27 พ.ค. 2020 เวลา 02:08 • ธุรกิจ
เมื่อวานทางสำนักนายกรัฐมนตรีเขาออกมาชี้แจงเรื่อง CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) ว่าทางรัฐบาลยังไม่ล้มเลิกความตั้งใจที่จะดันให้ไทยเข้าไปเป็นภาคีของ CPTPP ร่วมกับประเทศพันธมิตรให้ได้ หลังจากมีเสียงคัดค้าน
4
และเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาจากทาง NGO และภาคประชาสังคมอื่นๆเมื่อตอนปลายเดือนเมษายน ซึ่งทางรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจต่อประเด็นคัดค้านดังกล่าว แต่รัฐบาลเห็นว่า CPTPP มีความจำเป็นและจะสามารถช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตขยายตัวต่อไปได้
2
ดังนั้นรัฐบาลจึงตัดสินใจที่จะส่งประเด็น CPTPP นี้เข้าสู่รัฐสภาแล้วเปิดให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการอภิปราย โดยจะมีการสั่งให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเอาไว้ศึกษา และจัดทำรวบรวมความคิดเห็นไม่ว่าจะข้อดี ข้อเสีย ข้อได้เปรียบ และช่องว่างของการเข้า CPTPP
การหันมาเล่นเกมผ่านกลไกของรัฐสภาครั้งนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลมีความจริงจัง และตั้งใจจริงที่จะเอาประเด็น CPTPP กลับมาโน้มน้าวประชาชนให้ได้ แต่การใช้ช่องทางหลักที่ อ.สมคิด เขาเคยเสนอโยนหินถามทางไว้เมื่อปลายเดือนเมษายนมันล้มเหลว
พอจะใช้กลไกของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ก่อนก็โดนกระแสด่า โดนคนด่า โดน NGO ด่าอีก คราวนี้รัฐบาลจึงตัดสินใจใช้กลไกของรัฐสภา เปิดให้ประชาชนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น คัดค้าน หรือเสนอข้อดี ข้อเสียกันได้อย่างเต็มที่ ผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญที่สภาได้ตั้งขึ้น
โดยรัฐบาลสัญญาว่าจะรับฟังทุกๆความคิดเห็นที่ส่งเข้ามาผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนั้น และยินดีจะรอจนกว่าจะมีข้อสรุป หรือข้อยุติในประเด็น CPTPP ก่อนจะเดินหน้าไปในสเต็ปถัดไป
1
ดังนั้นตรงนี้จึงขอให้วางใจได้ว่าอย่างน้อยในเบื้องต้น รัฐบาลคงจะพักเรื่อง CPTPP ไว้ก่อน เพราะตอนนี้ตัวละครหลักตัวใหม่ที่จะเข้ามาดูแล บริหารประเด็นเรื่อง CPTPP ในช่วงประมาณ 1 เดือนข้างหน้านี้ คือคณะกรรมาธิการชุดใหม่ของรัฐสภา ซึ่งจะรับหน้าที่ในการเปิดรับฟังความคิดเห็น และหาข้อสรุปว่า CPTPP ดีหรือไม่ดีอย่างไร
แล้วหลังจากได้ข้อสรุปแล้วนั้น รัฐบาลจึงจะกลับมารับช่วงต่อ ถือเป็นหมากที่น่าสนใจ ไหนๆก็จะโดนด่าเรื่อง CPTPP กันอยู่แล้ว รัฐบาลเลยตัดสินใจหาความชอบธรรมโดยการเปิดให้ประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นผ่านคณะกรรมาธิการของรัฐสภาไปเลย
ไม่ว่าผลจะออกมาในทางบวกหรือทางลบ อย่างน้อยรัฐบาลก็จะสามารถใช้จุดนี้เป็นเหตุผลในการแสดงความชอบธรรมได้ว่าพวกเขาได้เปิดให้ทุกๆฝ่ายมาออกความเห็นเรียบร้อยแล้ว จึงเป็นการสมควรที่จะเดินหน้าไปในสเต็ปถัดไปได้สักที อะไรทำนองนี้ (แต่ยังไงก็ต้องรอดูกันต่อไปครับ)
References
1. บทความจากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ชื่อ "ครม.โยนสภาฯตั้ง กมธ.หาข้อสรุป CPTPP"
2. รายงานจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ชื่อ "ครม.รับทราบตั้งกมธ.ศึกษา "ข้อดี-ข้อเสีย" เข้าร่วม CPTPP"
3. รายงานจากหนังสือพิมพ์ Post Today ชื่อ "ครม.ไฟเขียวสภาฯตั้งกมธ.ศึกษาการเข้าร่วม CPTPP"
โฆษณา