26 พ.ค. 2020 เวลา 05:06 • การศึกษา
พระสูตรเรื่อง : "ลูกนอกคอก"
ภิกษุ ท. ! เหยี่ยวตัวหนึ่ง ได้โฉบลง จับนกมูลไถตัวหนึ่งไปได้โดยรวดเร็ว. นกมูลไถกำลังถูกเหยี่ยวนำไป ได้พร่ำรำพันอย่างนี้ว่า “เราน่ะไม่เข้าลักษณะของผู้มีบุญ, เรามีบุญน้อย, เราจึงเที่ยวไปในวิสัยอื่นซึ่งมิใช่วิสัยควรเที่ยวไป. ถ้าในวันนี้ เราเที่ยวไปในวิสัยอันเป็นของแห่งบิดาของตน, เหยี่ยวตัวนี้หาสู้เราได้ไม่” ดังนี้ ; เหยี่ยวจึงถามว่า “นี่แน่ะนกมูลไถ ! ที่ไหนของเจ้าเล่า ซึ่งเป็นวิสัยอันเป็นของแห่งบิดาของตนเที่ยวไป”. นกมูลไถตอบว่า “ที่ที่มีก้อนดิน ซึ่งคนทำการไถทิ้งไว้ นั่นแหละคือวิสัยเป็นที่เที่ยวของบิดาเรา”. ครั้งนั้นเหยี่ยวผู้แสดงความหยิ่งเพราะกำลังของตนผู้อวดอ้างเพราะกำลังของตน ได้ปล่อย นกมูลไถไปด้วยคำพูดว่า “ไปเถอะนกมูลไถ ! ถึงเจ้าไปในที่เช่นนั้นก็ไม่พ้น มือเราแน่” ดังนี้. ครั้งนั้นนกมูลไถไปยังที่ที่มีก้อนดินซึ่งคนทำการไถทิ้งไว้ แล้วจึงขึ้นยืนบนก้อนดินใหญ่ ท้าเหยี่ยวว่า “ทีนี้ มาซิ ท่านเหยี่ยวของเรา. ทีนี้มาซิ ท่านเหยี่ยวของเรา” ดังนี้. ครั้งนั้น เหยี่ยวผู้แสดงความหยิ่งเพราะกำลังของตน ผู้อวดอ้างเพราะกำลังของตน ได้ห่อปีกทั้งสองข้าง แล้วโฉบลงไปที่นกมูลไถโดยรวดเร็ว. ภิกษุ ท. ! ในกาลใดแล นกมูลไถรู้ตัวเสียก่อนว่า “เหยี่ยวใหญ่ตัวนี้มาจับเราแล้ว” ในกาลนั้น นกมูลไถตัวนั้น ก็หลบเข้าซอกดินเสียก่อน. ภิกษุ ท. ! ครั้งนั้นแล เหยี่ยวตัวนั้นเอาอกกระแทกดินตาย เพราะความเร็ว ณ ตรงที่นั้นเอง. ภิกษุ ท. ! ผู้ที่เที่ยวไปในวิสัยอื่น ซึ่งมิใช่วิสัยควรเที่ยวไปแห่งตน ย่อมมีอันเป็นไป ด้วยประการฉะนี้.
ภิกษุ ท. ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลาย อย่าได้เที่ยวไปในวิสัยอื่นซึ่งมิใช่วิสัยควรเที่ยวไป. เมื่อพวกเธอเที่ยวไปในวิสัยอื่นซึ่งมิใช่วิสัยควรเที่ยวไป มารจักได้ช่องทางทำลายล้าง มารจักได้โอกาสที่จะทำตามอำเภอใจ แก่พวกเธอ. วิสัยอื่นซึ่งมิใช่วิสัยควรเที่ยวไปของภิกษุ คืออะไรเล่า ? คือ กามคุณ ๕. ห้าอะไรกันเล่า ? ห้าคือ รูปที่เห็นด้วยตา, เสียงที่ได้ยินด้วยหู, กลิ่นที่รู้สึกด้วยจมูก, รสที่รู้สึกด้วยลิ้น, และโผฏฐัพพะที่รู้สึกด้วยการสัมผัสทางกาย ซึ่งเป็นที่น่าปรารถนา, น่ารักใคร่, น่าชอบใจ, ที่ยวนตายวนใจให้รัก, ที่กามเข้าไปตั้งอาศัย, ที่เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ ; ภิกษุ ท. ! นี้แล เป็นวิสัยอื่นซึ่งมิใช่วิสัยควรเที่ยวไปของภิกษุ.
1
๑. บาลี พระพุทธภาษิต. มหาวาร. สํ. ๑๙/๑๙๖/๖๘๙.
2
อ้างอิงจาก : ชุดจากพระโอษฐ์ ๕ เล่ม เล่มที่ ๑
ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์
หน้าที่ ๑๑๔ - ๑๑๕
พุทธวจน (ธรรมะจากพระโอษฐ์)
เว็บไซต์ข้อมูลเพิ่มเติม : http://watnapp.com
ศึกษาดูพระสูตรเพิ่มเติม : https://etipitaka.com/search/
ฟังเสียงธรรมะพระสูตรเพิ่มเติม : https://m.soundcloud.com/search?q=พุทธวจน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา