29 พ.ค. 2020 เวลา 07:37 • การเกษตร
ศาสตร์พืชสวน 🤓 ตอน 1
หายไปอีกสักพักและได้กลับมาแล้ว พอจะมีเวลาก็เลยอยากจะมาเล่าเรื่องความรู้ในระดับมหาวิทยาลัยกันสักหน่อย
อยากจะมาเล่าให้ฟังว่าการเรียนในมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะสาขาเกษตรศาสตร์นั้นเขาเรียนอะไร โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับทางด้านพืช
โดยส่วนใหญ่คนเราจะรู้จักมักคุ้นกับพืชที่เป็นพืชอาหารที่เรากิน โดยเฉพาะพืชผักสวนครัว ซึ่งพืชกลุ่มนี้จัดอยู่ในกลุ่มของพืชสวน
พืชสวน คําศัพท์ภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า horticulture
คำนี้เริ่มใช้เป็นครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ. 1600 นานกว่า 400 ปีทีเดียว
มาจากภาษาละติน 2 คำ คือ
1) hortus ซึ่งแปลว่า สวน
2) culture ซึ่งแปลว่า การเพาะปลูก
การเกษตรโดยทั่วไป แบ่งสาขาออกเป็น พืชไร่และพืชสวน
พืชสวนเป็นพืชที่ต้องการแรงงานในการจัดการที่ประณีต มากกว่าพืชไร่ พืชทุกต้นสำคัญ ขอให้ผลตอบแทนต่อหน่วยพื้นที่ต่อหน่วยเวลาที่สูง
ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ทุเรียน มักจะขายเป็นลูก ๆ หากเป็นทุเรียนพันธุ์ดั้งเดิมของจังหวัดนนทบุรี สนนราคาแต่ละลูกเริ่มต้นที่หลักพันขึ้นไป และบางลูกมีราคาสูงถึงหลักแสน ต้องจองกันข้ามปีเลยทีเดียว
ทุเรียนนนท์ ที่มา MThai News
เป็นพืชไร่ เช่นข้าว ผลิตผลที่จำหน่ายจะต้องมีการชั่งหรือตวง ขายกันในปริมาณมาก เป็นถัง เป็นเกวียน หรือเป็นตัน คงไม่มีใครนับเป็นเมล็ดขาย
ศาสตร์ของพืชสวนนั้น เป็นทั้งศิลปะและวิทยาศาสตร์ รวมไปจนถึงการจัดการทางธุรกิจด้วย
ซึ่งจะค่อยๆกล่าวสอดแทรกในตอนต่อ ๆ ไป
กลุ่มของพืชสวนสามารถจัดกลุ่มโดยอาศัยหลักทางวิทยาศาสตร์ มีอยู่ประมาณ 10 กลุ่ม ซึ่งทั้งหมดเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับหลักวิทยาศาสตร์และหลักปฏิบัติ
1) หลักไม้ผล หรือ pomology คือหลักในการปลูก การเก็บเกี่ยว การบรรจุหีบห่อ การเก็บรักษา การแปรรูป และการตลาดผลไม้
2) หลักพืชผัก หรือ olericulture คือหลักในการปลูกผัก การเก็บเกี่ยว การบรรจุหีบห่อ การเก็บรักษา การแปรรูป และการตลาดผัก
3) หลักไม้ดอกไม้ประดับ หรือ floriculture คือหลักในการปลูก การเก็บเกี่ยว การเก็บรักษา การจัดดอกไม้ และการตลาดไม้ดอกไม้ประดับ
4) หลักการตกแต่งสถานที่ หรือ landscape architecture คือหลักในการขยายพันธุ์ การปลูก การดูแลรักษา และการใช้หญ้าประดับ ไม้ประดับล้มลุก ไม้ประดับพุ่ม และไม้ประดับขนาดใหญ่ในสวนพักผ่อน
5) หลักการจัดการเพาะชำ หรือ nursery management คือหลักในการขยายพันธุ์พืชด้วยเมล็ดและส่วนของลำต้น การปฏิบัติดูแลรักษาพืชในเรือนเพาะชำ
6) หลักการจัดการเรือนพืช หรือ greenhouse management คือหลักในระบบควบคุมสภาพแวดล้อมที่เพาะปลูกดูแลรักษาพืชในโรงเรือน
7) หลักการจัดการสนามหญ้า หรือ turfgrass management คือหลักในการปลูกดูแลรักษาหญ้าสนามในบริเวณบ้าน เทศบาล และสนามหญ้าเพื่อการค้าตลอดจนสนามกอล์ฟ และสองข้างทางหลวงแผ่นดินรวมถึงการผลิตเมล็ด ในการผลิตผืนแผ่นหญ้าปูสนาม
8) หลักการเพาะปลูกไม้ยืนต้น หรือ aboriculture หลักในการปลูกดูแลรักษาไม้ยืนต้น หรือไม้ป่าที่ใช้ประดับที่อยู่ในเขตเมือง
9) หลักการตกแต่งภายในสถานที่ หรือ interioscaping คือหลักของการออกแบบในการจัดตำแหน่งวางและดูแลไม้ประดับในสภาพแวดล้อมภายในสถานที่
10) หลักการผลิตเมล็ดพันธุ์ หรือ seed production คือหลักการผลิต การเก็บรักษา ในการจัดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผักและไม้ดอกไม้ประดับตรงตามสายพันธุ์ และมีความงอกสูง
ในตอนหน้าจะมาเหล้าถึงประวัติของพืชสวนกัน
เรียนเกษตรแล้วได้ดี 29 พ.ค. 2563 🙏👩🌾🌾
โฆษณา