28 พ.ค. 2020 เวลา 04:02 • กีฬา
วิเคราะห์ "โกคู-เบจิตา" ชาวไซยาที่พังดาวได้ทั้งดวง แต่กลัวศรีภรรยากว่าผู้ใด
หากเอ่ยชื่อของ ซน โกคู และ เบจิตา เชื่อว่าแฟนการ์ตูน "ดราก้อนบอล" น่าจะรู้จักเป็นอย่างดี เพราะพวกเขาคือชาวไซยาผู้เกรียงไกร ที่ช่วยปกป้องโลก จากการระรานของเหล่าปีศาจร้าย มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง
อย่างไรก็ดี แม้ว่าทั้งคู่จะมีพละกำลังมหาศาล ในระดับที่พังดาวทั้งดวงได้อย่างง่ายดาย แต่พวกเขาก็ขึ้นชื่อในความเกรงกลัวต่อภรรยา จนกลายเป็นมุกล้อในโลกโซเชียล
เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand
ซูเปอร์ไซย่าผู้กลัวเมีย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า "ดราก้อนบอล" นั้นเป็นการ์ตูนที่เน้นเรื่องการต่อสู้เป็นหลัก แต่ถึงอย่างนั้นอาจารย์ อาคิระ โทริยามะ ผู้แต่งก็มักจะสอดแทรกเรื่องราวครอบครัวเอาไว้ในเรื่องอยู่บ้าง และที่โดดเด่นที่สุดคือครอบครัวของ โกคู และ เบจิตา สองตัวเอกของเรื่อง
Photo : www.funimation.com
สำหรับ โกคู เขาได้มีโอกาสรู้จัก จีจี้ ภรรยามาตั้งแต่เด็ก โดยพวกเขาพบกันครั้งแรกตอนที่ ราชาปีศาจวัว ให้โกคูช่วยไปตามหา จีจี้ ซึ่งเป็นลูกสาวของเขา ที่ส่งให้ไปขอยืมพัดเพื่อมาดับไฟจากผู้เฒ่าเต่า แต่เธอหลงทางเสียก่อน
แต่ในระหว่างทางที่พากลับ โกคู ก็ดันตรวจสอบความเป็นหญิง-ชายด้วยการเตะไปที่เป้าของจีจี้ แน่นอนว่ามันทำให้จีจี้โกรธอย่างจังจนผลักโกคูตกเมฆ แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ทำให้เธอคิดว่าเธอจะไม่สามารถแต่งงานกับใครได้อีกแล้ว และขอเป็นเจ้าสาวของโกคู ในอนาคต
จนกระทั่งหลายปีผ่านไป ทั้งคู่ได้มาเจอกันอีกครั้ง ก่อนที่สุดท้ายจะได้แต่งงานกัน จนมีพยานรักที่ชื่อว่า ซน โกฮัง และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่กลายเป็นคนกลัวภรรยา
เนื่องจาก โกคู เป็นคนที่รักการต่อสู้ เขาจึงมักพาโกฮังออกไปฝึกวิชาอยู่เสมอ แต่สำหรับ จีจี้ เธอมองว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องอันตรายต่อลูก เธออยากให้โกฮังมีชีวิตปกติ ร่ำเรียนแบบมนุษย์ทั่วไป และเติบโตขึ้นมาเป็นนักวิชาการ มันจึงทำให้ โกคู โดนเอ็ด จากจีจี้ อยู่เสมอ
"พูดส่งๆ ออกมาแบบนั้นได้ยังไง อย่ามาล้อเล่นนะ คุณน่ะ เอาแต่รบกวนเวลาเรียนของโกฮังตั้งเยอะแล้วนะ" จีจี้พูดกับโกคูด้วยท่าทีที่โกรธสุดขีด
"ฉันนะ เพื่อการเรียนของโกฮัง ถึงกับซื้อชุดการเรียนการสอน แล้วยังอุตส่าห์มีเตียงที่หลับแล้วยังเรียนได้อีกนะ นี่ยังกล้ามาขอฝึกวิชาให้โกฮังอีกอย่างนั้นเหรอ"
Photo : weheartit.com
ในขณะที่ เบจิต้า แม้ว่าแต่เดิมเขาจะเป็นคนเย่อหยิ่ง และกระหายการต่อสู้ แต่หลังจากที่อยู่กินกับ บลูม่า จนมีลูกชายที่ชื่อว่า ทรังคซ์ เขาก็อ่อนโยนมากขึ้น และเป็นที่รับฟังคำบ่นของภรรยาในตอนที่แก่ตัวลง ก่อนที่เขาจะกลายเป็นแฟมิลีแมนอย่างสมบูรณ์ตอนที่มีลูกสาวที่ชื่อว่า บูลา
อย่างไรก็ดี แม้ว่าทั้งคู่ จะถูกภรรรยาดุด่า หรือบ่นมากแค่ไหน แต่พวกเขากลับไม่เคยตอบโต้ ของโกคูอาจจะมีบ้างที่ต่อรอง ส่วนเบจิตา ได้แต่รับฟังไปเงียบๆ แต่พวกเขาก็ไม่เคยเถียงกลับ หรือถึงขั้นตั้งใจลงไม้ลงมือแม้แต่ครั้งเดียว มันจึงทำให้พวกถูกมองว่า เป็น "คนกลัวเมีย"
มันอาจจะดูเหมือนเป็นมุกตลก แต่ความเป็นจริงมีอะไรมากกว่านั้น
โกคู - ไม่ได้กลัวแต่เกรงใจ
แม้ว่าโกคู จะได้รับฉายาว่า "จอมหงอ" ทว่าในความเป็นจริงเขาอาจจะไม่ได้กลัวเมีย แต่เป็นความเคารพและเกรงใจ เพราะแรกเริ่มเดิมที โกคู ได้รับการสั่งสอนจาก ซน โกฮัง ปู่ที่เลี้ยงเขามาตั้งแต่เด็กว่า ให้ทำดีกับมนุษย์ที่เป็น "ผู้หญิง"
"ปู่ที่ตายไปเคยพูดเอาไว้ ถ้าเจ้าพบผู้หญิง ให้ทำดีกับเธอ" โกคูบอกกับบลูมาในการเจอกันครั้งแรก
และมันก็เป็นสิ่งที่โกคูยึดถือและปฏิบัติมาโดยตลอด โกคูแทบไม่เคยทำร้ายศัตรูที่เป็นผู้หญิง จนมาถึงตอนที่เขามีภรรยา เขาก็ยังให้เกียรติจีจี้ เสมอ
สิ่งเหล่านี้ยังแสดงให้เห็นว่า โกคู รักจีจี้มากแค่ไหน เพราะอันที่จริงตัวเขาเองก็เป็นถึงชาวไซย่า ที่มีพลังมหาศาล ที่จีจี้ ไม่สามารถต่อกรได้อย่างแน่นอน แต่เขาก็ไม่เคยนำพลังเหล่านี้มาใช้กับเธอ หรือทำให้ตัวเองมีอำนาจเหนือกว่าแม้แต่ครั้งเดียว
อย่างไรก็ดี โกคู ก็เองไม่ได้ยอมภรรยาไปทุกเรื่อง เพราะหากเป็นกรณีที่มีชีวิตของคนทั้งโลกมาเดิมพัน เขาก็มักจะเลือกหน้าที่ และทิ้งครอบครัวให้อยู่ข้างหลังเสมอ หรือแม้กระทั่งยอมสละชีวิต เพื่อและกับความสงบสุขของมวลมนุษยชาติ
อย่างตอนที่ระหว่างพักรอสู้กับเซลล์ ที่ทำให้ โกคู ได้มีเวลาออกไปพักผ่อนกันแบบสามพ่อแม่ลูก แต่เมื่อเขาได้ยินข่าวว่ากองกำลังพิเศษ กำลังบุกไปหาเซลล์ เขาถึงขั้นทิ้งให้จีจี้กลับบ้านไปกับโกฮัง แล้วตัวเองแวบไปคุยกับพิคโกโรเพื่อวางแผน
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นค่านิยมของคนญี่ปุ่นในยุคก่อนอย่างชัดเจน ที่พ่อให้ความสำคัญกับงาน (การต่อสู้) มากกว่าครอบครัว ที่แม้ว่า โกคู จะเกรงใจจีจี้แค่ไหน แต่ในช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวาน เขาก็พร้อมจะต่อต้านเธอ และตัดสินใจทำโดยไม่สนใจคำทัดทาน
ดังนั้น ตัวตนของโกคู ในเรื่องดราก้อนบอล จึงอาจจะไม่ใช่การกลัวเมีย แต่เป็นการแบ่งพื้นที่ของอำนาจมากกว่า
นั่นจึงทำให้ จีจี้ เป็นใหญ่ในบ้าน เธอเป็นคนดูแลทั้งเรื่องการเรียนและอนาคตของโกฮัง รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในบ้าน และพร้อมจะเอ็ดสามีเสมอ
แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่อย่างการปกป้องโลก สุดท้ายโกคู จะเป็นคนตัดสินใจอยู่ดี
"สังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมที่ชายเป็นใหญ่ เพราะว่าอิงกับสังคมที่มีวัฒนธรรมซามูไรมาก่อน และด้วยระบบทุนนิยม ผู้ชายต้องออกไปทำงานนอกบ้าน และเหลืองานบ้านให้ผู้หญิงจัดการ" กฤตพล วิภาวีกุล นักศึกษาปริญญาเอกด้าน International study มหาวิทยาลัยวาเซดะ กล่าวกับ Main Stand
"เพราะฉะนั้นการตัดสินใจในบ้าน ผู้หญิงก็ต้องมีอำนาจมากกว่า แต่เป็นการมีอำนาจมากกว่าที่ผู้ชายปล่อยให้มีอำนาจ"
"แต่สมมติว่าหากเป็นการตัดสินใจในบ้าน ที่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องงานบ้าน ผู้ชายก็จะมีอำนาจมากกว่า เช่นการทำอะไรที่ต้องใช้เงินเยอะ ให้ลูกเรียนอะไร ย้ายบ้านไปที่ไหน"
"แม้ว่าโกคูจะดูกลัวเมีย แต่การตัดสินใจเชิงอำนาจยังเป็นเรื่องของผู้ชายอยู่ดี ซึ่งมันถูกอยู่แล้ว เพราะการ์ตูนเรื่องนี้เป็นเรื่องการต่อสู้"
อย่างไรก็ดี สำหรับเบจิต้านั้นต่างออกไป
เบจิต้า - แฟมิลีแมน
เบจิตา อาจจะมีภาพลักษณ์ของเจ้าชายจอมหยิ่ง ที่ปากไม่ตรงกับใจ (ซึนเดเระ) ซึ่งทำให้ในช่วงแรก เขาแทบไม่ได้ให้ความสำคัญกับครอบครัวมากเท่าไร และมักปล่อยให้บลูมา เลี้ยงทรังคซ์อยู่คนเดียวมาตลอด
แต่จิตใจเขาเริ่มอ่อนโยนขึ้นในช่วงท้ายของภาค Z ที่เขาเริ่มแสดงความรักต่อทรังคซ์ (ที่มาจากโลกอนาคต) จนถึงขั้นยอมเสียสละชีวิต เพื่อปกป้องลูก และเริ่มมาเด่นชัดมากขึ้นในตั้งแต่หลังภาค GT และตอนที่มีลูกสาว
อย่างไรก็ดี เบจิต้า ก็ไม่ได้แสดงอาการกลัวเมียอย่างชัดเจนเหมือนกับโกคู เพราะแม้ว่าเขาจะยอมฟังคำบ่นของบลูม่า แต่ก็มักแสดงสีหน้าไม่สบอารมณ์อยู่เสมอ ในขณะเดียวกัน บลูม่า ก็ไม่ได้แสดงการข่มเขาเท่าไร แถมเป็นการแซวเสียเป็นส่วนใหญ่
มันจึงทำให้การบอกว่า เบจิต้าเป็นคนกลัวเมีย อาจจะไม่ใช่เรื่องถูกต้องนัก แต่เป็นการเปลี่ยนจากนักสู้ผู้โหดร้ายมาเป็น "แฟมิลีแมน" เต็มตัวมากกว่า
เพราะในช่วงหลัง เบจิต้า เริ่มให้ความสำคัญกับครอบครัวมากขึ้น นอกจากการฝึกฝนวิชา เขายังหาเวลาพาทรังคซ์และบลูมาไปเที่ยวเล่นมากขึ้น หรือแม้กระทั่งดูแลบลูม่าตอนตั้งท้องบูลา ลูกสาวคนเล็กเป็นอย่างดี
"อันที่จริงเบจิตา มีภาพลักษณ์ของแฟมิลีแมนมากกว่ากลัวเมีย ทั้งดูแลลูก และดูแลบลูม่า ตอนตั้งท้องลูกสาว เขาดูเป็นแฟมิลีแมนมากกว่าโกคูด้วยซ้ำในช่วงหลัง" ปิติศักดิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์ บรรณาธิการ โกล ประเทศไทย และแฟนการ์ตูนดราก้อนบอลกล่าวกับ Main Stand
สิ่งเหล่านี้มาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพราะด้วยความที่ดราก้อนบอลเป็นการ์ตูนที่ใช้เวลาดำเนินเรื่องกว่า 10 ปี ทำให้ค่านิยมของสังคมในการ์ตูนได้ถูกเปลี่ยนไปด้วย
จากการที่ญี่ปุ่นเป็นสังคมที่ชายเป็นใหญ่ ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง ทำให้สังเกตได้ว่าในช่วงแรกของดราก้อนบอล ผู้หญิงแทบไม่ได้มีบทบาทสำคัญในเรื่อง เพราะมันถูกฉายภาพผู้ชายในอุดมคติของญี่ปุ่น ที่เป็นคนทำงานเป็นหลัก (ต่อสู้)
หรือแม้แต่บลูม่าเอง ที่ถือว่าเป็นตัวละครหญิงที่เด่นสุด ก็ไม่ได้อยู่ในกลุ่มนักสู้ เป็นเพียงแค่ผู้สนับสนุน ในขณะที่ชาวไซยากลับน่าเศร้ากว่านั้น เพราะแทบไม่มีการพูดถึงแม่ของโกคูและเบจิตาเลย
"ถ้าย้อนไปถึงไซย่ารุ่นเก่าๆ ผู้หญิงแทบจะไม่มีบทบาทในเรื่อง คือไม่มีการพูดถึงแม่โกคู หรือเบจิต้าเลย เหมือนเผ่าพันธุ์นักรบ ทหาร มีแต่ผู้ชาย" ปิติศักดิ์อธิบายต่อ
แต่หลังจากจบการต่อสู้กับปีศาจพิคโกโร ผู้หญิงเริ่มพูดถึงมากขึ้นในฐานะแม่และภรรยาของนักสู้ และมีนักสู้หญิงคนแรกหลังการปรากฎตัวของหุ่นยนต์หมายเลข 18 ก่อนที่มันจะเด่นชัดมากขึ้นโดยเฉพาะครอบครัวของบลูมาในภาค GT ที่ออนแอร์ในช่วงปี 1996-1997
สิ่งนี้น่าจะเป็นเพราะหลังปี 1991 ญี่ปุ่นประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ อันเป็นจุดเริ่มต้นของ Lost Decade (ทศวรรษที่หายไป) ที่ทำให้บริษัทญี่ปุ่นยกเลิกระบบจ้างงานตลอดชีพ ซึ่งแต่เดิมระบบดังกล่าวทำให้แต่ละครอบครัวมีความมั่นคงในเชิงรายได้ จึงทำให้ผู้ชายเป็นคนทำงานหาเงินคนเดียว ส่วนผู้หญิงก็เป็นแม่บ้านเต็มตัวคอยดูแลบ้าน
"หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศญี่ปุ่นอยู่ในสภาวะที่ต้องพยายามพลิกฟื้นคืนสภาพเศรษฐกิจและสังคม จากความพยายามในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดสังคมบรรษัทที่ทำให้ผู้ชายต้องทุ่มเทชีวิตให้กับบริษัทด้วยระบบการจ้างงานตลอดชีวิต" ปิยวรรณ อัศวราชันย์ อาจารย์สาขาภาษาญี่ปุ่น คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงานวิจัยเรื่อง "มาตรการแก้ไขอัตราการเกิดตำของญี่ปุ่น: โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในงานบ้านและการเลี้ยงดูบุตรของผู้ชายญี่ปุ่น"
"ในทางกลับกัน บริษัทเองก็ต้องรับผิดชอบชีวิตรวมไปถึงครอบครัวของพนักงานด้วย จากระบบสังคมที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิดการแบ่งงานกันทำตามเพศ กล่าวคือ ผู้ชายทำงานนอกบ้านในฐานะมนุษย์เงินเดือน และผู้หญิงเป็นกำลังหลักในการดูแลครอบครัวในฐานะแม่บ้านเต็มเวลา"
แต่จากการล่มสลายของระบบจ้างงานตลอดชีพ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม เมื่อผู้หญิงต้องออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น เพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัว แน่นอนว่าสิ่งนี้ ส่งผลต่ออำนาจในการต่อรองในบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
Photo : www.quora.com
"เมื่อสังคมญี่ปุ่นเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลังฟองสบู่แตก และเศรษฐกิจหยุดนิ่ง จนเกิดคำเรียกว่า 'สองทศวรรษที่สูญเสีย (Two Lost Decades)' องค์กรธุรกิจส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถแบกรับงบประมาณในการดูแลสวัสดิการให้กับพนักงานจนเกษียณได้ จึงเกิดการปรับปรุงโครงสร้าง" ปิยวรรณกล่าวต่อในงานวิจัยเดิม
"นัยหนึ่งหมายถึงการเลิกจ้างพนักงาน หรือการไล่ออกเพื่อลดค่าใช้จ่ายของบริษัท รวมทั้งเปลี่ยนแปลงระบบการจ้างงานจากระบบการจ้างงานตลอดชีวิตเป็นระบบการจ้างพนักงานสัญญาจ้าง หรือพนักงานจากบริษัทจัดส่งคนงานแทนที่จะจ้างเป็นพนักงานประจำ"
"สิ่งนี้ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจของครอบครัวไม่สามารถพึ่งพาเพียงรายได้ของผู้ชายแต่เพียงแหล่งเดียวได้อีกต่อไป ผู้หญิงที่เป็นภรรยาจำเป็นที่จะต้องออกมาทำงานนอกบ้านด้วย"
การทำงานนอกบ้านทำให้ผู้หญิงญี่ปุ่นเริ่มมีบทบาทในบ้านมากขึ้น โดยไม่ใช่ในฐานะ "แม่บ้าน" เต็มตัวเหมือนเมื่อก่อน ในขณะเดียวกัน ผู้ชายก็เริ่มเปลี่ยนบทบาทจากคนที่ทำงานหาเงินเพียงอย่างเดียว มาช่วยดูแลบ้าน ทั้งช่วยดูแลลูก หรือช่วยทำงานบ้าน
และการเปลี่ยนแปลงนี้ก็เห็นได้ชัดเจนจากครอบครัวของบลูม่า เพราะถึงแม้ว่าเบจิต้า อาจจจะไม่ถึงขั้นช่วยทำความสะอาดบ้าน แต่สังเกตุได้ว่าในช่วงหลัง จากที่ไม่เคยดูดำดูดีลูก ก็เริ่มมาช่วยดูแลทรังคซ์ และให้ความสำคัญกับครอบครัวมากขึ้นหลังมีลูกสาว
มันจึงทำให้เขามีภาพลักษณ์ของพ่อบ้านที่รักครอบครัวอย่างเต็มตัว
Photo : www.40weeklyjump.com
ทำให้ แม้ว่าปัจจุบัน โกคู และเบจิตา ยังคงถูกล้อเลียนและกลายเป็นภาพจำในโลกอินเตอร์เน็ตว่าเป็นคนกลัวเมีย แต่ในความเป็นจริง อาจจะไม่ใช่ขนาดนั้น เพราะในจุดหนึ่งพวกเขาก็กุมอำนาจการตัดสินในเรื่องใหญ่ (ปกป้องโลก) เอาไว้
นั่นจึงอาจจะพูดได้ว่าพฤติกรรมของโกคู และเบจิตา อาจจะไม่ใช่ "ความกลัวเมีย" อย่างที่เข้าใจในตอนแรก แต่เป็นความรักและเคารพในสิทธิ์ของคู่ชีวิต โดยมีความคิดพื้นฐานของความเท่าเทียมกันมากกว่า
ในขณะเดียวกันมันยังแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และค่านิยมของคนญี่ปุ่น ที่เริ่มให้ความสำคัญกับผู้หญิงมากกว่าในอดีต
ทำให้สุดท้ายแม้ว่าปัจจุบันญี่ปุ่นจะยังคงเป็นสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ แต่ผู้หญิงก็ไม่ได้เป็นช้างเท้าหลังที่ไม่มีสิทธิ์ไม่มีเสียงเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว
Photo : www.rawpixel.com
"ปัจจุบันความเท่าเทียมกัน (ระหว่างชายและหญิง) มันค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้ชายต้องมีความเกรงใจมากขึ้น"
"มันจึงไม่ใช่เรื่องของการกลัวเมีย แต่เป็นความเกรงใจ เมื่อรู้สึกว่าต่างมีฐานะเท่ากัน จริงๆ แล้วมันต้องกลับกัน คือไม่ได้กลัว แต่อำนาจของภรรยาเพิ่มขึ้นมากกว่า"
"สังคมผู้ชายเป็นใหญ่มันค่อยๆ เสื่อมสภาพลงเรื่อยๆ มันไม่ได้เสื่อมลงในคราวเดียวทั้งหมด" กฤตพลทิ้งท้าย
บทความโดย มฤคย์ ตันนิยม
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา