29 พ.ค. 2020 เวลา 00:30 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ข้อควรรู้เกี่ยวกับการอุ้มบุญ
เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีข่าวเกี่ยวกับการรับจ้างอุ้มบุญให้กับแกงค์ชาวต่างชาติ และขณะนี้ตำรวจได้ขยายผลการสอบสวนออกหมายจับแพทย์เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว แล้วอุ้มบุญคืออะไร มีกฎหมายเกี่ยวข้องด้วยหรือ?
อุ้มบุญ (surrogacy) คือ การที่หญิงคนหน่ึ่งให้ยืมมดลูกเพื่อตั้งครรภ์แทนหญิงอื่น ซึ่งมักจะใช้ในกรณีที่ผู้มีความประสงค์จะมีบุตรแต่ไม่สามารถตั้งท้องเองได้ เพราะอาจประสบปัญหาด้านสุขภาพ เช่น เคยผ่าตัดมดลูก หรือมีปัญหาเรื่องสภาพของมดลูกอาจไม่พร้อมที่จะให้ตัวอ่อนฝังตัวได้ ซึ่งการอุ้มบุญแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ อุ้มบุญแท้ กับ อุ้มบุญเทียม
การอุ้มบุญแท้ คือการนำเชื้ออสุจิของชายที่ต้องการมีบุตร มาผสมกับไข่ของแม่ผู้ที่อุ้มบุญ และฉีดฝังในมดลูกของแม่อุ้มบุญ เรียกว่าอุ้มบุญแท้ เพราะใช้ทั้งไข่ของแม่อุ้มบุญ และใช้มดลูกของแม่อุ้มบุญเป็นที่ฝังตัวอ่อนทารก
การอุ้มบุญเทียม คือการใช้เชื้ออสุจิและไข่ของพ่อแม่ที่แท้จริงมาผสมกันภายนอก จากนั้นจึงฉีดไข่ที่ผสมแล้วเข้าไปในมดลูกของแม่อุ้มบุญ แม่อุ้มบุญทำหน้าที่เพียงให้ยืมมดลูกเพื่อทำหน้าที่ตั้งครรภ์แทนเท่านั้น
ในเรื่องการอุ้มบุญนี้ได้มีพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 กำหนดเงื่อนไขเรื่องการอุ้มบุญหรือการตั้งครรภ์แทนไว้ในมาตรา 21 ว่า
(1) สามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งภริยาไม่อาจตั้งครรภ์ได้ที่ประสงค์จะมีบุตรโดยให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทน ทั้งคู่ต้องมีสัญชาติไทย แต่ถ้าในกรณีที่สามีหรือภริยามิได้มีสัญชาติไทย ต้องจดทะเบียนสมรสมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี ดังนั้นสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายจึงหมายถึงกรณีที่ชายและหญิงต้องจดทะเบียนสมรสเท่านั้น หากเป็นโสดแล้วต้องการมีบุตร หรือเพียงแต่อยู่กินกันฉันสามีภรรยาย่อมไม่สามารถดำเนินการเรื่องอุ้มบุญได้
(2) หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องมิใช่บุพการีหรือผู้สืบสันดานของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายตาม (1) คือต้องไม่เป็นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ลูกหลานกัน
(3) หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องเป็นญาติสืบสายโลหิตของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายตาม (1) ในกรณีที่ไม่มีญาติสืบสายโลหิตของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นกญิงอื่นได้แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด แต่ต้องไม่ใช่บุพการีหรือผู้สืบสันดานตามข้างต้น
(4) หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องเป็นหญิงที่เคยมีบุตรมาก่อนแล้วเท่านั้น ถ้าหญิงนั้นมีสามีที่ชอบด้วยกฎหมายหรือชายที่อยู่กินฉันสามีภริยา จะต้องได้รับความยินยอมจากสามีที่ชอบด้วยกฎหมายหรือชายดังกล่าวด้วย
ในกรณีที่ให้หญิงอื่นรับตั้งครรภ์แทนกฎหมายกำหนดเงื่อนไขว่า
1 ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์
2 หญิงที่ตั้งครรภ์แทนต้องมีสัญชาติเดียวกันกับสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์จะมีบุตร
3 หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนต้องมีอายุ 20 - 40 ปีบริบูรณ์
4 หญิงอื่นที่ตั้งครรภ์แทนต้องเคยมีบุตรมาแล้ว โดยการคลอดตามธรรมชาติไม่เกิน 3 ครั้ง หรือในกรณีที่ผ่าคลอดไม่เกิน 1 ครั้ง
5 หญิงที่ตั้งครรภ์แทนต้องมีสุขภาพร่างกายและจิตใจแข็งแรงสมบูรณ์ดีโดยมีการตรวจและประเมินความพร้อมทางด้านร่างกายจิตใจ และสภาพแวดล้อม
6 ต้องเป็นผู้ที่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากสามีที่ชอบด้วยกฎหมายหรือชายที่อยู่กินฉันสามีภริยา
7 ได้มีหนังสือแสดงความยินยอมให้มีการตั้งครรภ์แทน
8 หญิงที่รับตั้งครรภ์แทน จะรับตั้งครรภ์แทนจนได้คลอดบุตรไม่เกิน 2 ครั้ง
ซึ่งเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดนี้เป็นไปตามที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้หญิงอื่นที่มิใช่ญาติสืบสายโลหิตของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายรับตั้งครรภ์แทน พ.ศ. 2558
ภาพจาก https://www.shutterstock.com/image-photo/focus-on-pregnant-woman-touching-her-1095109961?irgwc=1&utm_medium=Affiliate&utm_campaign=Pixabay+GmbH&utm_source=44814&utm_term=https%3A%2F%2Fpixabay.com%2Fimages%2Fsearch%2Fsurrogacy%2F
นอกจากนี้มาตรา 22 กำหนดการดําเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนสามารถทำได้ 2 วิธีเท่านั้นคือ
1. ใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิของสามีและไข่ของภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์แทน
2. ใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิของสามีหรือไข่ของภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์แทนกับไข่หรืออสุจิของผู้อื่น ทั้งนี้ ห้ามใช้ไข่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน
ดังนั้นการอุ้มบุญแท้จะขัดกับมาตรา 22 เพราะไม่สามารถใช้ไข่ของหญิงตั้งครรภ์แทน หากไม่สามารถใช้อสุจิหรือไข่จากคู่สมรสได้ จะต้องใช้อสุจิกับไข่ของผู้อื่น
ในพระราชบัญญัติดังกล่าวยังมีข้อห้ามประการอื่นอีก เช่น
มาตรา 24 ได้ห้ามมิให้ผู้ใดดําเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า ซึ่งผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
มาตรา 27 ห้ามมิให้ผู้ใดกระทําการเป็นคนกลางหรือนายหน้า โดยเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อเป็นการตอบแทนในการจัดการหรือชี้ช่องให้มีการรับตั้งครรภ์แทน
มาตรา 28 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือไขข่าวให้แพร่หลายด้วยประการใด ๆ เกี่ยวกับการตั้งครรภ์แทนว่ามีหญิงที่ประสงค์จะเป็นผู้รับตั้งครรภ์แทนผู้อื่น หรือมีบุคคลที่ประสงค์จะให้หญิงอื่นเป็นผู้รับตั้งครรภ์แทน ไม่ว่าจะได้กระทําเพื่อประโยชน์ทางการค้าหรือไม่ก็ตาม
ซึ่งผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 27 หรือมาตรา 28 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
โฆษณา