29 พ.ค. 2020 เวลา 01:45 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
นาซาเผยภาพ "แนวปะการังแห่งห้วงจักรวาล" ฉลอง 30 ปีกล้องฮับเบิล
แนวปะการังแห่งห้วงจักรวาล
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือนาซา เผยภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจภาพใหม่ล่าสุดจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี นับแต่อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่มีความสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของโลกชิ้นนี้ ได้ขึ้นปฏิบัติการในห้วงอวกาศเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 เมษายน 1990
ภาพดังกล่าวมีชื่อว่า "แนวปะการังแห่งห้วงจักรวาล" (Cosmic reef) เป็นภาพของเนบิวลาสองแห่งที่อยู่ใกล้กับกาแล็กซีทางช้างเผือก โดยห่างจากโลกไปราว 163,000 ปีแสง เนบิวลาทางขวามือที่มีขนาดใหญ่กว่าคือ NGC 2014 ส่วนที่มีขนาดเล็กกว่าตรงมุมล่างซ้ายของภาพคือ NGC 2020
ภาพของกลุ่มดาวฤกษ์ขนาดยักษ์ Westerlund 2 ได้รับคัดเลือกให้เป็นภาพประจำวันเกิดปีที่ 25 ของฮับเบิล
แม้ในตอนที่เริ่มใช้งานช่วงแรก กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลจะยังจับภาพได้ไม่สู้คมชัดนัก แต่หลังจากมีการแก้ไขและเสริมสมรรถนะหลายครั้ง ฮับเบิลก็สามารถสังเกตการณ์และบันทึกภาพดาราศาสตร์ที่สำคัญได้นับไม่ถ้วน และเป็นแหล่งที่มาของข้อมูลในงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เกือบ 1,000 ชิ้นเมื่อปีที่แล้ว
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อุปกรณ์ที่เป็นส่วนประกอบของฮับเบิลเกิดขัดข้องจนต้องซ่อมแซมและหยุดการทำงานบ่อยครั้ง โดยมักเกิดปัญหาการทำงานของไจโรสโคป (gyroscope) ทั้ง 6 ตัว ซึ่งทำหน้าที่หมุนเปลี่ยนทิศทางของกล้องและล็อกตำแหน่งของกล้องขณะ "เพ่งมอง" ไปยังส่วนใดส่วนหนึ่งของห้วงอวกาศให้ถูกต้อง จนเคยมีการใช้มนุษย์อวกาศขึ้นไปเปลี่ยนไจโรสโคปของฮับเบิลทั้งหมดมาแล้วในปี 2009
ปัจจุบันมีไจโรสโคปของฮับเบิลเสียหายอยู่หลายตัว แต่วิศวกรยืนยันว่าจะหาวิธีให้ฮับเบิลยังคงทำงานต่อไปได้ โดยนาซาและองค์การอวกาศยุโรป (อีซา) ซึ่งบริหารและดูแลการใช้งานฮับเบิลร่วมกันแถลงว่า จะยังไม่ปลดประจำการกล้องโทรทรรศน์อวกาศตัวนี้ และฮับเบิลจะยังคงได้รับทุนสนับสนุนให้ปฏิบัติงานต่อไป ตราบเท่าที่ยังมีผลงานออกมาเป็นที่น่าพอใจ
ฮับเบิลบันทึกภาพห้วงอวกาศลึกที่มีดาราจักรหลายล้านแห่ง ด้วยวิธี "จ้องมอง" ห้วงอวกาศเพียงส่วนเดียวนานหลายวัน
ที่ผ่านมาฮับเบิลมีบทบาทโดดเด่น ในการช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ทราบว่าจักรวาลมีอายุราว 1.4 หมื่นล้านปี รวมทั้งเผยหลักฐานที่ยืนยันว่าเอกภพขยายตัวในอัตราเร่ง และมีหลุมดำมวลยิ่งยวดที่ใจกลางของดาราจักรต่าง ๆ ฮับเบิลยังค้นพบระบบดาวใหม่ ๆ นอกระบบสุริยะ และมีประสิทธิภาพในการมองเห็นห้วงอวกาศลึกเหนือกว่ากล้องโทรทรรศน์อื่นทั้งหมด
ส่วนกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ (JWST) ที่มีแผนจะนำขึ้นปฏิบัติการในปีหน้านั้น จะช่วยเสริมกำลังการสำรวจอวกาศในช่วงคลื่นสัญญาณที่ยาวขึ้นให้แก่ฮับเบิล โดยไม่ได้ทำหน้าที่เป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศตัวหลักที่มาทดแทนฮับเบิลอย่างสิ้นเชิง เหมือนที่หลายคนเข้าใจกันแต่อย่างใด
เนบิวลาผ้าคลุมศีรษะ (Veil nebula) หนึ่งในภาพคลาสสิกของฮับเบิล เป็นกลุ่มสสารที่หลงเหลืออยู่หลังเหตุซูเปอร์โนวา
โฆษณา