29 พ.ค. 2020 เวลา 06:30 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
โครงการวิศวกรอาสา
สภาวิศวกร มีจุดเริ่มต้นจากเหตุการณ์ภัยพิบัติคลื่นยักษ์ถล่มภาคใต้ บริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน พ.ศ. 2547 โดยในช่วงเวลานั้น สภาวิศวกรร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ได้จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาทางด้านวิศวกรรมขึ้น โดยมีวิศวกรอาสาจากทั่วประเทศกว่า 100 คน ให้ความช่วยเหลือในเรื่องของงานทางด้านวิศวกรรม เช่น การตรวจสอบอาคารที่ได้รับ ความเสียหายหรือได้รับผลกระทบ การให้คำแนะนำเพื่อการฟื้นฟูหรือซ่อมบำรุงอาคารและสิ่งปลูกสร้าง ต่อมาได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว อ.แม่ลาว จ.เชียงราย พ.ศ. 2557 สภาวิศวกร โดยคณะอนุกรรมการประสานงานด้านภัยพิบัติ ได้ร่วมกับองค์กรวิชาชีพ และหน่วยงานราชการจัดวิศวกรอาสาเข้าช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน และเข้าตรวจสอบความเสียหายของโครงสร้าง พร้อมให้คำแนะนำด้านวิศวกรรม
เมื่อปี 2559 เกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้อาคารหอพักเด็กผู้หญิงของสถานสงเคราะห์บ้านเด็กรวมใจ ซึ่งเป็นอาคารเพียง 2 ชั้น ตั้งอยู่เขตเทศบาลตำบลเวียงป่าเป้าที่เป็นชุมชนเมืองใกล้สถานีดับเพลิง และสถานีตำรวจ ขณะนั้นเด็กผู้หญิงมีอายุตั้งแต่ 5 - 12 ขวบ กำลังพักผ่อนนอนหลับอยู่ เป็นเหตุทำให้เสียชีวิต 17 ราย จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด 38 คน มีผู้รอดชีวิต 21 คน จึงเป็นแรงผลักดันให้สภาวิศวกร จัดตั้งโครงการ “บ้านเวียงป่าเป้า...ปลอดภัยจากอัคคีภัย” โดยสร้างระบบฐานข้อมูลและขึ้นทะเบียนวิศวกรอาสา เพื่อลงพื้นที่ชุมชน พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมกับส่วนราชการระดับท้องถิ่น ในการส่งเสริมการป้องกันอัคคีภัยและการใช้ไฟฟ้าอย่างปลอดภัย โดยใช้อำเภอเวียงป่าเป้าเป็นโครงการต้นแบบ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2559 คณะสภาวิศวกรและภาคีเครือข่าย ได้จัดเดินเท้าจากกรุงเทพมหานครไปยังอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย มีระยะทาง 750 กิโลเมตร ระหว่างทางได้ร่วมเดินไปกับสมาชิกภาคีเครือข่ายจำนวน 164 คน ระยะทางเดินรวม 6,535 กิโลเมตร ผ่าน 12 จังหวัด ได้แวะเยี่ยมองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และจังหวัดรวม 21 แห่ง เพื่อรณรงค์ แนะนำ และเผยแพร่วิธีการป้องกันอัคคีภัยแบบง่ายๆ โดยจะทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ด้วยการเยี่ยมประชาชนถึงบ้านอยู่อาศัย เรือนพักนอนของโรงเรียน ทั้งในสังกัดของรัฐ มูลนิธิ และเอกชน
เงื่อนไขการรับสมัครวิศวกรอาสา สภาวิศวกร คือเป็นสมาชิกสภาวิศวกร ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ไม่เคยถูกลงโทษฐานประพฤติผิดจรรยาบรรณ มีจิตอาสา เสียสละ มีความประสงค์ที่จะบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยไม่มุ่งหวังค่าตอบแทนและไม่เป็นผู้แสวงหาผลประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติหรือเหตุร้ายต่อสาธารณชนหรือเหตุที่เกิดขึ้นเป็นประจำ โดยใช้ความรู้ความสามารถตามหลักปฏิบัติวิชาการทางวิศวกรรม และไม่ปฏิบัติงานที่เกินความสามารถที่ตนเองจะกระทำได้ ทั้งนี้สมาชิกสภาวิศวกรสามารถเข้าไปลงทะเบียนเป็นวิศวกรอาสา สภาวิศวกร ได้ที่ www.coe.or.th โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม วิศวกรอาสา สภาวิศวกรจะได้รับบัตรประจำตัววิศวกรอาสาสภาวิศวกร และคะแนนหน่วยความรู้พัฒนาวิชาชีพวิศวกรรม (PDU) สิ้นปี 2560 มีวิศวกรอาสาขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น 1,170 คน
ในการนี้ สภาวิศวกร ได้จัดตั้งคณะทำงานกำกับดูแลวิศวกรอาสา สภาวิศวกร โดยมีอำนาจหน้าที่ 1) กำหนดหลักเกณฑ์ควบคุมการขึ้นทะเบียน และการต่ออายุวิศวกรอาสา 2) กำหนดวิธีการดำเนินงานและการติดตามการดำเนินงานของวิศวกรอาสา 3) รับรองกิจกรรมจิตอาสาในงานบริการวิชาชีพวิศวกรรมที่ขอหน่วยความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพวิศวกรรมต่อเนื่อง ทั้งนี้คณะทำงานฯ ได้กำหนดแนวปฏิบัติการเข้าร่วมกิจกรรมของวิศวกรอาสา สภาวิศวกร โดยแบ่งออกเป็น 3 กรณี ดังนี้
1. สภาวิศวกรกำหนดกิจกรรม/ได้รับการร้องขอจากหน่วยงานอื่น
2. สมาชิกขอทำกิจกรรมซึ่งต้องเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนด
3. องค์กรที่ทำ MOU ร่วมกับสภาวิศวกรเสนอขอทำกิจกรรม
จากกิจกรรมที่ผ่านมาของโครงการวิศวกรอาสา สภาวิศวกร นั้นมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาให้ประชาชนเป็นหลัก ทำให้สภาสถาปนิก สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร และสมาคมช่างเหมาไฟฟ้าและเครื่องกลไทย ได้ตกลงร่วมมือกันในการส่งเสริมและพัฒนา วิศวกรอาสา สถาปนิกอาสาและนายช่างอาสาที่จะลงพื้นที่ในการทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ ให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน องค์กรสาธารณกุศล หน่วยงานรัฐ ที่ประสบภัยพิบัติ มีปัญหาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานวิศวกรรมและงานสถาปัตยกรรม โดยไม่เรียกเก็บค่าบริการวิชาชีพแต่อย่างใด โดยได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการดำเนินงานกิจกรรมวิศวกรอาสาและสถาปนิกอาสาและนายช่างอาสาซึ่งเป็นการขยายเครือข่ายจิตอาสาช่วยเหลือสังคม และในเวลาต่อมา ปี 2561 จึงได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธินายช่างไทย ใจอาสาขึ้น ร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิต บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สมาคมวิศวกรรมปรับอากาศแห่งประเทศไทย สมาคมไฟฟ้าแสงสว่างแห่งประเทศไทย สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาเครื่องกลและไฟฟ้าไทย สมาคมอุตสาหกรรมไฟฟ้าแห่งประเทศไทย สมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย สมาคมวิชาการและเทคนิคไทย-ฝรั่งเศส สมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย มูลนิธิมดชนะภัย และสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย เพื่อสืบสานงานนายช่างอาสา ให้ยั่งยืนต่อไป
ลิ้งค์สมัคร โครงการวิศวกรอาสา
โฆษณา