30 พ.ค. 2020 เวลา 00:30 • ข่าว
ยืม
ตอนนี้มีข่าวเผยแพร่ว่ายืมนาฬิกาเป็นการยืมใช้คงรูป..
ภาพจาก https://pixabay.com/get/57e8d3454c53a514f6d1867dda35367b1c3fd9e253587548_1920.jpg?attachment=
แต่ยืมใช้คงรูปคืออะไร
ยืมใช้คงรูป นั้น ได้มีกฎหมายกำหนดในมาตรา 640 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่า “อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืมให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้น เมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว”
แปลเป็นภาษาเข้าใจง่ายคือ..การให้ยืมทรัพย์สินหรือสิ่งของ โดยไม่คิดเงิน และต้องเอาทรัพย์หรือสิ่งของที่ยืมไปนั้นมาคืน ยืมรถคันไหนก็ต้องเอาคันนั้นมาคืน ไม่ใช่ยืมรถเพื่อนไปแล้วไปเอารถคนอื่นหรือคันอื่นมาคืนแทน กรณีแบบนี้เรียก “ยืมใช้คงรูป”
และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นจะไม่โอนไปยังผู้ยืม ให้เพื่อนยืมรถไป เราก็ยังเป็นเจ้าของรถคันนั้นอยู่
ซึ่งจะแตกต่างจากยืมใช้สิ้นเปลืองที่กำหนดในมาตรา 650 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่า “อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้นเป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น”
แปลว่าเป็นการยืมสิ่งของที่ใช้แล้วหมดไป เช่น ยืมข้าวสาร ยืมน้ำตาล ยืมเงิน ซึ่งเวลาคืนย่อมไม่สามารถนำของชิ้นนั้น อย่างข้าวสารเม็ดนั้น เงินที่เป็นธนบัตรใบเดิมมาคืนได้ คือยืมเอาไปใช้แล้วก็หมดไป แต่เวลาคืนต้องคืนตามประเภท ชนิด และปริมาณตามทรัพย์สินที่ตนยืมไป เช่น ยืมเงินไป 1,000 บาท ก็ต้องคืนเงิน 1,000 บาท แต่อาจจะไม่ใช่ธนบัตร 1,000 บาทใบเดิม (ส่วนจะคิดดอกเบี้ยหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) หรือยืมน้ำตาลทรายแดงไป 1 กิโลกรัมก็ต้องคืนน้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัม จะคืนน้ำตาลทรายขาวที่เป็นคนละชนิดไม่ได้ หรือจะคืนไม่ครบ 1 กิโลกรัมไม่ได้ แบบนี้เรียก “ยืมใช้สิ้นเปลือง”
และเป็นสัญญาที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ให้กัน แปลว่าพอให้ยืมก็เท่ากับว่าผู้ยืมเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ให้ยืมนั้นเลย คือเป็นเจ้าของธนบัตรใบนั้น น้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัมนั้น เพียงแต่ตอนมาคืนให้มาคืนในชนิด ปริมาณ หรือจำนวนเท่าเดิมเท่านั้นเอง
โฆษณา