Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Hidden Ayutthaya
•
ติดตาม
26 พ.ค. 2020 เวลา 05:09 • ประวัติศาสตร์
วัดป่าฝ้าย ปากน้ำประสบ ค่ายใหญ่เนเมียวสีหบดี
“วัดป่าฝ้าย ปากน้ำประสบ” เป็นที่รู้จักกันดีจากพระราชพงศาวดารที่ระบุว่าเป็นค่ายใหญ่ของเนเมียวสีหบดี แม่ทัพพม่าด้านทิศเหนือ แต่ที่จริงแล้ว วัดแห่งนี้ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจให้สืบเสาะถึงความสำคัญ มากกว่าความเป็นแค่ค่ายใหญ่ของพม่าได้อีกหลายเรื่อง ซึ่งนอกจากเรื่องราวที่ปรากฏในพงศาวดารแล้ว วัดป่าฝ้าย ปากน้ำประสบแห่งนี้ เคยเป็นที่สนใจของผู้ศึกษาประวัติศาสตร์และนักสำรวจวัดร้างหลายๆ คน ที่อยากทราบถึงที่ตั้งของวัดและปากน้ำประสบว่าเป็นแม่น้ำสายใด
พระพุทธรูปหินทราย วัดป่าฝ้าย ปากน้ำประสบ
เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเพื่อสำรวจลำน้ำเก่าในแถบภาคกลาง เมื่อ พ.ศ. 2451 พระองค์ได้เสด็จฯ เข้ามายังลำน้ำโพธิ์สามต้น ขึ้นมาถึงวัดวรนายกรังสรรค์ (วัดเขาดิน) ได้ทรงบันทึกไว้ว่า..
“...ปากช่องข้างบนมาออกใต้โพธิ์สามต้น บ้านเรือนคนยังมีอยู่ตลอดหนทาง การที่แม่น้ำนี้ตื้นเห็นจะได้ตื้นมาเสียช้านาน แผ่นดินพระนเรศวรได้มีจดหมายว่าประชุมทัพที่บางขวดแล้วลำแม่น้ำโพธิ์สามต้นนี้เป็นแม่น้ำเดียวกันกับคลองเมือง ค่ายโปสุพลาตั้งอยู่เหนือวัดเขาดิน ค่ายพระนายกองตั้งที่โพธิ์สามต้น จริงๆ ยังมีรากอิฐที่ก่อกำแพงปรากฏอยู่ แต่ข้างริมแม่น้ำตลิ่งพังไปกลับงอกเป็นเกาะขึ้นเสียในกลางน้ำจึงดูแคบไป...”
แต่ดูเหมือนว่าการเสด็จประพาสในครั้งนั้น พระองค์ไม่ทรงพบกับวัดป่าฝ้ายที่เคยเป็นค่ายใหญ่ของเนเมียวสีบดีหรือโปสุพลา อย่างไรก็ดี บันทึกของพระองค์ เป็นลายแทงสำคัญที่ทำให้รู้ว่าปากน้ำประสบนั้น เป็นจุดที่ลำน้ำโพธิ์สามต้นมาบรรจบกันกับแม่น้ำลพบุรี สอดคล้องกับคำว่า “สบ” หรือ “ประสบ” นั้น หมายถึงบริเวณที่ลำน้ำสองสายไหลมาพบหรือบรรจบกัน การที่คนอยุธยาเรียกจุดนี้ว่า “ปากน้ำประสบ” แสดงถึงความสำคัญของพื้นที่แห่งนี้มากพอสมควร
ลำน้ำโพธิ์สามต้น เป็นคลองที่ไหลจากทิศเหนือของกรุงศรีอยุธยา ในบางช่วงมีการเรียกชื่อคลองที่แตกต่างกันเป็น เช่น ช่วงต้นของลำน้ำที่แยกออกจากคลองเมืองเรียกกันว่าคลองบางขวด ไหลผ่านด้านหลังของวัดสามพิหาร วัดเจดีย์แดงขึ้นไป พอถึงช่วงตำบลโพธิ์สามต้นในเขตบางปะหัน ก็เรียกชื่อเป็นแม่น้ำโพธิ์สามต้น ก่อนจะไปบรรจบกับแม่น้ำลพบุรี อันเป็นเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมต่อไปยังเมืองลพบุรี
คลองบางขวด หลังวัดเจดีย์แดง
นอกจากชื่อลำน้ำที่มีความสำคัญแล้ว “วัดป่าฝ้าย” อาจเป็นชื่อที่บ่งบอกถึงการเป็นย่านตลาดขายผ้าฝ้ายของอยุธยา เพราะคำว่า “ป่า” ในสมัยนั้น มีความหมายถึง “ตลาด” ที่นี่จึงเป็นตลาดค้าขายผ้าฝ้าย ซึ่งถือเป็นสินค้าที่สำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยา เอกสารเก่าหลายฉบับ มักจะพบความสำคัญของผ้าว่าเป็นสิ่งที่ พระมหากษัตริย์ พระราชทานของรางวัลให้แก่ผู้มีความดีความชอบด้วยผ้าผ่อนเป็นสำรับๆ อยู่เสมอ
ที่ตั้งของวัดป่าฝ้าย ปากน้ำประสบ
วัดป่าฝ้ายกับปากน้ำประสบตั้งอยู่ที่ใด? เมื่อหลายสิบปีก่อนเคยมีความเข้าใจกันว่า วัดป่าฝ้ายอันเป็นที่ตั้งของค่ายพม่า มีพื้นที่ส่วนหนึ่งถูกยุบรวมเข้ากับวัดวรนายกรังสรรค์เจติยบรรพตาราม หรือวัดเขาดิน ซึ่งเป็นวัดที่ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ในปัจจุบัน ได้มีการค้นพบว่า วัดป่าฝ้าย เป็นวัดร้างที่อยู่ในพื้นที่ส่วนบุคคลริมแม่น้ำฝั่งตรงข้ามวัดวรนายกรังสรรค์เจติยบรรพตาราม
วัดวรนายกรังสรรค์เจติยบรรพตาราม (วัดเขาดิน)
คุณลุงสุบิน ช่างโก๊ะ เป็นเจ้าของบ้านที่ดูแลพื้นที่วัดป่าฝ้ายในปัจจุบันไว้ และได้อนุญาตให้ผู้เขียนเข้าไปสำรวจซากวัดป่าฝ้ายที่เหลืออยู่ภายในบ้าน โดยปรากฏซากวัดที่ถูกแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกนั้นเป็นพื้นที่อุโบสถเก่า มีการสร้างศาลาขึ้นใหม่เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปจำนวน 4 องค์ โดยองค์ประธานซึ่งมีขนาดใหญ่สุดมีการตั้งชื่อว่า “พระพุทธพรหมมนีศรีอโยธยา” นอกจากนี้ ด้านข้างขององค์พระประธาน ยังมีชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายจำนวนหนึ่งวางอยู่เป็นหลักฐานว่าตรงจุดนี้เคยเป็นที่ตั้งของวัดเก่าสมัยอยุธยาจริง
พระพุทธพรหมมนีศรีอโยธยา ในศาลาที่สร้างทับพระอุโบสถเก่า
ส่วนที่สอง อยู่ในพื้นที่ของบ้านที่อยู่ถัดไปอีกหลังห่างกันเพียงซอยเล็กๆ คั่น ที่นี่เป็นบ้านในกรรมสิทธิ์ของครอบครัวของคุณสุบินเช่นเดียวกัน เนื่องจากบริเวณด้านหลังของบ้านหลังที่สอง มีซากชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายหลายชิ้นที่มีลักษณะค่อนข้างสมบูรณ์มากกว่าพื้นที่บ้านหลังแรก วางรวมกันอยู่บนเนินโคกที่คาดกันว่าน่าจะเคยเป็นที่ตั้งของวิหารวัดป่าฝ้าย
ซากพระพุทธรูปหินทราย บนพื้นที่ส่วนที่คาดว่าจะเป็นวิหารหลังเก่า
ชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายที่วางกองรวมกันนี้ มีทั้งชิ้นส่วนหน้าตัก, ลำตัว และเศียรขนาดใหญ่ที่อยู่ในสภาพเกือบสมบูรณ์พอที่จะเห็นเค้าโครงพระพักตร์ได้ค่อนข้างชัดว่าเป็นศิลปะแบบอู่ทองรุ่นที่ 2 บ่งบอกถึงอายุของวัดแห่งนี้ว่าเก่าแก่ถึงช่วงอยุธยาตอนต้น และอาจเป็นวัดที่เก่าที่สุดกว่าวัดใดๆ ในย่านนั้นด้วย
เศียรพระพุทะรูปหินทรายองค์ใหญ่สุด
อีกทั้งตำแหน่งของวัดป่าฝ้าย ตั้งอยู่ตรงปากคลองโพธิ์สามต้นที่มาบรรจบกับแม่น้ำลพบุรี อันเป็นที่มาของชื่อที่ชาวอยุธยาเรียกว่า “ปากน้ำประสบ” ซึ่งก็คือที่ๆ ลำน้ำสองสายมา “พบ” หรือ “ประสบ” กัน จึงมักเรียกชื่อวัดกับย่านต่อกันดังที่ปรากฏชื่อ “วัดป่าฝ้าย ปากน้ำประสบ” ให้เป็นที่รับรู้กันว่าวัดนี้ตั้งอยู่ ณ แห่งใด
ใต้สะพานมีลำรางเล็กๆ ที่หมดสภาพความเป็นคลอง ตรงจุดนั้นเคยเป็นปากน้ำประสสบ
แต่ทว่า ในปัจจุบัน ปากแม่น้ำโพธิ์สามต้นเหลือเพียงลำรางเล็กๆ ระยะสั้นปรากฏให้เห็นตรงเชิงสะพานฝั่งตรงข้ามวัดวรนายกรังสรรค์เท่านั้น เพราะลำคลองที่เหลือถูกบ้านเรือนและถนนถมทับจนหมดสภาพความเป็นคลองไปอย่างสิ้นเชิง แต่ก็ยังมีหลักฐานการมีตัวตนของคลองเส้นนี้อยู่บนแผนที่ของกรมแผนที่ทหารบก ที่ได้ทำการสำรวจและจัดทำขึ้นในปี พ.ศ. 2458 อันเป็นช่วงเวลาที่คลองช่วงนี้ยังคงปรากฏอยู่ คือเป็นเส้นทางเดียวกับแม่น้ำโพธิ์สามต้น ที่ไหลลงสู่แม่น้ำลพบุรีจนเกิดเป็นสามแยกปากน้ำประสบนั้นเอง
จุดที่เคยเป็นปากคลองประสบ ปัจจุบันเหลือเพียงลำรางเล็กๆ สั้นๆ หมดสภาพความเป็นคลอง
ถ้าคลองนี้ไม่ถูกถมจนหายไป ก็จะเป็นลำคลองที่ตัดผ่านถนนสายเอเชียเชื่อมต่อไปยังคลองโพธิ์สามต้นที่อยู่อีกฝั่งของถนน นี่จึงเป็นเส้นทางที่กองทัพพม่าของเนเมียวสีหบดี สามารถเคลื่อนทัพจากค่ายปากน้ำประสบลงมาตั้งค่ายใหญ่ที่ตำบลโพธิ์สามต้นให้ประชิดใกล้พระนครมากขึ้นกว่าเดิม
แผนที่ของกรมแผนที่ทหารบก ที่ได้ทำการสำรวจและจัดทำขึ้นในปี พ.ศ. 2458
ปากน้ำประสบ ในประวัติศาสตร์สงครามครั้งเสียกรุงฯ
จากพงศาวดารพม่า จะเห็นว่าก่อนที่กองทัพของเนเมียวสีหบดีจะลงมาตั้งค่ายที่ปากน้ำประสบ อยุธยาได้ส่งกองทัพขึ้นไปตั้งรับอยู่ก่อนแล้ว โดยมีพระยาสุรเทพอำมาตย์เป็นแม่ทัพบก กับพระยาพระคลังเป็นแม่ทัพเรือคุมกำลังไปทางแม่น้ำลพบุรี(พม่าเรียกแม่น้ำปิง) ขึ้นไปตั้งรับเหนือปากน้ำประสบราว 1000 เส้นเศษ ส่วนกองทัพของเนเมียวสีหบดีในตอนนั้น หลังจากที่ตีหัวเมืองเหนือไว้ในอำนาจได้ทั้งหมดแล้ว จึงเคลื่อนทัพลงมาและปะทะกับกองทัพของกรุงศรีอยุธยา
หลักฐานจากเอกสารคำให้การฯ ระบุว่ากองทัพของอยุธยาที่ยกขึ้นไปทางเชียงใหม่ ได้ถอยลงมาตั้งรับทัพพม่าที่เมืองชัยนาท เมื่อพิจารณาจากเส้นทางทัพของอยุธยาที่ตั้งรับพม่าในเขตเมืองชัยนาทนี้ ค่อนข้างสอดคล้องกับที่กล่าวไว้ในพงศาวดารพม่า กล่าวคือทัพของเนเมียวสีหบดีสามารถตีกองทัพกรุงศรีอยุธยาที่ขึ้นไปตั้งรับจนแตกพ่ายทั้งทัพบกทัพเรือ แต่แทนที่ทัพของเนเมียวสีหบดีจะล่องลงมาตามเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยา เขากลับเลือกที่จะใช้เส้นทางแม่น้ำลพบุรีล่องลงมาจนถึงบ้านปากแม่ประสบ เนื่องจากเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นทางที่นำไปยังเขตพระนครศรีอยุธยาฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นจุดที่ทัพของมังมหานรธาควบคุมอยู่แล้ว
แม่น้ำลพบุรีตรงหน้าวัดเขาดิน (พงศาวดารพม่าเรียก "แม่น้ำปิง")
ที่ปากน้ำประสบ ใช่ว่าจะมีเพียงวัดป่าฝ้าย ที่เป็นจุดตั้งค่ายใหญ่ของกองทัพพม่าเพียงแห่งเดียว พงศาวดารพม่ากล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า.. “เมื่อสีหะปะเต๊ะแม่ทัพตีทัพอยุธยามีไชยชะนะทั้งทัพบกทัพเรือแล้ว ก็มิได้หยุดพักพลทหารแลช้างม้า ก็เลยยกไปตีกรุงศรีอยุธยา ครั้นเดือน 3 ขึ้น 5 ค่ำ จุลศักราช 1127 ก็ถึงตำบลบ้านปากน้ำปสกๆ นี้ตั้งอยู่ทิศอิสาณกรุงศรีอยุธยาไปประมาณ 400 เส้น แล้วสีหะปะเต๊ะแม่ทัพก็ตั้งค่ายใหญ่ลงที่ตำบลปากน้ำปสกนั้น 9 ค่าย 2 ฟากลำแม่น้ำปิงโดยแน่นหนามั่นคง...”
เอกสารของพม่า เน้นชื่อสถานที่ว่า “บ้านปากน้ำปสก” นั่นแสดงว่าอาณาเขตการตั้งค่ายนี้ครอบคลุมทั้งตำบลเป็นเนื้อที่บริเวณกว้าง ซึ่งไม่มีเพียงแค่วัดเท่านั้น ทั้งหมู่บ้าน ย่านตลาดของชุมชน คือสถานที่ๆ พม่าเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่พม่าเลือกตั้งค่ายในจุดนี้คือชัยภูมิของตำบลปากน้ำประสบ ซึ่งเป็นจุดรวมของเส้นทางคมนาคมทางน้ำด้านตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงศรีอยุธยา อันเป็นเส้นทางลำเลียงไพร่พล เสบียงอาหาร ยุทธปัจจัยต่างๆ จากหัวเมืองแถบลพบุรี ทั้งยังเป็นจุดที่สามารถป้องกันการส่งกำลังเสริมจากหัวเมืองรอบนอกที่อาจยกมาช่วยได้อีกด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลที่พม่าจำเป็นต้องความคุมเส้นทางนี้ไว้
ดังนั้น ค่ายพม่าจึงมิได้มีขอบเขตจำกัดอยู่ที่วัดป่าฝ้าย เพียงแห่งเดียวอย่างที่กล่าวไว้ตอนต้น เพราะไพร่พลเรือนหมื่นไม่สามารถที่จะมาแออัดกันอยู่เพียงวัดแห่งเดียวได้ ยังมีวัดอื่นๆ ทั้ง 2 ฟากแม่น้ำลพบุรีในตำบลปากน้ำประสบที่พม่าเข้ายึดและสร้างค่ายไว้ด้วย วัดที่อยู่ในรัศมีของบริเวณปากน้ำประสบนอกจากวัดป่าฝ้าย ที่สามารถสืบหาได้ปัจจุบัน มีดังนี้
(1) วัดวรนายกรังสรรค์เจติยบรรพตาราม ชื่อเดิมคือ “วัดเขาดิน” เป็นวัดเก่าสมัยอยุธยา ได้รับการปฏิสังขรณ์โดยเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์) ในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 ต่อมาได้บูรณะปฏิสังขรณ์อีกครั้งโดยเจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธุ์) สมุหนายกในสมัยรัชกาลที่ 4
วัดวรนายกรังสรรค์เจติยบรรพตาราม (วัดเขาดิน)
(2) วัดกร่าง ปัจจุบันมีสภาพเป็นวัดร้าง ตั้งอยู่ตรงปากน้ำประสบเช่นเดียวกัน แต่จะอยู่คนละฟากแม่น้ำโพธิ์สามต้นตรงข้ามกับวัดป่าฝ้ายและตรงข้ามกับวัดวรนายกรังสรรค์เจติยบรรพตารามฝั่งแม่น้ำลพบุรี
ซากอิฐที่วัดกร่าง ปากน้ำประสบ
(3) วัดสบสวรรค์ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัดป่าฝ้าย ริมฝั่งแม่น้ำลพบุรีด้านทิศตะวันตก วัดนี้มีชัยภูมิเป็นจุดสำคัญไม่แพ้วัดป่าฝ้าย เพราะตั้งอยู่ใกล้ปากคลองเกาะเลิ่งที่มาประสบกับแม่น้ำลพบุรี คลองเกาะเลิ่งนี้เป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อไปยังแม่น้ำป่าสักซึ่งเป็นเส้นทางที่ไปถึงเมืองสระบุรี วัดนี้มีประวัติว่าได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2305 ทั้งยังมีตำนานเกี่ยวกับเจ้าหญิงเชื้อพระวงศ์กษัตริย์อยุธยาเสด็จประพาสทางชลมารค และเรือพระที่นั่งล่มลงจนเจ้าหญิงพระองค์นี้ทรงจมน้ำสิ้นพระชนม์ เพราะไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วยเนื่องจากติดกฎมณเฑียรบาลที่ว่า ห้ามมิให้แตะต้องพระวรกายเจ้าหญิง จากนั้นได้มีการอัญเชิญพระศพของเจ้าหญิงขึ้นถวายพระเพลิง ณ ที่ตรงนั้น สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์จึงโปรดให้สร้างวัดขึ้น ณ ที่ถวายพระเพลิงพระศพ ชื่อว่า “วัดศพสวรรค์” ทำให้ชาวบ้านแถบนั้นเรียกบริเวณปากคลองเกาะเลิ่งที่มาสบกับแม่น้ำลพบุรีนี้ว่า “ปากน้ำประสบ” ด้วยเช่นเดียวกัน วัดแห่งนี้ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5
วัดสบสวรรค์
ดังนั้น ทั้ง 4 วัดนี้ จึงรวมอยู่ในพื้นที่ของค่ายใหญ่เนเมียวสีหบดี สอดคล้องกับพงศาวดารพม่าว่าตั้งค่ายเรียงรายสองฟากแม่น้ำรวมกันถึง 9 ค่าย มีอาณาบริเวณกว้างขวางเป็นอย่างมาก แต่ที่ในพงศาวดารของไทยมักจะระบุชื่อ “วัดป่าฝ้าย” ปากน้ำประสบว่าเป็นค่ายใหญ่ของพม่าเพียงวัดเดียว อาจเป็นเพราะชาวอยุธยารับรู้กันดีอยู่แล้วว่าตำบลปากน้ำประสบ มีศูนย์กลางชุมชนอยู่ที่วัดป่าฝ้าย และเป็นจุดที่แม่ทัพใหญ่อย่างเนเมียวสีหบดีบัญชาการอยู่
กรุงศรีอยุธยาได้ส่งกองทัพยกขึ้นมาตีค่ายของเนเมียวสีหบดี 2 ครั้ง โดยใช้เส้นทางแม่น้ำโพธิ์สามต้นขึ้นไปถึงปากน้ำประสบ และต้องเจอกับค่ายด้านวัดป่าฝ้ายเป็นด่านแรก แต่ไม่ทันที่จะเข้าตีค่ายได้ทั้งหมดก็ถูกทัพพม่าตีแตกกลับมาทั้ง 2 ครั้ง โดยเฉพาะครั้งหลังสุดที่พระราชพงศาวดารระบุว่ามีชาวพระนครทั้งคฤหัสและสมณะชวนกันตามกองทัพออกไปดูเขารบกัน เมื่อถูกพม่าตีแตกทั้งทหารทั้งชาวบ้านที่ชวนกันออกไปดูการรบก็โดนพม่าไล่ล่าฆ่าฟันตายเกลื่อนกลาด พวกที่รอดตายได้ถอยหนีกลับลงมาที่ตำบลโพธิ์สามต้น นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผู้บันทึกพงศาวดารฝั่งอยุธยาจะจดจำวัดป่าฝ้าย ในฐานะที่เป็นค่ายใหญ่ของเนเมียวสีหบดีเพียงแห่งเดียว
คลองโพธิ์สามต้น เส้นทางระหว่างตำบลโพธิ์สามต้นถึงบ้านปากน้ำประสบ
หลังจากที่ทัพอยุธยาตีค่ายพม่าที่ปากน้ำประสบไม่สำเร็จ พม่าได้ทราบว่าใกล้จะถึงช่วงฤดูน้ำหลาก อีกทั้งยังได้รับคำสั่งจากมังมหานรทา แม่ทัพฝ่ายใต้ว่าต้องอยู่ล้อมกรุงศรีอยุธยาต่อไป เนเมียวสีหบดีจึงแบ่งกำลังเป็น 2 ทัพ เคลื่อนทัพจากค่ายใหญ่ที่ปากน้ำประสบ ทัพหนึ่งให้แยกลงไปหาที่ดอนตั้งค่ายทางทิศตะวันออกของกรุง ส่วนอีกทัพหนึ่งเคลื่อนลงมาตั้งค่ายใหญ่ทางทิศเหนือของกรุงศรีอยุธยา ที่ตำบลโพธิ์สามต้นต่อไป
ค่ายประวัติศาสตร์ที่ตำบลโพธิ์สามต้น
สงวนลิขสิทธิ์บทความโดย อชิรวิชญ์ อันธพันธ์
2 บันทึก
7
2
6
2
7
2
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย