26 พ.ค. 2020 เวลา 17:06 • ข่าว
สัปดาห์นี้น่าจะเป็นสัปดาห์ที่โกลาหลอีกสัปดาห์หนึ่งของวงการการบินโลก เพราะสายการบิน #LATAM ซึ่งเป็นสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาใต้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอ #ฟื้นฟูกิจการ ในสหรัฐตามมาตราที่ 11 ของกฎหมาย #ล้มละลาย สหรัฐ และในวันพรุ่งนี้ ศาลล้มละลายกลางของไทยจะนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของ #การบินไทย ซึ่งในท้ายที่สุดก็น่าจะรับคำร้อง ทำให้สัปดาห์นี้สัปดาห์เดียวจะมีสองสายการบินขนาดใหญ่ที่ต้องขอฟื้นฟูกิจการ
TAF พบว่าในปีนี้ สายการบินใหญ่ ๆ ที่ยื่นขอล้มละลายหรือขอฟื้นฟูกิจการในปีนี้ก็เช่น
- Air Italy สายการบินใหญ่อันดับสองของอิตาลี ซึ่งมี Qatar Airways เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ยื่นขอล้มละลายและขายสินทรัพย์ของบริษัทเพื่อใช้คืนแก่เจ้าหนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์
- flybe สายการบินภูมิภาคที่เป็นเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปประกาศยื่นล้มละลายเมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมาพร้อมประกาศยุติบิน โดยสายการบินมีแนวคิดที่จะขายกิจการให้กับกลุ่มผู้สนใจที่อาจซื้อไปดำเนินกิจการต่อ
- Germanwings สายการบินชั้นประหยัดที่เป็นบริษัทลูกของ Lufthansa ซึ่งประกาศปิดกิจการไปในเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยยังเหลือ Eurowings ซึ่งเป็นสายการบินชั้นประหยัดของ Lufthansa ที่ยังดำเนินกิจการอยู่
- South African Airways ซึ่งจริง ๆ แล้วขอยื่นฟื้นฟูกิจการมาตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา แต่จากวิกฤติโควิดทำให้ทุกอย่างแย่ลงไปอีก โดยสายการบินแห่งนี้ทำกำไรไม่ได้มาตั้งแต่ปี 2011
- TAME สายการบินแห่งชาติของเอกวาดอร์ ซึ่งรัฐบาลเอกวาดอร์เพิ่งตัดสินใจให้สายการบินล้มละลายและเลิกกิจการเมื่อไม่กี่วันมานี้
- LATAM สายการบินที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาใต้ที่มีทั้ง Delta Airlines และ Qatar Airlines เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งเพิ่งยื่นขอฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 11 ของกฎหมายล้มละลายสหรัฐไปในวันนี้เอง
- Thai Airways จะเป็นอีกหนึ่งสายการบินและเป็นสายการบินแห่งชาติสายที่สอง ซึ่งในวันพรุ่งนี้ ศาลล้มละลายกลางจะนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของการบินไทย และการบินไทยจะต้องยื่นขอฟื้นฟูกิจการในต่างประเทศด้วยอีกหลายชาติ
และ TAF ยังพบว่ายังมีอีกสายการบินทั่วโลกที่แม้ไม่ต้องล้มละลายหรือฟื้นฟูกิจการเพราะยังมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งหรือมีกำไรมาหลายปี ต่างจากกรณีของการบินไทยที่ขาดทุนมานานจนโควิดกลายเป็นหมัดน็อค
สายการบินเหล่านี้ได้รับการช่วยเหลือเป็นเงินกู้หรือการเพิ่มทุนทั้งจากรัฐบาล ผู้ถือหุ้น และเจ้าหนี้ เช่น
- Delta ได้รับการช่วยเหลือตามกฎหมาย Coronavirus Aid, Relief, and Economic Security Act หรือที่ย่อว่า CARES โดยรัฐบาลใช้เงิน 5.4 พันล้านเหรียญช่วยจ่ายเงินเดือนพนักงานสายการบินระหว่างที่ต้องหยุดบิน ในจำนวนนี้เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 1.6 พันล้านเหรียญ โดยแลกกับการมอบหุ้นสายการบินให้รัฐบาล 1%
- United Airlines ได้รับการช่วยเหลือจากกฎหมาย CARES เช่นเดียวกันจำนวน 5 พันล้านเหรียญ โดยในจำนวนนี้เป็นเงินกู้ 1.5 พันล้านเหรียญ ที่เหลือคือเงินให้เปล่าเพื่อช่วยจ่ายเงินเดือนพนักงาน แลกกับการโอนหุ้นของ United ให้รัฐบาล 4.6 ล้านหุ้น
- American Airlines ได้รับการช่วยเหลือจากกฎหมาย CARES เช่นเดียวกันจำนวน 5.8 พันล้านเหรียญ โดยในจำนวนนี้เป็นเงินกู้ 1.7 พันล้านเหรียญ ที่เหลือคือเงินให้เปล่าเพื่อช่วยจ่ายเงินเดือนพนักงาน และจะขอกู้เงินรัฐบาลเพิ่มอีก 4.75 พันล้านเหรียญ
- Southwest Airlines ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำต้นแบบของโลก ได้รับการช่วยเหลือจากกฎหมาย CARES เช่นเดียวกันจำนวน 3.2 พันล้านเหรียญ โดยในจำนวนนี้เป็นเงินกู้ 1 พันล้านเหรียญ ที่เหลือคือเงินให้เปล่าเพื่อช่วยจ่ายเงินเดือนพนักงาน แลกกับการโอนหุ้นของ United ให้รัฐบาล 2.6 ล้านหุ้น
- Lufthansa กำลังเจรจาเพื่อขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลเยอรมันจำนวน 1 หมื่นล้านเหรียญ โดยมีทั้งการขอเป็นเงินกู้ การขอให้รับประกันเงินกู้ให้ และการขอให้รัฐบาลเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนให้ ทั้งนี้ Lufthansa ต้องการที่จะอุ้มสายการบินในเครือทั้ง Austrian Airline, Swiss Air, Brussels Airline, และ Eurowings ทั้งหมด
- Easyjet ได้รับเงินกู้ฉุกเฉิน 600 ล้านปอนด์เพื่อพยุงกิจการ
- Ryanair ได้รับเงินกู้ฉุกเฉิน 600 ล้านปอนด์เพื่อพยุงกิจการ
- British Airways ได้รับเงินกู้ฉุกเฉิน 300 ล้านปอนด์เพื่อพยุงกิจการ
- Iberia ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ IAG ที่เป็นเจ้าของ British Airways ได้รับเงินกู้จากรัฐบาลสเปน 1 พันล้านยูโรเพื่อพยุงกิจการ
- Singapore Airlines ได้รับเงินช่วยเหลือ 1.3 หมื่นล้านเหรียญเพื่อพยุงกิจการผ่านกองทุนเทมาเส็กของรัฐ ซึ่งจะมีทั้งการเพิ่มทุนและการให้กู้
- Cathey Pacific ได้รับเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 236 ล้านเหรียญฮ่องกงจากรัฐบาลฮ่องกง โดยคิดจากอัตราเครื่องบิน 1 ลำต่อ 1 ล้านเหรียญฮ่องกง และการท่าอากาศยานของฮ่องกงจะช่วยซื้อตั๋วเครื่องบินจำนวน 5 แสนใบเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง
- ANA ขอให้รัฐบาลรับประกันเงินกู้จำนวน 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐที่ ANA จะขอกู้ทั้งจากรัฐบาลและเอกชน
ทั้งนี้ ประมาณการกันว่า อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกต้องการเงินช่วยเหลือทั้งในรูปของเงินกู้ การเพิ่มทุน และการรับประกันเงินกู้รวม 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐหรือราว 6.5 ล้านล้านบาท เพื่อให้ผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปได้
โฆษณา