26 พ.ค. 2020 เวลา 09:40 • ประวัติศาสตร์
อารยธรรม เมโสโปเตเมีย EP-01
เมโสโปเตเมีย ดินแดนที่เป็นจุดเริ่มต้นอารยธรรมยุคแรกๆ ของมนุษย์
สิ่งประดิษฐ์และการพัฒนาระบบต่างๆได้ถูกคิดค้นขึ้นบนพื้นที่แห่งนี้เมื่อกว่า 5,000 ปีก่อนคริสตกาล
ชื่อ "เมโสโปเตเมีย" ถูกเรียกโดยภาษากรีก แปลว่า "ดินแดนระหว่างแม่น้ำ"
มีคำกล่าวว่า อียิปต์คือ "ของขวัญแห่งลุ่มน้ำไนล์"
เมโสโปเตเมียคือ "ของขวัญแห่งลุ่มน้ำไทกริส -ยูเฟรทีส"
"ไทกริส" และ "ยูเฟรทีส" สองแม่น้ำที่เกิดจากหิมะที่ละลายในฤดูร้อน จากที่ราบสูงอาร์เมเนียน ไหลมาทางตะวันออกเฉียงใต้สู่อ่าวเปอร์เซีย
โคลนตมที่ไหลมากับแม่น้ำทั้งสองก่อนลงไปสู่อ่าวเปอร์เซียนั้นมาทับถมกัน ทำให้เกิดดินที่อุดมสมบูรณ์ซึ่งเหมาะสมแก่การทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะตรงพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (ทางตอนใต้ของเมโสโปเตเมีย)
พื้นที่ส่วนมากของเมโสโปเตเมียตั้งอยู่บน เขตที่เรียกว่า
"ดินแดนพระจันทร์เสี้ยว (The Fertile Crescent)"
ดินแดนพระจันทร์เสี้ยวถือเป็น "อู่อารยธรรม" เนื่องจากเป็นเขตที่เกิดการพัฒนาการเป็นอารยธรรมมนุษย์แรก ๆ สุด โดยอาศัยทรัพยากรน้ำและเกษตรกรรมที่มีอยู่
ตะวันออกสุดคือพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมโสโปเตเมีย
ตะวันตกสุดคือส่วนที่ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนฝั่งตะวันออก(เขตลิแวนต์)
ส่วนที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดจะอยู่บนพื้นดินฝั่งตะวันออกเสียส่วนใหญ่
ด้วยอากาศที่ร้อนและฝนตกน้อย น้ำที่ใช้หล่อเลี้ยงและทำประโยชน์ต่าง ๆ จึงต้องพึ่งพาจากแม่น้ำทั้งสองสาย จากระดับน้ำที่ไม่แน่นอนนี้ส่งผลให้การพัฒนาระบบชลประทานจึงจำเป็นมากสำหรับพื้นที่แห่งนี้
ถึงแม้สถาพอากาศที่ร้อนจะไม่น่าอภิรมย์นัก แต่ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำทั้งสองสายนี้ เป็นสิ่งดึงดูดผู้คนต่างถิ่นเข้ามาตั้งถิ่นฐานมากมายยังที่แห่งนี้
ไม่ใช่แค่ผู้อพยพ ผู้รุกรานก้อเยอะไม่แพ้กัน ด้วยภูมิประเทศที่ไม่มีธรรมชาติใด ๆ ป้องกัน จึงถูกรุกรานจากทางภาคเหนือและตะวันออกที่ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาหินปูน และทะเลทราย ที่ความอุดมสมบูณ์ไม่เท่าเขตลุ่มแม่น้ำ
การเข้ามาของผู้คนมากมาย หลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายวัฒนธรรม จึงทำให้เมื่อชนชาติใดมีอำนาจขึ้นมา ก็จะเข้าไปยึดครองละกลืนชนชาติอื่นกลายเป็นชนชาติเดียวกันเป็นเรื่องปกติในแถบนี้
นักประวัติศาสตร์บางท่านให้คำนิยามแก่พื้นที่แห่งนี้ว่า
"ไม่มีแห่งหนตำบลใดจะมีชาติพันธุ์มนุษย์ผสมปนเปกันมากมายเหมือนที่นี่และยังเป็นยุทธภูมิระหว่างตะวันตกกับตะวันออกตลอดสมัยประวัติศาสตร์"
ทำให้ประวัติศาสตร์ของดินแดนแถบนี้ เป็นเรื่องราวความเจริญของแต่ละแคว้น และประชากรที่ต่างเชื้อชาติ เนื่องจากการถูกรุกรานจากชนชาติใกล้เคียงอยู่เสมอ
มีหลักฐานการตั้งรกรากครั้งแรกใน เมโสโปเตเมีย ตั้งแต่ยุคหินเก่า เมื่อกว่า 14,000 ปีก่อนคริสตกาล ผู้คนยุคนั้นยังอยู่อาศัยกันเป็นชุมชนเล็ก ๆ โดยสร้างที่พักเป็นรูปวงกลม
ที่พักบางหลังมีการผสมระหว่างพื้นที่รูปวงกลม และ สี่เหลี่ยม
หลังจากยุค "หินเก่า" ราว ๆ 5,000 ปีต่อมา ชุมชนเล็ก ๆ เหล่านี้เริ่มก่อตัวเป็น "ชุมชนเกษตรกรรม" และตามมาด้วยการเลี้ยงสัตว์
ความก้าวหน้าด้านการเกษตร กาชลประทาน โดดเด่นขึ้นมาก เป็นผลมาจากวัฒนธรรมยุคแรก ๆ ที่เติบโตขึ้นมาในพื้นที่แห่งนี้
- วัฒนธรรม Halaf (ราว ๆ 6,500 ปีก่อน)
- วัฒนธรรม Ubaid (ราว ๆ 5,500 ปีก่อน)
(วัฒนธรรม อารยธรรม ต่าง ๆ ใน เมโสโปเตเมียจะนำเสนอใน EP ต่อไป)
แรกเริ่มเดิมทีชุมชนการเกษตรได้กระจายตัวอยู่ทางตอนเหนือของเมโสโปเตเมีย ก่อนจะเริ่มกระจายลงมาทางตอนใต้ยังแถบปากอ่าวเปอร์เซีย
ชุมชนเล็ก ๆ ที่กระจัดกระจายเหล่านี้ได้เติบโตขึ้นต่อเนื่องต่อมาหลายพันปี จนกลายเป็นสังคมเมืองที่เติบโต จนกระทั่งก่อเกิดอารยธรรมแรกขึ้นคือ "ชาวสุเมเรี่ยน" และอารยธรรมต่างๆตามมา
ถึงแม้เวลาจะผ่านมาหลายพันปีแล้วสิ่งต่างๆ ที่เป็นมรดกจากยุคอารธรรมโบราณยังสืบต่อมาถึงปัจจุบัน สร้างประโยชน์ต่างๆแก่สังคมมนุษย์มากมาย
ชุมทางแห่งอารยธรรม "เมโสโปเตเมีย"
ด้วยทรัพยากรอันจำกัด พื้นที่ที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างอารยธรรมโลกต่างๆ
"เมโสโปเตเมีย" จะสามารถพัฒนา"อารยธรรม" และ"นวัตกรรม" อะไรขึ้นมาบนโลกใบนี้บ้าง
และส่งผลอย่างไรถึงปัจจุบัน
เชิญชวนผู้อ่านติดตามเรื่องราวของ "เมโสโปเตเมีย" ใน EP ต่อไปนะครับ
ฝากติดตามกันด้วยนะครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา