27 พ.ค. 2020 เวลา 12:01 • ความคิดเห็น
คนญวนรวยเร็วที่สุดในโลก
โดย
นิติภูมิธณัฐ
มิ่งรุจิราลัย
ใครจะนึกว่าซาดิ่ญหรือไซ่ง่อน ที่ตอนนี้เราเรียกกันว่านครโฮจิมินห์ จะเติบโตอย่างรวดเร็วมาก
นอกจากนครโฮจิมินห์แล้ว อีกเมืองที่กำลังเป็นที่พูดถึงของนักลงทุนคือต๋งบิ่ญ ล็องโด๋ ดั่ยลา ที่ปัจจุบันเรียกกันว่ากรุงห่าโหน่ย หรือที่คนไทยเรียกว่าฮานอย เมืองหลวงของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
https://m.vietnamnet.vn/en/business/vietnamese-economy-stays-resilient-to-external-shocks-wb-629655.html
JL City Momentum Index 2020 จัดให้โฮจิมินห์เป็นนครที่มีความเคลื่อนไหวสูงสุดเป็นอันดับ 3 จาก 130 มหานครทั่วโลก
1
ใครจะนึกว่าอสังหาริมทรัพย์ในนครโฮจิมินห์จะมีราคาพุ่งพรวด คอนโดมิเนียมที่ชาวต่างประเทศนิยมซื้อเพื่อพำนักพักอาศัย ตอนนี้ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 5,518 ดอลลาร์ต่อตารางเมตร พื้นที่เช่าสำนักงานก็สูงขึ้นไปอีกเกือบ 30 ดอลลาร์ต่อตารางเมตร
ตอนนี้ IRR หรือผลตอบแทนภายในสำหรับนักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในนครโฮจิมินห์สูงถึงร้อยละ 20
ไนท์แฟรงค์ บริษัทฝรั่งที่สำรวจสินทรัพย์สุทธิรายงานว่า พ.ศ.2549-2559 คนญวนที่มีสินทรัพย์สุทธิเกิน 30 ล้านดอลลาร์ (960 ล้านบาท) ขึ้นไป มีเพิ่มถึงร้อยละ 320
เมื่อเทียบกันแล้ว คนจีนกับอินเดียยังรวยเร็วสู้คนญวนไม่ได้
ขณะนี้ คนญวนรวยเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่เป็นอันดับ 1 ของโลก
http://dtinews.vn/en/news/018001/61109/vietnam-sees-sharp-rise-in-usd-millionaires.html
วิกฤติโควิด-19 ทำให้เวียดนามโดดเด่นขึ้น (เช่นเดียวกับไทย) องค์การอนามัยโลกประกาศชื่นชมและยืนยันว่าเวียดนามรับมือโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว เด็ดขาด และเผยแพร่ข้อมูลอย่างเปิดเผยและโปร่งใส
นักลงทุนต่างชาติกำลังเร่งย้ายฐานการผลิตไปที่เวียดนาม ทั้งแอปเปิ้ลของสหรัฐ ซัมซุงของเกาหลีใต้ เอฟดีไอหรือการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศเดือนเมษายน 2563 ที่เข้าเวียดนามเพิ่มกระฉูดถึงร้อยละ 81
ไปเจอข้อมูลของกระทรวงวางแผนและการลงทุนของเวียดนามที่เปิดเผยว่า 20 วันแรกของเดือนมกราคม 2563 มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้ามาที่เวียดนามเพิ่มถึงร้อยละ 179.5
https://en.nhandan.org.vn/business/item/8611702-vietnam-attracts-us$12-33-billion-worth-of-fdi-in-four-months.html
พ.ศ. 2562 เอฟดีไอทั้งปีของเวียดนามมีมูลค่าสูงถึง 38,020 ล้านดอลลาร์ กลุ่มทุนของไทยเองก็ไปกันเยอะ ทำธุรกิจและขายของให้กับคนไทยได้เงินเท่าไหร่ก็ขนเงินไปต่อยอดลงทุนในเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็นซีพี (เกษตรอุตสาหกรรม) ไทยเบฟ (ค้าปลีก) ปตท. บี.กริม และกัลฟ์ (ไฟฟ้าและพลังงาน) อมตะ (นิคมอุตสาหกรรม) เอสซีจี (ปิโตรเคมีและบรรจุภัณฑ์) เซ็นทรัล (ค้าปลีก) ฯลฯ
ไทยสถาปนาการทูตกับเวียดนามเมื่อ พ.ศ.2519 ถึง พ.ศ.2544 ก็ครบรอบความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม 25 ปี
ฉลองในระดับรัฐบาลก็ทำกันไป
แต่ระดับประชาชน ฯพณฯเอกอัครราชทูตเวียดนามประจำไทยสมัยนั้นจัดงานวัฒนธรรมไทย-เวียดนาม ครบรอบ 25 ปี ที่หน้าบ้านของผม
พี่น้องชาวญวนนั่งรถจากเวียดนามเหนือ กลาง ใต้ มาลาดกระบัง พี่น้องชาวไทยเชื้อสายเวียดนามในไทยก็มาร่วม
รวมแล้วมีคนเป็นพัน และในปีนี้เองที่นายกรัฐมนตรีของไทย (ดร.ทักษิณ ชินวัตร) ไปเยือนเวียดนามเป็นครั้งแรก
หลังจากนั้น เวียดนามก็เจาะจงจัดงานลักษณะนี้ที่หน้าบ้านของผมอีกครั้งใน พ.ศ.2546
ผมยังจำเวียดนามเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้วได้ ผู้คนยังยากจนมาก ระดับศาสตราจารย์ อธิการบดีและผู้ใหญ่ในจังหวัดทางภาคกลางต้องนั่งรถยนต์เป็นพันกิโลเมตรจากเวียดนามมากรุงเทพฯ
ทุกคนพกสมุดบันทึก เมื่อพบเห็นสิ่งต่างๆ ก็ควักปากกาขึ้นมาจด ยกกล้องขึ้นมาถ่าย
“โอ ประเทศไทยของท่านเจริญมาก เจริญจริงๆ”
พ.ศ.2547 เวียดนามมีกฎหมายให้ชาวเวียดเกียวหรือชาวเวียดนามโพ้นทะเลที่เคยออกจากประเทศไปในสมัยสงครามและได้สัญชาติของประเทศอื่นแล้ว สามารถกลับมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในแผ่นดินเวียดนามในปริมาณจำกัด
ทำให้ใน พ.ศ. 2547 มีเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้าเวียดนามมโหฬาร ซึ่งส่วนใหญ่มาจากพวกเวียดเกียว
https://www.vietnam-briefing.com/news/port-infrastructure-vietnam-3-hubs-for-importers-exporters.html/
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เวียดนามก็โตอย่างเร็ว คนญวนที่ไปอยู่ต่างประเทศขยันอดทน จำนวนหนึ่งเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าในทวีปยุโรปและสหรัฐ
เมื่อได้รับเกียรติจากรัฐบาลเวียดนามใน พ.ศ. 2547 ต่างก็กลับมาบ้านเกิดและนำสินค้าเวียดนามไปขาย สินค้าเวียดนามตีตลาดโลกกระฉูด มีเงินเข้าจากการค้าขายระหว่างประเทศอีกทางหนึ่ง
ความที่ทำงานร่วมกับเวียดนามระหว่าง พ.ศ.2540-2550 ผมจึงพอทราบเบื้องหลังความสำเร็จของเวียดนามอยู่บ้าง ซึ่งต้องมาเขียนรับใช้กันในโอกาสหน้าครับ.
โฆษณา