28 พ.ค. 2020 เวลา 11:16 • กีฬา
HADZA : ชนเผ่าล่าสัตว์ที่กำลังจะสูญหายพร้อมวัฒนธรรมคู่ธรรมชาติ ที่ยาวนานกว่า 5 หมื่นปี
"ผมรักที่จะเห็นชาวฮาดซา ใช้ชีวิตเหมือนบรรพบุรุษ เรามีวัฒนธรรมอันดีงาม และสิ่งยืนยันตัวตนที่เคยเป็นมา ในรุ่นของผม ชาวฮาดซายังคงอยู่ต่อไป แต่รุ่นลูกหลาน พวกเขาจะกลายเป็นแค่ประวัติศาสตร์หรือเปล่า?"
1
คำพูดข้างต้นบ่งบอกเรื่องราวของ "ฮาดซา" (Hadza) ชนเผ่าในแอฟริกากลุ่มสุดท้าย ที่ใช้ชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ พวกเขานอนในป่า ภายใต้กระท่อมที่สร้างจากใบหญ้า ไม่รู้จักไฟฟ้า ไม่รู้จักรถยนต์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกใด
พวกเขาดำเนินวิถีชีวิตแบบนี้มานานหลายหมื่นปี แต่แนวทางตามประเพณีดั้งเดิมนี้ กำลังจะจบลงในไม่ช้า เกิดอะไรขึ้นกับชนเผ่าฮาดซากันแน่?
ชาวป่าแห่งแทนซาเนีย
สหสาธารณรัฐแทนซาเนีย (อย่าแปลกใจที่ได้เห็น เพราะประเทศนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการในภาษาอังกฤษว่า The United Republic of Tanzania) ประเทศติดชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา คือ หนึ่งในดินแดนที่มีชาติพันธุ์หลากหลายที่สุดในโลก จากการสำรวจหลายครั้งพบว่า ชาวแซนทาเนีย มีรากฐานมาจากชนเผ่าแตกต่างกันมากกว่า 120 เผ่า
Photo : www.irishtimes.com
หนึ่งในชนเผ่าที่เก่าแก่ที่สุดของแซนทาเนีย คือ ฮาดซา พวกเขาอยู่ในพื้นที่ป่าที่เรียกว่า Hadza Highlands เป็นเวลายาวนานกว่า 50,000 ปี กล่าวได้ว่า พวกเขามีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าอาณาจักรโบราณอย่าง กรีก, เมโสโปเตเมีย, อินคา หรือ อียิปต์
แทนที่จะมีอารยธรรมยิ่งใหญ่ เหมือนแดนปีระมิดในแอฟริกาเหนือ ชาวฮาดซากลับซ่อนตัวอยู่ในพงไพร มีชีวิตแบบชาวป่า ล่าสัตว์เพื่อหาอาหาร พวกเขาเชี่ยวชาญการซุ่มโจมตีและอาวุธธนู ด้วยทักษะที่สืบทอดมารุ่นสู่รุ่น ชาวฮาดซาสามารถสังหารสัตว์แทบทุกชนิด แม้แต่สิงโต ผู้เป็นเจ้าป่า ชนเผ่าฮาดซาก็ไม่หวั่น
ถึงเปี่ยมด้วยสัญชาตญาณนักล่า ชาวฮาดซาไม่เคยฆ่าสัตว์เกินความจำเป็น และมองตัวเองเป็นผู้พิทักษ์ธรรมชาติ และหยิบยืมทรัพยากรจากผืนป่าตามสมควร วิถีชีวิตของชนเผ่าฮาดซ่าเรียบง่าย ผู้ชายออกหาอาหารโดยการล่าสัตว์ ส่วนผู้หญิงขุดหาของป่า เช่น รากไม้
ชาวฮาดซาผูกติดกับธรรมชาติจนแทบเป็นหนึ่ง พวกเขามีความสัมพันธ์กับสัตว์บางประเภท เช่น นกหาน้ำผึ้ง (Honeybird) กินน้ำตามแอ่งบนโขดหิน และยังคงก่อกองไฟด้วยวิธีแบบโบราณ เหมือนที่เราเห็นกันในพิพิธภัณฑ์โซนมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์
3
ตามตำนานโบราณ ชาวฮาดซาเชื่อว่าแผ่นดิน Hadza Highlands เป็นของพวกเขาตั้งแต่ก่อนวิวัฒนาการเป็นมนุษย์ ชาวฮาดซาเคยอาศัยเป็นลิงบาบูนอยู่ในป่าแห่งนี้ วันหนึ่ง ลิงบาบูนถูกแบ่งเป็นสองกลุ่มตามคำสั่งผู้วิเศษ ส่วนหนึ่งหาน้ำ อีกส่วนหาอาหาร
Photo : www.parkinglotproductions.com
เรื่องราวของชาวฮาดซาเริ่มต้นจากเหตุการณ์ครั้งนี้ เมื่อกลุ่มลิงบาบูนหาอาหารกลับมาตามคำสั่งผู้วิเศษ แต่อีกกลุ่มกลับหลงลืมหน้าที่ เอาแต่เล่นน้ำในลำธาร ผู้วิเศษจึงให้พรกลุ่มหาอาหาร เสกลิงเหล่านั้นกลายเป็นมนุษย์เผ่าฮาดซา และประทานดินแดนแห่งนี้แก่พวกเขาเป็นเจ้าของ ตราบจนฟ้าดินสลาย
1
ชาวฮาดซาจึงไม่เคยออกจากป่า ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเท่าใด แตกต่างจากชนเผ่าเพื่อนบ้าน เช่น ซวาฮิลิ (Swahili) และ ดาโกตา (Dagota) ที่เข้าสู่สังคมเกษตรกรรม ใช้วีถีชีวิตกับการทำไร่ทำนา ชนเผ่าฮัดซายังคงใช้ชีวิตอยู่ในป่า ยึดถือความเชื่อเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
ความเจริญที่เข้ามา
ชนเผ่าฮาดซาอาศัยอยู่ในดินแดนของพวกเขายาวนานหลายหมื่นปี โดยไม่มีผู้ใดค้นพบ เมื่อไรที่พวกเขาพบเจอผู้รุกราน ชาวฮาดซาจะซ่อนตัวหลังพุ่มไม้อย่างกลมกลืน จนไม่มีใครพบเห็น บวกกับเหตุผลด้านวัฒนธรรม ชาวฮัดซามีภาษาและความเชื่อของตัวเอง พวกเขาไม่มีความจำเป็นต้องติดต่อกับโลกภายนอก ตราบใดที่มีบางสิ่งให้ยึดถือ
Photo : www.sciencemag.org
ชาวฮาดซาถูกค้นพบโดยชาวยุโรป และยืนยันหลักฐานการมีตัวตนด้วยภาพถ่ายในช่วงปี 1930's นับแต่นั้น พวกเขาถูกบุคคลหลายกลุ่ม ตั้งแต่นักล่าอาณานิคม ผู้เผยแพร่ศาสนา หรือ รัฐบาลชาติยุโรป ชักพาออกจากป่า เพื่อก้าวมาใช้ชีวิตในสังคมเมือง แต่ไม่มีใครทำสำเร็จ
ความดื้อดึงของชาวฮาดซา ต่อต้านความต้องการของชาติผู้ครองอาณานิคม ทั้ง เยอรมัน และ อังกฤษ เป็นผลสำเร็จ กระทั่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เข้ามาถึง เมื่อสหสาธารณรัฐแทนซาเนียได้รับเอกราช เมื่อปี 1961 เพื่อก่อร่างสร้างประเทศให้เป็นรูปร่าง แนวคิดชาตินิยมถูกนำมาใช้ ไม่ว่ามนุษย์บนแผ่นดินนี้จะมาจากชนเผ่าใด พวกเขาคือชาวชนชาติเดียวกัน และพูดภาษาเดียวกัน
ทางทฤษฏี แนวคิดการพาชาวฮาดซาออกจากป่า ดูเหมือนจะสร้างประโยชน์แก่ทุกฝ่าย แต่ในความเป็นจริง นโยบายของรัฐบาลคือการบังคับฝีนใจชนเผ่าโบราณ ในระยะยาว พวกเขาจะคิดถึงผืนป่า ธรรมชาติ วัฒนธรรมดั้งเดิมที่จากมา ไม่นาน ชาวฮาดซาจึงกลับเข้าป่า เพื่อค้นหารากไม้ และเต้นรอบกองไฟอย่างที่เคยเป็นมาหลายหมื่นปี
Photo : www.parkinglotproductions.com
อย่างไรก็ตาม ชาวฮาดซาไม่ได้ปฏิเสธความศิวิไลซ์เสียทั้งหมด พวกเขาเลิกใส่เสื้อผ้าที่ทำจากหนังสัตว์ ตั้งแต่ยุค 70's ทุกวันนี้ แม้ยังไม่รู้จักการแลกเปลี่ยนด้วยเงินตรา ชนเผ่าฮาดซาทำการค้าขายกับเผ่าอื่นที่ทำเกษตรกรรม โดยการหาน้ำผึ้งแท้จากผืนป่า แลกกับแป้งข้าวโพด ซึ่งเป็นอาหารหลักของคนในหมู่บ้าน
ชาวฮาดซาบางส่วนรู้สึกว่าเสียเปรียบ และไม่อาจทนกับชีวิตแบบนี้อีกต่อไป ประชากรฮาดซาที่มีอยู่ราว 1,000 คน จึงแยกออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งใช้ชีวิตเป็นชาวป่า ส่วนอีกกลุ่มออกมาตั้งรกรากในเมืองแมงโกลา (Mangola) ที่ห่างออกไปทางทิศตะวันออก เพื่อค้นหาชีวิตที่ดีกว่า
Photo : paleyphoto.photoshelter.com
กลุ่มชนเผ่าฮาดซาในเมืองแมงโกลา มีชีวิตที่ดีกว่าคนในป่าอย่างชัดเจน พวกเขามีที่พัก มีอาหาร ได้รับการศึกษา และที่สำคัญ มีงานทำ เด็กวัยรุ่นในเมืองแองโกลาใส่เสื้อยืดลายทอมแอนด์เจอร์รี ไม่ต่างจากวัยรุ่นในกรุงเทพมหานคร พวกเขามีวิถีชีวิตเหมือนคนเมืองทั่วไป
ชีวิตที่ดีกว่า ดึงดูดชาวฮาดซาออกจากป่าปัจจุบันมีชาวฮาดซาราว 300 คน ที่ยังคงใช้ชีวิตแบบคนป่า ที่เหลือต่างพากันออกไปอยู่ในเมืองจนหมด ปรากฏการณ์นี้ส่งผลดีในแง่บุคคล แต่ในภาพที่ใหญ่กว่า เราอาจเสียหนึ่งในวัฒนธรรมที่เก่าแก่ที่สุดของโลกไปในไม่ช้านี้
เวลานับถอยหลัง
ชนเผ่าฮาดซาในเมืองแมงโกลาใช้ชีวิตร่วมกับเผ่าอื่นอย่างกลมกลืน จนทำให้ประเพณีโบราณที่สืบทอดมาเริ่มลางเลือน เด็กรุ่นใหม่ไม่รู้วิธีล่าสัตว์อีกต่อไป ในเมื่อสิ่งมีชีวิตสี่ขาทั้งหมดรวมตัวอยู่ในฟาร์ม ที่มีเจ้าของเป็นชนเผ่าอื่น
Photo : nomad.africa
Photo : nomad.africa
ชาวฮาดซาวัยผู้ใหญ่ลำบากไม่ต่างกัน ส่วนใหญ่ไม่มีความรู้และหางานทำยาก เมื่อใช้ชีวิตในเมืองที่เจริญมากกว่าป่า สิ่งที่ตามมาคือเรื่องของค่าใช้จ่าย ชนเผ่าฮาดซาตามหลังเผ่าอื่นในเรื่องการทำเกษตรกรรม พวกเขาไม่มีไร่นาทำกินของตัวเอง ชาวฮาดซาจึงต้องหาอาชีพรูปแบบอื่นที่จะช่วยให้พวกเขาอยู่รอด
การท่องเที่ยว กลายเป็นคำตอบ คนยุโรปส่วนใหญ่ที่ชมสารคดีของชนเผ่าฮาดซา พากันเดินทางมาที่ประเทศแทนซาเนีย เพื่อเยี่ยมชมวิถีชีวิตของพวกเขา มองแบบตื้นเขินอาจเป็นเรื่องดี แต่เมื่อขุดให้ลึกลงไป ชาวฮาดซาแทบไม่ได้ประโยชน์จากธุรกิจท่องเที่ยว นอกจากผู้ทำอาชีพเป็น ล่าม หรือ ไกด์ เม็ดเงินแทบไม่ตกมาถึงชาวฮาดซาทั่วไป กลับเข้ามือของรัฐบาล และ บริษัทนำเที่ยวมากกว่า
ปี 2007 รัฐบาลแทนซาเนียสร้างปัญหาครั้งใหญ่แก่ชนเผ่าฮาดซา โดยการปล่อยเช่าป่าบริเวณ Yaeda Valley แก่ราชวงศ์สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อเป็นพื้นที่ล่าสัตว์ ชาวฮาดซารายใดที่ก้าวสู่พื้นที่นั้น อันเคยเป็นบ้านของพวกเขา จะถูกจับเข้าคุก โชคดีที่ราชวงศ์อาหรับทราบเรื่องเสียก่อน ข้อตกลงจึงยกเลิกไป
Photo : nomad.africa
นอกจากปัญหาภายนอก ชาวฮาดซายังเจอปัญหาภายใน เมื่อธรรมชาติไม่เข้าข้างพวกเขาอีกต่อไป ชนเผ่าฮาดซาที่อาศัยอยู่ในป่า ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมานานหลายปี ยิ่งไปกว่านั้น แหล่งน้ำที่พวกเขาค้นหาได้ ถูกแย่งชิงโดยชนเผ่าดาโกตา ที่นำสัตว์เลี้ยงในปศุสัตว์ เข้าป่ามารุกรานทรัพยากรของพวกเขา
คนป่าใช่ว่าต้องโหดร้ายเสียทั้งหมด ชาวฮาดซาไม่เคยตอบโต้การบุกรุกด้วยกำลัง ด้วยเหตุนี้ ชาวดาโกตาจึงยิ่งได้ใจ และสร้างพื้นที่ปศุสัตว์รุกรานสู่ป่ามากขึ้นเรื่อยๆ ช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ชนเผ่าฮาดซาสูญเสียดินแดนเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ ต้นไม้จำนวนมากถูกตัด ทรัพยากรธรรมชาติลดน้อยลงไปทุกขณะ เช่นเดียวกับ เวลาของชีวิตในป่าสำหรับชาวฮาดซา
Photo : www.nationalgeographic.com
ชนเผ่าดาโกตาดูเหมือนตัวร้ายของเรื่องราวนี้ แต่ความจริง พวกเขาเป็นเพียงแค่เหยื่ออีกราย จากธุรกิจล่าสัตว์แบบซาฟารีของรัฐบาลแซนทาเนีย ป่าที่เคยเป็นบ้านของหลายชนเผ่าถูกรุกรานโดยนักท่องเที่ยว ทั้งหมดถอยร่นเข้าสู่ป่าบริสุทธิ์ผืนสุดท้าย ... Hadza Highlands บ้านของชนเผ่าฮาดซา
ไม่มีใครหลีกหนีผลกระทบของโลกาภิวัตน์ แม้แต่ ชาวฮาดซา ชนเผ่าโบราณที่ซ่อนตัวอยู่ในป่ายาวนานกว่า 50,000 ปี สิ่งสำคัญตอนนี้ ไม่ใช่ พวกเขาจะอยู่ในป่าได้นานแค่ไหน แต่เป็น จะใช้ชีวิตอย่างไรเมื่อก้าวสู่สังคมเมือง? นี่คือคำถามที่ยังต้องการคำตอบ ถึงอนาคตของชาวฮาดซา หนึ่งในชนเผ่าสุดท้าย ที่ยังคงใช้ชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติบนโลกใบนี้
บทความโดย ณัฐนันท์ จันทร์ขวาง
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา