ การได้เขียนบทความผ่านเพจนี้ก็ก่อให้เกิดคุณูปการแก่ตัวผู้เขียนเองด้วยในแง่ที่ว่า ทำให้ผมเองมีหอจดหมายเหตุส่วนตัว (personal archives) รวบรวมเรื่องราวที่ผมอยากรู้เกี่ยวกับสังคมญี่ปุ่น และสิ่งที่ผมอยากถ่ายทอดให้กับผู้อ่านทั้งหลาย รวมถึงมุมมอง อารมณ์ และความรู้สึกของผม ในห้วงเวลาที่ใช้ชีวิต ณ ประเทศนี้
สาเหตุที่ผมสนใจจะเล่าเรื่องศิลปะการสักลายของญี่ปุ่น (Japanese tattoos หรือ irezumi ในภาษาญี่ปุ่น) เนื่องจากเป็นวัฒนธรรมรอง (subculture) ที่ผู้คนในหลายประเทศทั่วโลกชื่นชม ในความสวยงามและมีเอกลักษณ์ของรูปและลวดลายต่าง ๆ เช่น รูปปลาคาร์ป การลงรายละเอียดของเกล็ดปลา รูปมังกร รูปปีศาจ รูปนักรบญี่ปุ่น เป็นต้น นอกจากนี้ ในการจัดอันดับสุดยอดช่างสักลาย 20 อันดับของโลกโดยเว็บไซต์ Trending Tattoos ปีล่าสุด ก็มีช่างสักลายชาวญี่ปุ่นจากจังหวัดฟุกุโอกะที่ชื่อ Horishow อยู่ในอันดับ 5 อีกด้วย แต่ในขณะเดียวกัน สังคมญี่ปุ่นเองกลับไม่ได้ภูมิใจกับศิลปะบนเรือนร่างดังกล่าวนี้ ซ้ำร้ายยังมองคนที่มีรอยสักในเชิงลบ และเลือกปฏิบัติต่อคนที่มีรอยสักอย่างชัดเจน อาทิ ในโรงอาบน้ำสาธารณะ (public baths) ซึ่งรวมถึงบ่อน้ำพุร้อนตามโรงแรมหลายแห่งที่ห้ามมิให้ลูกค้าที่มีรอยสักใช้บริการเด็ดขาด โดยเมื่อปีที่แล้วมีผลสำรวจจากการส่งแบบสอบถามกระจายไปยังโรงอาบน้ำฯ กว่า 3,800 แห่งทั่วญี่ปุ่น พบว่า ร้อยละ 56 ของโรงอาบน้ำฯ เหล่านี้ห้ามมิให้ลูกค้าที่มีรอยสักเข้าใช้บริการ ผมจึงเกิดคำถามขึ้นว่า ทำไมสังคมญี่ปุ่นสมัยใหม่จึงมีทัศนคติเชิงลบต่อรอยสัก ทั้งที่ญี่ปุ่นเองก็เป็นเสมือนต้นกำเนิดของศิลปะบนเรือนร่างนี้ โดยมีประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ยาวนาน และผู้คนนอกประเทศก็ต่างให้การยอมรับและชื่นชม?
เป็นที่เชื่อกันว่า วัฒนธรรมการสักลายในญี่ปุ่นมีมาตั้งแต่ยุคโจมง (Jomon– ราว ๆ 15,000-300 ปีก่อนคริสตกาล) ที่พบรูปปั้นดินเผาที่มีรอยขีดเขียนตามตัวและทำให้นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าเป็นรอยสัก ต่อมาราวศตวรรษที่ 3 พงศาวดารจีนกล่าวถึงการพบผู้ชายชาวญี่ปุ่นทั้งตัวโตตัวเล็ก มีรอยสักบนใบหน้าและร่างกายเต็มไปหมด สำหรับเอกสารประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นเองในปี ค.ศ. 720 เป็นครั้งแรกที่ปรากฏว่ามีการใช้รอยสักเป็นสัญลักษณ์ของการลงโทษ โดยองค์จักรพรรดิสั่งลงโทษกบฏรายหนึ่ง โดยการเนรเทศและ “สักบนใบหน้า” แทนการประหารชีวิต ในด้านหนึ่งเอกสารทางการระบุว่าเป็นการสำแดง “พระเมตตาอันยิ่งใหญ่” (great mercy) ขององค์จักรพรรดิ แต่ก็มีคนตีความอีกแบบหนึ่งว่าการสักลายบนใบหน้าเช่นนี้เป็นการลงโทษแบบ “สองเด้ง” นั่นคือ (1) เพื่อสร้างความเจ็บปวดทางร่างกายแก่ผู้ถูกลงโทษ (หากใครเคยสักลายจะทราบดีว่า ความเจ็บปวดของการสักบนต้นแขนด้านหลัง (tricep) ต่างกันลิบลับกับการสักบนผิวหนังที่บางมาก ๆ อย่างลำคอ) และ (2) เพื่อสร้างตราบาปแก่ผู้ถูกลงโทษตลอดไปว่าเคยเป็นอาชญากร (เนื่องจากรอยสักนั้นไม่สามารถลบออกได้นั่นเอง)
ต่อมาในศตวรรษที่ 17 การลงโทษอาชญากรด้วยการสักลายเป็นที่ยอมรับแพร่หลาย จนกระทั่งปลายศตวรรษดังกล่าวเกิดความเปลี่ยนแปลงสำคัญ ก็คือผู้ที่มีรอยสักจากการลงโทษเริ่มตบแต่งรอยสักของตัวเองเป็นลายสวยงามต่าง ๆ เป็นภาพขนาดใหญ่ ทำให้การลงโทษด้วยการสักลายไม่มีพลังและล้าสมัยไป และช่วงเวลานี้เองถูกเชื่อว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการเชื่อมโยงวัฒนธรรมการสักลายเข้ากับองค์กรอาชญากรรม (organized crime)
เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 18 การสักลายรูปภาพบนเรือนร่างเป็นที่นิยมอย่างมากคู่ขนานไปกับวัฒนธรรมสมัยนิยม (popular culture) ของยุคเอโดะ นั่นคือ ละครคาบุกิและภาพพิมพ์แกะไม้ ในบทความของคุณ Jon Mitchell กล่าวว่า ศิลปะทั้งสามแบบนี้เติบโตไปพร้อม ๆ กันและบ่อยครั้งก็มาบรรจบกัน โดยละครคาบุกิมักจะนำเสนอ “ฮีโร่สายขบถ” (renegade heroes) โดยใช้เครื่องสำอางวาดรอยสักขนาดใหญ่บนร่างกายนักแสดง ซึ่งตัวละครนี้ก็จะถูกเผยแพร่ต่อในภาพพิมพ์แกะไม้และป้ายโฆษณาละครเหล่านี้ และกูรูช่างสักลายก็นำรูปรอยสักดังกล่าวไปพัฒนาต่อและสักลายจริง ๆ ให้ลูกค้า ทั้งนี้ ลูกค้าสักลายส่วนใหญ่ของเมืองเอโดะ (ปัจจุบันคือโตเกียว) ได้แก่ นักดับเพลิงที่ต้องการสัญลักษณ์แห่งความแข็งแกร่งและกล้าหาญอย่างปลาคาร์ปและมังกร รวมถึงชายชนชั้นแรงงานที่ใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้นในสภาพอากาศอันแสนร้อนชื้นช่วงฤดูร้อนอย่างช่างไม้ คนส่งของ และคนแบกเสลี่ยง แม้ว่าชนชั้นซามูไรจะประกาศห้ามการสักลาย แต่ศิลปะนี้ก็แพร่หลายต่อไปอย่างไม่แยแสกฎหมาย คนอีกกลุ่มหนึ่งที่หลงใหลในศิลปะการสักลายเป็นอย่างมากก็คือ องค์กรอาชญากรรม “ยาคูซ่า” (Yakuza) ซึ่งเว็บไซต์ Vanishing Tattoo ได้กล่าวถึงแนวคิดของยาคูซ่าที่มีต่อการสักลายเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า
“พวกยาคูซ่าเชื่อว่า เพราะการสักลายเป็นอะไรที่เจ็บปวด มันจึงเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความกล้าหาญ; เพราะมันคงอยู่ถาวร มันจึงเป็นหลักฐานแห่งความภักดีชั่วชีวิตต่อองค์กร; และเพราะมันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย มันจึงทำให้พวกเขาเป็นคนนอกกฎหมายตลอดไป”
อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญและทำให้ความนิยมต่อการสักลายในญี่ปุ่นต้องหยุดชะงักลงเกิดขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เมื่อกองทัพเรือของมหาอำนาจตะวันตกเข้าเทียบท่าเรือญี่ปุ่นได้สำเร็จ ในช่วงนั้นหลายประเทศในเอเชียถูกมหาอำนาจตะวันตกยึดครอง กดขี่คนพื้นเมืองด้วยกำลังทหารและ/หรือฝิ่น แย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ รวมถึงบังคับให้ลงนามในสนธิสัญญาการค้าที่ไม่เป็นธรรม การปิดประเทศยาวนานกว่า 200 ปีในสมัยรัฐบาลโชกุนโทกุงาวะทำให้ญี่ปุ่นขาดเทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้งพลังงานไอน้ำ โทรเลข และยุทโธปกรณ์ ทำให้ญี่ปุ่นตระหนักดีว่าความเสี่ยงที่จะถูกยึดครองมีสูงมาก จำเป็นจะต้องปฏิรูปประเทศให้ทันสมัย (modernize) เพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นอาณานิคมโดยทำให้มหาอำนาจตะวันตกยอมรับว่าญี่ปุ่นมีความซิวิไลซ์ ซึ่งหนึ่งในนโยบายสำคัญเพื่อภาพแห่งความซิวิไลซ์ก็คือการยุติ/ปราบปรามวัฒนธรรมการสักลายอย่างจริงจัง เพราะเกรงว่าพวกตะวันตกจะมองว่าญี่ปุ่นล้าหลังและป่าเถื่อน การดำเนินการปราบปรามระดับชาติเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1872 (และมีนโยบายเพิ่มเติมในหลายปีถัดจากนั้น) โดยเข้มงวดกวดขันเป็นพิเศษในพื้นที่ชายขอบของญี่ปุ่นที่รัฐบาลมองว่าสุ่มเสี่ยงต่อการถูกรุกราน ได้แก่ เกาะฮอกไกโดทางตอนเหนือ และเกาะโอกินาว่าทางตอนใต้ ในตอนนั้นรัฐบาลเมจิที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่โดยการรวบอำนาจจากรัฐบาลโชกุนโทกุงาวะกลับคืนสู่จักรพรรดิ ได้ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นต่อต้านการสักลาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงให้มหาอำนาจตะวันตกเห็นว่าประชากรของเกาะเหล่านี้อยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น และเพื่อผนวกรวมเกาะเหล่านี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม สำหรับญี่ปุ่นแผ่นดินใหญ่ รัฐบาลกลับบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการสักลายอย่างหละหลวม Jon Mitchell ยกตัวอย่างว่า มีการจับกุมเกิดขึ้นเพียง 500 คดีในช่วง 70 ปี (ระหว่างปี ค.ศ. 1876-1946) แต่กระนั้นก็ยังถือว่า นโยบายปราบปรามการสักลายประสบความสำเร็จเพราะได้ผลักดันให้การสักลายต้องแอบทำกันใต้ดิน และคนที่มีรอยสักจะถูกตำรวจคอยตักเตือนไม่ให้เปิดเผยรอยสักในที่สาธารณะ
นับตั้งแต่นั้นมา การสักลายในญี่ปุ่นยังคงเป็นเรื่องผิดกฎหมายต่อไปจนกระทั่งในปี ค.ศ. 1948 เมื่อกฎหมายปราบปราม/ต่อต้านการสักลายต่าง ๆ ถูกยกเลิกโดยพลเอกดักลาส แมกอาร์เธอร์ ผู้บัญชาการกองกำลังยึดครองประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ช่างสักญี่ปุ่นทั้งหลายก็ยังคงธำรงรักษาศิลปะการสักลายและให้บริการลูกค้าต่อไปอย่างเงียบ ๆ โดยขอให้ลูกค้านัดหมายล่วงหน้าก่อนเสมอ ซึ่งธรรมเนียมปฏิบัตินี้ดำเนินสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
จากประวัติศาสตร์ศิลปะการสักลายของญี่ปุ่นข้างต้นทำให้เราพอจะเข้าใจได้มากขึ้นว่า ทำไมสังคมญี่ปุ่นสมัยใหม่จึงมีทัศนคติเชิงลบต่อรอยสักและยังคงมีการเลือกปฏิบัติปรากฏอยู่ ทั้งที่องค์กรยาคูซ่าก็มิได้ทรงอิทธิพลเหมือนสมัยก่อนแล้ว (บทความชิ้นหนึ่งในเว็บไซต์ Japan Today ระบุว่าสมาชิกองค์กรยาคูซ่าทั่วประเทศมีอยู่ไม่ถึง 4 หมื่นคน) คู่ขนานไปกับข้อเท็จจริงที่ว่าญี่ปุ่นเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและสนับสนุนให้ชาวต่างชาติมาพำนักและทำงานในญี่ปุ่นมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานเนื่องจากภาวะสังคมสูงวัย (aging society)
ผู้เขียนเชื่อว่า ค่านิยมและทัศนคติของสังคมญี่ปุ่นที่มีต่อศิลปะการสักลายจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เนื่องจากในด้านหนึ่ง การหลั่งไหลเข้ามามากขึ้นของชาวต่างชาติอันเป็นผลจากนโยบายรัฐบาลญี่ปุ่นเอง ย่อมทำให้สังคมและธุรกิจในญี่ปุ่นต้องปรับทัศนคติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงอาบน้ำสาธารณะและบ่อน้ำพุร้อน ซึ่งจะต้องตอบสนองต่ออุปทานของลูกค้าฝรั่งผิวขาววัยหนุ่มสาวที่จำนวนมากมีรอยสักและมาจากประเทศที่มองว่าการสักลายเป็นงานศิลปะและเป็นเรื่องปกติ นอกจากนี้ อิทธิพลทางแนวคิดปัจเจกนิยม (individualism) และสิทธิส่วนบุคคลแบบตะวันตกก็ส่งผลให้คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ยุคหลังเบบี้บูมเมอร์มีความคิดเปิดกว้างและมองว่าการสักลายเป็น “งานศิลปะ” และเป็น “ความพึงพอใจส่วนบุคคล” โดยเลือกมีรอยสักในบริเวณที่เสื้อผ้าปกปิด ดังที่คุณ Jon Mitchell ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจจากการพูดคุยกับช่างสักจำนวนหนึ่งว่า ฐานลูกค้าชาวญี่ปุ่นมีความหลากหลายมากกว่าแต่ก่อน โดยมีทั้งนักธุรกิจหนุ่มที่อยากมีรอยสักเพื่อฉลองการมีลูกเกิดใหม่ สตรีนักบริหารที่ขอสักลายรูปปลาคาร์ปว่ายทวนน้ำเพื่อสร้างขวัญกำลังใจการต่อสู้กับการเหยียดเพศในองค์กร (corporate sexism) รวมถึงบางคนที่ขอคำปรึกษาช่างสักว่า อยากสักลายเป็นรูปอะไรสักอย่างเพื่อไว้รำลึกถึงคนในครอบครัวที่เสียชีวิตในเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อปี 2554
สุดท้ายนี้ผมต้องขอเรียนว่า บทความนี้เกิดจากความตั้งใจที่จะนำเสนอพลวัตของประวัติศาสตร์และค่านิยมที่สังคมญี่ปุ่นมีต่อศิลปะการสักลาย และหวังว่าเมื่อได้อ่านแล้วท่านจะได้เข้าใจ subculture นี้ของญี่ปุ่นได้ดียิ่งขึ้น และมีทัศนคติที่เปิดกว้างมากขึ้นหากบังเอิญว่าต้องร่วมงานหรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่มีรอยสักในอนาคตอันใกล้นี้ ยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาจะส่งเสริมให้ท่านผู้อ่านไปสักลายกันแต่อย่างใด (แต่ถ้าหากสนใจจริง ๆ ติดต่อหลังไมค์มาถามผมได้เสมอนะครับ)
ลูกค้าสักลายส่วนใหญ่ของเมืองเอโดะ (ปัจจุบันคือโตเกียว) ได้แก่ นักดับเพลิงที่ต้องการสัญลักษณ์แห่งความแข็งแกร่งและกล้าหาญอย่างปลาคาร์ปและมังกร รวมถึงชายชนชั้นแรงงานที่ใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้นในสภาพอากาศอันแสนร้อนชื้นช่วงฤดูร้อนอย่างช่างไม้ คนส่งของ และคนแบกเสลี่ยง แม้ว่าชนชั้นซามูไรจะประกาศห้ามการสักลาย แต่ศิลปะนี้ก็แพร่หลายต่อไปอย่างไม่แยแสกฎหมาย
โฆษณา